‘การศึกษา’ ที่ทิ้งผู้แพ้ไว้ข้างหลัง: ตีโจทย์อย่างไรให้เด็กไทยเรียนได้ เรียนดี ไม่มีข้อจำกัด

‘การเรียนรู้เพื่อทุกคน’ เป็นเป้าหมายที่ถูกตั้งเป็นโจทย์ในการปรับรูปแบบการศึกษาไทยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่สภาพความเป็นจริงคือระบบยังเน้นการแข่งขันและผลักเด็กให้หลุดออกจากการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2564 มีเด็กที่ต้องเสียโอกาสในการพัฒนาชีวิตเช่นนี้มากถึง 238,000 คน

สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ลักษณะครอบครัวที่แตกต่าง และสังคมที่กดทับ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงื่อนไขในชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในขณะที่การศึกษาถือเป็นสิทธิและโอกาสที่มนุษย์คนหนึ่งควรได้รับเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้ โจทย์สำคัญจึงเป็นการตั้งคำถามว่าต้องทำอย่างไรให้การศึกษาเข้าถึงคนทุกกลุ่ม สร้างทักษะชีวิตได้เหมาะสม และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไม่มีข้อจำกัดอย่างแท้จริง

101 ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนพูดคุยกะเทาะปัญหาระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตผู้เรียน แลกเปลี่ยนและค้นหานวัตกรรมที่จะโอบรับคนทุกกลุ่ม และมองโจทย์ใหญ่อย่างการยกระดับสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ กับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดร.นุชนาถ สอนสง ผู้อำนวยการ โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ จ.กาญจนบุรี และ วัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ในรายการ 101 Public Forum: เรียนได้ เรียนดี ไม่มีข้อจำกัด’ ดำเนินรายการโดยจิรัฐิติ ขันติพะโล

เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ปัญหาใหญ่ที่ไทยกำลังเผชิญ

ในมุมมองของคุณเห็นว่าปัญหาสำคัญของการศึกษาไทยในปัจจุบันคืออะไร

สมพงษ์: ปัญหาหลักของระบบการศึกษาไทย คือมองว่าระบบหลักต้องเป็นการเรียนที่อยู่ในสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นการมองความหมายของคำว่า ‘การจัดการศึกษา’ (education) เป็นแนวดิ่ง หมายถึง ‘การเรียนรู้ในระบบโรงเรียน’ (schooling) ที่กลายเป็นแนวคิดในการนำมาจัดกิจกรรมทางการศึกษา ทั้งหลักสูตรที่รัฐต้องกำหนดให้ กำหนดกิจกรรมว่าครูต้องเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้ รวมถึงการวัดผลที่ดูแค่ว่านักเรียนตอบกลับครูได้หรือไม่ กิจกรรมทางการศึกษาเหล่านี้ทำให้เกิดระบบการเรียนแบบ ‘แพ้คัดออก’ ที่ตอบโจทย์ผู้เรียนได้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นคือกลุ่มที่เรียนได้ดี สอบได้ และสามารถเลื่อนระดับไปได้เรื่อยๆ แต่ยังมีอีกกว่า 20 ล้านคนในประเทศที่เป็นผู้แพ้จนต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน ระบบเช่นนี้จึงตอบโจทย์ระบบแรงงาน แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ผู้เรียนแต่ละคน

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเราเริ่มเห็นภาพของอนาคตของการศึกษาที่มีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่ให้ความหมายคำว่าการศึกษาในแนวดิ่ง กลายเป็นการให้ความหมายว่าเป็น ‘การเรียนรู้’ (learning) ที่มองว่าการศึกษาเป็นสิทธิ หน้าที่ และโอกาสของมนุษย์ที่เป็นเจ้าของการเรียนรู้นั้น โดยออกแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับประสบการณ์ ความสนใจ และสภาวะของตนเองได้ เนื้อหาจึงมาได้หลากหลายทาง เช่น สื่อออนไลน์ ชุมชน ครอบครัว และเกิดการเรียนรู้ได้ทุกเวลา บทบาทของครูจะเปลี่ยนจากการเป็นผู้ถ่ายทอดสู่การเป็นผู้จัดการเรียนรู้ และภาครัฐเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้จัดการศึกษาสู่ผู้อำนวยความสะดวก โดยจัดสรรในเชิงนโยบายให้เหมาะสม มีวิธีวัดผลให้เหมาะสมกับผู้เรียน

