เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน : เสวนาจับเข่าคุยเรื่อง ‘ต้นทุนการเติบโต’ ของเด็กราชบุรี จากหลากคน หลายภาคส่วน

วันที่ 24-25 พฤษภาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และจังหวัดราชบุรี จัดงาน ‘All for Education Ratchaburi Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน รวมพลังคนราชบุรีไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง’ เพื่อรวมกลุ่มเปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ ร่วมกันต่อสู้กับปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาในจังหวัดราชบุรี โดยเน้นการสร้างความตระหนักรู้ สนับสนุนให้เด็กเยาวชนและทุกคนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ อายุ เชื้อชาติ หรือแม้แต่สถานะการขอสัญชาติ ฯลฯ

การออกแบบงานซึ่งจัดขึ้นบริเวณริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนา จังหวัดราชบุรี ในครั้งนี้ เน้นไปที่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน การเล่น และการพูดคุย หนึ่งในช่วงที่สำคัญและลงลึกถึงรายละเอียดความคืบหน้าการแก้ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาในจังหวัดราชบุรี คือกิจกรรมล้อมวงเสวนาบนเวทีเพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันและข้อเสนอแนะต่อไปในอนาคต สำหรับหัวข้อเสวนาประจำวันที่ 24 พฤษภาคม ว่าด้วย ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน: ต้นทุนการเติบโตของเด็กราชบุรี’ พีรดนย์ ภาคีเนตร ผู้สื่อข่าวจาก The Active ซึ่งรับหน้าที่ดำเนินรายการ ได้พาเราไปสำรวจปมประเด็น ตัวละครที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัดราชบุรี รวมถึงประสบการณ์และข้อเสนอของพวกเขา

ไม่มีเด็กคนไหนตั้งใจทำโอกาสเข้าถึงการศึกษาหลุดลอยไป: นิเวศการเรียนรู้สำหรับ ‘เด็กที่ต้องเผชิญปัญหาระดับครัวเรือน’

ตัวแทนอาสาสมัครสามพลัง สุนัยนา สถาพรภูริศักดิ์ กล่าวในฐานะจิตอาสาที่ต้องลงพื้นที่พบปะกับเยาวชนตามครัวเรือนอยู่ตลอดถึงบทเรียนที่เธอได้รับตลอดเวลาหลายปีที่ทำงานร่วมกับทางกระทรวงในการนำทางเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

“ชื่อหน่วยงาน ‘สามพลัง’ มาจากพลังความรู้จากการศึกษา พลังสาธารณสุข และพลังพัฒนาสังคม เพียงแค่นี้ก็ตอบได้แล้วว่าจากมุมมองของอาสาสมัคร คำพูดที่ว่าเลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้านนั้นไม่เกินจริงเลย นับตั้งแต่มีเด็กคนหนึ่งเกิดขึ้นมาในครรภ์มารดา สาธารณสุขก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนฝากครรภ์ เด็กคลอด ไปจนกระทั่งเด็กโตขึ้นมาพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา

“ประสบการณ์หลายปีในการทำหน้าที่สอนดิฉันว่าปัจจัยในครัวเรือนส่งผลกระทบต่อเส้นทางการศึกษาของเด็กอย่างมาก ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่จะต้องเข้าไปสอดส่องดูแลว่าครอบครัวในชุมชนมีปัญหาหรือไม่ อย่างไร มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อการส่งลูกหลานเข้าเรียนหรือไม่

“กรณีที่พบบ่อยมีตั้งแต่ครอบครัวรายได้น้อยจึงไม่มีเงินส่งเสียลูก บางครั้งเด็กต้องช่วยที่บ้านทำนา หรือทั้งครอบครัวต้องตกอยู่ในภาวะไร้บ้านก็มี ไปจนถึงปัจจัยแวดล้อมนอกเหนือจากเรื่องเงิน เช่น เด็กมีปัญหาสุขภาพ พ่อแม่ออกไปทำงานทำให้ไม่มีใครดูแลน้องเล็กๆ หรือคุณปู่คุณย่าที่ป่วย นักเรียนจึงขาดเรียนบ่อย บางครั้งการที่ผู้ปกครองแยกทาง สมาชิกในบ้านติดยาเสพติด หรือครอบครัวย้ายถิ่นฐานทำกินบ่อยครั้งก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กเช่นกัน

