ชวนเรียนรู้เทคนิคการทำงานของ 3 ท้องถิ่น สร้างโอกาสทางการเรียนรู้ของเยาวชนนอกระบบการศึกษา

ชวนเรียนรู้เทคนิคการทำงานของ 3 ท้องถิ่น ในโครงการ “พัฒนาตัวแบบความร่วมมือระดับท้องถิ่นในการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ของเยาวชนนอกระบบการศึกษา กสศ.” ที่จะพาทุกคนไปใช้หัวใจนำทางในการทำงานกับเยาวชนที่อยู่ในมุมมืดให้ออกมาพบเจอกับแสงสว่างในชีวิตผ่านกลไกที่แม้จะมีความเฉพาะตัว แต่ทุกที่มีเหมือนกันคือ “ผู้ใหญ่ใจดี” ที่จะคอยโอบอุ้มและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับน้อง ๆ ด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง

1.องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

ผู้ร่วมเรียนรู้
-เยาวชนนอกระบบการศึกษา 70 คน
-กลุ่มเสี่ยงหลุด 30 คน

พื้นที่: ตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
เทคนิค: ทำงานผ่านกลไกลผู้ใหญ่ใจดี
“ต้องจริงใจ – ให้คุณค่า – มองเห็นว่าน้องมีตัวตน”

โดยการ
-สร้างพื้นที่ปลอดภัยโดยการจัดค่ายแรงบันดาลใจ ให้น้องสบายใจและกล้าที่จะบอกเล่าสิ่งที่ทุกข์
-รู้จักตัวเอง รู้ความต้องการ และมองเห็นเป้าหมาย เพื่อที่คณะทำงานจะสามารถหนุนเสริมได้อย่างตรงจุด โดย หากน้องคนไหนอยากเรียนต่อก็จะส่งเสริมให้กลับเข้าสู่ระบบหรือเรียน สกร. และหากน้องคนไหนสนใจอาชีพก็จะส่งเสริมให้ถูกทาง ด้วยการเสาะหาผู้ใหญ่ใจดีทั้งในและนอกพื้นที่ที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ มาช่วยสอนให้ความรู้เป็นเวลา 60 วัน
-ทำงานร่วมกับผู้ปกครองด้วยการจัดเวทีอบรมความรู้และส่งเสริมให้ทำกิจกรรมร่วมกันทั้งผู้ปกครอง บุตรหลาน และชุมชน

2.เทศบาลนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยสมาคมไทสิกขา

ผู้ร่วมเรียนรู้
เยาวชนนอกระบบการศึกษาและกลุ่มเสี่ยงหลุด 120 คน

พื้นที่: จังหวัดขอนแก่น โดยแบ่งเป็น
เทศบาลนครขอนแก่น อำเภอเมือง, เทศบาลตำบลพระลับ อำเภอเมือง, เทศบาลตำบลสะอาด อำเภอน้ำพอง, องค์การบริหารส่วนตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู

เทคนิค: ทำงานผ่านกลยุทธ์ 5C กลวิธีเข้าไปนั่งในหัวใจเด็กชายขอบ

ดังนี้
-Core Person จัดทัพ/จัดทีม ค้นหาคนที่มีใจอยากทำงานเพื่อเยาวชนจริงๆ ซึ่งขณะนี้เกิดการรวมตัวกันกว่า 26 หน่วยงาน เรียกว่า ทีมงานไร้พรมแดนนครขอนแก่น
-Connect ประสานกับแกนนำในพื้นที่ให้มาร่วมดูแลเยาวชนหรือให้การอุปถัมภ์ค้ำชำ รวมถึงช่วยในการเข้าถึงตัวน้อง อาทิ เกิดนวัตกรรมวงเนื้อย่างเกาหลี ทานไปคุยไป เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้น้องได้อิ่มท้อง อิ่มใจ นอกจากนี้ยังมีการจัดการเข้าค่ายใกล้ชิดธรรมชาติร่วมกันระหว่างน้องทั้ง 4 พื้นที่ เพื่อสานสัมพันธ์ให้เหนียวแน่นและใช้ธรรมชาติบำบัด
-Continue ทำกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากเข้าค่าย โดยจะชวนน้องๆ มาพูดคุยว่าอยากทำอะไร ทั้งการพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพ รวมถึงออกแบบการเรียนรู้ให้ตรงใจและส่งต่อให้น้องไปให้ถึงเป้าหมาย
-Control เชื่อมความสัมพันธ์เชิงลึก สร้างความเป็นเพื่อน เป็นพี่ ที่น้องสามารถพึ่งพาได้ เพื่อให้เขาไม่หนีหายไป
-Complete น้องมีการฝึกอบรมทักษะชีวิตและอาชีพตามความสนใจ

3.เทศบาลนครสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ร่วมเรียนรู้
-เยาวชนนอกระบบการศึกษา 50 คน
-กลุ่มเสี่ยงหลุด 50 คน

พื้นที่: โรงเรียนสังกัดเทศบาลนครสวรรค์ โดยแบ่งเป็น
โรงเรียนเทศบาลวัดไทรใต้ (n.1), โรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำโพใต้ (n.2), โรงเรียนเทศบาลวัดวรนาถบรรพต (n.4), และโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ (n.8)

เทคนิค: ทำงานบนความเชื่อว่า การศึกษาสร้างโอกาสให้กับคนได้

โดยการ
-เตรียมคนทำงานให้พร้อมด้วยการอบรมจิตปัญญาศึกษาให้กับคุณครูและบุคลากรของสำนักการศึกษา เทศบาลนครสวรรค์ เพื่อให้ฟังเป็น ถามเป็น และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเยาวชนได้ เพราะเมื่อครูเข้าใจนักเรียนจะช่วยลดจำนวนการหลุดออกจากระบบได้บ้าง
-นอกจากนี้ยังอบรมจิตปัญญาศึกษาให้กับเยาวชน เพื่อให้มองเห็นคุณค่าของตัวเองและเป้าหมายในชีวิต
-เมื่อเตรียมคนพร้อม จะลงเยี่ยมบ้านน้องแต่ละคนเพื่อทำความเข้าใจปัญหา
-ให้น้องทำตาราง 4 ช่อง ด้วยการเขียนหรือวาดรูปเป้าหมายในชีวิต ปัญหาและอุปสรรคที่มี รวมถึงความฝัน ส่วนช่องสุดท้ายจะให้แปะรูปตัวเองไว้
-คณะทำงานนำข้อมูลที่ได้มาถอดบทเรียนร่วมกัน ว่าควรจะดูแลช่วยเหลือน้องแต่ละคนอย่างไร รวมถึงวางแผนทำงานกับผู้ปกครองควบคู่ไปกับการพัฒนาน้องด้วย