สำหรับสถานการณ์เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษานั้น ตามปกติจะมีเด็กหลุดออกจากระบบประมาณ 67,000 คนต่อปี แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากถึงกว่า 200,000 คน โดยมักจะเกิดจากปัญหาครอบครัว ซึ่งเราสำรวจพบว่าพ่อแม่มักจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1,200 ต่อเดือน แต่มีหนี้สินถึงประมาณ 100,000 บาท รวมถึงสภาพครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์อีกด้วย

ในช่วงปกติ เด็กที่หลุดออกจากการศึกษามักจะอยู่ในช่วงมัธยมต้น-มัธยมปลาย แต่ปี 2566 นี้เราพบว่าเด็กถูกดึงออกจากระบบการศึกษาเร็วขึ้นคือตั้งแต่ช่วงประถมศึกษา เพื่อนำเด็กไปช่วยทำงานให้ครอบครัว ดังนั้นสภาวะทางเศรษฐกิจและหนี้สินจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กต้องออกกลางคัน

หลังเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วจะมีทางเดินต่อไปเป็น 3 ทาง คือ ไปเรียนการศึกษานอกระบบ (กศน.), เข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยต้องเป็นแรงงานที่รายได้ต่ำตลอดอายุการทำงาน และทางสุดท้ายคืออาจเข้าสู่เส้นทางอาชญากร โดยช่วงไม่เกิน 3 เดือนหลังหลุดออกจากระบบการศึกษานั้น เด็กอาจเริ่มเข้าสู่สังคมสีเทาและเริ่มกระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ จนกลายเป็นอาชญากร และนอกจาก 3 ทางนี้นั้น ในระยะหลังยังค้นพบกลุ่มที่ 4 ที่พบมากถึง 2-3 ล้านคน คือออกจากการศึกษาแล้วไม่ไปทำงาน เพียงใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวไปเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้จึงสรุปได้ว่าภาพหลังเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษานั้นมีทั้งเส้นทางที่น่าเป็นห่วงและทางที่เสี่ยง

แม้ในตอนนี้สถานการณ์หลังโควิดจะเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่จากการต้องตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากนานถึง 3 ปี คนจึงยังต้องเผชิญปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกวัน คนชนชั้นล่างกว่า 1.8 ล้านคนยังเผชิญความเสี่ยงเรื่องการไม่มีรายได้ ไม่เพียงพอต่อการหาเลี้ยงชีพ และลูกยังไม่ได้กลับเข้าระบบการศึกษา


นุชนาถ: สำหรับโรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม คนมีอาชีพทำเกษตร ค้าขาย และรับจ้าง โรงเรียนของเราไม่ได้เป็นโรงเรียนที่มีการสอบแข่งขัน รับเด็กทุกคนเข้ามาเรียนทั้งหมด จากการไปเยี่ยมบ้านเด็กนักเรียนพบว่า ปัญหาที่ทำให้เด็กต้องออกจากระบบการศึกษาคือปัญหาเศรษฐกิจ ต่อมาคืออพยพตามผู้ปกครอง ปัญหาครอบครัว ต้องช่วยพ่อแม่หาเลี้ยงชีพ บางคนออกไปสมรส บ้างเจ็บป่วย และสุดท้ายคือการก่ออาชญากรรม อีกเรื่องที่พบจากการเยี่ยมบ้านคือเด็กบางส่วนขาดความอบอุ่น ผู้ปกครองฝากลูกไว้กับญาติ ความรักที่ผู้เลี้ยงมีให้เด็กจึงอาจไม่สามารถเทียบได้กับความรักที่พ่อแม่มีให้ลูก ครูจึงต้องใช้จิตวิทยาการแนะแนวเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้เด็กไม่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา

