Voice of Ratchaburi ฟังเสียงหลากหลายของคนราชบุรี ในวันที่ระบบการศึกษายังมี ‘ความหวัง’

“ถ้าราชบุรีทำเรื่องหนึ่งโรงเรียนสามรูปแบบให้เป็นพื้นที่ต้นแบบเรื่องการศึกษาที่ยืดหยุ่น สามารถจัดการศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัยได้ จะทำให้เกิดโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษากับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะกับคนราชบุรี เพราะฉะนั้นคนในจังหวัดราชบุรีจึงกำลังทำเรื่องที่สำคัญมากๆ” 

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะคนที่เกิดและเติบโตที่จังหวัดราชบุรีและทำงานด้านการศึกษามาอย่างยาวนาน ได้กล่าวถึงหมุดหมายปลายทางของการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่จังหวัดราชบุรีที่จะเป็นจังหวัดแรกในการผลักดันให้เด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น และแก้ปัญหาการหลุดร่วงจากระบบการศึกษา ในงาน ‘รวมพลังคนราชบุรีไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง’ All for Education Ratchaburi Zero Dropout ‘เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ณ ริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนา จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา  

บรรยากาศตลอดสองวัน เต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลาย ทั้งนักเรียน นักศึกษา ครู วัยรุ่น พ่อแม่ผู้ปกครอง พ่อค้าแม่ขาย และผู้คนหลากหลายวัย มาร่วมสนุกในกิจกรรม ทั้งเวทีกลางที่นอกจากจะอัดแน่นไปด้วยบทสนทนา การแสดงละครใบ้ นิทาน ไปจนถึงมินิคอนเสิร์ตแล้ว ยังมีประสบการณ์ในโซนต่างๆ อีกมากมายที่คึกคักไม่แพ้กัน และมากกว่าเสียงของความสนุกสนานภายในงาน คือเสียงของผู้คนมากมายที่มาร่วมเล่าถึงความหวังต่อระบบการศึกษาและแบ่งปันแง่มุมในฐานะเยาวชนและประชาชนคนจังหวัดราชบุรีที่แม้จะมีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย แต่หมุดหมายที่อยากเห็นการศึกษาในราชบุรีดีขึ้นนั้นไม่แตกต่างกัน 

เมื่อถามว่าอยากให้การศึกษาราชบุรีตอบโจทย์ชีวิตอย่างไร ไปจนถึงพบเจอเรื่องยากง่ายในระบบการศึกษาที่ส่งผลต่อชีวิตอย่างไร เราก็ได้คำตอบหลากหลายที่รอการได้ยิน

อาร์ต นักเรียนโรงเรียนวัดพิกุลทอง (แปลกประชาคาร) สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาผ่านสายตาของเยาวรุ่นให้เราฟังอย่างน่าสนใจว่า การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต การมีพื้นที่ในโรงเรียนที่ทุกคนรับฟังและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ทำความเข้าใจกันทั้งเรื่องเพศ สีผิว ตัวตนและการแสดงออก คือความเสมอภาคที่เขาวาดหวัง เขายังเล่าให้ฟังต่อว่า

“ในฐานะเด็กราชบุรีสิ่งที่อยากให้ราชบุรีดีขึ้นคืออยากให้ช่วย ‘เพื่อน’ ที่หลุดจากโรงเรียนไปหลายคนได้กลับเข้าเรียน”

เก็ต นักเรียนโรงเรียนวัดหนองพันจันทร์บอกถึงสิ่งที่อยากให้ราชบุรีมีมากขึ้นอีกเสียงว่า “อยากให้มีแหล่งการเรียนรู้มากขึ้น ให้นักเรียนได้ลงมือทำ ปฏิบัติเอง เพื่อเราจะได้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เราชอบเวลานอกห้องเรียน คุณครูจะให้นักเรียนลงมือทำเอง”

นอกจากนี้ยังมีเด็กและเยาวชนที่มาร่วมงานได้เล่ามุมมองของพวกเขาให้เราฟังอีกหลายแง่มุมเกี่ยวกับการศึกษาที่พวกเขาประสบพบเจอ อย่างนักเรียนมัธยมต้นที่มาร่วมเล่นเกมกิจกรรมภายในงานที่เล่าถึงความมุ่งหวังที่อยากให้มีการจัดการศึกษาที่ทำให้เด็กได้มีเวลาในการทำสิ่งอื่นๆ มากขึ้น นอกจากการเรียนในห้องเรียนและการสอบ หรือนักเรียนจากทางอำเภอสวนผึ้งซึ่งเป็นเด็กชาติพันธุ์คนหนึ่งก็มาร่วมแบ่งปันกับเราถึงสิ่งที่เขาใฝ่ฝันอยากจะเห็นในราชบุรีเช่นกัน   

“ผมอยากให้ไม่ว่าที่ไหนควรได้รับการศึกษาเท่ากันหมด อย่างเด็กบางพื้นที่ด้อยโอกาส อยากให้เขาได้รับการศึกษา อยากให้ทั่วพื้นที่ราชบุรีเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน เด็กที่อยู่ชานเมืองไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนในเมืองก็ได้” 

ทางด้านคุณครู พ่อแม่ผู้ปกครอง พ่อค้าแม่ขาย วัยที่ผันผ่านรั้วโรงเรียนมายาวนานก็มีมุมมองต่อการศึกษาและการเติบโตของเด็กและเยาวชนราชบุรีในหลากแง่มุมเช่นกัน  

“อยากให้ลูกหลานเราได้เรียนดีที่สุด อยากให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือนักเรียนในส่วนของค่าเทอม ค่าหนังสือ ถ้าหลวงช่วยได้ก็ดี ฉันไม่มีลูก มีแต่หลาน อยากให้ราชบุรีเป็นเมืองที่ก้าวหน้า เพราะรักลูกหลาน ตอนนี้ห่วงลูกหลานมากที่สุด”   