“ไม่ว่าปัญหาคืออะไร แต่ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดคือคนทำงานของกระทรวงและกลุ่มเส้นเลือดฝอยนี่แหละที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเข้าไปพูดคุย ร่วมกันหาทางแก้ไข แล้วจูงมือเด็กๆ กลับเข้าสู่ระบบจนสำเร็จ

“ความสำเร็จที่ชี้วัดได้จริงนี้คือข้อพิสูจน์ว่าแค่แรงผลักดันและการสนับสนุนกันเองภายในครอบครัวอาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเฉพาะครัวเรือนที่แตกต่างกันไป การที่จิตอาสาเข้าไปทำความรู้จัก พบหน้า เยี่ยมเยียน ตรวจสอบ ติดตามผลครอบครัวในชุมชนอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นงานที่ไม่ทำไม่ได้

“ในขณะเดียวกัน ความสำเร็จนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ไปในตัวด้วยว่าลึกๆ ลงไปในใจของเด็กทุกคน พวกเขาเองก็ไม่ได้อยากจะปล่อยโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของตัวเองหลุดลอยไป ขอแค่มีใครสักคนยื่นมือเข้ามาจับมือพวกเขาเอาไว้ พวกเขาก็พร้อมที่จะกลับเข้ามาแล้วไขว่คว้าอนาคตของตัวเอง การได้เข้ามาทำงานตรงนี้จึงเป็นความภาคภูมิใจของดิฉันจริงๆ

ระบบที่ออกแบบมาอย่างดีจะต้อง ‘คัดกรอง’ มิใช่ ‘กีดกัน’: นิเวศการเรียนรู้สำหรับ ‘เด็กชายขอบ’

เกรียงไกร ชีช่วง ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และผู้นำกลุ่ม ‘ลมใต้ปีก’ เข้าร่วมเสวนาในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคม โดยกล่าวว่า

เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน เป็นวลีที่ได้ยินแล้วรู้สึกว่าช่างน่าดีใจที่ทั้ง กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ก้าวเข้ามาให้ความสนใจ และริเริ่มบทสนทนาดีๆ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึก ‘เอ๊ะ’ อยู่บ้าง เพราะคนเราต้องรู้จัก ‘เอ๊ะ’ เพื่อตั้งคำถามและตรวจสอบสิ่งต่างๆ เสมอ สำหรับประเด็นนิเวศการเรียนรู้สำหรับเด็กชายขอบกลุ่มชาติพันธ์ไร้สัญชาติ ผมก็อยากจะฝากข้อสังเกตเกี่ยวกับการศึกษาไทยเอาไว้ 3 มิติด้วยกัน

– มิติที่ 1 คือประเทศไทยที่กำลังมุ่งหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมื่อระบบสาธารณสุขดีขึ้นและเริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิต ประชากรย่อมเสียชีวิตช้าลง

– มิติที่ 2 แม้เราจะมีโมเดล นโยบาย โครงการ โครงสร้าง และระบบมากมายที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อรองรับปัญหาต่างๆ มากมายหลายขนาน แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะระบบหรือโครงสร้างได้ตามที่เราคาดหวังและยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวเด็กกลับเข้ามาสู่ระบบได้ เด็กๆ จึงต้องไปสังกัดอยู่กับหน่วยรองรับอื่นๆ ที่ขาดความพร้อม

– มิติที่ 3 อัตราเด็กเกิดใหม่ที่ลดน้อยทุกที จากเดิมเฉลี่ยปีละ 1 ล้านคน ปัจจุบันลดเหลือ 4.3 แสนคนต่อปี โดยที่ภาครัฐไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้

“ทั้ง 3 มิตินี้นำไปสู่การตั้งคำถามว่าทั้งที่ในปัจจุบันเรามีประชากรเด็กน้อยลงมากเป็นเท่าตัว แต่เหตุใดระบบจึงยังไม่สามารถรองรับเด็กได้ทั้งหมด ทำไมตัวเลขเด็กที่เข้ามาขอโอกาสที่จะได้ศึกษาเล่าเรียนจึงยังมีให้เห็นอยู่ทุกปี 