ส่วนในการสำรวจของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาญจนบุรี พบว่า เด็กที่หลุดออกจากระบบมีสาเหตุได้แก่ ศึกษาต่อที่อื่น, จบการศึกษาภาคบังคับแล้วไม่ประสงค์ศึกษาต่อ, อายุเกินเกณฑ์แล้วไม่ประสงค์ที่จะศึกษาต่อ, ย้ายถิ่นที่อยู่ และความจำเป็นทางครอบครัว ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การปรับตัว และผลจากโควิด

ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นช่วงโควิดคือเรื่องความยากจนและการย้ายถิ่น ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น โดยจากการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงหลังโควิดแล้ว ก็ยังพบว่าเด็กมีแนวโน้มออกจากระบบการศึกษามากขึ้นอยู่ดี เพราะเด็กพบว่าตนสามารถเรียนรู้ด้วยวิธีอื่นโดยไม่ต้องอยู่ในระบบการศึกษาได้ โดยเรียนรู้จากครอบครัว สถานประกอบการ สิ่งแวดล้อม และสื่อออนไลน์ เช่น หากอยากทำงานเป็นช่างซ่อมรถ พ่อแม่อาจไปฝากให้เรียนรู้ที่อู่ซ่อมรถเลย หรือหากอยากขายของออนไลน์ก็สามารถเรียนรู้จากสื่อออนไลน์ได้ เราจึงเห็นว่าเด็กมีหนทางที่อยากเน้นทักษะอาชีพที่หาเงินได้ เลี้ยงดูตัวเองได้

ในช่วงสถานการณ์โควิด เด็กสามารถเรียนทางออนไลน์ได้และประกอบอาชีพไปด้วยได้ เด็กบางคนจึงพบแล้วว่าตนจะบริหารชีวิต-เลี้ยงดูตัวเองได้อย่างไร หรือพ่อแม่มีความต้องการให้ลูกมาช่วยที่บ้านทำงาน จึงไม่ต้องการให้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับหรือ ม.3 เด็กจึงเรียนรู้ว่าตนสามารถเรียนรู้ได้หลายวิธี และไม่ต้องการเข้ามาอยู่ในระบบที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา หลักสูตร คะแนน และคุณลักษณะต่างๆ ปัญหาที่พบที่โรงเรียนของเราหลังจากนั้นคือเด็กมาสาย เวลาเรียนไม่อยากเรียน ดูแต่โทรศัพท์ รวมถึงปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่เป็นปัญหาสำคัญ ทั้งการขาดสมาธิและก้าวร้าว


วัฒนชัย: ปัญหาร้ายแรงของการศึกษาไทยตอนนี้คือผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาไม่ได้สัดส่วนกับทรัพยากรที่ทุ่มเทลงไป โดยจากสถิติที่รวบรวมจากองค์กรระดับโลกหลากหลายแห่งพบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในแง่ของจำนวนปีที่เด็กได้รับการศึกษา แต่ขณะเดียวกันตัวเลขที่ปรากฏชัดคือความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในสังคมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาคุณภาพคนอย่างมีนัยสำคัญ

ตัวเลขที่น่าสนใจคือเด็กไทยมีระยะเวลาในการเข้าเรียนประมาณ 12.7 ปี แต่มีคุณภาพเทียบเท่าการเข้าเรียน 8.7 ปี โดยจากตัวเลข Human Development Index (HDI) หากเด็กที่เกิดในวันนี้มีอายุครบ 18 ปีในอนาคต จะมีผลิตภาพ (productivity) สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 61% คือหมายความว่าคนที่เกิดในประเทศไทยตอนนี้นั้น ในอนาคตจะมีศักยภาพได้เพียงแค่ประมาณ 2 ใน 3 ของที่ควรจะมีได้ สะท้อนถึงคุณภาพทางการศึกษาที่ต้องเร่งแก้ไข

ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไม่มากนัก โดยปีล่าสุดคะแนนด้านคุณภาพและทักษะประชากรมีคะแนนลดลง โดยทักษะที่น่าเป็นห่วงคือการสอนให้คิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ซึ่งไทยมีคะแนนเกือบรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนั้นยังปรากฏคะแนนความสามารถด้านการใช้นวัตกรรมต่ำ และคะแนนความสามารถทางภาษาอังกฤษต่ำมาก

