“ภาพฝัน” การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก วันที่ประเทศไทยจะไม่มีคำว่า “เด็กนอกระบบ”

การศึกษาเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

รัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดหน่วยจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคในการเลือกเส้นทางการศึกษาตามความถนัด ความต้องการ และความจำเป็นพื้นฐานแห่งชีวิต เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ  

การออกแบบนโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่การพาเด็กและเยาวชนจำนวน 2.5 ล้านคน จากครัวเรือนยากจน 20% ล่างของประเทศ รวมถึงเยาวชนและแรงงานนอกระบบสะสมอีกราว 20 ล้านคน ก้าวออกจากวงจรความยากจนข้ามรุ่นได้สำเร็จ 

ชวนอ่าน #ข้อเสนอนโยบายเร่งด่วน ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก เพื่อประเทศไทยสามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จภายในช่วงชีวิตของพวกเราทุกคน

1. สนับสนุนให้เกิดหน่วยจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายทางเลือกและเป็นนวัตกรรม

ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันรายบุคคล โดยสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค มีความยืดหยุ่นทั้งเวลา รูปแบบ และเงื่อนไขในการเข้ารับบริการทางด้านการศึกษา ไม่ยึดติดกับกรอบเวลา แต่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อม การค้นพบตัวเอง และเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ตามความถนัดหรือความสนใจเป็นสำคัญ ทันต่อวงจรการเติบโตเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ทั้งนี้ผู้เรียนสามารถเลือกรูปแบบทางการศึกษาได้อย่างอิสระ จนสามารถประสบความสำเร็จได้เต็มศักยภาพของตนเอง และสามารถเรียนรู้พัฒนาได้ตลอดช่วงชีวิต  

ตัวอย่างนวัตกรรมหน่วยจัดการเรียนรู้หลากหลายทางเลือก  อาทิ หนึ่งโรงเรียนหลายระบบ, หนึ่งตำบลหรือชุมชน หนึ่งหน่วยจัดการเรียนรู้ทางเลือก, หลักสูตรอาชีพระยะสั้น Upskill Reskill, โรงเรียนมือถือ, Open Education, Online Learning Platform, บ้านเรียน, ศูนย์การเรียน, ช้างเผือก Academy 

โดยมีระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่น เช่น ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank)เป็นกลไกที่ช่วยให้การเรียนรู้ทุกรูปแบบสามารถเทียบโอนหน่วยกิต เชื่อมต่อกันได้ทั้งระบบในทุกระดับ ทำให้การศึกษาตลอดชีวิตเกิดขึ้นได้จริง  ระบบการเรียนรู้เช่นนี้ยังเอื้อต่อการยกระดับทักษะอาชีพครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น เช่น หลักสูตรอาชีพระยะสั้น Upskill Reskill โดยใช้ฐานข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน และส่งเสริมทักษะอาชีพ อาจขยายผลให้เกิด “กองทุนพัฒนาอาชีพชุมชน” ที่ไม่ได้มุ่งเน้นมาตรการด้านเงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่ยกระดับทักษะอาชีพให้แก่ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นตามความต้องการและเหมาะสมกับสภาพบริบทของครัวเรือนและชุมชน การสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการเริ่มต้นอาชีพ ไปจนถึงการจัดหาตลาดและการให้บริการขนส่งที่สามารถเชื่อมร้อยกระบวนการต่าง ๆ เข้าด้วยกันแบบเครือข่าย มีการส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง พัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตในการประกอบอาชีพคือ การไม่ยึดติดกับมุมมองที่ว่าชีวิตไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ให้สามารถเพิ่มรายได้ จนพึ่งตนเองได้ และมีความสามารถในการอุปการะเพื่อการศึกษาของบุตรหลานแบบครบวงจร

2. ระบบติดตามค้นหาและฐานข้อมูลรายบุคคลที่ไร้รอยต่อ

ขยายผลระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว (Longitudinal Database) ที่ กสศ. ได้ร่วมมือกับทุกหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษาวิจัยพัฒนาขึ้น  เพื่อใช้ในการค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบ โดยนำทะเบียนราษฎร์จากฐานข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และจำนวนนักเรียนตามระดับการศึกษาจากหน่วยงานทางการศึกษาทุกสังกัดมาเปรียบเทียบ ให้สามารถชี้เป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบในเบื้องต้นได้ 

นอกจากนี้ อาศัยกลไกชุมชนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข และอาสาสมัครพัฒนาสังคม ค้นหา ติดตาม เก็บข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีการออกแบบเครื่องมือ วิธีการเก็บข้อมูลที่ง่ายและเข้าถึงเด็ก เยาวชนอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม พร้อมทั้งมีการจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ และส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ถึงกันได้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานในทุกกระทรวง ทั้งระดับประเทศและระดับชุมชน พื้นที่ จะได้มีโอกาสบูรณาการ เชื่อมโยงชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาวะ สังคม ครอบครัว แรงงาน การศึกษา ฯลฯ ตลอดจนความร่วมมือของประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนได้รับการดูแล ฟื้นฟู พัฒนาทุกมิติ และพัฒนาระบบส่งต่อระหว่างช่วงชั้น หรือเส้นทางการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้มีเด็กเยาวชนคนไหนตกหล่น

3. ปิดช่องว่างของกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ

อาศัยโอกาสการเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เป็นจุดเปลี่ยนพาประเทศไทยให้ไปสู่การมีระบบการเรียนรู้ที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต โดยสนับสนุนให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งมีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ สามารถดำเนินงานได้จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายช่วยคลี่คลายช่องว่างหรือปัญหาอุปสรรคของการจัดการศึกษาทางเลือกตลอดเวลาที่ผ่านมา 

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การเปิดช่องทางให้ทุกคนได้เข้าถึงและมีทางเลือกหลายรูปแบบ รวมถึงการกระจายอำนาจการจัดการเรียนรู้ไปยังหน่วยส่งเสริมการเรียนรู้ระดับท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม  

ในขณะเดียวกัน ควรมีกลไกที่รับผิดชอบ ดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางเลือกที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  ตั้งแต่ระดับชาติ (ส่วนกลาง) -ภาค-ท้องถิ่น-จังหวัด และให้มีตัวแทนจากองค์กร/เครือข่ายการศึกษาทางเลือกมาตรา12 ของสถาบันสังคมมีส่วนร่วมด้วย เพื่อขจัดอุปสรรคในทางปฏิบัติของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันทางสังคม ซึ่งเป็นการศึกษาทางเลือกที่มีสถานะทางกฎหมาย เป็นอีกเส้นทางหนึ่งของระบบการเรียนรู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง  

ปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เป็นทางเลือกการศึกษาโดยไม่กำหนดเกณฑ์เรื่องอายุและคุณสมบัติของผู้เรียน เพื่อขยายโอกาสให้กับเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาได้เข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามหลักการสิทธิเด็ก

4. ระบบสวัสดิการครอบคลุมทุกรูปแบบการจัดการศึกษา

นโยบายเรียนฟรี 15 ปี  ควรเพิ่มงบประมาณให้ครอบคลุมการเรียนรู้ในทุกเส้นทาง เช่น ศูนย์การเรียนของสถาบันทางสังคมที่ดำเนินการโดยบุคคล องค์กรชุมชนหรือองค์กรเอกชน และองค์กรวิชาชีพ ซึ่งในปัจจุบัน มีเพียงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียนสถานประกอบการเท่านั้นที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวแก่ผู้เรียน ขณะที่ศูนย์การเรียนประเภทอื่นที่เป็นที่ทางเลือกของเด็กและเยาวชนที่มีข้อจำกัดในชีวิต กลับยังไม่มีระเบียบใด ๆ ออกมาสนับสนุนการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว และสิทธิประโยชน์แก่ผู้เรียน เช่น การได้รับอาหารเสริมนม อาหารกลางวัน อุปกรณ์การเรียนการสอน เสื้อผ้า/ยูนิฟอร์ม การได้รับวัคซีน การตรวจสุขภาพจากสถานพยาบาล  นอกจากนี้ ควรพัฒนาการจัดชุดสวัสดิการที่เหมาะสมกับความต้องการตามสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนเป็นรายคน  เช่น กลุ่มแม่วัยใส เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เด็กพิการ หรือ ผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะอาชีพ เป็นต้น   

ทั้งนี้ยังรวมถึงงบประมาณสำหรับบริหารจัดการสถานศึกษา และงบประมาณ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ สำหรับครูและผู้จัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายอีกด้วย  ควรมีโอกาสได้รับสวัสดิการ ค่าตอบแทน และการฝึกอบรมทักษะความรู้ในการจัดการศึกษาตามสิทธิที่ควรได้รับตามกฎหมายอย่างเหมาะสมเท่าเทียม

5. พัฒนาคูปองส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 
หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้านการศึกษา หรือ Education Credit ID

เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการศึกษา ซึ่งรัฐสามารถจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลไปยังเด็กและเยาวชนกลุ่มยากจนด้อยโอกาสโดยตรง ให้สามารถใช้คูปองหรือ Credit ดังกล่าวในการเลือกเรียนรู้ ฝึกอบรม ได้ทุกที่ ทุกเวลาตามความต้องการ โดยจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน ทุนอุดหนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยเลข 13 หลัก และ Prompt Pay ของเยาวชนทุกคนอย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งใช้ในการเก็บข้อมูลเครดิตการเรียนไปใช้ในการสมัครงานและศึกษาต่อในอนาคตได้ นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมในการลงทุน (เงินและไม่ใช่เงิน) เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาหลากหลายเส้นทางที่ตอบโจทย์ชีวิตผู้เรียนเป็นรายบุคคล ทั้งระดับชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงระดับประเทศ  เช่น ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) การทำ CSR ของภาคเอกชน  สถานประกอบการเพื่อการฝึกอาชีพและการจ้างงาน  ทั้งนี้อาจมีมาตรการแรงจูงใจทางภาษีร่วมด้วย

6. พัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมในพื้นที่ทุกจุดอย่างแท้จริง

ไม่ใช่เฉพาะเพียงจุดใดจุดหนึ่งของชุมชนเท่านั้น  และสนับสนุนความเสมอภาคในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็กเยาวชนวัยเรียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสผ่านการสนับสนุน  Sim / E-Sim แก่เด็กเยาวชนวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (3-18 ปี) หรือเยาวชนที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สนับสนุนการเข้าถึงโปรแกรมและช่องทางการศึกษาที่ลงทะเบียนกับ กสทช. ได้ฟรี สนับสนุนอุปกรณ์เข้าถึง เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ที่มีการ Trade-in ในโปรโมชันเครื่องเก่าแลกใหม่ที่ยังสามารถใช้งานได้ ให้แก่นักเรียนยากจนด้อยโอกาสที่ยังไม่มีอุปกรณ์


ข้อเสนออื่น1

โดยสรุปนโยบายที่จะนำไปสู่ทางออกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา และการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ยั่งยืนนั้น จึงเป็นมากกว่าความช่วยเหลือในการให้เงินอุดหนุนและทุนให้เปล่า แต่ต้องส่งเสริม ยกระดับให้ทุนมนุษย์ไทยเก่งขึ้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ดังนั้นรูปแบบการสนับสนุนจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น หลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ที่ไร้รอยต่อ มีระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและเชื่อมโยงทุกหน่วยจัดการเรียนรู้ระยะยาว (Longitudinal Database)  มาตรการสร้างแรงจูงใจในการเรียน  การสร้างระบบการเรียนรู้ที่ทุกคนมีทางเลือกอย่างเพียงพอ มีความหลากหลาย ยืดหยุ่น และตอบโจทย์ชีวิตผู้เรียนมากขึ้น รวมทั้งการกระจายอำนาจและทรัพยากรไปที่จังหวัดชุมชนท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออื่น ๆ เช่น

-ควรนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้เพื่อพัฒนาทักษะแห่งอนาคตให้กับเด็กนอกระบบ เช่น ‘ChatGPT’ ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการสื่อสารและพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเองได้ตามข้อมูลที่ถูกผู้ใช้งานป้อนให้ 

-ผลักดันให้เกิดการอบรมทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางให้เด็กเหล่านี้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้

-มีนโยบายสนับสนุนคนทำงานด้านการศึกษากับเด็กนอกระบบ ซึ่งเป็นบุคลากรที่สำคัญต่อวงจรการพัฒนาทักษะของเด็ก เช่น การยกระดับให้เป็นอาชีพที่ชัดเจน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะ (Up-Skill) ฟื้นฟูทักษะ (Re-Skill) หรือสนับสนุนค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าใช้จ่าย และสวัสดิการให้กับคนทำงานจิตอาสา 


1ที่มา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัด ‘เวทีระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบแนวทางการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะเยาวชนนอกระบบการศึกษา’ โดยดำเนินงานร่วมนักวิชาการและภาคีเครือข่าย ภายใต้โจทย์ ‘ภาพฝัน’ ของเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่อยากเห็นภายใน 3 ปี พร้อมวิธีการจัดการ แนวทาง และข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม (14 กุมภาพันธ์ 2566)

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษารวบรวมข้อเสนอเร่งด่วน นโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการศึกษา” เพื่อเด็กและเยาวชนยากจน 2.5 ล้านคน หลุดพ้นจากวงจรความยากจนข้ามรุ่น