โรงเรียนนี้ มีเรือนพักนอนอยู่ภายในโรงเรียน มีตารางเข้าเรียนแบบวันเว้นวัน มีกิจกรรมเสริมอาชีพสร้างรายได้ตามความสนใจ
โปรแกรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาในช่วงแห่งการฟื้นฟูโรงเรียนครั้งใหญ่ ซึ่งโรงเรียนมักกะสันพิทยาเลือกนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของปีการศึกษา 2565 ในฐานะหนึ่งในโรงเรียนต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ภายใต้ความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยเน้นส่งเสริมโอกาสบนพื้นฐานของความเสมอภาค และความแตกต่างหลากหลายของศักยภาพนักเรียนรายคน
สุภาพร เทพสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมักกะสันพิทยา เล่าถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นโดยปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับบริบทของชีวิต ในช่วงหลังผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 พร้อมเสริมความเข้มแข็งของโรงเรียนด้วยเรือนพักนอนสำหรับนักเรียนที่ต้องเจอกับปัญหาเรื่องที่พักอาศัย การเดินทาง และค่าใช้จ่ายประจำวัน เนื่องจากมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ผู้ปกครองต้องย้ายถิ่นฐาน เปลี่ยนที่ทำงาน กระทั่งหลายครอบครัวยังคงประสบภาวะว่างงานต่อเนื่อง ส่วนเด็ก ๆ ที่ว่างเว้นจากการไปโรงเรียนเกือบ 2 ปี หลายคนต้องไปทำงานช่วยเหลือครอบครัวแบบเต็มเวลา บางคนถูกสถานการณ์ผลักให้ต้องเป็นเสาหลักหาเงินเข้าบ้านอย่างไม่ทันตั้งตัว จนเริ่มมีความคิดว่า การศึกษาอาจไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของชีวิตอีกต่อไป
“โรงเรียนเราพยายามสร้างพื้นที่ สร้างโอกาส และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้เด็ก ว่าเขาจะสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไปจนถึงปลายทาง นอกจากนี้ต้องทำให้ผู้ปกครองเห็นพ้องด้วยว่า บุตรหลานของเขาจะได้รับการพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างเต็มความสามารถ และใช้การศึกษาเป็นบันไดเพื่อไต่ไปให้ถึงเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นได้ ดังนั้น การฟื้นฟูโรงเรียนกลับคืนมาจากช่วงเวลา 2-3 ปีที่สูญหาย เราต้องจัดระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่นตามบริบทของนักเรียนแต่ละคน เพื่อให้เขาค่อย ๆ ปรับตัวจนพร้อมกลับมา และมีพลังใจ มีความมุ่งมั่นที่จะไปต่อให้สุดทาง”
‘รีเซ็ตทั้งระบบ’ ฟื้นฟูโรงเรียนและนักเรียนให้กลับมามีชีวิตชีวา
“ช่วงปิดโรงเรียนเพราะโควิด-19 นักเรียนของเรากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ แทบตัดขาดจากการเรียนไปเลย เทอมแรกที่กลับมาเปิดเต็มรูปแบบในรอบเกือบ 2 ปี เห็นชัดเลยว่าบรรยากาศในโรงเรียนค่อนข้างซบเซา เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็มีแต่ความเงียบเหงา”
ผอ.สุภาพร เท้าความถึงบรรยากาศในโรงเรียนเมื่อต้นปีการศึกษา 2565 ซึ่งย้ำเตือนว่ามีภารกิจมากมายที่ต้องทำในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อฟื้นฟูโรงเรียนและนักเรียนให้กลับมามีชีวิตชีวา