ประเทศไทยลงทุนทางการศึกษาประมาณ 6.2% ของ GPD ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ที่อยู่ที่ประมาณ 5.0% โดยความเหลื่อมล้ำการศึกษาของไทยในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 18.3% ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สินในครัวเรือนจึงมีผลต่อการศึกษาของเด็กด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องคำว่า ‘การศึกษา’ และคำว่า ‘การเรียนรู้’ ซึ่งความเข้าใจในสองคำนี้มีความสำคัญ เมื่อพูดคำว่าการศึกษา นิยามจะเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในระบบ มีหลักสูตรและการวัดผลตายตัว แต่คำว่าเรียนรู้มีความหมายกว้างกว่าการศึกษา คือเราสามารถเรียนรู้สิ่งที่เราสนใจเพิ่มเติมทั้งจากการศึกษาในและนอกระบบได้ด้วยตัวเอง

เราจะเห็นว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในการศึกษานอกระบบโรงเรียน โดยเราเห็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนปรากฏตัวขึ้นหลายรูปแบบในท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่เมืองจะเห็นพื้นที่อย่าง co-working space แต่ในต่างจังหวัดจะเห็นคนที่จัดการเรียนรู้ให้ตรงกับความสนใจของท้องถิ่น ที่เคยได้ยินชื่ออย่างมหา’ลัยไทบ้าน, กิ่งก้านใบ, บ้านไร่อุทัยยิ้ม ซึ่งเป็นตัวอย่างสำหรับคนที่สนใจการเรียนรู้แต่มีข้อจำกัดว่าระบบโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็ก จึงสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งเห็นแนวโน้มเช่นนี้เพิ่มขึ้นในประเทศไทย

นวัตกรรมการเรียนรู้ กู้ปัญหาการศึกษาไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน

ปัญหาใหญ่ที่การศึกษาไม่สอดรับกับเงื่อนไขชีวิตของผู้เรียนที่มีความหลากหลาย จะมีนวัตกรรมรูปแบบใดบ้างที่จะแก้ปัญหา สามารถทำให้คนมีการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องได้

สมพงษ์: ในการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษานั้น การให้นิยามคำว่า ‘การเรียนรู้’ มีความสำคัญ จาก พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 นิยามคำว่าการเรียนรู้ได้ดีขึ้น โดยแบ่งเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต, การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ สอดคล้องกับที่ ดร.นุชนาถ ช่วยจัดการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัย

สิ่งที่ กสศ. พยายามจะทำคือการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปการศึกษา โดยชี้เป้า สร้างองค์ความรู้ สร้างต้นแบบ และพัฒนานวัตกรรมการศึกษา โดยเราจัดทำ ‘การศึกษาทางเลือก’ ที่สถาบัน-องค์กร-ประชาชนทั่วไป-ครอบครัวร่วมกันจัด เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในภาพใหญ่

ปัจจุบันเรามีนวัตกรรมและพื้นที่ที่ทำงานกับคนยากจน โดยขอยก 3 ตัวอย่าง ได้แก่

แบบที่ 1 การจัดการศึกษาในสถานพินิจ ในอดีตสถานพินิจเป็นสถานที่ปิด คนทั่วไปเข้าไปในสถานพินิจไม่ได้ โดยอธิบดีคนก่อนๆ เห็นว่าการจัดการศึกษาในสถานพินิจนั้นไม่มีประโยชน์ เด็กเรียนไปก็ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ โดยเราพบว่ามีสัดส่วนเด็กที่ออกจากสถานพินิจได้เพียง 3-6 เดือนก็กระทำผิดซ้ำและกลับเข้ามาในอัตราที่สูงมาก เมื่ออธิบดีมีวิสัยทัศน์ที่เห็นคุณค่าว่าต้องไม่ให้เด็กกลับเข้ามาในสถานพินิจซ้ำและเด็กต้องมีอาชีพ จึงทลายกำแพงของสถานพินิจและเปิดระบบการศึกษา มีการศึกษาดีๆ ไหลเข้าสถานพินิจ เช่น กศน. อาชีวะ หรือภาคประชาสังคมที่เข้าไป จนเด็กที่อยู่ระดับต่ำสุดของสังคมฟื้นกลับมาเป็นคนดีและอยากกลับมาเรียนหนังสือ

