มากกว่า 50 ปีที่ระบบการศึกษาไทย (Schooling) มีห้องเรียนที่รวบรวมองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้มาไว้รวมกัน โดยใช้ชุดความรู้เดิมที่ถูกตีกรอบโดยระบบการศึกษา มีครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ การมีอาชีพ การมีทักษะและความสามารถของเด็กและเยาวชน
แต่ปัจจุบัน เริ่มมีคำถามว่าการศึกษาที่ผ่านมานั้น ช่วยให้เราเอาตัวรอดได้จริงหรือไม่..แล้วยิ่งในยุคปัจจุบันที่โลกกำลังผันผวน สลับซับซ้อนอย่างรุนแรง จนเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง ส่งผลให้เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา กว่า 20 ล้านคนในประเทศไทย เด็กหลายคนขาดโอกาสในการเรียนรู้ ขาดโอกาสในการใช้ชีวิต ขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่พึงจะได้รับ
เช่นนี้แล้วในความเป็นจริง เด็กและเยาวชนควรจะได้รับการศึกษาอย่างไร ที่ตอบโจทย์เงื่อนไขของชีวิต…
ดังนั้น “การศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิต” คือคำตอบของเรื่องนี้
ที่ผ่านมากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีโจทย์หลักสำคัญคือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำในทุกด้านของสังคม รวมถึงผลักดันระบบการศึกษาทางเลือกใหม่ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่ทำให้หน่วยจัดการเรียนรู้ 40 โครงการฯ ทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วไปประเทศไทย ผู้เป็นภาคีร่วมดำเนินงาน ‘โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566’ มาร่วมกันสร้างบทเรียนการศึกษาครั้งใหญ่ของประเทศไปด้วยกัน ใน ‘การสร้างตัวแบบการศึกษาทางเลือก’ ที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตเด็กและเยาวชนไทย ให้มีทักษะด้านวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างทางเลือกให้กับตนเองได้ ตามเงื่อนไข สถานภาพ และฐานทุนชีวิตที่มีอยู่
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า “เราต้องเปลี่ยนคำ Schooling ระบบการศึกษาในโรงเรียน ให้เป็น ‘Learning’ เปลี่ยนจากระบบการศึกษาที่ยึดโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง ให้กลายเป็นการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและความหลากหลายของเด็กและเยาวชนที่มีเงื่อนไขในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันเป็นรายบุคคล”
ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 2542 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ที่ได้ยกระดับสำนักงาน กศน. ให้เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ที่มีหน้าที่จัด ส่งเสริมการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ 1.การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง 3.การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมถึงผู้ที่พ้นวัยการศึกษาในโรงเรียน ได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพตนเอง
ดังเช่น โมเดลการศึกษา ‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ จังหวัดกาญจนบุรี ที่สามารถสร้างพื้นที่เรียนรู้ ให้แก่เด็กและเยาวชนในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัยให้สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ โดยนำทักษะความรู้ และประสบการณ์ไปใช้ในการเทียบโอนหน่วยกิตเพื่อเข้าสู่การศึกษาในระบบ สู่การมีวุฒิบัตร ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง โดยใช้หลักการวัดประเมินผลให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์และประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นตัวชี้วัด
อีกทั้ง หลักสูตรการเรียนรู้ของ สกร. ที่กำลังจะทำทั่วประเทศ ดังเช่นจังหวัดพังงา ที่จะเปิดสอนหลักสูตรสปา ร่วมกับมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน สร้างพื้นที่ให้คนในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษาได้มาเรียนด้วยกัน ถ้าเป็นนักศึกษาเทคนิคก็เรียนตามระบบในหลักสูตรปกติ หากเป็นชาวบ้านหรือเด็กและเยาวชนนอกระบบก็จะเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ 3 เดือน เหล่านี้คือการ Upskill Reskill ให้ผู้เรียน ว่าด้วยเรื่องของการศึกษา เมื่อจบออกมาต่อไปจะต้องตอบโจทย์ในเรื่องของการมีงานทำ
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า การศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา จำเป็นต้องเรียนรู้บนพื้นฐานความเป็นจริง หมายถึง ‘การเรียนรู้ เพื่อให้อยู่ร่วมและอยู่รอดบนฐานชีวิต’ หรือ ’Learn to Earn‘ เรียนแล้วมีอาชีพ เรียนแล้วมีงานทำ สามารถนำทักษะความรู้จากการเรียนไปต่อยอดสร้างรายได้ และจำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษา เพื่อนำไปต่อยอดสร้างทางเลือกให้ชีวิตตนเองต่อไป
ดังนั้นแนวโน้มการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา เพื่อลดปริมาณกลุ่มเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาไทย คือการทำงานที่หน่วยจัดการเรียนรู้ต้องเข้าไปเรียนรู้ร่วมกันกับผู้ร่วมเรียนรู้ในพื้นที่ในระยะยาว เพื่อให้ได้ชุดความรู้ หรือ ‘หลักสูตรการเรียนรู้’ ที่ได้ออกแบบตามความต้องการของผู้เรียน รวมถึงเข้าใจสถานการณ์ บริบทและเงื่อนไขในการใช้ชีวิตของเด็กในพื้นที่นั้นๆ การจัดการศึกษา จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยฯ เท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงบริบทครอบครัว ชุมชน และสังคมรอบข้าง หากมีโอกาสทำงานเชื่อมโยงกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคมจะทำให้การทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นไปอย่างตอบโจทย์ และเข้าใจผู้เรียนอย่างมากที่สุด
หน่วยจัดการเรียนรู้จึงเปรียบเหมือนพลังที่สำคัญ ที่จะต้องร่วมค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทุกคุณลักษณะ หมายรวมถึง 1.กลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ 2.กลุ่มเด็กพิการ 3.กลุ่มเด็กชายขอบ 4.กลุ่มเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ เด็กไร้สัญชาติ เพื่อเข้าไปสร้าง ‘ศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่’ ให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ทุกคนในชุมชนได้เข้าไปเรียนรู้ และยกระดับทักษะความสามารถให้กับตนเองได้
ซึ่ง กสศ. จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการถอดบทเรียน ’ชุดหลักสูตรการเรียนรู้‘ ที่ตอบโจทย์ชีวิต สร้างทางเลือกให้กับผู้เรียนอย่างเท่าเทียม เพื่อเป็นตัวแบบขยายผลไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยในภาพใหญ่ต่อไป
ส่วนหนึ่งจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ผสานพลังก้าวไปด้วยกัน” บนเส้นทางการทำงานเพื่อเยาวชนนอกระบบการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 เมื่อวันที่ 28 – 29 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา…