เด็กนอกระบบ 1.02 ล้านคน หายไปอยู่ไหน ?

1.02 ล้านคน คือข้อมูลตั้งต้นในการค้นหา เพื่อไม่ให้มีเด็กและเยาวชนคนใด อยู่นอกสายตาอีกต่อไป เพราะเด็กทุกคนมีคุณค่า และเต็มไปด้วยศักยภาพ

เส้นทางชีวิตของเด็กและเยาวชนนอกระบบนั้น เต็มไปด้วยความเสี่ยง มีแนวโน้มว่าในจำนวนเด็กและเยาวชน 1.02 ล้านคน หลายคนกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วงจรอันตราย 3 เรื่อง คือ

1) แรงงานรายได้ต่ำ เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ
2) ค้าประเวณีหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง
3) ยุวอาชญากรที่ตกอยู่ในวังวนยาเสพติด และลักขโมย

10 จังหวัดที่มี เด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาสูงสุด

อายุ 3-18 ปี

1.กรุงเทพมหานคร 137,704 คน
2.ตาก 65,371 คน
3.เชียงใหม่ 36,888 คน
4.ชลบุรี 35,081 คน
5.สมุทรปราการ 30,772 คน
6.นครราชสีมา 28,896 คน
7.สมุทรสาคร 28,435 คน
8.ปทุมธานี 26,104 คน
9.เชียงราย 24,081 คน 10.สงขลา 23,681 คน

ที่มาของตัวเลข

กสศ. ได้เสนอมาตรการบูรณาการและเชื่อมโยงทะเบียนนักเรียนรายบุคคล ที่หลุดจากระบบการศึกษาต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี การทำ Data Cleansing เพื่อให้ประเทศไทยมีตัวเลขที่แท้จริงตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด ท้องถิ่น ถึงระดับพื้นที่ เป็นจุดเริ่มต้นของการติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศไทย

จากข้อเสนอของกสศ. นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการและกสศ. ดำเนินการเรื่องนี้

หลังจากที่นำข้อมูลนักเรียนรายบุคคลในช่วงอายุ 3-18 ปี จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (เทียบเท่าระดับชั้นอนุบาล 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6) ในปีการศึกษา 2566 จำนวน 12,200,105 คน ไปวิเคราะห์กับข้อมูลรายบุคคลซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการรวบรวมจากหน่วยงานผู้จัดการศึกษาทุกสังกัด รวม 21 สังกัด ทั่วประเทศไทยจำนวน 11,174,591 คน พบว่ามีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 คน*** หรือร้อยละ 8.41 ของเด็กและเยาวชนอายุ 3-18 ปีทั้งหมด (12,200,105คน)

ในจำนวนนี้อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -มัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือช่วงอายุ 6 – 14 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 394,039 คน คิดเป็นร้อยละ 38.42 ของเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา

หากจำแนกตามสภาพกลุ่มปัญหา จากตัวเลข 1,025,514 คน พบว่า มีเด็กและเยาวชนเลข 0 หรือ ไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวน 94,244 คน ส่วนใหญ่อยู่ในครัวเรือนที่มีการอพยพแรงงาน เช่น แคมป์ก่อสร้างและ ไร่สวนเกษตรกรรม หรือเกิดจากการตกสำรวจของรัฐเนื่องจากอาศัยในพื้นที่ห่างไกล แต่อยู่ในพรมแดนของประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเด็กและเยาวชนพิการที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับสวัสดิการจากภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมา ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และยูนิเซฟ ประเทศไทย ปี 2565 ระบุว่า ประเทศไทยมีคนพิการที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน 57.4%

***อยู่ระหว่างการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์การเรียน รวมถึง เด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษา