“โรงเรียนใกล้ๆ แต่ไปไม่ได้” เรื่องราวการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต ที่เกิดขึ้นนอกโรงเรียน

เรื่องราวของคณะสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อีกหนึ่งกำลังสำคัญที่เข้ามาสนับสนุนและร่วมสร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทชีวิตชาวลาหู่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

มีคนกล่าวไว้ว่า การจะทำงานกับเด็กและเยาวชน ‘พ่อ-แม่’ คือคนที่ละเลยไม่ได้เด็ดขาด เพราะสุดท้ายเด็กต้องกลับไปอยู่บ้าน และทุกการกระทำของพ่อ-แม่ ส่งผลต่อเด็กและเยาวชนเสมอ ไม่เพียงระดับครอบครัวเท่านั้น ในชุมชน สังคม ก็เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางความเชื่อ ศาสนา และชาติพันธุ์ มีปัญหาข้อจำกัดด้านสิทธิที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในทุกด้าน มีความซับซ้อนของปัญหาหลายมิติ ความมั่นคง อีกทั้งมีสถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่รุนแรง และจากสถานการณ์ทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลต่อเรื่องการศึกษาและคุณภาพชีวิตของลูกหลานในชุมชนจนทุกวันนี้ ดังนั้นแนวโน้มปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาในพื้นที่จึงมาจากหลายสาเหตุ ทั้งๆ ที่มีโรงเรียนตั้งอยู่ไม่ไกลจากชุมชน แต่กลับมีเด็กส่วนน้อยที่ไปโรงเรียนและเรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

“ไม่มีความรู้ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีกิน ไม่มีตัวเลือก ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีตัวตน แต่ตกเป็นจำเลยสังคมเรื่องยาเสพติดอยู่ตลอดเวลา” คงเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุดของคนในพื้นที่นี้ ซึ่ง ‘นายไมตรี จำเริญสุขสกุล’ ผู้นำศาสนาในชุมชนบ้านกองผักปิ้ง และนักกิจกรรมกลุ่มรักษ์ลาหู่ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่พยายามต่อสู้มานานกว่า 20 ปี คือ ภาระใจที่ต้องการช่วยเหลือลูกหลานในชุมชนให้ได้รับการศึกษา ให้มีความรู้ มีทางเลือกที่ดีในการใช้ชีวิต และเป้าหมายสำคัญคือหลุดพ้นจากปัญหายาเสพติดในชุมชนไปได้ แต่การเลี้ยงเด็กสักคนกว่าจะเติบโตมั่นคง และบ่มเพาะให้เขาเป็นพลเมืองที่พร้อมจะพัฒนาชุมชนของตนเองได้นั้นต้องใช้เวลายาวนาน

“เด็กที่นี่น่าสงสารมากนะ ด้วยปัญหายาเสพติดหลายคนพ่อแม่เสียชีวิต บ้างพ่อแม่ถูกจับติดคุกนานถึงสิบปี บ้างต้องเอาชีวิตรอดดิ้นรนทำงานไม่มีเวลาดูแลลูก เด็กส่วนใหญ่จึงเติบโตมาเพียงลำพัง บางคนเกิดมาไม่เคยได้เรียน บางคนได้ไปโรงเรียนแต่โดนกลั่นแกล้งก็ไม่อยากไปอีกแล้ว บางคนก็ไม่ยอมไปโรงเรียนเพราะเห็นพ่อแม่ทำงานหนักจึงไปช่วยกันทำงาน และบางคนก็เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ใช้ยาเสพติด บางคนท้องตั้งแต่เด็กก็ต้องหาเงินเลี้ยงลูกเอง ชุมชนจึงมีสถานการณ์เปราะบางที่ส่งผลต่อชีวิตเด็กค่อนข้างมาก ดังนั้นโรงเรียนอาจไม่ใช่คำตอบ แต่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นในชุมชน ให้เป็นทั้งที่พักพิง เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่สามารถโอบอุ้มเด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้ จึงเป็นฝันที่อยากทำให้สำเร็จ”

“เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน” เป็นคำพูดที่ไม่เกินจริง เพราะหากเป้าหมายของนายไมตรี จะเป็นจริงได้บนพื้นที่ซึ่งมีความเปราะบางนี้คงอาศัยพลังในชุมชนอย่างเดียวไม่พอ แต่กำลังหนุนเสริมจากเครือข่ายยิ่งสำคัญ ทางด้าน ‘ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กริ่งกาญจน์ เจริญกุล’ และ ‘นายเชวง ไชยวรรณ’ คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงาน ‘โครงการพัฒนาทักษะการผลิตสื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการตลาดและเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่เข้ามาสนับสนุนและร่วมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนชาวลาหู่จำนวน 50 คน ในพื้นที่บ้านกองผักปิ้ง บ้านหนองเขียว และบ้านหนองวัวแดง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

โดย นายเชวง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราเคยทำงานร่วมกับคนในพื้นนี้มาก่อน ใช้กระบวนการทำสื่อเพื่อพัฒนาเยาวชน เติมศักยภาพโดยใช้สื่อหนังสั้นเพื่อสื่อสารเรื่องราวของพื้นที่ออกไปสู่สาธารณะร่วมกับเครือข่ายหลายองค์กร นั่นเป็นต้นทุนความถนัดที่เรามีนำมาใช้เปิดโอกาสและเปิดพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนร่วมกับกลไกสำคัญคือ ‘พี่เลี้ยงในพื้นที่ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างเรากับเด็ก’ ซึ่งค่อนข้างได้ผล ดังนั้นในการทำงานโครงการนี้จะขยับขึ้นไปสู่เรื่องของการใช้สื่ออย่างไรจึงจะสร้างรายได้ให้กับชุมชน “เพราะสื่อเป็นเครื่องมือตรงกลางที่สามารถนำไปสู่การเรียนรู้ ทักษะ อาชีพ บอกเล่าเรื่องราว หรือนำไปสู่การขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่สื่อที่ทำออกมา แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างทางของคนทำสื่อมากกว่า” 

ด้าน ‘นางสาวยุพิน ซาจ๊ะ’ พี่เลี้ยงชาวลาหู่ในพื้นที่ และเป็นคณะทำงานร่วมในโครงการฯ บอกว่า ที่ผ่านมาคนที่นี่ไม่ค่อยมีโอกาสได้คิดเอง หรือมีสิทธิเลือกเองว่าอยากทำอะไร แต่ครั้งนี้เยาวชนทั้ง 50 คน เขาได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และมีโอกาสได้เลือกเรียนรู้ในสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทำให้เขารู้จักตัวเอง และชุมชนมากขึ้น เขาได้ทบทวนดูว่ารอบตัวเขามีอะไรที่เป็นต้นทุนบ้าง และเขาจะเรียนรู้และพัฒนาสิ่งที่มีเพื่อให้เกิดมูลค่าและสร้างรายได้อย่างไร อย่างน้อยๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาภูมิใจในตัวเอง ส่วนหน้าที่เราก็คอยสนับสนุน และทำให้เขาได้มีพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนที่จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างอิสระนั่นเอง ซึ่งตอนนี้เราก็ใช้พื้นที่เล็กๆ รอบบ้านของตัวเองไปก่อน

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กริ่งกาญจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ได้ออกแบบการเรียนรู้ในรูปแบบ Mobile Media Lab โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากเยาวชนในพื้นที่ กิจกรรมการเรียนรู้เกิดจากสิ่งที่เขาสะท้อนและร่วมออกแบบในสิ่งที่สนใจ เนื่องจากในพื้นที่มีผลผลิตทางการเกษตร อะโวคาโด เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่นำมาสร้างคอนเทนต์ได้ โดยภาพรวมเริ่มจากการผลิตสื่อให้เป็น พูดและนำเสนอให้เป็น เรียนรู้ช่องทางการเผยแพร่และวิธีการจำหน่ายที่ทำยอดขายได้จริง และสร้างการมีส่วนร่วมจากลูกค้าให้ได้ ทำอย่างไรจะใช้สื่อโซเชียลในปัจจุบันเป็นเครื่องมือทำมาหากินอย่างเท่าทัน เหล่านี้ทำควบคู่ไปกับการเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อทำแผนรายบุคคลว่าใน 50 คนนี้ มีข้อจำกัด บริบทชีวิต และความต้องการจำเป็นแบบไหน แล้วเราจะช่วยเหลือแต่ละคนต่อไปได้อย่างไรบ้าง