“ในยุคที่ค่าแรงขั้นต่ำในเมืองหลวงกำลังจะแตะ 400 บาท ทุกคนเชื่อไหมครับว่าประเทศเรายังมีครูอัตราจ้างที่ได้เงินเดือนแค่ 4-5 พันบาทเท่านั้น เพราะต้องรอผ่านการสอบบรรจุเข้าไปในระบบราชการ ยังไม่ต้องพูดถึงกลุ่มเปราะบางอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มคนที่เข้ามาแสวงหาโอกาสในเมือง ยังมีกลุ่มเด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กไร้บ้าน เด็กไร้สัญชาติ เด็กพิการ อีกมากมายที่เข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการเพราะต้องผ่านขั้นตอนการคัดกรองที่ซับซ้อน

“ผมจึงอยากจะสะท้อนมุมมองนี้ให้ทุกคนได้ลองไตร่ตรองและตั้งคำถามกับกระบวนการคิดและระบบช่วยเหลือที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้ความพยายามทั้งหมดกลายเป็นเพียงความหวังดีอย่างผิดที่ผิดทาง จนไปตอกย้ำซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำเหมือนที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่นก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนมักจะมุ่งเน้นไปที่การทำโครงการ CSR บริจาคเงินสงเคราะห์เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล ถามว่าความช่วยเหลือรูปแบบนี้มีประโยชน์ไหม มีครับ แต่มันไม่ยั่งยืน อีกทั้งยังสร้างมายาคติเดิมๆ ว่าคนชายขอบนั้นทำอะไรไม่ได้นอกจากรอการบริจาค รอความช่วยเหลือจากข้างนอกเรื่อยไป ก่อขึ้นเป็นกำแพงอคติระหว่างกัน

“อย่างไรก็ดี ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในไม่ช้าเราจะมีบทสรุปของราชบุรีที่ชัดเจน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าจนถึงวินาทีนี้ มีน้องๆ กลุ่มชาติพันธ์หลักหมื่นคนทั่วประเทศกำลังเฝ้ารอที่จะได้เข้าสู่ระบบการศึกษาเหมือนเด็กคนอื่นๆ”

จากไมตรีจิตระหว่าง ‘บ้าน’ และ ‘วัด’ สู่โอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กพิการ : นิเวศการเรียนรู้สำหรับ ‘เด็กพิเศษ’

ส่วน พระครูจันทสีรากร เจ้าอาวาสวัดห้วยหมู นั้น เล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของศูนย์สงเคราะห์เด็กพิเศษที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 18 ปีก่อน รวมถึงอนาคตของเด็กๆ ผู้พิการที่พึ่งพาศูนย์สงเคราะห์แห่งนี้

“อาตมาภาพจำวัดอยู่ที่วัดห้วยหมูมา 40 ปี ย้อนไปเมื่อ 18 ปีก่อน มีญาติโยมรายหนึ่งเข้ามาปรึกษาปัญหา เนื่องจากลูกของเขามีภาวะดาวน์ซินโดรม ทำให้ไม่ว่าจะพาไปสมัครเข้าเรียนที่ไหน ก็ไม่มีโรงเรียนใดกล้ารับ เพราะกลัวว่าจะสอนไม่ได้ สอนไม่เป็น เธอจึงไม่รู้จะทำอย่างไรดี

“อาตมาได้ฟังเรื่องกลุ้มใจของโยมคนนี้แล้วก็นึกถึงคุณงามความดี นึกถึงการเสียสละ นึกถึงอาหารดีๆ ที่คนในชุมชนถวายให้ นึกถึงมิตรไมตรีระหว่างวัดกับชุมชนรอบๆ ที่เป็นที่ประจักษ์มาตลอด 20 ปีที่บวชเข้ามา จึงบอกกับโยมคนนั้นว่า ถ้าอย่างนั้นก็เอามาฝากเรียนที่นี่ อาตมาจะตั้งศูนย์เด็กพิเศษขึ้นในวัดห้วยหมูให้เอง เด็กคนนั้นกลายมาเป็นนักเรียนคนแรก นำมาสู่สถานสงเคราะห์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีนักเรียนรุ่นปัจจุบันอยู่ 42 ชีวิตที่กินนอนอยู่ที่วัด

