“ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา” พื้นที่ของโอกาสทางการศึกษาสู่ศูนย์กลางแห่งความรักและความหวังของชุมชน

“ประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลไทยและพวกเราคนในวงการศึกษาต้องตระหนัก คือการหลั่งไหลเข้ามาของเด็ก เยาวชน และแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตพวกเขาจะเติบโตขึ้นและกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองประเทศไทยในที่สุด ดังนั้น ‘การให้โอกาสทางการศึกษากับทุกคน’ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือไม่ใช่คนไทย หรือเป็นเด็กที่พลัดบ้านพลัดเมืองมาอยู่ประเทศเรานั้น เป็นเรื่องที่พิเศษและควรสนับสนุนอย่างมาก เมื่อเด็กกลุ่มหนึ่งได้รับโอกาสในการศึกษาเรียนรู้อย่างเหมาะสม เหมือนกับที่ ‘ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา’ ทำหน้าที่เป็นทั้งบ้านที่ปลอดภัย และเป็นโรงเรียนให้ความรู้และทักษะแก่เด็กๆ หล่อหลอมให้พวกเขาพัฒนาตัวเองขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ และเป็นแหล่งสร้างสรรค์พลเมืองที่จะเติบโตขึ้นในประเทศไทยอย่างมีคุณภาพ” ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวตอนหนึ่งในงานวันเด็ก ณ ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผ่านมา

อีกทั้ง ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ ได้กล่าวถึงการประกาศนโยบายของรัฐบาลในวันเด็กที่ผ่านมา ในเรื่องการตั้งเป้า Zero Dropout คือ จะไม่มีเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาในประเทศนี้ โดยที่ กสศ. เองได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำข้อเสนอนโยบายสำหรับแผนในการขับเคลื่อนดังกล่าวด้วยว่ามีความสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาเป็นอย่างยิ่ง ในการให้โอกาสแก่เด็กทุกคนได้ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งพบว่าเด็กหลายคนในศูนย์การเรียนไร่ส้มฯ แห่งนี้ เริ่มมีเป้าหมายและความฝันในการพัฒนาตนเอง ทั้งการเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา และด้านทักษะอาชีพต่างๆ ซึ่ง กสศ. จะร่วมเป็นกำลังที่เข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ความใฝ่ฝัน จินตนาการ  และความคิดความต้องการของเด็กทุกคนได้ไปสู่เป้าหมายในที่สุด

วัน(ของ)เด็กไร่ส้ม

6 ปีของการก่อตั้งศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา (มูลนิธิกระจกเงา) ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางหุบเขาซึ่งเป็นแหล่งปลูกส้มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ห่างจากเขตแบ่งชายดนพม่าประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ชายแดนที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ อาทิ ไทใหญ่ ดาราอั้ง และปะโอ มีความซ้อนทับของปัญหาในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ โอกาสทางการศึกษา งบอุดหนุนรายหัว รวมถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่งศูนย์การเรียนไร่ส้มฯ ต้องทำงานอยู่บนพื้นฐานชีวิตเด็กที่พวกเขาต้องต่อสู้ดิ้นรนกับข้อจำกัดของชีวิต ที่นี่จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องการการโอบอุ้มแทบทุกมิติ และผลักดันทุกเรื่องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กเหล่านี้ โดยเริ่มต้นจากการให้โอกาสทางการศึกษา เนื่องจากเด็กในพื้นที่นี้เริ่มหลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่อายุ 12 ปีเท่านั้น เมื่ออายุ 13-14 ปี ก็จะเริ่มทำงานรับจ้างในไร่ส้มหรือสวนลำไยเพื่อช่วยครอบครัวหาเงิน

จากนักเรียน 60 คนในปีแรก สู่จำนวน 222 คนในปัจจุบัน และยังคงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยานั้นได้กลายเป็นศูนย์กลางซึ่งรวมจิตใจและความหวังที่มอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่ลูกหลานของผู้คนที่อพยพมาจากฝั่งพม่า หรือที่พวกเขามักจะพูดกันว่า ‘ย้ายมาจากเมืองนอก’ เพื่อมาเป็นแรงงานอยู่ในไร่ส้ม และส่วนหนึ่งอพยพมาเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ดังนั้นการอพยพมาฝั่งไทยจึงเป็นแสงแห่งชีวิตสำหรับทุกคนในครอบครัวโดยเฉพาะลูกหลานของพวกเขา 

