“ผมเคยยึดติดกับการสร้างโรงเรียน ซึ่งเป็นวัตถุ เป็นสิ่งก่อสร้าง แต่เมื่อหันกลับมามองที่การศึกษาในปัจจุบัน ก็พบว่าโลกในตอนนี้มันเดินมาถึงจุดที่โรงเรียนอาจไม่ได้หมายถึงสถานที่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่เราสามารถทำให้โรงเรียนไปอยู่ที่ตัวเด็ก ติดตามเขาไปได้ในทุกที่ และทำให้เรื่องของการศึกษาเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องที่ไกลจากตัวพวกเขาอีกต่อไป”
“เพราะหากใครสักคนที่เขารู้ว่าอยากทำอาชีพอะไร ต้องการเดินไปในทางที่เหมาะกับการใช้ชีวิต โดยที่การเรียนในระบบอาจไม่ได้ตอบโจทย์ความสามารถหรือความถนัดของเขา ก็ควรมีการศึกษาทางเลือกที่เขาจะพึ่งพิงได้ แล้วที่ปลายทางต้องมีวุฒิการศึกษา เพื่อนำไปต่อยอดการเรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือเอาไปใช้ช่วยยกระดับอาชีพได้”
วิทิต เติมผลบุญ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียน CYF (Children and Youth Development Foundation) อธิบายภาพของ ‘โรงเรียนมือถือ’ (Mobile school) ที่ศูนย์การเรียน CYF ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครพนม (ศธจ.) สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม และภาคีเครือข่ายพัฒนาเด็กนอกระบบจังหวัดนครพนม นำมาใช้ในโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดนครพนม) เพื่อแก้ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบในพื้นที่ มุ่งตัดวงจร ‘เด็กแขวนลอย’ ด้วยโรงเรียนที่สามารถเคลื่อนที่ไปหากลุ่มเป้าหมาย ช่วยผู้เรียนให้เลือกเรียนได้ตามความสนใจในทุกที่ทุกเวลา พร้อมเก็บตัวชี้วัดแบบ Credit Bank สร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่อำนวยให้กลุ่มเด็กเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษามีหนทางกลับสู่พื้นที่เรียนรู้ และมีวุฒิการศึกษาไว้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต
“เด็กแขวนลอย” คือใคร?
ผอ.ศูนย์การเรียน CYF กล่าวว่า เมื่อได้โจทย์เรื่องการแก้ปัญหาเด็ก Drop out หรือเด็กที่หลุดออกนอกระบบในพื้นที่จังหวัดนครพนม พบว่า ในวงจรของเด็กกลุ่มเสี่ยงจะเริ่มต้นจากการขาดเรียนเป็นประจำ จนถึงวันหนึ่งที่ไม่กลับมาโรงเรียนอีกเลย โดยเด็กเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่ม ‘เด็กแขวนลอย’ ซึ่งหมายถึงเด็กยังมีชื่ออยู่ในระบบ แต่โรงเรียนไม่สามารถคัดชื่อออกได้ เนื่องจากอายุยังไม่พ้น 15 ปี ทำให้การตามหาตัวเด็กให้พบเป็นเรื่องยาก ขณะที่ข้อมูลระบุว่าช่วงเวลาที่เด็กส่วนใหญ่เริ่มหายไปจากโรงเรียน คือประมาณชั้น ม.2 ดังนั้นช่วงเวลาก่อนอายุครบ 15 ที่จะกลายเป็นกลุ่ม Drop out โดยสมบูรณ์ จะมีช่วงห่างราว 1-2 ปี ปลายทางของเด็กส่วนหนึ่งจึงไปจบอยู่ในสถานพินิจฯ หรือส่วนใหญ่ก็มีการเปลี่ยนแปลงหักเหรูปแบบชีวิตไป จนไม่อาจต่อติดเข้ากับระบบการศึกษาได้อีก