“ถ้าจะขยายภาพให้ชัด ต้องปูพื้นก่อนว่าโรงเรียนเราอยู่ในชุมชนเมือง ผู้ปกครองเด็กส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง พอเจอโควิด งานหดหาย รายได้ลด บางคนโดนเลิกจ้าง นักเรียนหลายคนต้องใช้เวลาช่วงโรงเรียนปิดไปหางานทำ หารายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกทาง จนเมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง บางคนกลายเป็นว่าทำงานเต็มตัวไปแล้ว ก็ยากจะตามกลับมาเข้าเรียน คนที่พอตามกลับมาได้ ส่วนหนึ่งก็เหมือนสูญเสียความกระตือรือร้นทางการศึกษาไป หรือบางครอบครัวที่พอเห็นเด็กมีรายได้ พ่อแม่เขาก็อยากให้ลูกทำงานอย่างเดียวไปเลย”
ผู้บริหารโรงเรียนมักกะสันพิทยา ฉายให้เห็นผลพวงความรุนแรงจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลมาจนถึงวันนี้ และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีการศึกษาเพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนมาดังเดิม กลายเป็นช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างยิ่งขึ้น และนำไปสู่การฟื้นตัวที่ขาดสมดุล ระหว่างเด็กเยาวชนที่มีความพร้อมทางทรัพยากรและแรงสนับสนุนจากครอบครัวต่างกัน หรือมีลักษณะคล้ายกราฟรูปตัว K (K-shaped) ที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้น และนั่นหมายถึงจำนวนของเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้นตามมา ขณะที่คณะครูและผู้บริหารโรงเรียนมักกะสันพิทยาได้นิยามภารกิจครั้งนี้ไว้ว่า ‘เปรียบได้กับการกอบเก็บซากปรักหักพัง เพื่อรีเซ็ตระบบในโรงเรียนใหม่ทั้งหมด’
“งานแรกคือต้องดึงเด็กกลับมา ซึ่งลำบากมากถึงมากที่สุด ต้นปีการศึกษา 2565 ครูของเราต้องไปตามเด็กตามห้าง ตามเซเว่น ตามโรงงาน แต่พอเด็กเป็นพนักงานประจำไปแล้ว หลายคนก็ปฏิเสธไม่อยากกลับมาเรียนอีก บางคนบอกว่าไม่มีเสื้อผ้า ไม่มีกระเป๋ารองเท้านักเรียนแล้ว
“เหมือนเราต้องนับหนึ่งใหม่หมดเลย ทั้งการเรียนการสอน การดูแลพูดคุยกับเด็ก ปัญหาเรื่องปากท้องคือหนักสุด ก่อนโควิดหลายคนไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา แต่พอเปิดเทอมรอบนี้กลายเป็นครูต้องเข้าไปดูแลใกล้ชิด เราเลยมาเซ็ตระบบในโรงเรียนกันใหม่ทั้งหมด”
เรือนพักนอน พร้อมระบบดูแล 24 ชั่วโมง
ลำพังลงใจลงแรงอาจยังไม่พอ เพราะสิ่งที่จำเป็นในการรองรับแผนงานคือทุนทรัพย์ ทางผู้บริหารโรงเรียนจึงระดมทรัพยากรจากทุกทาง หาหน่วยงานที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยสนับสนุน หวังปลุกพลังใจให้เด็ก ๆ พร้อมกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง
“เดิมทีเราคิดแค่ว่าต้องหาทุนให้ได้ อย่างน้อยตั้งแต่ลุกจากที่นอนมาโรงเรียนก็ต้องมีค่าเดินทาง ค่าอาหาร เครื่องแบบ สมุดหนังสือเรียน ซึ่งการระดมทุนในระยะเวลาสั้น ๆ ก็พอได้มาส่วนหนึ่ง แต่พอมองระยะยาวแล้วต้องมีเครือข่ายเพิ่ม ก็เป็นจังหวะที่มาเจอกับ กสศ. ทำให้แผนงานของโรงเรียนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
“การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทราบว่าหลายครอบครัวพอเจอโควิด พ่อแม่เด็กต้องย้ายไปทำงานต่างจังหวัด แล้วจะเอาลูกไปด้วย ครูเราก็ช่วยกันพูดว่าถ้าเด็กย้ายบ่อย ๆ เขาจะเรียนไม่ต่อเนื่อง ขาดแรงจูงใจในการเรียน บางคนอาจหลุดไปเลย 1-2 ปีการศึกษา พานไม่อยากกลับมาเรียนอีก ทีนี้ถ้าผู้ปกครองจะให้เด็กเรียนหนังสือต่อ ก็กลายเป็นภาระเรื่องกินอยู่ ไม่มีคนดูแล เราเลยกลับมาคิดว่าโรงเรียนต้องมีเรือนพักนอน
“ตรงนี้คือฐานของแผนระยะยาวที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนภายนอก ทำให้เราคุยกับผู้ปกครองได้ว่าเราสามารถดูแลเด็กได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีที่พัก มีอาหาร 3 มื้อ มีระบบดูแลใกล้ชิด เพราะครูของเรา 95 เปอร์เซ็นต์ อยู่บ้านพักภายในโรงเรียนอยู่แล้ว รวมถึง ผอ. ด้วย ดังนั้นในช่วงวันหยุด ต่อให้เด็กไม่กลับบ้าน ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีคนดูแล”
ปรับตารางเรียนให้เอื้อต่อวิถีชีวิต
สำหรับนักเรียนที่ไม่มีปัญหาเรื่องที่พัก แต่ยังจำเป็นต้องทำงานไปด้วย ทางโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่เน้นให้สอดรับกับความจำเป็นในชีวิต มีการปรับหลักสูตรบูรณาการสาระวิชาให้กระชับ ลดเวลาเรียนลง ทำให้เด็กสามารถเลือกวันมาเรียนที่ไม่ตรงกับเวลางานได้
“จริง ๆ เราอยากให้ทุกคนมาเรียนเต็มเวลา แต่เรารู้ว่าแต่ละคนมีความจำเป็นต่างกัน เด็กของเรามีทางเลือกไม่มาก บางคนต้องทำงาน หยุดไม่ได้ เราก็ช่วยกันวางรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ ลองดูทุกทาง เพราะ 2 ปีที่หยุดเรียนไป สภาพชีวิตหรือสิ่งแวดล้อมของเด็กเปลี่ยนไปมาก การจะพาเขากลับมาต้องให้เวลา ต้องมีโปรแกรมฟื้นฟู เช่น ช่วงแรก ๆ เราใช้วิธีให้มาเรียนวันเว้นวัน พอปรับตัวได้แล้วค่อยมาทุกวัน คือไม่ใช่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน เรายืดหยุ่น เพื่อจะรักษาเด็กไว้ให้ได้มากที่สุด
“อยากให้อย่างน้อยเด็กจบ ม.3 ได้วุฒิการศึกษาก่อน จากนั้นจะพยายามช่วยให้ได้ไปต่อสายอาชีพตามที่เขาถนัด หรือใครยังไม่มีที่ไปก็อยู่กับเราต่อจนถึง ม.6 คนไหนไม่มีค่าธรรมเนียมก็ค่อย ๆ ผ่อนผันไป มาเรียนให้จบ เอาวุฒิก่อน แล้ววันหนึ่งมีงานทำ เอาตัวเองรอดแล้ว ค่อยกลับมาตอบแทนคืนให้โรงเรียน ซึ่งเด็กหลายคนพอจบไปแล้ว ดูแลตัวเองได้ เขาก็กลับมาช่วยรุ่นน้องบ้างตามศักยภาพ”
MOU วิทยาลัยสารพัดช่าง สร้าง ‘ห้องเรียนฝึกอาชีพ’ ตามความสนใจ
ผู้อำนวยการโรงเรียนมักกะสันพิทยา กล่าวว่า วิชา ‘ฝึกอาชีพ’ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่โรงเรียนนำมาสอดแทรกในการจัดการเรียนการสอนหลัก โดยทำข้อตกลงความร่วมมือกับวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร เปิดห้องเรียนวิชาช่างไฟฟ้าและช่างตัดผม รวมถึงมีภาคเอกชนเข้ามาสอนทำเบเกอรี่และทำขนมไทยสัปดาห์ละครั้ง โดยครูในโรงเรียนผู้มีทักษะจะเป็นคนนำเด็กทำกิจกรรมเพิ่มเติมในระหว่างสัปดาห์ เพิ่มพูนประสบการณ์ด้วยกิจกรรมหารายได้พิเศษ และให้เด็กสามารถเก็บหน่วยกิต รับวุฒิบัตรไปใช้ต่อยอดได้เมื่อจบการศึกษา
