“ถ้าการศึกษามีแค่ทางเลือกเดียว โอกาสของผมคงหมดไปแล้ว” แกะรอยเส้นทางกลับสู่การเรียนรู้ ผ่านโมเดลการศึกษาที่มีมากกว่า 1 ทางเลือก

1
หลุดจากระบบการศึกษา
…แต่บังเอิญได้เจอที่ทางของตัวเอง

หลังปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อนเมื่อจบชั้น ม.1 ‘ปลื้ม’ ก็ไม่ได้กลับมาที่โรงเรียนอีกเลยเมื่อเปิดเทอมใหม่ขึ้นชั้น ม.2

เกือบ 3 ปีผ่าน ขณะที่อดีตเพื่อนร่วมชั้นกำลังจะจบ ม.3 เตรียมเปลี่ยนผ่านจาก ม.ต้น ขึ้น ม.ปลาย ชีวิตของปลื้มพลิกไปอีกทาง เขากลายเป็นนายช่าง ทำงานประจำที่อู่รถสิบล้อแถวบ้าน เกี่ยวเก็บประสบการณ์งานเชื่อมประกอบโลหะ จนเริ่มชำนาญในระดับหนึ่ง

ด้วยเวลาเท่า ๆ กับที่เพื่อนใช้ในรั้วโรงเรียน ปลื้มขลุกตัวอยู่ในอู่ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ตั้งแต่ราว 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น จนทำให้เขาพบ ‘สิ่งที่สนใจ’ และคิดว่าเป็น ‘ความถนัด’ ที่น่าจะเอามาต่อยอดชีวิตได้ ปลื้มจึงค่อย ๆ เสิร์ชหาข้อมูลเพิ่มว่าทักษะที่มีพอจะต่อยอดไปทางไหนได้บ้าง

เขาพบว่าแม้จะลงมือทำซ้ำทุกวันจนพื้นฐานงานเชื่อมประกอบโลหะอยู่มือแล้ว แต่ถ้าเอาตัวเองไปเทียบกับช่างคนอื่นที่มีความรู้ภาคทฤษฎีติดตัว ก็เห็นชัดว่าโอกาสจะก้าวหน้าในสายงานยังต่างกันอยู่มาก

หรือจะแอบฝันให้ไกลกว่านั้นว่า ถ้าวันหนึ่งเขาอยากลงทุนทำอู่เล็ก ๆ ของตัวเองบ้าง ความรู้ที่สูงกว่าวุฒิ ป.6 ก็น่าจะช่วยให้เขาเจอกับประตูโอกาสที่เปิดกว้างรออยู่มากกว่า

คิดไปถึงตรงนั้น ปลื้มก็แน่ใจตัวเองแล้วว่าอยากเรียนอาชีวศึกษา เพราะเห็นเส้นทางที่ชัดเจนว่า ถ้าได้เรียน เขาจะพร้อมด้วยความรู้เชิงทฤษฎี ควบคู่กับทักษะปฏิบัติงานจริงที่สั่งสมมาอย่างเข้มข้น ซึ่งเขาเข้าใจดีว่าความชำนิชำนาญไม่เคยมีทางลัดให้ใครทั้งนั้น

แต่แน่นอนว่า ถ้าจะเดินไปบนเส้นทางที่ตั้งใจ ด่านแรกที่ต้องข้ามให้พ้น คือเขาต้องกลับไปคว้าวุฒิ ม.3 มาให้ได้ก่อน

2
จะหาทางกลับอย่างไร
…เมื่อเวลาก็ผ่านไปไม่น้อยแล้ว

ย้อนมองตัวเอง ปลื้มพบว่าอายุของเขากำลังจะพ้นวัยการศึกษาภาคบังคับ ถ้าจะกลับเข้าไปเรียนโดยเริ่มจากชั้น ม.1 อีกครั้ง เขาแน่ใจว่าฉากสุดท้ายก็จะเวียนซ้ำจบลงเหมือนเดิม คือไม่นานคงต้องหลุดออกมาอีก ซึ่งหมายถึงการเสียทั้งเวลา และเสียกำลังใจที่อุตส่าห์รวบรวม

