นวัตกรรม “Free From School” ปิดช่องโหว่ปัญหาจากตลาดการเรียนรู้ไปสู่ตลาดแรงงาน

แนวทางการช่วยเหลือเด็กนอกระบบในระยะยาวนั้น ระบบการศึกษาควรต้องปรับปรุงให้สอดรับกับความต้องการของผู้เรียน ยึดเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อสลายเส้นแบ่งของคำว่า ‘ในระบบ-นอกระบบ’ ให้หมดไป

กสศ. ร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก ได้ทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ เพื่อเรียนรู้ ทดลอง พัฒนานวัตกรรม สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนแสวงหาทางออกใหม่ ๆ เพื่อไม่ให้เด็กคนใดต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา 

“นวัตกรรมการศึกษาทางเลือก” นั้นมีความสำคัญมาก เพราะเป็นกลยุทธ์ที่สร้างโอกาสเพื่อเอื้อให้คนหลายภาคส่วนแก้ไขปัญหาและเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีปลายทางที่ “เครือข่ายความเสมอภาคที่ยั่งยืนและพึ่งพาตัวเองได้” จะกลายเป็นความจริงในทุกหัวระแหงของเมืองไทย

ชวนอ่านความพยายามสร้าง “Free From School”  ห้องเรียนนอกกรอบเพื่อให้เด็กมีทักษะการทำงานและวุฒิการศึกษา อีกหนึ่งนวัตกรรมที่พยายามปิดช่องโหว่ปัญหาจากตลาดการเรียนรู้ไปสู่ตลาดแรงงาน

รู้จัก Free From School

ห้องเรียนนอกกรอบเพื่อให้เด็กมีทักษะการทำงานและวุฒิการศึกษา ทางเลือกที่จะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการศึกษาและเศรษฐกิจจนต้องหลุดจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าห้องเรียน

กลุ่มเป้าหมาย :  เด็กนอกระบบในชุมชนคลองเตย กรุงเทพมหานคร

สลายปมในและนอกระบบตอบโจทย์ชีวิตจริงเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
กิจกรรมที่เด็กทำจะเป็นประสบการณ์และนำไปเทียบวุฒิการศึกษาของศูนย์การเรียน เพื่อใช้เรียนต่อในระบบ  Learn and Earn ฝึกการเป็นผู้ประกอบการและมีรายได้ด้วย ผลจากจากเรียนที่นี่ทำให้เด็กถูกจองตัวเป็นจำนวนมาก ทำให้ตอนนี้ผลิตเด็กไม่ทันกับความต้องการของตลาดเด็กต้องมีทักษะที่ทำงานได้จริงและมีคุณภาพ เป้าหมายนอกจากเด็กต้องได้เงินแล้ว ฐานการเรียนต้องพัฒนาตนเองเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ให้ได้ 

ศิริพร พรมวงศ์ หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง
สร้าง “นวัตกรรม” เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้ประโยชน์สูงสุด

การออกแบบนวัตกรรมเริ่มต้นที่การตั้งคำถามว่าพื้นที่ที่เราทำงานนั้นมีปัญหาอะไร เด็กมีปัญหาอะไร เสร็จแล้วออกแบบเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้ประโยชน์สูงสุด 

นวัตกรรมที่คลองเตยอาจจะไม่สามารถนำเอาไปใช้ได้ทุกที่ วิธีการคือการทดลองทำ อันไหนไม่ตอบโจทย์ก็ตัดออก อันไหนตอบโจทย์ก็เก็บไว้ เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เพราะฉะนั้นนวัตกรรมจึงไม่ได้ตายตัว เมื่อไหร่ก็ตามที่ปัญหาเปลี่ยน นวัตกรรมก็ต้องเปลี่ยน มุ่งหาแนวทางการหารายได้ที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์เด็กที่มีความแตกต่างกัน

ศิริพร พรมวงศ์  หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง

ผลักดันให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา

คลองเตยเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว เป็นชุมชนที่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ทำกิน ยาเสพติด ปัญหาเรื่องครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเรื่องการศึกษาด้วย ถึงแม้จะมี นโยบายให้เรียนฟรี แต่ก็ไม่ได้ฟรีจริง เพราะสำหรับครอบครัวยากจน แค่ค่าใช้จ่ายเล็กน้อยก็เป็นจำนวนค่อนข้างเยอะสำหรับครอบครัวเขา