“ครูโอ๊ต” หรือ นายวีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาและมูลนิธิกระจกเงา เล่าว่า ที่ศูนย์การเรียนฯ มีพ่อแม่พาลูกหลานมาฝากเข้าเรียนเกือบทุกวันและมีเด็กหายไปพร้อมกับการเคลื่อนย้ายของครอบครัวแรงงานไร่ส้มตลอดเวลา การที่พวกเขาจะเข้าถึงการศึกษาในประเทศไทยได้นั้นต้องพบกับอุปสรรค 3 เรื่องหลัก ๆ คือ 1.การสื่อสาร ซึ่งมีผลตั้งแต่การที่ผู้ปกครองจะไปฝากลูกเข้าเรียน การที่เด็กจะสื่อสารกับครูและเพื่อน 2.เด็กอายุเกินเกณฑ์ ซึ่งแม้โรงเรียนจะไม่ปิดกั้น แต่จริงๆ แล้วการเรียนรู้ในโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ยืดหยุ่นพอที่เด็กต่างวัยจะเรียนรู้ร่วมกันได้ และ 3.เงื่อนไขชีวิต ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของศูนย์การเรียนไร่ส้มฯ เพราะอพยพเข้ามาอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ซึ่งจะมีทั้งวัยผู้ใหญ่ไปจนถึงเด็กเล็ก ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ไปทำงานในไร่ส้ม เด็กส่วนใหญ่ต้องเลี้ยงน้อง และยังต้องทำกับข้าวเช้า-เย็น ไว้ให้ครอบครัวกิน ดังนั้นศูนย์การเรียนไร่ส้มฯ จึงให้เด็กๆ สามารถพาน้องมาเลี้ยงด้วยได้ เพื่อให้เขาได้มาเรียนหนังสือนั่นเอง

Education for All

ทั้งนี้ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา เป็นศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน จัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัว เพื่อตอบสนองต่อความหลากหลายของผู้เรียนและบริบทพื้นที่ ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตามความถนัด และความสนใจของผู้เรียน กลายเป็นพื้นที่รองรับเด็กที่ตกหล่นจากการศึกษาไทย ซึ่งเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกหลานของแรงงานไร้ส้มที่อพยพมาจากพม่า ดำเนินการด้วยวิธีระดมทุนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาคาร อุปกรณ์การเรียนและอุปกรณ์เสริมทักษะต่างๆ อาหารกลางวันสำหรับเด็ก ตลอดจนเงินเดือนครู 

ครูสายลม หรือ นายพลวัฒน์ ล้วนศรี รองผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา และผู้รับผิดชอบ โครงการพัฒนาศักยภาพทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ เพื่อเยาวชนนอกระบบการศึกษา กล่าวว่า ครูในศูนย์การเรียนไร่ส้มฯ สามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างอิสระผ่านรูปแบบ Project-based Learning (PBL : การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน) บูรณาการสาระวิชาต่างๆ เข้ากับกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะความรู้และทักษะชีวิตคู่กันไป เน้นจุดประกายให้เด็กมองเห็นช่องทางของอาชีพที่หลากหลายเชื่อมโยงความรู้ที่เรียนในศูนย์การเรียนฯ ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในบริบทชีวิตพวกเขา เพราะเด็กและผู้ปกครองหลายคนเริ่มเกิดคำถามว่า “เรียนไปแล้วทำอะไรต่อได้” การสนับสนุนจาก กสศ. ในโครงการฯ ดังกล่าวจึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่เข้ามาเติมเต็มกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ในศูนย์การเรียนไร่ส้มฯ เรื่องของอาชีพและการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นได้จริงและเป็นรูปธรรม และจะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายวิทยาลัยการอาชีพฝางเข้ามาร่วมสนับสนุนให้เกิดมิติ Learn to Earn หรือเรียนด้วยทำงานด้วยขึ้นในศูนย์การเรียนไร่ส้มฯ อีกด้วยในอนาคต 