เสียงสะท้อนจาก ป้าเดือน ซึ่งเป็นแม่ค้าร้านน้ำที่ิอยู่บริเวณงาน เธอเล่าให้เราฟังว่าสิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือ ‘ลูกหลาน’ ที่อยากจะให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีความหวังว่าองค์กรและหน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง  

เช่นกันกับ ป้าอ้อย ที่มาค้าขายอาหารภายในงานเล่าเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาเด็กและเยาวชนผ่านประสบการณ์ของตัวเองที่ดูแลเด็กซึ่งประสบปัญหาครอบครัวจากประเด็นยาเสพติดว่า  

“ป้าดูแลเด็กคนหนึ่งที่พ่อแม่เขาติดยาและติดคุก แม้จะไม่ใช่ญาติเรา แต่ป้ารู้สึกสงสารเด็กคนนี้มาก เพราะอยากให้เขาห่างออกจากยาเสพติด อยากให้มีหน่วยงานมาดูแล สนับสนุนเขาให้เติบโต อยากให้ช่วยเด็กๆ ที่มีปัญหาครอบครัว”

ทิวัน ชาวปกาเกอะญอจากอำเภอสวนผึ้งมาพร้อมกับลูกชายวัยมัธยม เธอสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ว่า  “ที่อำเภอสวนผึ้งมีกลุ่มชาติพันธุ์เยอะ เราไม่อยากให้แบ่งแยก และบางทีการที่กลุ่มชาติพันธ์ุจะเข้าระบบการศึกษาก็มีความลำบากมาก เพราะมีเรื่องสัญชาติอะไรต่างๆ”

ในประเด็นเดียวกัน เกรียงไกร ชาวกะเหรี่ยงโผล่ง จากอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คลี่ขยายถึงระบบการศึกษาที่ผ่านมาในมุมของเขาอย่างน่าสนใจว่าการศึกษากระแสหลัก ที่ไม่ยืดหยุ่นต่อวิถีชีวิตที่แตกต่างทำให้องค์ความรู้ที่น่าสนใจหลายอย่างสูญหายและไม่ได้รับการพัฒนา เช่นภาษาชนเผ่า ซึ่งถ้าหากเด็กพูดได้หลายภาษาย่อมน่าจะดีกว่าอยู่แล้ว แต่เมื่อระบบการศึกษากำหนดว่าจะต้องเป็นเพียงภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ความหลากหลายก็หายไปอย่างน่าเสียดาย  เขายังแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับ ‘นิเวศการเรียนรู้’ ของเด็กและเยาวชนต่ออย่างน่าสนใจว่า 

“การศึกษาที่ดีสำหรับผมคือการที่ชุมชน ครอบครัว และวิถีวัฒนธรรมต่างๆ รอบตัวเด็ก สามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กได้  แบบนั้นจะสนุกสนาน และสามารถขยายผลไปได้อีกเรื่อยๆ”

เกรียงไกรยังเน้นย้ำและทิ้งท้ายประเด็นที่สำคัญมากอีกหนึ่งประเด็นคือกระบวนการพิสูจน์เด็กชาติพันธุ์ที่หลายคนรอเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะส่งผลต่อความล่าช้าในการเข้าถึงการศึกษาอีกด้วย  

อีกเสียงหนึ่งจาก หมู คนพื้นถิ่นจังหวัดราชบุรี ผู้จัดการฝ่ายการแสดงหนังใหญ่ของวัดขนอนที่เรียนรู้เรื่องหนังใหญ่มาตั้งแต่เด็กจนเติบโตขึ้นเขาบอกว่าในฐานะคนทำหนังใหญ่สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในจังหวัดราชบุรีคือ 

“ตอนนี้หนังใหญ่มีหลักสูตรประจำที่โรงเรียนวัดขนอน ถ้าเป็นไปได้อยากให้หนังใหญ่เข้าไปเป็นวิชาเลือกของโรงเรียนในจังหวัดราชบุรี อาจเป็นการแกะสลักก็ได้” 

คุณหมูยังพูดทิ้งท้ายเมื่อถามถึงการศึกษาที่อยากจะเห็นและตอบโจทย์ชีวิตสำหรับเขาว่า

“ผมอยากเห็นการศึกษาที่ได้ลงมือทำ ถ้าเราไม่ได้ลงมือทำ จะไม่รู้เลยว่าแต่ละอย่างมีความยากลำบาก มีความอดทนบางอย่าง เลยอยากให้การศึกษาทำให้ได้ทั้งความรู้และการปฏิบัติ” 

หลากหลายเสียงสะท้อนในบทความนี้เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของเสียงจากราชบุรี แต่ก็พอจะทำให้เราได้ยินเสียงของผู้คนที่ยังอยากเห็นการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายกันออกไป ทั้งอยากเห็นความเหลื่อมล้ำที่ลดลง อยากเห็นการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา อยากมีพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลาย ไปจนถึงอยากเห็นชีวิต ชุมชน ผู้คนที่หลากหลายเข้ามาอยู่ในพื้นที่การเรียนรู้และเติบโตของเด็กราชบุรีได้ 

ในทางหนึ่งเสียงของคนหลากหลายคนที่พูดถึง ‘การศึกษา’ ทั้งในแง่ที่สะท้อนปัญหาและภาพฝัน ก็กำลังบอกเราเช่นกันว่าที่เสียงเหล่านั้นยังคงส่งมาก็เพราะพวกเขายังเห็นว่าระบบการศึกษายังมีความหวังและให้ความหวังได้นั่นเอง