แก๊งเยาวชนเก่าขาม จ.อุบลราชธานี “ชวนเพื่อน ไปช่วยเพื่อน”

หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพราะครอบครัวได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ และส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ชีวิตของพวกเขาอีกต่อไป 

โดย ‘นางสาวจิราพร เวชกุล’ หรือ ‘มด’ อายุ 19 ปี ซึ่งเติบโตมาจากกระบวนการทำงานของกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนตำบลเก่าขาม ตำบลเก่าขาม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลเก่าขาม เล่าว่า “ช่วงที่ผ่านมาเพื่อนๆ เริ่มออกจากโรงเรียนกันมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่อำเภอน้ำยืนเท่านั้น แต่รวมถึงอำเภอใกล้เคียงอื่นๆ ทั้งในและนอกจังหวัด บางครั้งรวมกลุ่มดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด”

ด้วยปัญหาต่างๆ ที่เพื่อนในพื้นที่ซึ่งเป็นวัยใกล้เคียงกันกำลังเผชิญ เป็นแรงผลักดันให้นางสาวจิราพร และเพื่อนๆ จากสภาเด็กและเยาวชนตำบลเก่าขาม รวมตัวกันภายใต้กลุ่ม CYC.&The Gang (ซีวายซีแอนด์เดอะแก๊ง) เพื่อจัดทัพพลังเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา มาเริ่มทำงานช่วยเหลือพัฒนาเพื่อนที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้กลับมามีชีวิตที่สดใสอีกครั้ง ด้วยพลังของ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสานสัมพันธ์ และเป็นตัวเชื่อมไปสู่การชวนเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่มาร่วมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอาชีพ อีกทั้งหนุนเสริมพลังใจในการดำรงชีวิตให้เข้มแข็ง และพร้อมต่อสู้กับสิ่งที่เข้ามาปะทะชีวิตในแต่ละวันได้อย่างมั่นคง

กลไกเพื่อนช่วยเพื่อน

กลุ่ม CYC.&The Gang (ซีวายซีแอนด์เดอะแก๊ง) เป็นหนึ่งในหน่วยจัดการเรียนรู้ที่ดำเนินโครงการพลังเฮาเด็กและเยาวชนเก่าขามแอนด์เดอะแก๊ง จังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีนางสาวจิราพร เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ 

“เราใช้ประสบการณ์ที่มีจากสภาเด็กและเยาวชนฯ ต่อยอดการทำโครงการนี้ โดยใช้กลไก ‘หัวโจกธรรมชาติ’ เข้าหาเยาวชนช่วงค่ำๆ เพราะเขาจะไปรวมตัวที่สนามฟุตบอล และให้เพื่อนไปชักชวนเพื่อนที่รู้จักมาเข้ากลุ่ม หรือให้เพื่อนไปชวนเพื่อนที่อยู่ในหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย โดยเขาจะเลือกชวนคนที่ไว้ใจมาร่วมกิจกรรมกับเรา จากนั้นเราจะให้โจทย์เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรม ความเป็นอยู่ ลักษณะนิสัย และสภาพแวดล้อมของแต่ละคน เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการทำความรู้จักและเข้าใจกัน” นางสาวจิราพร กล่าว

และนางสาวจิราพร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จากนั้นเมื่อทำความรู้จักและเข้าใจกันแล้ว จะต้องสร้าง ‘ความไว้วางใจ’ โดยการทำกิจกรรมทุกอย่างร่วมกัน ทั้งเพื่อนที่เป็นคณะทำงานและเพื่อนผู้ร่วมเรียนรู้ เรียนรู้ด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน แลกเปลี่ยนความสนใจต่อกัน เพื่อให้เกิดความสบายใจต่อกัน 

“เมื่อเขาไว้ใจเรา พาเขามาอยู่ในสิ่งแวดล้อมของเรา เขาจะรู้สึกว่าถูกโอบกอดจากเพื่อนๆ ได้รับความใส่ใจและการยอมรับ และเขาจะเปิดใจในที่สุด กล้าแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็น ไม่มีใครตัดสินใคร แต่เราตัดสินใจร่วมกันเพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตสดใสขึ้น”

