กสศ. ชี้ “การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต” เป็นจริงได้ โดยยึดเด็กเป็นที่ตั้ง มองเห็นถึงความหลากหลายและแตกต่าง

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า

ปัญหาที่หนักที่สุดและเป็นวิกฤตจริงๆ ของการศึกษาประเทศไทยคือ นักการเมืองมองปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างผิวเผิน ขาดการมองอย่างวิเคราะห์รอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องการหลุดออกนอกระบบของเด็กที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขและหาวิธีช่วยเหลือเด็กให้ได้ ต้นไม้แห่งการหลุดจากระบบการศึกษาเปิดเผยว่า รากแก้วของการหลุดจากระบบการศึกษาคือการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น โดยเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามีทุกระดับและส่วนใหญ่มีปัญหาซับซ้อน สาเหตุหลักมาจากปัญหาครอบครัว 50% โรงเรียน 50% ถ้าไม่มีการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เด็กก็จะหลุดจากระบบอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าหลุด 3 เดือนแล้ว เด็กจะไปอยู่ที่สถานพินิจ เหล่านี้คือวิกฤตทางการศึกษาที่นักการเมืองต้องรับรู้ เพราะการแจกแต่แท็บเล็ตไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

“นโยบายที่ดีของกระทรวงศึกษาธิการคือการตามเด็กกลับมาเรียน จากจำนวนเด็ก 238,707 คน สามารถตามเด็กกลับมาเรียนได้ 200,000 กว่าคน แต่สภาพปัจจุบันที่เป็นผลมาจากการอมโรคโควิด-19 ความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษาจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี 2566 ถ้าเราไม่จัดการหรือไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ตัวเลขที่น่าตกใจมากคือเด็กที่ตามกลับมาแล้ว ถ้าไม่ดำเนินการ ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีการช่วยเหลือ อย่างเช่น สวัสดิการต่างๆ เด็กจะหลุดออกจากระบบวนซ้ำถึง 85 % เพราะฉะนั้นการหลุดวนซ้ำนี้ นำมาซึ่งปัญหาใหญ่มากของประเทศ ถ้าไม่คิดอะไร ไม่มีนโยบายทางการเมือง เราจะเผชิญวิกฤตใหญ่ของประเทศสองเรื่องใหญ่ คือ การสูญเสียเด็กไทยทั้งรุ่น และการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นจะขยายตัวครั้งใหญ่”

วิกฤตทางการศึกษาที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ

ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล นักการเมืองหรือรัฐมนตรีที่จะเข้ามา ต้องเข้าใจว่าวิกฤตทางการศึกษาที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศมีดังต่อไปนี้

  1. เด็กเกิดภาวะเรียนรู้ถดถอย เด็กมาจากครอบครัวที่ยากจนเพิ่มขึ้น 3-4 แสนคน และเด็กหลุดจากระบบการศึกษา 2-3 แสนคน เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า ถ้าไม่แก้ปัญหาในอนาคต เราจะสูญเสียเด็กไทยทั้งรุ่น ที่ต้องประสบปัญหาทั้งเรื่องการอ่านออกเขียนได้และสุขภาพจิต
  2. ความยากจนเพิ่มขึ้น สิ่งที่เป็นปัญหาเรื้อรังคือการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น รัฐบาลใหม่ควรดูตัวอย่างจากกรมพินิจฯ เป็นหลัก แม้เป็นระบบราชการ แต่ทำงานแบบเปิดอกคุยกัน นำองค์ความรู้มาช่วยพัฒนาให้เด็กได้เรียนและมีอาชีพ ซึ่งมีโอกาสดีกว่าเด็กข้างนอกด้วยซ้ำ อีกเรื่องที่สำคัญคือต้องปฏิรูประบบราชการ กระทรวงศึกษาฯ เพื่อไม่ให้เป็นระบบการศึกษาแบบแช่แข็งเหมือนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับวิธีคิด หลักการ หาเครือข่ายที่จะมาร่วมพัฒนาการศึกษา ปรับหลักสูตรให้หลากหลาย แตกต่าง ทำให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ เช่น Education Card ให้เด็กเรียนรู้, Mobile School ที่เกิดการเทียบโอน หากทำให้มีการศึกษาทางเลือกที่ชัดเจนได้ เด็กทุกคนจะมีโอกาสการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกัน

เป้าหมายของ กสศ. : การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) และการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (System Change