แบบที่ 2 คือการศึกษาเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ จึงจัดทุนการศึกษาเรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ให้กับเด็กที่เรียนจบ ม.6 แต่ฐานะยากจน หลังจบการศึกษาเด็กมีงานทำทันทีทั้งหมด 100% จากเด็กที่แทบไม่มีทางไป กลายเป็นกินอิ่มนอนหลับ และมีโอกาสศึกษาต่อเป็นพยาบาลวิชาชีพ การให้การศึกษากับคนยากจนจึงช่วยตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่นได้

แบบที่ 3 คือการศึกษาของคนพิการ คนพิการมักถูกครอบครัวและชุมชนไว้ในบ้าน มีการตีตราว่าคนพิการเป็นกาลกิณีของชุมชน เราจึงเข้าไปสนับสนุนการศึกษาเพื่อสร้างอาชีพ เช่น การเพาะเห็ด การทำกุญแจ ปรากฏว่ากลุ่มคนพิการเหล่านั้นได้มาเรียนรู้ มีอาชีพ เกิดความภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กลายเป็นเสาหลักของครอบครัวได้ โดยได้ต่อยอดจากการที่ SCG เห็นประโยชน์ จัดตั้งกองทุนสำหรับคนพิการ ช่วยดูแลสวัสดิการต่างๆ


นุชนาถ: ก่อนหน้านี้โรงเรียนเราจัดการศึกษาในระบบเท่านั้น แต่ในฐานะผู้บริหารที่ใกล้ชิดกับทั้งเด็กและครู เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มเสี่ยงออกจากระบบจะได้กลับเข้ามาศึกษาต่อ จึงมีการจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 ระบบ (ในระบบ นอกระบบ และอัธยาศัย)

เราเริ่มต้นด้วยการใช้จิตวิทยาในการพูดคุยหรือหลักความเข้าใจร่วมกัน (understanding) ให้ครูทุกคนเห็นความสำคัญของการศึกษาและช่วยให้เด็กได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง โดยการขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ มาให้ความรู้กับครู โดยโรงเรียนใกล้เคียงในสหวิทยาเขตที่อยากจัดการศึกษาแบบนี้ จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะจัดการศึกษาให้กับเด็กที่หลุดออกจากระบบไปแล้วได้ เมื่อครูทุกคนเข้าใจบนพื้นฐานความคิดเดียวกันแล้ว การดำเนินการในขั้นตอนต่อไปก็เป็นเรื่องง่าย

สิ่งสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษาแบบนี้คือข้อมูลสารสนเทศ เพื่อค้นหาเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (DMC) ที่จะบอกได้ว่าเด็กออกไปตอนไหน เพราะอะไร และยังมีการจัดเก็บข้อมูลดูแลช่วยเหลือนักเรียนจากการเยี่ยมบ้านด้วย จึงทราบปัญหารายบุคคลของเด็กแต่ละคน และนำข้อมูลเหล่านี้มาจัดเด็กกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาให้เขา

ขั้นต่อมา เราต้องการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มเป้าหมาย โดยจัดการศึกษานอกระบบไว้สำหรับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วต้องการกลับเข้ามา เราพัฒนาเว็บไซต์ห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งเด็กสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ทุกรายวิชา ครบทุกหน่วยการเรียน ซึ่งประกอบไปด้วยแบบทดสอบก่อนเรียน แบบทดสอบหลังเรียน และคลิปวิดีโอที่ให้เด็กได้เรียนรู้ โดยห้องเรียนนี้จะคอยตรวจสอบและพัฒนาอยู่เสมอ ให้เด็กสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสนใจอย่างยืดหยุ่นและคล่องตัว