“หลังตีโจทย์แล้วว่าเบื้องต้นต้องช่วยให้เด็กมีวุฒิการศึกษาภาคบังคับ บนข้อจำกัดว่าไม่สามารถนำพวกเขากลับเข้าห้องเรียนแบบปกติได้อีก เพราะเกือบทุกคนเขาไปทำงาน มีชีวิตอีกแบบหนึ่งไปแล้ว เราจึงมองหาเครื่องมือที่จะเป็นทางออกให้เด็กเหล่านี้ยังเชื่อมตนเองไว้กับระบบการศึกษาได้ต่อไป ในรูปแบบของโรงเรียนมือถือ หรือโรงเรียนเคลื่อนที่ ที่ต้องเอื้อต่อการเรียนได้ในทุกที่ทุกเวลา แล้วออกแบบหลักสูตรร่วมกัน”
4 ขั้นตอนโรงเรียนมือถือ ที่เปิดพื้นที่ให้ความสนใจเฉพาะทาง ฝึกฝนจนชำนาญเพื่อไปสู่เป้าหมายที่อยากจะเป็น
หลักสูตรของ Mobile School ตั้งอยู่บนฐานตัวชี้วัดในกลุ่ม 8 สาระวิชา แต่ได้ปรับเปลี่ยนควบรวมให้เหลือเพียงส่วนที่ผู้เรียนมองเห็นว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง เป็นบันได 4 ขั้นสู่การพัฒนาศักยภาพภายใน คือ 1. ชิม 2. ชอบ 3. โชกโชน และ 4. เชี่ยวชาญ
“ในกระบวนการของโรงเรียนมือถือ เด็กจะได้เรียน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ สิ่งที่ต้องรู้ตามตัวชี้วัดกำหนด สิ่งที่ควรได้รับการเสริมเติมเพื่อพัฒนาทักษะวิชาการทักษะชีวิต และส่วนสำคัญที่สุดคือ สิ่งที่ผู้เรียนอยากเรียนรู้บนพื้นฐานความต้องการของตนเอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบฐานสมรรถนะ ฉะนั้นเมื่อเด็กเข้ามา อย่างแรกเขาจะต้องตอบคำถามที่ตรงกับตัวชี้วัดก่อน คือสิ่งที่เขาจำเป็นต้องรู้ แล้วจึงเลือกเรียนในเรื่องที่สนใจ จนชำนาญขึ้น เห็นทิศทางที่จะไปต่อ จากนั้นเราจึงจะช่วยปรับและเสริมเติมให้เขาไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
“ขั้นตอนแรกของการเรียนผ่านโรงเรียนมือถือคือการชิม เป็นพื้นที่ที่เด็กจะได้นำเสนอสิ่งที่เขาสนใจผ่านคลิปต่างๆ เพื่อนำไปสู่ความชอบ บางคนสนใจงานช่าง การทำอาหาร เสริมสวย อะไรก็ตามที่อยากเป็น หรือหลายคนก็ได้โชว์ของ คือสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่เขาไม่รู้ว่านั่นคือทักษะที่พัฒนาต่อยอดได้ เช่น การทำเกษตร ทำนา บ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ตรงนี้พอได้แลกเปลี่ยนกันก็กลายเป็นแรงกระตุ้น เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ มีการถ่ายเทและถ่วงดุลคุณค่า ว่าทุกคนทำได้ เรียนรู้ได้ เป็นนิเวศการเรียนรู้ที่เริ่มจากการเลือกบทเรียนและกำหนดจังหวะได้ด้วยตัวเอง นี่คือสิ่งที่มากกว่าเรื่องการเรียน แต่คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เขาพึงมี”