“จากการปรับเป็นวิชาฝึกอาชีพมาเกือบ 1 ปีการศึกษา เราเห็นว่าเด็กกระตือรือร้นสนใจกันมาก เลยมองว่าจะหาเครือข่ายเพิ่มเติมเพื่อขยายไปยังสาขาวิชาอื่นๆ เช่น ช่างแอร์ ช่างเย็บผ้า ช่างยนต์ เพราะเด็กส่วนใหญ่ของเราอาจไม่ถนัดทางวิชาการ แต่พอได้เรียนรู้ในเรื่องที่ชอบหรือสนใจ เขาก็ทำได้ดี ที่สำคัญคือเป็นทักษะที่เรียนแล้วเห็นผล ไม่ต้องรอให้เรียนจบก็เอาไปใช้ได้ทันที”
ความงอกงามที่เริ่มปรากฏ
ครูชลนิศา พลยะเรศ ที่ปรึกษาและครูผู้ดูแลเด็กพักนอนโรงเรียนมักกะสันพิทยา เล่าประสบการณ์การอยู่ร่วมกับเด็ก ๆ ตลอดเวลาเกือบ 1 ปีการศึกษา ว่า แม้เด็กแต่ละคนจะแตกต่างด้วยพื้นเพ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเมื่อเด็ก ๆ มาอยู่ร่วมกันคือ พวกเขาต่างต้องการพื้นที่และโอกาส ทั้งความขาดพร่องในบางสิ่งยังได้หล่อหลอมจนกลายเป็นความแข็งแกร่งของสภาพจิตใจ ทำให้เด็ก ๆ ปรับตัวเข้าหากันได้เร็ว พร้อมดูแลกันทั้งเรื่องเรียน การใช้ชีวิต ซึ่งครูในฐานะที่ปรึกษา จะพยายามดูแลสภาพจิตใจของเด็กเป็นเรื่องแรก มีการพูดคุยปรึกษาส่งต่อกันตลอดเวลา เพื่อหาทางช่วยเหลือดูแลเด็กให้ตรงกับสภาพปัญหาของแต่ละคน
“การจะพาเด็กกลับเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้ เพื่อนต้องเป็นตัวช่วยที่สำคัญ เราไม่สามารถทำได้แค่เพราะครูไปบอกเขาให้กลับมาเรียน แล้วพอมาจริง ๆ ก็เรียนไม่ทันเพื่อน หรือเรียนไม่ไหว แต่เราต้องพยายามให้นักเรียนทุกคนไปด้วยกันเป็นกลุ่ม ให้เพื่อนช่วยพยุงเพื่อน ให้ทุกคนจับมือกันไป เรียนจบไปด้วยกัน
“เราเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดมาก ว่าการส่งเสริมในสิ่งที่เขาสนใจทำให้เขามีความกล้า มั่นใจในตัวเองมากขึ้น จากจุดที่ไม่รู้ทางไป วันนี้เขาเริ่มมองเห็นทิศทางอนาคต เห็นเป้าหมายมากขึ้น รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียนอะไร และเริ่มมีความฝัน
“ถ้าจะวัดแค่วิชาการ เขาอาจไม่เก่ง แต่พอได้ลองทำกิจกรรมฝึกอาชีพทำให้หลายคนเริ่มเจอตัวเอง เราก็สนับสนุนให้เขาเข้าถึงโอกาสนั้นให้มากที่สุด คนที่ชอบดนตรี ชอบกีฬา เราก็หาทางให้ได้ออกไปแข่งขัน ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ พอได้ลองทำเรื่อย ๆ พัฒนาการก็จะตามมาเอง” ครูชลนิศา กล่าว
หนึ่งในเรื่องราวจากต้นแบบโรงเรียนเสมอภาค ‘โรงเรียนมักกะสันพิทยา’ ที่แสดงให้เห็นว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป แม้ข้อเท็จจริงจะบอกเราว่า การฟื้นฟูประสิทธิภาพการเรียนรู้ที่ถดถอยของเด็ก ๆ เป็นเรื่องยากลำบาก และไม่มีวิธีการขั้นตอนสำเร็จรูปใดให้เดินตาม แต่ด้วยความพยายามในการส่งเสริมผลักดัน และการดูแลใกล้ชิดจากครูและโรงเรียน โดยที่ไม่มีเด็กคนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าตนเองต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวลำพัง ก็ถือเป็นหนทางหนึ่งที่จะพาให้พวกเขากลับสู่เส้นทางการเรียนรู้ และไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาไประหว่างทาง