“อาตมาจึงเข้าใจคำกล่าวที่ว่า ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ ดีว่ามีหมายความว่าอย่างไร ยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทาง กสศ. และแสนสิริติดต่อเข้ามาว่าจะส่งครูผู้เชี่ยวชาญมาสอนถึงวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวหรือเดินทางไกลลำบาก อาตมาก็ยิ่งซึ้งในความหมายของคำพูดนี้ การที่เด็กพิเศษคนหนึ่งจะเติบโตมาอย่างดี ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วนจริงๆ”

ความในใจจากอดีต ‘เด็กไม่อยากไปโรงเรียน’: นิเวศการเรียนรู้ที่โฟกัสตรงจุด เมื่อ ‘การเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ตอบโจทย์’

จิระเดช มีมาลัย ตัวแทน ‘กลุ่มบ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม’ กล่าวว่าคำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวหลังจากได้ยินคำกล่าวนี้คือ “หากเลี้ยงเด็กหนึ่งคนต้องใช้เด็กทั้งหมู่บ้าน แล้วหมู่บ้านนั้นพร้อมหรือไม่?”

ก่อนอธิบายต่อว่า “ในปัจจุบัน นักเรียนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบระบบการศึกษาของตัวเองได้ คนออกจากระบบการศึกษากันจนเป็นเรื่องปกติ แม้กระทั่งในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่คนเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยน้อยลงทุกปี ในการที่จะทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ ข้อเท็จจริงประการแรกที่เราต้องยอมรับให้ได้ก่อนคือการศึกษาในระบบไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน

“และจากประสบการณ์ส่วนทั้งในฐานะนักเรียนและคนที่เคยทำงานใกล้ชิดกับโรงเรียน ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เกลียดโรงเรียน แต่แน่นอนว่าเด็กที่เกลียดห้องเรียน เกลียดครู เกลียดระบบนั้น ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเกลียดการเรียนรู้ อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อโรงเรียนไม่ใช่นิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเรา เราจึงต้องหันกลับมามองที่บ้าน ที่ชุมชน ที่คอมมูนิตี้ของเรา แต่คำถามที่สำคัญก็คือชุมชนของเราพร้อมไหม?

“หากเราไปลองสังเกตชีวิตประจำวันของเด็กๆ แม้แต่เด็กๆ ที่หลุดออกจากการศึกษา ทุกคนมีห้องเรียนเป็นของตัวเองอยู่แล้ว บางคนอาจอาศัย YouTube หรือ TikTok เป็นหนังสือเรียน บางคนก็ออกไปอาศัยท้องนาบ้าง ริมฝั่งคลองบ้าง เป็นห้องเรียนเชิงปฏิบัติการที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทดลองลงมือทำ บางคนชอบตกปลาก็มีผู้รู้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ชาวประมงแถวๆ นั้นรับบทครูให้ แต่สิ่งที่ยังขาดไปจากห้องเรียนเหล่านี้ก็คือ ‘แพลตฟอร์ม’  

“เช่นเดียวกันกับการเรียนในระบบ เด็กๆ ที่เรียนรู้ด้วยตนเองก็จำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มที่ชุมชนสร้างขึ้นเพื่อให้เขาได้ถอด สกัด วิเคราะห์ และบันทึกกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ลองทำ ตลอดจนข้อมูลจากผู้รู้ ออกมาเป็นองค์ความรู้ที่จับต้องได้และกลับมาทบทวนได้

“หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มนำระบบนี้มาใช้แล้ว เพราะเด็กที่นั่นก็ประสบปัญหาเดียวกันคือการศึกษาในระบบไม่ตอบโจทย์ทำให้เด็กรู้สึก ‘เกลียดโรงเรียน’ เมื่อมีแพลตฟอร์มพร้อม สถานที่ที่เรียกว่า ‘โรงเรียน’ ค่อยๆ ลดความสำคัญลงมา และภาคส่วนที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นแทนก็คือ ‘ชุมชน’ นั่นเอง เช่นเดียวกับที่ในอดีตวัดและโรงเรียนเป็นหน่วยที่ตัดจากกันไม่ขาด ชุมชนก็จะกลายเป็นแบบนั้นเช่นกันในอนาคตอันใกล้