เราพยายามปิดช่องโหว่ปัญหาจากตลาดการเรียนรู้ไปสู่ตลาดแรงงาน และผลักดันให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่ผลสุดท้ายเด็กไม่สามารถกลับเข้าระบบได้ จึงต้องหาวิธีการคือ ทดลองให้เด็กฝึกทำงาน แต่ก็พบว่าเด็กไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ เช่น ความรับผิดชอบ การสื่อสาร ขาดทักษะในการทำงาน ฯลฯ ผู้ประกอบการจึงส่งเด็กกลับมา เราจึงพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้อีกครั้ง ค้นหาว่าทักษะอะไรที่เด็กยังขาด และพัฒนาเพื่อให้เด็กเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานคุณภาพ ดังนั้นจึงมีการออกแบบหลักสูตรเพื่อเพิ่มศักยภาพให้เด็ก แต่ก็มีข้อจำกัดด้านการทำงานเชิงลึกเพราะต้องใช้ต้นทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครู การจัดการต่าง ๆ แต่ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเด็กจะกลายเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม

มิติความเหลื่อมล้ำมีขนาดใหญ่ สิ่งที่เราทำมันเล็กน้อยมาก เราแค่เพิ่มโอกาสให้เด็กที่ไม่มีทางเลือก ต้องใช้ความเข้าใจปัญหา เข้าใจบริบทของเด็ก เข้าใจต้นทุน และทำเพื่อตอบโจทย์เด็ก เพราะฉะนั้นเด็กบางคนอาจไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรามองว่าการศึกษาไม่ใช่ทั้งหมดของเด็ก ชีวิตรอดต่างหากที่เป็นทางเลือกของเด็ก ถ้าใครอยากเข้าสู่ระบบก็เข้าสู่ระบบ ถ้าใครไม่ได้อยากเข้าสู่ระบบก็ฝึกทักษะอาชีพ ฝึกทักษะชีวิต เพื่อที่จะสามารถมีชีวิตในสังคมต่อไปได้

เป้าหมายนอกจากเด็กต้องได้เงินแล้ว ฐานการเรียนต้องพัฒนาตนเองเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ให้ได้ มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง โครงการไม่ต้องให้เงินสนับสนุนแล้ว เพราะเราไม่มีทุนมากพอที่จะช่วยเด็กได้ตลอดไป

สำหรับเด็กนอกระบบ: ทางเลือกควรจะมีมากกว่าการศึกษา

การศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตทำให้เด็กไม่รู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร ไม่รู้เป้าหมาย เรียนตามหลักสูตรเพื่อให้จบแล้วก็สอบ อาจจะมีความรู้ แต่ไม่รู้ว่าความรู้นั้นนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างไร ทำให้ไม่มีแรงบันดาลใจ หรือเรียนไปแล้วจบออกมาค่าแรงเท่ากับคนที่ไม่ได้เรียน ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างเรียนกับไม่เรียน 

บางคนอาจจะชอบเรียน อยากจะได้ความรู้ อยากจะเรียนต่อ อยากจะมีความฝัน แต่วิธีการเรียนการสอนอาจไม่สนุก ไม่ทำให้เด็กเกิดความสนใจมากพอ หรือโรงเรียนไม่มีคุณภาพ ไม่มีพื้นที่พอให้เขามีทางเลือกที่ตอบสนองต่อความสนใจ 

ฉะนั้นทางเลือกควรจะมีมากกว่าการศึกษา พื้นที่ที่จะให้โอกาสควรมีมากกว่านั้น  เป็นพื้นที่ให้เขาได้ทดลองฝึกทักษะต่าง ๆ ถ้ามีทางเลือกให้เด็กโดยไม่ต้องยึดติดค่านิยมแค่ว่าจะต้องได้วุฒิการศึกษาระดับ คิดว่าน่าจะตอบโจทย์ได้มากกว่า เพราะตอนนี้เด็กเราหลายคนที่เรียนจบ ม.6 แล้วมาขับแกร็บ มาขายข้าวแกง มาอยู่ร้านกาแฟ เป็นพนักงานปั๊ม เป็นพนักงานกวาดขยะ อาจจะมีแค่ขั้นพื้นฐานว่าเขาจะเรียนรู้อะไร แต่การเรียนรู้ชีวิตน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