ให้ ‘เพื่อน’ ได้เรียนรู้ตามต้องการ ให้นิเวศรอบตัวนำทางอย่างเข้าใจ

นางสาวจิราพร เล่าว่า เมื่อเห็นเพื่อนหลายคนชอบเตะฟุตบอล บ้างก็เล่นวอลเลย์บอล จึงรวมตัวกันเพื่อขอพื้นที่จากทาง อบต.เก่าขาม ในการใช้สนามฟุตบอลเป็นพื้นที่กลางในการทำกิจกรรมร่วมกันด้วยความสร้างสรรค์ เช่น จัด ‘มหกรรมกีฬา’ ให้เพื่อนๆ ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเชิญผู้ใหญ่ในชุมชน ผู้ปกครอง และผู้นำชุมชนมาร่วมเป็นกองเชียร์ เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าในตัวลูกหลานของพวกเขาซึ่งเป็นเยาวชนนอกระบบการศึกษาอีกครั้ง เปลี่ยนทัศนคติและร่วมกันสนับสนุนดูแลเด็กและเยาวชนในพื้นที่ร่วมกันต่อไป 

นอกจากนั้นการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรมร่วมกัน สิ่งสำคัญในกระบวนการเรียนรู้คือ ไม่ท่องจำหรืออบรมเชิงวิชาการ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์เพื่อนๆ เยาวชนนอกระบบการศึกษาอย่างมาก จึงต้องออกแบบกระบวนการที่ตอบโจทย์เพื่อนมากที่สุด โดยหนุนเสริมทักษะอาชีพเป็นกลุ่มตามความสนใจ อาทิ กลุ่มกีฬา กลุ่มช่าง และกลุ่มธุรกิจการตลาด รวมถึงกิจกรรมเสริมทักษะเฉพาะด้านที่ได้เหนี่ยวนำหน่วยงานในภาครัฐหรือภาคเอกชนอื่นๆ มาร่วมสนับสนุนด้วยความเข้าใจ โดยเฉพาะ อบต.เก่าขาม ที่ยังคงให้การสนับสนุนการทำกิจกรรมเรียนรู้ต่างๆ ของเยาวชนอย่างต่อเนื่อง 

‘พลังเยาวชนคิด-ทำ ผู้ใหญ่หนุน’

‘นายธีรพันธุ์ ทองสุข’ หรือ พี่อ๊อฟ นักวิชาการศึกษา จาก อบต.เก่าขาม เป็นผู้ใหญ่ในพื้นที่ซึ่งคอยสนับสนุนการทำงาน และหนุนนำความคิดให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน และยังขยายไปถึงเพื่อนคนอื่นๆ ในชุมชน ซึ่งโครงการฯ นี้ ทำให้เห็นว่ากลไกและบทบาทของท้องถิ่นเป็นส่วนที่ช่วยหนุนเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้ชุมชน สังคม หรือภาคีเครือข่ายมีความไว้วางใจต่อเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ 

“ในบทบาทที่เราเป็นภาครัฐ เรามีหน้าที่สนับสนุน หนุนเสริมเขาด้วยความเข้าใจ เราต้องเปิดโอกาส เปิดพื้นที่กลางให้เขาได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ น้อยมากที่เด็กและเยาวชนจะเดินเข้าหาภาครัฐเพื่อขอการสนับสนุน หากเรามีบทบาทและมีอำนาจพอจะทำให้เขาได้เรียนรู้อยู่ร่วมอย่างผาสุกในชุมชน ก็เป็นสิ่งที่ต้องหนุนเสริมและคอยติดตามเขาด้วยความเข้าใจ”

นายธีรพันธุ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ในโครงการนี้ให้น้องมดเป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ และตนเป็นที่ปรึกษาโครงการคอยหนุนเสริมกันนั้นเป็นการทำงานที่สร้างฐานรากความมั่นคง เพราะการที่เราดึงคนที่มีศักยภาพในพื้นที่ขึ้นมาเป็นคนทำงานได้ จะทำให้การทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนนั้นมีความต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะเขาเป็นคนในพื้นที่และสำนึกรักในบ้านเกิด เราเป็นระบบราชการ หากจะต้องย้ายเราก็ต้องยอมที่จะสละบทบาทและส่งไม้ต่อตำแหน่งนี้ให้คนที่รักและหวงแหนในพื้นที่ได้ดูแลต่อไป”