“เพราะอย่างนี้ การที่แต่ละชุมชนต้องถามตัวเองให้ดีว่าพร้อมไหม และมีความรู้ มีภูมิปัญญาใดบ้างที่สามารถถ่ายทอดให้เยาวชนได้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการที่เราจะเดินตามแนวทางนี้ หากทำได้ คำว่า ‘ระบบ’ ก็จะค่อยๆ กลายเป็นอดีตไป เพราะในท้ายที่สุด มันไม่มีระบบใดบนโลกที่เหมาะสมกับคนทุกคนมากไปกว่าระบบที่พวกเขาได้ออกแบบเอง ดังนั้น การศึกษาในอนาคตคือการศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ครูผู้สอน หรือโรงเรียน”

การศึกษาทางเลือกที่เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความรักในสิ่งที่ทำ : นิเวศการเรียนรู้ ‘ขยายโอกาส’ เพื่อส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรม

ต่อมา พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน ได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับนิเวศการเรียนรู้แบบ ‘โรงเรียนขยายโอกาส’ ที่เกิดขึ้นภายในคอมมูนิตี้หนังใหญ่ภายในวัดขนอน ซึ่งเป็นวัดชื่อดังที่ปรากฏในคำขวัญจังหวัด โดยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ของชุมชนที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบัน

“หลายคนอาจมองว่าวัดไม่ใช่ศูนย์กลางของระบบการศึกษาเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีเด็กจำนวนมากที่เข้าถึงการศึกษาได้เพราะมีโรงเรียนวัด ที่วัดขนอนเอง อาตมายังคงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และจัดสรรให้ครูฝึกสอนมีเงินเดือนอย่างถูกต้อง เพื่อให้มั่นคงว่าเด็กๆ จะมีครูที่มีฝีมือคอยสอนเขาต่อไป

“ภารกิจสำคัญของโรงเรียนวัดขนอนที่พวกเราตั้งใจจะสืบสานกันต่อไปคือศิลปวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดราชบุรีและเป็นอัตลักษณ์ของชาติที่กำลังจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นั่นคือ ‘หนังใหญ่’ โดยเปิดให้เยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้

“แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก อีกทั้งยังเป็นโรงเรียนขยายโอกาส แต่เราก็ประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ สามารถส่งเสริมให้เขาใช้เวลาอย่างมีคุณภาพและมีความสุขได้ ตัวชี้วัดความสำเร็จนอกจากจะเป็นเรื่องของรายได้ที่โรงเรียนทำได้แล้ว ยังมีเรื่องของร้านเกม 3 ร้านรอบๆ ชุมชนที่ทยอยปิดกิจการไป เมื่อเยาวชนของเรามีกิจกรรมดีๆ ทำในเวลาว่างที่นอกจากจะมีคุณค่าแล้วยังสร้างอาชีพให้เขาได้”

โรงเรียนในฐานะ ‘สถานที่ปลอดภัย’ ไม่ใช่แค่ทางกาย แต่รวมถึงทางใจ: นิเวศการเรียนรู้ที่พร้อมให้อภัยและโอมอุ้ม ‘เด็กที่ยังอยากอยู่ในระบบ’

ด้าน ดร.บรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 ผู้เข้าร่วมเสวนาในฐานะผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาโดยตรง เมื่อได้ฟังประเด็นปัญหาและข้อเสนอจากตัวแทนฝ่ายอื่นๆ ก็แบ่งปันมุมมองจากฝั่งกระทรวงศึกษาว่า “บุคลากรในภาคการศึกษาในระบบเองแม้จะพยายามเก็บเกี่ยวเด็กกลับเข้ามาในระบบอย่างเต็มกำลัง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีเด็กที่พลาดไป ตกหล่นไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดิฉันจึงรู้สึกดีใจมากที่มีโอกาสได้เข้าร่วมพูดคุยในเสวนาครั้งนี้และได้รับฟังข้อมูลจากหลากหลายมุมมอง

“ในส่วนของการศึกษาในระบบ สิ่งที่เราหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาให้เปิดใจโอบรับความผิดพลาด ตลอดจนสามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงให้กับนักเรียนได้ ซึ่งไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายเลย กล่าวคือไม่ใช่แค่คนทั้งหมู่บ้านเท่านั้นที่ต้องช่วยกัน แต่คาดว่าจะต้องอาศัยความร่วมมือจากคนทำงานทั้งประเทศในการพลิกโฉมโรงเรียนรัฐบาลให้สามารถเป็นเซฟโซนให้กับนักเรียนทุกคนได้ ทั้งนักเรียนที่ยากจน ครอบครัวแตกแยก หรือมีปัญหาเฉพาะด้านไม่ว่าในด้านใดก็ตาม

“เพราะรู้ว่าเด็กราชบุรีแต่ละคนล้วนแตกต่างและหลากหลาย สำนักงานเขตพื้นที่จึงทำการทดลองระบบผ่านแนวทางใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าโรงเรียนจะสามารถรองรับและเก็บเกี่ยวเด็กไม่ให้หลุดออกจากระบบไปมากกว่านี้ โดยใช้โมเดล ‘บันได 4 ขั้น’ ในการสร้างโอกาสการศึกษาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนที่มีเงื่อนไขชีวิตยังสามารถเข้าถึงการศึกษาได้

– บันไดขั้นที่ 1 คือ การศึกษาในระบบ ที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นทั้งทางกายและทางใจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เขาหลุดออกจากระบบได้ง่ายๆ

– บันไดขั้นที่ 2 คือ การศึกษาหลักสูตรชีวิต ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระบบ โดยใช้ระบบ ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ จัดการเรียนการสอนในห้องเรียนสร้างโอกาสที่ออกแบบมาเพื่อนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าเรียนตามเวลาได้ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ มีเด็กนักเรียนที่ต้องทำงานหาเงินในวันธรรมดา โดยมีทั้งไปรับจ้างปลูกข้าวโพด รับจ้างเลี้ยงวัว รับจ้างซ่อมรถจักรยานยนต์ ฯลฯ โดยให้นักเรียนมาเข้าเรียนตามวันที่สะดวก แต่มีเงื่อนไขคือจะต้องส่งงานสัปดาห์ละครั้ง อีกทั้งยังมีการติดต่อพูดคุยไปยังทางนายจ้างของเด็ก ขอความร่วมมือให้ช่วยสอนวิชาชีพให้เด็กมีทางทำกินต่อได้ในอนาคต โดยโรงเรียนจะนำชุดความรู้ที่ได้มาตีความเป็นทักษะในสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง

– บันไดขั้นที่ 3 คือ การศึกษาหลักสูตรมือถือ ในกรณีที่เด็กไม่สามารถปรับตัวกับบันได 2 ขั้นก่อนหน้าได้ ก็สามารถเข้าศึกษาในหลักสูตรมือถือ ณ ศูนย์การเรียนสร้างสรรค์ โดยเป็นหลักสูตรที่มีการประกันคุณภาพ แม้จะผ่านการปรับเปลี่ยนให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงบทเรียนได้ผ่านสมาร์ตโฟน- บันไดขั้นที่ 4 คือ การศึกษาในศูนย์การเรียนรู้(ศกร.) คล้ายกับการศึกษาตามอัธยาศัย โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ใช้รองรับนักเรียนที่ตกหล่นจากบันได 3 ขั้นก่อนหน้า มิให้หลุดออกจากระบบการศึกษาไปโดยสิ้นเชิง” 

ทั้งหมดนี้ก็คือไอเดียและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางสร้างนิเวศการเรียนรู้ เพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในจังหวัดราชบุรีจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจาก กสศ. และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาริเริ่มโครงการ Zero Dropout ในพื้นที่ โดยจังหวัดราชบุรีนั้นได้รับการผลักดันและถูกเลือกให้เป็นโมเดลต้นแบบในการสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษามาตั้งแต่ช่วงปี 2565 และตลอด 3 ปีที่ผ่านมา Ratchaburi Zero Dropout สามารถช่วยเหลือเด็กๆ ชาวราชบุรีไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนกว่า 8,000 คน โดยมีเป้าหมายหลักในปีนี้คือการทำให้ตัวเลขเด็กที่หลุดจากการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ ภายในปี 2567