“ต่อจากนั้นจะมีคนที่เราเชิญเข้ามาเสริมในขั้นตอนโชกโชนและเชี่ยวชาญ เป็นโค้ชที่จะมาช่วยเติมในส่วนที่ขาด พร้อมพาเด็กไปให้ถึงการเป็นผู้ประกอบการ แรงงานฝีมือดี หรือนำวุฒิการศึกษาและทักษะความสามารถที่ได้รับการขัดเกลาแล้วไปใช้เรียนต่อในระดับสูงได้”
ให้การเรียนรู้อยู่ในมือเด็ก
พิมพ์ชนก จอมมงคล ครูศูนย์การเรียน CYF กล่าวว่า โรงเรียนมือถือทำให้การออกแบบหลักสูตรทำได้เป็นรายบุคคล มีการเชื่อมโยงสิ่งที่ผู้เรียนสนใจเข้ากับตัวชี้วัดในวิชาหลัก เช่น ภาษา สังคม หรือประวัติศาสตร์ แต่จะเน้นหนักที่การลงมือทำ มองหาหนทางที่จะเติบโตไปประกอบอาชีพในสายงานนั้นๆ ดังนั้นเด็กนอกระบบการศึกษาหลายคนจึงให้ความสนใจ เพราะส่วนหนึ่งเขาทำงานแล้ว มองว่าถ้าจะกลับเข้าสู่การศึกษา บทเรียนนั้นต้องช่วยทำให้เขาไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ดียิ่งขึ้น
“พอนำมาใช้จริง เราเจอเด็กนอกระบบหลายคนที่อยากกลับมาเรียน เพราะพอเขาออกไปอยู่ในโลกความเป็นจริงแล้ว ได้เรียนรู้ว่าถ้ามีวุฒิการศึกษาชีวิตจะก้าวหน้าไปได้เร็วกว่า แต่ความที่เขาออกจากระบบไปนาน การกลับเข้าไปในห้องเรียนมันไม่สอดคล้องกับประสบการณ์ของเขาแล้ว โรงเรียนมือถือที่ให้เขาได้เลือกเรียนจากสิ่งที่ชอบ ที่รัก ที่ฝัน มันทำให้เขาชัดเจนกับเป้าหมายในการเรียนได้มากขึ้น คือรู้ว่าจะเรียนเรื่องอะไรไปทำไม แล้วนำความรู้หรือวุฒิการศึกษาไปใช้อะไรหลังจากนั้น
“อย่างเด็กคนหนึ่งหลุดจากระบบตั้งแต่ ม.2 เขาเข้ามาหาเรา พอให้เลือกสิ่งที่สนใจ เขาโยนคลิปเกี่ยวกับช่างซ่อมรถมาให้ เราก็ช่วยออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับตัวชี้วัดในกลุ่มสาระวิชาหลัก วางเป้าว่าเด็กต้องจบการศึกษาได้วุฒิ ม.3 แล้วหลังจากที่เริ่มเข้ามาเรียน เขาก็เอาใจใส่กับการเรียนมาตลอด พอถามเขาก็บอกว่า ถ้าได้เรียนในสิ่งที่ชอบจริงๆ เขาก็รู้สึกอยากเรียน อยากทำให้ดีที่สุด”
ทำงานจากปลายน้ำย้อนคืนกลับไปยังจุดเริ่มต้น
ในปีการศึกษา 2564 นี้ โรงเรียนมือถือผ่านการดำเนินงานมาแล้ว 1 ปี บนเส้นทางทำงานที่ศูนย์การเรียน CYF วางไว้ว่า จะทำงานกับเด็กสามกลุ่ม คือ ปลายน้ำ กลางน้ำ และต้นน้ำ
โดยเด็ก ‘ปลายน้ำ’ หมายถึงเด็กในกระบวนการยุติธรรม หรือในสถานพินิจฯ ซึ่งจำนวนเกือบ 100% คือเด็กที่มาจากกลุ่ม Drop out ที่ทางศูนย์ฯ เริ่มทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ก่อน เนื่องจากต้องการลดจำนวนเด็กที่ออกมาแล้วกลับเข้าไปใหม่ให้เป็นศูนย์ ด้วยการเรียนรู้ที่จะช่วยเด็กกลับไปใช้ชีวิตต่อในสังคม มีทางไปที่ชัดเจนไม่ว่าจะเลือกประกอบอาชีพหรือกลับไปเรียนต่อ
“เรามองว่าสถานพินิจฯ คือโรงเรียนแห่งหนึ่ง ไม่ใช่พื้นที่ควบคุมหรือลงโทษ เราเข้าไปปรับทัศนคติให้เขารู้ว่าเขามีสิทธิ์ที่จะเรียน มีโอกาสที่จะได้วุฒิการศึกษา พอออกไปจะกลับไปเรียนต่อที่โรงเรียนเดิมก็สามารถทำได้ หรือหากค้นพบสิ่งที่ตนสนใจอยากทำจริงๆ ก็มีคนพร้อมสนับสนุนให้ไปได้จนถึงที่สุด ซึ่งเราจะช่วยเขาในเรื่องการเทียบโอนหน่วยกิตเพื่อให้เด็กกลับไปเรียนได้หากเขามีความประสงค์”