ทั้งยังมีอีกหนึ่งข้อแม้สำคัญที่ปลื้มไม่ได้อยากจะเลิกทำงานที่เขาคิดว่ากำลังทำได้ดีอยู่แล้ว และต้องไปเริ่มต้นทุกอย่างใหม่ทั้งหมด เมื่อรวมเหตุผลทุกข้อเข้าด้วยกัน ปลื้มจึงตัดสินใจว่าจะลงเรียน กศน. (การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย)

ระหว่างนั้นมีอีกเหตุการณ์ที่ดำเนินคู่ขนานกันไป คือแม่ของปลื้มเองก็อยากให้ลูกกลับไปเรียน และมองว่าถ้าเป็นโรงเรียนเดิมน่าจะพอมีหวัง แม่ของปลื้มจึงเข้าไปคุยกับ ผอ. และครูที่โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ โรงเรียนเก่าของปลื้ม ที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

ข้อมูลที่แม่พอมีอยู่บ้าง แต่ตัวของปลื้มไม่เคยรู้มาก่อนเลย คือโรงเรียนเก่าของเขามีสถานะเป็นโรงเรียนแกนนำของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ในการจัด ‘การศึกษาที่มีทางเลือก’ ด้วยรูปแบบ ‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ เพื่อรองรับเด็กเยาวชนที่ตกหล่น ออกกลางคัน และกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

สองแม่ลูกจึงเข้าใจพร้อมกันวันนั้นว่า นอกจากการศึกษา ‘ในระบบ’ หรือการเรียนในห้องเรียน ที่กำหนดกรอบเกณฑ์เวลาเรียนรู้ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นไว้ที่ 1,200 ชั่วโมงต่อปีแล้ว ยังมีการศึกษาที่เรียกว่า ‘นอกระบบ’ และ ‘ตามอัธยาศัย’ ที่ทุกโรงเรียนมีสิทธิ์จัดขึ้นเพื่อเป็นการศึกษาทางเลือก โดยสามารถเทียบโอนหน่วยกิตจากฐานการศึกษาเดิม หรือจากประสบการณ์การทำงานของผู้เรียนแต่ละคนได้ด้วย

3
กลับสู่เส้นทางการศึกษาอีกครั้ง
…แต่ครั้งนี้มีเป้าหมายรออยู่

วันแรกที่กลับเข้าโรงเรียน ปลื้มคิดว่าคงต้องตอบคำถามมากมายของครู ซึ่งจะ ‘ทดสอบ’ และ ‘ตัดสิน’ ว่าโอกาสกลับมาเรียนของเขาเหลืออยู่สักแค่ไหน

แต่บทสนทนาวันนั้นมีเพียงคำถามเดียวที่ปลื้มต้องตอบ คือ เขาประสงค์จะเรียนด้วยวิธี ‘ทำใบงาน’ หรือจะเลือกอีกทางคือ ‘ห้องเรียนออนไลน์’ ที่มีสาระวิชา บทเรียน แบบฝึกหัด และการวัดประเมินที่แขวนรอไว้ให้ผู้เรียนเข้าไปเรียนรู้และไล่เก็บหน่วยกิตจนครบตามที่หลักสูตรกำหนด

จากคำปรึกษาของครู บนฐานข้อมูลว่าเป้าหมายของปลื้มคือ ‘วุฒิการศึกษา’ และอยากกลับมาเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ บนทางเลือกที่เอื้อและเหมาะสมกับสถานการณ์ชีวิต ปลื้มเลือกวิธีรับใบงานกลับไปทำ ด้วยเหตุผลว่ายังสามารถทำงานได้เต็มเวลา และกำหนดเวลาเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ตามโจทย์ที่ครูมอบให้ แล้วเมื่อพร้อมจึงเข้าสู่กระบวนการวัดประเมินผลเพื่อจบการศึกษา

