ต่อไปนี้… ครอบครัวบุคคลออทิสติก จะไม่เดินลำพัง

‘บุคคลออทิสติกเป็นคนที่ไม่สามารถทำงาน หรือเรียนรู้ได้’ ประโยคนี้อาจเป็นความคิดของคนส่วนใหญ่ เนื่องด้วยความไม่รู้หรือไม่เข้าใจในตัวบุคคลออทิสติกมากนัก ขณะเดียวกัน คนที่ได้รับผลกระทบจากความคิดนี้โดยตรงกลับเป็นผู้ปกครองหรือครอบครัวของบุคคลออทิสติกที่ต้องเจ็บปวดหัวใจ เพราะลูกหลานของพวกเขานั้นต้องพลาดโอกาสในการเรียนรู้ พัฒนา และอีกหลายเรื่องราวในการใช้ชีวิต  

แม้ภาครัฐจะมี พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในด้านการสนับสนุนการเรียนรู้เฉพาะทางในศูนย์การศึกษาพิเศษ ด้านการพัฒนาและฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ตลอดจนด้านการส่งเสริมอาชีพการจ้างงานบุคคลพิการตามมาตรา 35 เพื่อให้ความดูแลและช่วยเหลือ แต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียว คงไม่อาจพัฒนาหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคคลออทิสติกได้มากนัก 

ด้วยเหตุนี้ หน่วยจัดการเรียนรู้ภายใต้โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทั้ง 3 แห่ง จากชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดสกลนคร ศูนย์บริการคนพิการ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดขอนแก่น และชมรมเพื่อคนพิการจังหวัดเลย จึงลุกขึ้นมาสาน พลังเครือข่ายร่วมทำงานสร้างการเรียนรู้ให้กับบุคคลออทิสติกอย่างเข้าใจ โดยเริ่มต้นจากการนำต้นทุนความถนัดของตนเองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อต่อยอดวิธีคิด วิธีการ วิเคราะห์และทำความเข้าใจบุคคลออทิสติกรายบุคคล เพื่อ “เกาให้ถูกที่คัน” และออกแบบกระบวนหนุนเสริมที่เหมาะสมกับรายบุคคล ร่วมกับกำลังสำคัญอย่าง “ครอบครัว” นั่นเอง

ล่าสุด หน่วยจัดการเรียนรู้ ชมรมเพื่อคนพิการจังหวัดเลย ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานเชิงลึกกับคนพิการมาอย่างชำนาญ แต่สำหรับการดำเนินโครงการยกระดับศูนย์เรียนรู้ และพัฒนาทักษะอาชีพบำบัดเพื่อคนพิการเลย.. ในปัจจุบันนั้นมีโจทย์ท้าทายใหม่ คือการทำงานกับบุคคลออทิสติก จึงได้จัด “กิจกรรมค่ายครอบครัวสัมพันธ์สานฝันสู่อาชีพ” ขึ้น โดยใช้พื้นที่และประสบการณ์ของชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดสกลนคร เป็นฐานการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเติมเต็มแนวทางการทำงานในประเด็นการพัฒนาศักยภาพคณะทำงาน เทคนิคการดูแลและฝึกพัฒนาการสำหรับบุคคลออทิสติก และที่สำคัญคือ การสร้างศูนย์การเรียนรู้ ที่มีความเข้มแข็งและสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง 

ไทยวัน ชุมภูทอง

ทางด้าน “นางไทยวัน ชุมภูทอง” ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างอาชีพและรายได้ อย่างยั่งยืนให้กับผู้พิการ และครอบครัวในจังหวัดสกลนคร หน่วยจัดการเรียนรู้จากชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับการปูฐานรากชีวิตของบุคคลออทิสติกอย่างมาก โดยสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในชุมชน พื้นที่กลางที่จะเป็นศูนย์รวมครอบครัวของบุคคลออทิสติก ให้ได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการดูแลบุคคลออทิสติก รวมไปถึงการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะในเรื่องของการเพาะปลูกพืชกรุงเขมา หรือต้นเครือหมาน้อย เพื่อสนับสนุนให้บุคคลออทิสติกสามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเอง และการลงมือปฏิบัติเพาะปลูกยังช่วยในการเสริมพัฒนาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ด้วย 

“มองลูกหลานเป็นที่ตั้ง ใช้เป็นแรงผลักดันในการทำงาน สร้างพื้นที่ที่เขาจะอยู่ร่วมกับสังคมได้ เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่จะดูแลลูกหลานพิการของเราได้ หากวันหนึ่งเราไม่อยู่ พวกเขาจะสามารถดูแลกันและกันในพื้นที่แห่งนี้ได้ด้วยตัวพวกเขาเอง” นางไทยวัน กล่าว

(ซ้าย) มะโนลา พึ่งอำนวย

ทางด้าน “นางมะโนลา พึ่งอำนวย” ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า หลังจากจบกิจกรรมค่ายครอบครัวสัมพันธ์สานฝันสู่อาชีพ คณะทำงานของตนได้กลับมาทบทวนและถอดบทเรียนร่วมกันซึ่งพบว่า เรามีต้นทุนที่คล้ายกับชมรมผู้ปกครองบุคคออทิสติกจังหวัดสกลนคร แต่ยังขาดเรื่องความเข้มข้นของคณะทำงาน ส่วนนี้คือการบ้านที่เราต้องกลับไปหนุนเสริมพัฒนาทักษะอื่นๆ ให้คณะทำงาน นอกจากนี้การสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้เป็นพื้นที่กลางสำหรับผู้ปกครองและบุคคลออทิสติก โดยใช้ทักษะอาชีพเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนมาพบปะกัน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ของเราต่อ

อนึ่ง จากการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมค่ายครอบครัวสัมพันธ์สานฝันสู่อาชีพครั้งนั้น ให้ผลลัพธ์มากกว่าองค์ความรู้ที่เบ่งบาน หรือแนวคิด และวิธีการทำงานที่ต่อเติม แต่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับงานพัฒนาการเรียนรู้ให้กับบุคคลออทิสติกที่หลายหน่วยงานทำอยู่ให้เข้มแข็งมากขึ้น ผ่านความร่วมมือและการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายต่อไปจากนี้ 

“สำหรับอนาคตมีแนวโน้มในการเชื่อมโยงงานเป็นเครือข่าย โดยดึงจุดร่วมตรงกลางระหว่างชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดเลย และชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดสกลนคร รวมถึงการขยายงานไปสู่ศูนย์บริการคนพิการ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดขอนแก่น มาเป็นเพื่อนร่วมทางด้วย ซึ่งเขามีความโดดเด่นในเรื่องการของใช้ศิลปะดนตรีเข้ามาประยุกต์กับการพัฒนาการของบุคคลออทิสติก ดังนั้นทั้ง 3 หน่วยงาน มีการทำงานที่โดดเด่นต่างกัน หากช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกันก็จะช่วยส่งเสริมให้สิ่งที่แต่ละคนกำลังทำอยู่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือคนพิการ บุคคลออทิสติกและครอบครัว” นางมะโนลา กล่าว

ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสานพลังเครือข่ายร่วมกันทำงานของหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้ง 3 แห่งภายใต้โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. ในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการทำงานเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติกในพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มีความเข้มแข็งต่อไป