นอกจากนั้นสิ่งสำคัญในบทบาทของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา คือการพยายามทำเรื่องการเทียบโอนประสบการณ์ เนื่องจากมีเด็กอายุเกินเกณฑ์เข้ามาเรียนจำนวนมาก ดังนั้นการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นจะตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ ซึ่งปัจจุบันศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาเป็นเครือข่ายกับศูนย์การเรียนพัฒนาเด็กและเยาวชน (CYF) โดยสามารถออกวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาให้แก่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดนครพนม อีกทั้งศูนย์การเรียนไร่ส้มฯ กำลังเชื่อมโยงเรื่องของโรงเรียนมือถือ (Mobile School) เพื่อให้เด็กได้เรียนต่อจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อีกด้วย 

“เด็กที่ศูนย์การเรียนไร่ส้มฯ จำนวน 27 คน กำลังจะจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หากเราไม่มีชั้นมัธยมศึกษารองรับแน่นอนว่าเด็กส่วนใหญ่คงไม่ได้เรียนต่อแน่นอน ไม่ว่าจะด้วยความยากจน หรือข้อจำกัดต่าง ๆ ในชีวิต ดังนั้นการพยายามผลักดันต่อให้พวกเขาได้เรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นสิ่งที่พวกเราครูไร่ส้มต้องทำให้สำเร็จ เพราะอย่างน้อยถ้าเขาจบด้วยวุฒิการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็สามารถออกไปสมัครงาน หรือเรียนต่อได้ง่ายขึ้น” ครูสายลม กล่าว

จากถ้อยคำที่ครูสายลมกล่าวไว้นั้นไม่เกินจริง เพราะในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีเด็กๆ หลายคนสะท้อนว่า หากที่นี่ไม่มีชั้นมัธยมศึกษาให้เรียนต่อ เมื่อพวกเขาเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วก็คงไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน ตัวเลือกต่อไปของชีวิตถ้าไม่กลับไปรับจ้างในไร่ส้มเหมือนพ่อกับแม่ ก็คงเข้าไปหางานทำในเมืองเชียงใหม่ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านอาหาร หรือพนักงานปั๊มน้ำมัน ทั้งที่ในใจลึกๆ บางคนมีฝันอยากเป็นครู และหลายคนมีฝันอยากใช้ทักษะความรู้ที่เรียนมาในการประกอบอาชีพ เช่น ช่างยนต์ ช่างเสริมสวย หรือเปิดร้านกาแฟ

ประการสุดท้ายคือ ภาพชัดในงานวันเด็กที่ผ่านมาของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มีเด็กและผู้ปกครองกว่า 1,200 คน มาร่วมงานอย่างหนาแน่น เป็นเครื่องหมายการันตีว่าผู้คนที่นี่รักศูนย์การเรียนฯ ซึ่งพื้นที่เล็กๆ แห่งโอกาสในการเรียนรู้ของลูกหลานพวกเขามากแค่ไหน เด็กที่เรียนที่นี่มักจะพูดว่าเรียนที่นี่ดีเพราะไม่มีค่าใช้จ่ายพ่อแม่สบายใจ ครูที่นี่ไม่ตีเด็ก มาเรียนที่นี่มีข้าวกลางวันกิน ได้ทำกิจกรรมมากมาย ได้มีเพื่อน เป็นตัวของตัวเองได้ และที่สำคัญเป็นช่วงเวลาเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน ที่ทำให้เขาได้ออกมาจากวังวนของสารเคมีในไร่ส้มซึ่งเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของพวกเขา ดังนั้นเมื่อเด็กทุกคนรักที่นี่เขาก็จะเติบโตขึ้นไปเป็นพลเมืองที่รักประเทศไทยด้วยเช่นกัน 

ทั้งนี้สิ่งที่ กสศ. ต้องร่วมพัฒนาต่อไปคือ การผลักดัน “ศูนย์การเรียน” เพื่อสร้างการยอมรับ และเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เพิ่มทางเลือกในการศึกษา ป้องกันเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำ โดยร่วมกับ 1 โรงเรียน 3 ระบบ โรงเรียนมือถือ (Mobile School)  และโรงเรียนนวัตกรรมชุมชน ที่ยกระดับจากโรงเรียนขนาดเล็ก ตามโจทย์ยุทธศาสตร์ กสศ. การผลักดันเรื่องเงินอุดหนุน โดยทำงานร่วมบนฐานข้อมูลเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนนักเรียนรายบุคคลเพื่อค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง Zero Dropout ซึ่งศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา และศูนย์การเรียนอีก 7 แห่ง ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา กสศ. จะร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญร่วมกับ กสศ. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้