“กสศ. มีเป้าหมายสำคัญคือการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) และการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (System Change) ดังนั้นการขับเคลื่อนในอีก 3 ปีข้างหน้าจำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก เป็นการศึกษาแบบเปิด (Open Education) ที่ล้วนเกิดจากความร่วมมือของเครือข่าย ทั้งนี้หากกระทรวงศึกษาธิการหันมาปฏิรูปโครงสร้างระบบ โดยมองเด็กเป็นที่ตั้ง มองเห็นถึงความหลากหลายแตกต่าง จัดการการศึกษาให้มีหลากรูปแบบหลายระบบ ก็จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของเด็กได้อย่างดียิ่ง ฉะนั้นอยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับ และหันมาร่วมมือกัน ซึ่งการใช้นวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มทางเลือกหรือทางออกทางการศึกษาให้กับเด็กได้ เพราะระบบการศึกษาที่ผ่านมามีกำแพง กฎเกณฑ์มากมาย จึงอยากให้ผ่อนปรนลดกฎระเบียบเหล่านี้ลงบ้าง เพราะเมื่อเด็กออกกลางคัน เขาจะเป็นแรงงานไปตลอดชีวิต 

“ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าถ้าเด็กออกจากระบบการศึกษาแล้วประมาณสามเดือน เส้นทางพวกเขาคือการเข้าสู่วงจรสีเทา ติดเพื่อน ติดยาเสพติด ลองของ สุดท้ายก็เข้าสถานพินิจ ข้อมูลสถานพินิจปี 2561-2565 พบว่ามีเด็กที่กระทำผิดจำนวน 134,747 คดี ที่ตัวเลขสูงมาก เพราะที่ผ่านมาเราพยายามไปแก้ที่ปลายทาง สถานพินิจเป็นหน่วยงานราชการที่ทำเรื่องการศึกษาได้ดี สามารถแก้ไขปัญหาเด็กที่ก้าวพลาดให้ก้าวถูก ทำให้พวกเขาก้าวในจังหวะที่เหมาะสม แต่สุดท้ายการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงคือ ต้องแก้ที่ต้นทางคือระบบโรงเรียน ไม่ปล่อยให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา 

“อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2565 ยังมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น แม้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติในปีก่อนนั้นจะไม่ผ่าน แต่อย่างน้อยพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2565 ผ่าน การศึกษาสามรูปแบบคือ เรียนในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยยิ่งสูงขึ้นไป เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้จึงทำให้การทำงานด้านเด็กนอกระบบมีพื้นที่เรื่องการศึกษาทางเลือก มีพื้นที่เรื่องของการ Reskill Upskill และการเทียบโอนต่างๆ”

นวัตกรรมการศึกษาทางเลือก : เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา

กสศ. ร่วมกับ ‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ แสวงหาข้อค้นพบและทางออกใหม่ ๆ ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา ตัวอย่างเช่น

  1. กรุงเทพมหานคร/Free From School ห้องเรียนนอกกรอบเพื่อให้เด็กมีทักษะการทำงานและวุฒิการศึกษา ทางเลือกที่จะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการศึกษาและเศรษฐกิจจำนวน 100 คน จนต้องหลุดจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าห้องเรียนที่จะพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะการทำงานและได้รับวุฒิการศึกษาในระดับชั้นมัธยมต้น-ปลาย
  2. เชียงใหม่/ไร่ส้มวิทยา ศูนย์การเรียนที่ออกแบบการศึกษาบนเงื่อนไขชีวิตของเด็กๆ ในพื้นที่ ซึ่งเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ “ที่ไร่ส้ม เด็กๆ สามารถพาน้องมาเลี้ยงและมาเรียนด้วยได้” 
  3. นครพนม/โรงเรียนมือถือ โรงเรียนที่สามารถเคลื่อนที่ไปหากลุ่มเป้าหมาย ช่วยผู้เรียนให้เลือกเรียนได้ตามความสนใจในทุกที่ทุกเวลา โดยศูนย์การเรียน CYF  (Children and Youth Development Foundation) ร่วมกับ กสศ. คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครพนม (ศธจ.) สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม และภาคีเครือข่ายพัฒนาเด็กนอกระบบจังหวัดนครพนม
  4. น่าน/ศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน สถานศึกษาที่เกิดจากชาวบ้านในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการศึกษาให้ลูกหลานของพวกเขาด้วยตัวเอง นอกจากลูกหลานไม่ต้องลำบากเดินทางไกลแล้ว ยังทำให้เด็กๆ เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด และได้เรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวพันกับชีวิตจริงในชุมชน
  5. กาญจนบุรี/นวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 ระบบ ที่โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ พื้นที่ที่เด็กในระบบ นอกระบบ และอัธยาศัยเรียนร่วมกัน โดยการจัดการเรียนการสอนนั้นมีความคล้ายกับการเรียนแบบโฮมสกูล

