1 โรงเรียน 3 รูปแบบ
การบริหารจัดการการศึกษาที่รวมเอา (1) การศึกษาในระบบโรงเรียน (2) การศึกษานอกระบบ และ (3) การศึกษาตามอัธยาศัย เข้าไว้ด้วยกัน โดยปรับให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน นักเรียน และชุมชน
- มีความยืดหยุ่นในการจัดการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความแตกต่างและปัญหาของผู้เรียน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพให้เหมาะสมกับวัย และสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง
- สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ที่ระบุว่าการจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยสถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งหมด และสามารถเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ ทั้งจากสถานศึกษาเดียวกันหรือต่างกัน รวมทั้งการเรียนรู้นอกระบบ การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์ทำงาน
ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank)
ระบบที่สามารถเก็บสะสมหน่วยกิตหรือผลการเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ เช่น การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย ประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรม การทดสอบ และการประเมินผล
ระบบนี้มีประโยชน์ในการรับรองคุณวุฒิการศึกษาระดับสูงขึ้นและช่วยต่อยอดในการทำงานเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต มีงานทำ และมีรายได้ที่สูงขึ้น
- เทียบโอนได้: นำผลการเรียนรู้ เช่น ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ การทำงาน การฝึกอบรม การทดสอบและการประเมินมาเทียบโอนกันได้
- สะสมได้: นำผลการเรียนรู้ ความสามารถ และสมรรถนะมาเทียบหน่วยกิตและสะสมในคลังหน่วยกิตได้ตามหลักเกณฑ์
- พัฒนา/เปลี่ยนได้: บุคคลที่ต้องการพัฒนาความรู้และสมรรถนะเฉพาะทางหรือต้องการเปลี่ยนอาชีพ สามารถเข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยงานหรือหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง
- ไม่มีเงื่อนเวลา: ลงทะเบียนเรียนและสะสมหน่วยกิตได้ตลอดชีวิต โดยไม่มีเงื่อนไขของระยะเวลาในการสะสมและระยะเวลาในการศึกษา
- ลงทะเบียนได้มากกว่า 1 แห่ง: สามารถลงทะเบียนและสะสมหน่วยกิตในสถาบันการศึกษามากกว่า 1 แห่ง และสะสมหน่วยกิตในคลังหน่วยกิตจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และประสบการณ์ส่วนบุคคล
โรงเรียนมือถือ
การเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ เช่น Facebook, TikTok, Line, และ Google Classroom ซึ่งถูกออกแบบให้เหมือนการเล่นเกมเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก มีการวัดและประเมินผลผ่านระบบ AI ทำให้สามารถทราบผลการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
นวัตกรรมนี้ถูกพัฒนาร่วมกันโดยศูนย์การเรียน CYF (Children and Youth Development Foundation), กสศ., คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครพนม, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม, และภาคีเครือข่ายพัฒนาเด็กนอกระบบจังหวัดนครพนม
เป้าหมายของ “โรงเรียนมือถือ” คือการนำการเรียนรู้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ทุกเวลา
- สำรวจความต้องการและศักยภาพของเด็ก และนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้หรือฝึกอาชีพเพื่อให้ได้รับวุฒิอย่างน้อย ม.3
- การเทียบโอนประสบการณ์ ทั้งผลการเรียนเดิม ประสบการณ์ชีวิต และหน่วยกิตตามเกณฑ์จากการศึกษาภาคบังคับ
- การเปิดโอกาสให้เด็กไม่ต้องเข้าโรงเรียนแบบดั้งเดิม เด็กสามารถเป็นครูของตัวเองและเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
- เปิดโอกาสให้เรียนหลักสูตรระยะสั้นกับผู้เชี่ยวชาญ และสนับสนุนให้เด็กเดินหน้าต่อไปจนประสบความสำเร็จ โดยมีผู้ประกอบการในพื้นที่ให้การสนับสนุน
- เน้นความสุขของเด็กโดยเพิ่มการเรียนรู้เรื่อง Soft Skill เพื่อสร้างการเติบโตภายใน และมีการประเมินสุขภาพจิต หากพบปัญหาจะมีครู เมนเทอร์ และนักจิตวิทยามาดูแล
4 ขั้นตอนการเรียนการสอนในโรงเรียนมือถือ
- ชิม: เด็กเรียนรู้จากสิ่งที่ชอบดูและนำมาแชร์ใน Line โดยครูช่วยดูว่าเนื้อหาเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดหลักสูตรแกนกลางของ สพฐ. อย่างไร
- ชอบ: นำเรื่องราวการเรียนรู้ในชีวิตที่ชอบมาแสดงในกลุ่มปิด Facebook เช่น การทำนา
- โชกโชน: โค้ชเริ่มเห็นความถนัดของเด็กและส่งเสริมการฝึกอาชีพ
- เชี่ยวชาญ: นำสิ่งที่ชอบมาพัฒนาเป็นอาชีพ ทำให้เด็กมีรายได้
ศูนย์การเรียน
สถานที่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่มุ่งหาผลกำไร โดยรัฐต้องให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ วิชาการ และการลดหย่อนภาษี
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 18 วงเล็บ 3 ได้กำหนดว่า ศูนย์การเรียนเป็นสถานที่เรียนที่จัดโดยหน่วยงานจัดการศึกษา บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์ และสถาบันสังคมอื่นๆ
หลักสูตรระยะสั้น
หลักสูตรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความรู้ ทักษะ ความสามารถในงาน หรือกิจกรรมเฉพาะอย่างที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะ มีผลการเรียนรู้ที่ชัดเจน ประเมินผลการเรียนรู้ได้ทันที เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพการทำงาน
ทั้งนี้หลักสูตรระยะสั้นสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ โดยข้อมูล ณ ปัจจุบันชี้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมเรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นเวลา 4-6 ปี
การก้าวข้ามรอยต่อสู่การศึกษาที่สูงขึ้นหลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น หลักสูตรระยะสั้นสามารถส่งเสริมผู้เรียนให้ประกอบอาชีพได้ทันทีหลังจบการศึกษา เป็นบันไดไปสู่อาชีพและมีรายได้ในเวลาอันรวดเร็ว