และจากหน่วยกิตสะสมเดิมเมื่อครั้งเรียนชั้น ม.1 ร่วมกับประสบการณ์อาชีพที่นำมาเทียบโอนในกลุ่มสาระวิชาเพิ่มเติมได้ วันนี้ในเทอมแรกของปีการศึกษา 2566 ปลื้มในวัย 16 ปี จึงได้กลับสู่เส้นทางเรียนรู้อย่างเต็มตัว และจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี เพื่อจบ ม.3

ถ้าเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นที่เคยเรียน ม.1 มาด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ชั้น ม.4 กันแล้ว ปลื้มบอกว่าเขา “ไม่รู้สึกเสียดาย” เพราะเกือบ 3 ปีที่หลุดออกไป ได้มีโอกาสเติมเต็มตัวเองด้วยทักษะวิชาชีพที่อู่ซ่อมรถ ซึ่งทำให้การกลับมาเรียนรอบนี้ของเขาดำเนินไปอย่างมีเป้าหมาย

4
เกร็ดประสบการณ์ตรง
…บนเส้นทาง ‘การศึกษาที่มีทางเลือก’

“ผมดีใจที่โรงเรียนมีทางเลือกให้มากกว่าทางเดียว ผมเลยสามารถกลับมาเรียน และเอาหน่วยกิตเดิมกับประสบการณ์ทำงานมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย เพราะถ้าไม่มีเส้นทางนี้ ทางเลือกก็คงมีแค่ กศน. อย่างเดียว

“การเรียนด้วยใบงาน ข้อดีคือผมไม่ต้องไปโรงเรียนทุกวัน ยังทำงานได้ตามปกติ เหมือนกับได้เรียนจากสองทางไปพร้อมกัน

“การเรียนผ่านใบงานยังฝึกให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งค่อนข้างเหมาะกับผม ผมชอบการใช้โทรศัพท์หาข้อมูลผ่านกูเกิล ซึ่งบางทีข้อมูลหนึ่งก็พาให้เราอยากรู้เรื่องอื่น ๆ ต่อไปอีก กลายเป็นว่าความรู้ที่ได้มาแบบนี้ทำให้ผมจำได้ดีกว่า เข้าใจมากกว่า และเป็นความรู้ที่ติดตัวไปได้นานกว่า

“หลายวิชามีบทเรียนสำเร็จรูปให้ดูในยูทูบ ส่วนที่สงสัยหรือไม่เข้าใจก็ถามครูได้ตลอด ที่ชอบที่สุดคือผมไม่ต้องเรียนเยอะเกินไป แต่สามารถมีเวลาทำความเข้าใจในเรื่องที่อยากรู้และจำเป็นจริง ๆ

“ครูบอกว่าเนื้อหาในใบงานของผมเหมือนกับที่คนอื่นเรียนในห้องปกติ แต่จะปรับเพิ่มหรือลดตามความเหมาะสม ไม่ได้ยึดตามหลักสูตรตายตัว และเน้นเรื่องที่ควรรู้กับระยะเวลาที่ยืดหยุ่นได้

“ผมยืนยันครับว่าได้ความรู้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่มาเรียนเอาวุฒิอย่างเดียว เพราะผมตั้งใจแล้วว่าจะต่อสายอาชีพ อย่างน้อยต้องจบ ปวส. พร้อมกับได้เอาพื้นฐานทักษะที่มีไปใช้ต่อยอดในวันหน้า

“อยากบอกว่าจังหวะชีวิตของคนแต่ละคนมันต่างกันครับ บางคนถนัดเรียนในห้องเรียน บางคนต้องไปเรียนเอาจากข้างนอก แต่สุดท้ายแล้ววุฒิการศึกษาก็ยังจำเป็นมาก ๆ ซึ่งถ้าการศึกษามีแค่ทางเดียวคือต้องเข้าห้องเรียนทุกวัน โอกาสสำหรับผมก็คงหมดไปแล้ว”