5 ตัวอย่างนี้เกิดจากการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ ริเริ่มใหม่ในการทำงานเพื่อเรียนรู้ ทดลอง พัฒนานวัตกรรม สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนทำความเข้าใจสภาพปัญหา โดย ศ. ดร.สมพงษ์กล่าวว่า “เราพบเพื่อนภาคีที่ทำงานด้านเด็กนอกระบบในพื้นที่มากมายมหาศาล ผมขออนุญาตชักชวนกลุ่มองค์กรอิสระ คนที่มีความใฝ่ฝันตั้งใจทำงานเพื่อเด็ก อยากเห็นอนาคตเด็กที่ดี เข้ามาร่วมทำงานเป็นภาคีกับ กสศ. ในส่วนปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน กสศ. รับรู้ รับฟัง และจะพยายามแก้ไข การทำงานในบริบทพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราพบนวัตกรรมการศึกษาทางเลือกมากมาย มีหลักสูตรแปลกและแหวกแนวที่สุดที่เรียกว่า “หวยวิทยา” ที่เด็กในชุมชนคลองเตยเรียนกันแล้วสนุกสนานมาก การขายเสื้อผ้ามือสองกลายเป็นอาชีพหลักของเด็กยากจนในชุมชนแออัด เด็กข้ามชาติที่เรียนที่ไร่ส้มวิทยา กสศ. เข้าไปสนับสนุนเต็มที่ เราจะไม่ให้พี่น้องภาคีต้องทำงานตามลำพัง”

ปีที่ท้าทาย#เราต้องเดินไปด้วยกัน

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ยังสะท้อนเรื่องโจทย์การทำงานของเครือข่ายระบบการศึกษาทางเลือกว่าปี พ.ศ. 2566 นี้ยังเป็นปีที่ท้าทาย

“ปีการศึกษา 2566 ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีรัฐบาลหรือในช่วงรัฐบาลรักษาการ ความกังวลที่ยังไม่มีรัฐบาล ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายตามน้องกลับมาเรียนจะมีการสานต่ออย่างไร จะมีสวัสดิการอะไรที่ช่วยเหลือเด็กยากจนหรือเด็กด้อยโอกาสกลุ่มนี้ จะป้องกันไม่ให้เด็กออกจากระบบการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน นี่คือโจทย์ใหญ่ของพวกเราที่อยู่ในพื้นที่ระบบการศึกษาทางเลือก 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ.

“ที่ผ่านมาเราพบเด็กนอกระบบที่เป็นกลุ่มเปราะบาง 15 กลุ่ม ความท้าทายคือการรวมกลุ่มเข้าไปช่วยเหลือเด็กกลุ่มต่างๆ ที่มีปัญหาและสภาพความต้องการที่หลากหลาย ปัญหาที่ซับซ้อนหนักขึ้นนี้ เราจะรับมือกันอย่างไร ทั้งกลุ่มแม่วัยใส กลุ่มแรงงานเด็ก กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเด็กกระทำผิด ฯลฯ ต้องอาศัยคนที่รู้ใจ รู้ปัญหาและเข้าไปจัดการ สามารถเข้าใจวัฒนธรรมย่อยของเด็กว่าจริงๆ แล้วเด็กคิดอย่างไร ปีนี้จึงเป็นปีที่ท้าทาย เป็นปีที่เราต้องทุ่มเท เป็นปีที่การทำงานต้องใช้มากกว่าหัวใจและความรู้สึก ต้องอาศัยการประสานงานกับทุกฝ่าย เด็กจึงจะรอดและมีอนาคตที่ดี…เราต้องเดินไปด้วยกัน


สาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

  1. 78% ของเด็กส่วนใหญ่เป็นครอบครัวแหว่งกลาง คือ เด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับปู่ย่าตายาย
  2. ขาดความสมดุลของรายได้ครัวเรือน ครอบครัวเด็กมีหนี้สินมากกว่ารายได้ ประเด็นสำคัญคือ ครอบครัวเหล่านี้ยอมจำนนต่อความยากจน คือ ไม่มีกำลังส่งเสียลูก จึงทำให้มีทัศนคติว่าไม่ต้องเรียนสูงมาก 
  3. ครอบครัวผู้รับทุนมีค่าเฉลี่ยหนี้สินมากกว่ารายได้ของครอบครัว สะท้อนภาวะเรื้อรังวิกฤตทางเศรษฐกิจของครอบครัว ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานในระยะยาว
  4. เด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามีทุกระดับการศึกษา โดยระดับที่เสี่ยงหลุดมากที่สุด คือ ระดับประถมศึกษา (46.29%)
  5. เด็กประสบสาเหตุที่มีโครงสร้างซับซ้อนมากกว่าหนึ่งสาเหตุ ดังนั้นกระบวนการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือแบบสหวิชาชีพ


ที่มา : เรียบเรียงจาก

  1. เวทีแถลงข่าวความร่วมมือและนำเสนอนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา “ทางเลือก การศึกษาที่แท้จริง และตอบโจทย์ชีวิตทางออกปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบ” (4 เมษายน 2566)
  2. ชี้แจงการเปิดรับข้อเสนอโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 (11 เมษายน 2566)