เมื่อมีรูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสม โจทย์ต่อมาคือการหารูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม สิ่งสำคัญคือหลักสูตรที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน อาจต้องมีเนื้อหากว้างๆ ให้ตอบโจทย์เรื่องทักษะอาชีพและทักษะชีวิตโดยมีเวลาเรียนที่ยืดหยุ่น มีวิธีการวัดผลประเมินผลที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และที่สำคัญคือการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ในกรณีเด็กเคยประกอบอาชีพมาแล้ว

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการพัฒนาความร่วมมือภาคีเครือข่าย ทั้งความร่วมมือจากคณะกรรมการสถานศึกษา ศิษย์เก่า ชุมชน และอาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ได้ขอความร่วมมือในการติดตามเด็ก ให้ผู้ใหญ่บ้านหนึ่งคนจับคู่กับครูหนึ่งคนในการค้นหาเด็ก อย่างในช่วงโควิด อสม. อาจเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและบอกได้ว่าเด็กหลุดออกไปเพราะอะไร เช่น ย้ายถิ่นที่อยู่ไปแล้ว

นอกจากนั้นโรงเรียนยังพยายามจัดสรรสวัสดิการให้เด็กด้อยโอกาส อย่างการมีรถรับส่งฟรี โดยขอความร่วมมือเรื่องค่าใช้จ่ายจากชุมชน เนื่องจากเราสำรวจพบว่าบางครอบครัวมีพาหนะไม่เพียงพอที่จะให้เด็กเดินทางมาโรงเรียนได้ จึงจัดรถรับส่งฟรีให้กับเด็ก โดยให้ครูเวียนกันดูแลเด็กตามความสมัครใจ


วัฒนชัย: ที่ผ่านมามีตัวอย่างในต่างประเทศที่ปรับรูปแบบการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีความยืดหยุ่น โดยเน้นความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ ในช่วง 10-20 ปีนี้ โดยในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นจากการปรับใช้ในระดับมหาวิทยาลัยก่อน และค่อยๆ ใช้ในระดับอื่น สำหรับประเทศไทยก็ดูจะมีการยอมรับเรื่องนี้มากขึ้น เห็นได้จาก พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ฉบับล่าสุด

อย่างไรก็ดี ตอนนี้เราเริ่มเห็นความสำเร็จในระดับพื้นที่ แต่ต้องตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบใหญ่ได้ ทำอย่างไรให้ผู้มีอำนาจสนใจปัญหาการศึกษาอย่างจริงจัง

การกระจายอำนาจก็เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้กลไกที่จะทำให้การศึกษาแบบยืดหยุ่นเกิดขึ้นได้จริง ที่ผ่านมามีสมัชชาการศึกษาจังหวัดแล้ว แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการจัดสมัชชาสภาการศึกษาระดับชาติ เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ดีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ และแลกเปลี่ยนอุปสรรคที่พบ รวมถึงการแก้ไขอุปสรรคนั้น โดยมีเวทีที่รองรับทั้งระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับชาติ

ประเด็นถัดมาคือต้องค้นหานวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นคือสังคมสูงวัย เพราะปัจจุบันมีเด็กเข้าเรียนน้อยลง เพราะสังคมไทยเด็กเกิดน้อยแต่ผู้สูงอายุเยอะ จึงถึงเวลาแล้วที่จะตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ในหนึ่งห้องเรียนจะมีคนหลายช่วงวัยที่ช่วยกันเติมเต็มทักษะที่ขาด ภาพแบบนี้ควรจะเกิดขึ้นเพื่อให้เรียนได้ เรียนดี ไม่มีข้อจำกัด

ภาพฝันนโยบาย ความหวังในการแก้ไขปัญหาการศึกษา

จากปัญหาการศึกษาไทยในปัจจุบัน คุณต้องการเสนอนโยบายอะไรต่อการจัดการศึกษา รวมถึงการต่อยอดการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย

สมพงษ์: คำตอบของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาอยู่ที่รัฐสภา การออกกฎหมาย ต้องพาคนที่สนใจด้านการศึกษาลงพื้นที่ให้เห็นถึงประเด็นปัญหา เพื่อให้มีความเข้าใจลึกซึ้งและกลับมาออกข้อกฎหมายที่เหมาะสมได้ ที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ฉบับนี้เขียนออกมาได้ดีก็เพราะมีการลงพื้นที่ โดยยังมีกฎหมายที่รอให้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดใหม่นี้คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ หากเกิดขึ้นได้จริงก็จะทำให้เกิดโครงสร้างใหม่ ระบบใหม่ และหากสามารถทำได้มากกว่านั้นอาจเป็นหลักสูตรสมรรถนะที่เน้นเรื่องทักษะ สมรรถนะ และการฝึกปฏิบัติ ครูจะกลายเป็นผู้จัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะชีวิต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ มีเรื่องที่จะต้องทำคือปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มให้สอดรับกับคนรุ่นใหม่ เด็กเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงโรงเรียน 3 ระบบ การแก้ไขปัญหาการศึกษาจึงไม่ใช่การสั่งให้ทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ต้องดีไซน์ใหม่ ให้การเรียนรู้เข้าไปสู่โลกของเด็กรุ่นใหม่ มีการสอดแทรกประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ ไม่เพียงแต่สอนตามกลุ่มสาระการเรียนรู้เดิมๆ โดยสรุปจึงอยากให้รัฐบาลตีความโดยเห็นคุณค่าคำว่าการเรียนรู้ ว่าเป็นสิทธิและโอกาสของมนุษย์


นุชนาถ: สิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือการศึกษาต้องทำระบบติดตามนักเรียนที่ออกกลางคันได้อย่างชัดเจน หรือการมีระบบสารสนเทศที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เราต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยต้องมีระบบดูแลสนับสนุนนักเรียนอย่างชัดเจนและทำอย่างสม่ำเสมอ ถัดมาคือการจัดการรูปแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่มีหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและที่ออกกลางคัน ประเมินผลตามสภาพจริงแต่ยืดหยุ่นได้ โดยบทบาทของครูที่แต่เดิมเป็นการสอนโดยการพูด จะปรับเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนากลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน และที่สำคัญที่สุดคือการจัดการศึกษาแบบนี้จะต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากจำนวนของนักเรียน

นอกจากนี้มีความเห็นที่น่าสนใจคือ ความต้องการให้รัฐบาลใหม่จัดการให้มาตรา 15 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งมีใจความสำคัญคือให้จัดให้มีระบบการเทียบระดับการศึกษาหรือเทียบโอนทักษะได้


วัฒนชัย: สนับสนุนเรื่องการผลักดันให้มาตรา 15 สามารถใช้ได้จริงเช่นกัน เนื่องจากครูมีความตั้งใจที่จะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากยังต้องมากังวลว่าตามกฎหมายทำได้จริงหรือไม่ก็จะกลายเป็นอุปสรรคของคนทำงาน และถ้าหากระดับนโยบายกำหนดให้สามารถกระจายอำนาจได้จริง ก็จะทำให้คนที่อยู่หน้างานสามารถปฏิบัติอย่างสบายใจได้

อีกนโยบายที่น่าสนใจคือ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งจะมาสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาตามพระราชบัญญัติที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ โดยให้ความสนใจกับทักษะและขีดความสามารถของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งจะเปลี่ยนวิธีคิดของทั้งผู้เรียนและผู้สอนให้แตกต่างไปจากเดิม

แม้ส่วนตัวจะไม่ได้สนับสนุนการมีกองทุน แต่กองทุนจะเป็นอีกหนึ่งกลไก ที่ทำให้เกิดการขยับตัวทั้งอุปสงค์และอุปทาน โดยนำไปพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้มีความน่าสนใจ ไปจนถึงการทำให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์ และส่งเสริมสร้างความเข้าใจในอาชีพใหม่ๆ

นอกจากนั้นกองทุนนี้ยังสามารถช่วยสนับสนุนโรงเรียนในระบบได้ด้วย โดยโรงเรียนสามารถ คัดเลือกเนื้อหาหรือสื่อการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องถูกผูกขาดโดยส่วนกลาง สามารถเลือกให้เหมาะสมกับนักเรียนหรือสอดคล้องกับท้องถิ่นได้ ทั้งหมดนี้จึงจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้แนวใหม่ได้จริง


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world