หลักสูตรที่ตอบโจทย์ชีวิต

อันดับแรกต้องจัดเด็กตามลำดับชั้นก่อน หลังจากนั้นเราจะให้เด็กเรียนออนไลน์ผ่านศูนย์การเรียน แต่ถ้าเป็นวิชาการต้องมาเรียนรวมกลุ่มที่โครงการ ระบบการเรียนจะเป็นแบบช่วยกัน โดยมีพี่เลี้ยง และไม่ได้เน้นวิชาการมากเกินไป 

ด้านวิชาการ: ประกอบด้วย 3 วิชา คือ คณิตศาสตร์ อังกฤษ ภาษาไทย  เช่น

คณิตศาสตร์ – เน้นให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็นและใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เรียนรู้เรื่องเปอร์เซ็นต์ดอกเบี้ยผ่านธนาคาร, เรียนเรื่องแชร์ลูกโซ่ผ่านเลขยกกำลัง, เรียนเรื่องหวยผ่านความน่าจะเป็น ฯลฯ ร่วมออกแบบหลักสูตร  โดยอาจารย์ที่จบปริญญาเอกด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล

อังกฤษ – ร่วมมือกับโค้ช Teach for Thailand และ UNICEF ที่เป็นอาสาสมัครต่างชาติมาช่วยสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน เก็บคะแนนตามระดับต่าง ๆ และให้รางวัลเด็กที่ผ่านเกณฑ์ทำคะแนนได้ดีให้ไปเที่ยวต่างประเทศที่ปีนัง มาเลเซีย และฝึกภาษาไปในตัวด้วย เป็นการกระตุ้นให้เด็กตั้งใจเรียน

ทักษะชีวิต: Learn and Earn ฝึกการเป็นผู้ประกอบการและมีรายได้ด้วย

เด็กจะได้รับค่าแรงตามระดับความสามารถ ตัวอย่างเช่น ฝึกการใช้โปรแกรม Canva (แพลตฟอร์มการออกแบบกราฟิก) ออกแบบโปสเตอร์ได้ชิ้นละ 100 บาท ถ้าทำอย่างอื่นได้ เช่น สัมภาษณ์เพื่อทำคอนเทนต์ด้วย ก็ได้ค่าแรงเพิ่มอีก 

นอกจากนี้เรายังร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายภาคธุรกิจ สอนเรื่องการขายเสื้อผ้ามือสอง เด็กต้องเรียนการตลาดกับ Shopee มีเวิร์กช็อปและทำระบบการขาย มีทั้งขายส่ง ออนไลน์ และขายในชุมชน เราพบว่าเด็กสามารถบริหารจัดการได้ดี ตอนนี้ทำรายได้ถึงเดือนละแสน ทำให้ไม่ต้องขอทุนโครงการ เหล่านี้เป็นการทำงานเสมือนจริง เพราะมีบริษัทที่เด็กทำงานด้วย เป็นคนแก้งานจริง ๆ เหมือนการทำงานทั่วไป

ระบบดูแลรายบุคคล

1. เด็กแต่ละคนมีปัญหาต่างกัน เราจะมีการพูดคุยก่อนว่าเขาประสบปัญหาอะไร เขาต้องการอะไร แล้วเขามีทางเลือกอะไรบ้าง ต้องวางแผนชีวิตร่วมกับเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่น เด็กบางคนอยู่ในโรงเรียนติดศูนย์ 24 ตัว เขาก็รู้สึกว่าไม่อยากเรียนในระบบแล้ว เพราะว่าเขาไม่มีความสุข เข้ากับเพื่อนไม่ได้ แต่พ่อแม่ก็ยังอยากให้เรียนอยู่ ทางเลือกของเขาคือ ต้องการที่จะหาเงินไปด้วยเรียนไปด้วย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเรียนแบบไหน เช่น จะเรียน กศน. หรือจะออกไปเรียนสายอาชีพ หรือจะเรียนกับเราที่ทำ MOU ร่วมกับศูนย์การเรียน ต้องถามความเห็นเด็กก่อนว่าต้องการอะไร