ส่วนเด็ก ‘กลางน้ำ’ หมายถึง กลุ่มเด็กแขวนลอย และเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว ซึ่งกระจัดกระจายกันไปในที่ต่างๆ ทางศูนย์การเรียน CYF ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการนำเด็กเข้าสู่ระบบ Mobile School ในทุกช่องทาง ทั้งประสานผ่านโรงเรียน หน่วยงานต่างๆ รวมถึงมีรถโรงเรียนเคลื่อนที่เข้าไปหากลุ่มเป้าหมายในพื้นที่
และเด็ก ‘กลางน้ำ’ หมายถึงกลุ่มเสี่ยงที่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียน แต่มีแนวโน้มว่าจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นแผนงานที่ทางศูนย์กำลังเตรียมทดลองเข้าไปทำกับโรงเรียน เพื่อให้เป็นการศึกษาทางเลือกสำหรับเด็กในกลุ่มที่ไม่พร้อมกับการเรียนในระบบจริงๆ
เป็น ‘ประตูการศึกษา’ อีกบานหนึ่งของเด็กๆ
ผอ.ศูนย์การเรียน CYF ผู้ผ่านประสบการณ์ในการทำงานด้านการศึกษามาแล้วอย่างโชกโชน แต่ออกตัวว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า จากครั้งหนึ่งที่เป้าหมายของเขาคือการสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาออกไปให้ถึงเด็กในที่ห่างไกล แต่ถึงวันนี้กลับมีความคิดที่จะจัดทำการศึกษาในรูปแบบที่ตอบโจทย์กับสังคมปัจจุบันมากกว่า ซึ่งตนเชื่อว่าด้วยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ จะช่วยทำให้โมเดล ‘โรงเรียนมือถือ’ พัฒนาไปได้อีกยาวไกล
“บทเรียนของการทำงานด้านการศึกษา ทำให้ผมเรียนรู้ว่าเราไม่ได้รู้อะไรเลย ยิ่งทุกวันนี้มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นรวดเร็วและตลอดเวลา เราพบสิ่งนี้จากการคุยกับเด็กๆ จึงอยากให้พวกเขาเป็นคนเข้ามาออกแบบโรงเรียนกันด้วยตัวเอง นำประสบการณ์แปลกใหม่ วิสัยทัศน์ใหม่ๆ เข้ามาสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของพวกเขา โดยที่ผู้ใหญ่อย่างเราจะต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ อย่างน้อยในตอนนี้เราต้องเปิดโอกาสให้เด็กที่เขาอาจจะไม่พร้อม หรือไม่ถนัดจริงๆ กับการเรียนหนังสือในระบบ ได้มีทางเลือก มีพื้นที่พัฒนาตนเอง และมีทางประสบความสำเร็จได้”
“นี่คือสิ่งที่โรงเรียนมือถือจะมาช่วยเปิดประตูบานหนึ่งให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ ให้เขาเรียนรู้ได้ตามความสนใจ ตามจินตนาการและสิ่งแวดล้อมในชีวิตของเขา เปรียบได้กับธรรมชาติของการปลูกต้นไม้ ที่เราไม่มีทางทำให้ทุกต้นเติบโตขึ้นมาเหมือนกันได้หมด บางต้นอาจโตเร็ว บางต้นโตช้า บ้างยืนต้นสวยงามสง่า บ้างเป็นไม้ดอกสีสดใส นั่นคือความงดงามตามวิถีธรรมชาติ คือความหลากหลายที่เราทำได้เพียงช่วยกันดูแล”