2. ให้โอกาสเด็กได้เลือก พอเลือกเสร็จแล้วให้เขากลับไปปรึกษากับครอบครัว อย่างเคสนี้น้องเลือกเรียนที่ศูนย์การเรียนเพื่อมีวุฒิการศึกษา และทำงานที่เป็นโปรเจ็กต์กับเรา ทำตารางเรียนร่วมกัน มีระเบียบ มีข้อตกลงร่วมกัน จากนั้นเขาก็ต้องเรียนและทำงานไปด้วย เช่น วันเสาร์เรียนคณิตศาสตร์ ช่วงบ่ายเรียนภาษาอังกฤษ วันจันทร์ อังคาร คือวันหยุด ต้องทำการบ้าน เพราะมีเรียนออนไลน์ด้วย 

3. มีระบบผู้จัดการคอย Follow up  ในระยะเวลา 8 เดือนเขาก็สอบ สอบเสร็จก็มาวางแผนกันใหม่ว่าจะเลือกอะไร เรียนจบกับเรา ม.3 แล้วจะไปเรียนอาชีวะต่อหรือจะเข้าสู่ระบบ ต้องมีทางเลือกให้เขาตัดสินใจ ถ้าเด็กขัดแย้งกับครอบครัว ก็ต้องมีการประนีประนอมกับครอบครัว 
4.ตอบโจทย์ความต้องการเด็กทุกช่วงเวลา สิ่งที่เขาเลือกไม่ได้หมายความว่าเลือกแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ถ้าเลือกแล้วก็ต้องทำตามข้อตกลง ถ้าเขาไม่มีความสุข อยากเปลี่ยน ก็มาทำแผนกันใหม่ ทำซ้ำจนกว่าเขาจะพอใจ

ต้องใช้พลังงานสูงเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

ข้อจำกัดน่าจะเป็นเรื่องจำนวนคนที่จะต้องมาดูแลระบบ เพราะเรามีคนน้อย เนื่องจากเราไม่ได้รับงบจากที่ไหน เราพยายามทำเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด เพราะฉะนั้นการจ้างครูที่มีคุณภาพค่อนข้างยาก

การรับเด็กสักคนมาดูแลจะต้องคุยกันพอสมควรว่าเขาจะตัดสินใจเรียนหรือไม่เรียน พอเราลงทุนกับเขาไปแล้ว เราต้องการเด็กที่มีคุณภาพ เราไม่ต้องการจ่ายเงินรายหัวเป็นทุนการศึกษาแล้วเด็กก็ไปมีชีวิตของเขาเอง แต่เราจะ Follow up เด็กค่อนข้างใกล้ชิด ช่วงแรกที่รับมาก็จะมีการคัดกรองระหว่างทาง เช่น รับมา 30 คน คัดกรองไปแล้วระหว่างทางอาจจะเหลือ 20 คนหรือ 15 คน การขยายจำนวนเด็กจึงยังไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขต่าง ๆ

ประเด็นที่เราเป็นห่วงคือการ Follow up ระยะยาว  เพราะการทำงานกับเด็กกลุ่มเปราะบางหรือมีความเสี่ยงที่จะ drop out จากความยากจนต้องใช้พลังงานสูงมาก เราทำงานกับเขามา 9 ปี เหมือนเราเลี้ยงลูก กว่าเราจะมั่นใจได้ว่าเขากลายเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคมได้นั้นต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก

ภาพฝัน: วันที่เมืองไทยจะไม่มีคำว่าเด็กนอกระบบ

ในอนาคตอยากเห็นภาพที่สังคมมองว่าการไม่อยู่ในโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือแปลกอะไร และเด็กสามารถเลือกแหล่งเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะในระบบ นอกระบบ แหล่งเรียนรู้อื่น ๆ หรือโรงเรียนเฉพาะทางก็ได้ ซึ่งต้องมีมาตรฐานในการออกใบประกาศหรือวุฒิรองรับ ฉะนั้นการออกนอกระบบไม่ใช่ปัญหาของเด็ก แต่สังคมจะต้องมีแหล่งเรียนรู้ที่รองรับความต้องการและความหลากหลายให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้เด็กมีทางเลือกในการใช้ชีวิต และการออกนอกระบบโรงเรียนจะไม่กลายเป็นตราบาปให้กับเด็กได้อีก”