“พ่อแม่วัยรุ่น” เป็นกลุ่มเยาวชนที่กำลังเผชิญปัญหาและการสูญเสียโอกาสในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านสุขภาวะ มิติทางสังคม มิติทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ การสูญเสียโอกาสทางการศึกษา ขาดทักษะในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและลูก ทั้งจากอคติ ความเชื่อ และการตีตราของสังคม จากการขาดทักษะความรู้ ทำให้พ่อแม่วัยรุ่นต้องเก็บตัว สูญเสียเป้าหมายในชีวิต เข้าไม่ถึงสวัสดิการ และบางรายยังมีการท้องซ้ำ สถานการณ์ปัญหาของพ่อแม่จึงมีความละเอียดและซับซ้อน
“โครงการเสริมศักยภาพและถอดบทเรียนหน่วยจัดการเรียนรู้สำหรับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น” เป็นหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุน “โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น เสริมความรู้ แนวคิด มุมมองในเรื่องเพศสำหรับวัยรุ่น อนามัยเจริญพันธุ์ สิทธิสวัสดิการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน เพื่อหนุนเสริมการทำงานให้กับหน่วยจัดการเรียนรู้จากโครงการต่างๆ ในหลายพื้นที่ภายใต้การสนับสนุนของ กสศ. ที่ต้องเข้าไปทำงานกับเยาวชนกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น นำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้อง และตอบโจทย์ชีวิตกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. กล่าวว่า งานที่หน่วยจัดการเรียนรู้หลายแห่งดำเนินการอยู่ เป็นการทำงานที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ ซึ่งปีนี้เราพบตัวเลขที่เพิ่มมาของเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา 1,025,554 คน โดยกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่นนั้น เป็น 1 ในเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา 11 กลุ่ม แต่ด้วยความซับซ้อนของชีวิต พ่อแม่วัยรุ่นจึงได้รับการจ้างงานน้อยที่สุด ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ กสศ. อาจต้องชวนกันทำงานช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้มากขึ้น
“บนเส้นทางที่เรียนรู้ร่วมกันเราค้นพบว่า สิทธิในการศึกษาต่อระหว่างการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดย กสศ. ให้ความสำคัญกับ ‘การศึกษาที่ยืดหยุ่น’ ทำอย่างไรให้การศึกษาหรือการเรียนรู้สามารถตอบโจทย์ ตอบรับ เงื่อนไข ปัญหา ความสนใจ ศักยภาพ เด็กและเยาวชนทุกคน เพราะการศึกษาในโลกปัจจุบันไม่ได้มีเพียงลู่เดียว ไม่ว่าจะเป็น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ หรือศูนย์การเรียนมาตรา 12 แต่อีกประเด็นสำคัญคือมิติสังคมและสุขภาพที่รายล้อมทำให้เด็กเกิดการเจ็บป่วยทางสังคม ซึ่งต้องได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้อง เข้าใจ ด้วยการวินิจฉัยจากมนุษย์อย่างพวกเรา รับฟัง ปรึกษา หาทางออกร่วมกัน เพราะอาการของเด็กแต่ละคน ไม่สามารถรักษาด้วยการรับยาที่ช่องเดียวกันทั้งหมด”
การทำงานอาจไม่ได้ทำแค่ตัวเด็กเท่านั้น แต่ต้องขยับเข้าไปถึงพ่อแม่ของเด็กและสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วย เพราะในความจริงพ่อแม่วัยรุ่นมักจะถูกตีตราและคนรอบตัวมีอคติด้วยเสมอ เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเขาอาจจะก้าวพลาดให้กลับมามีความภาคภูมิใจ มีพลัง เข้าใจชีวิตและครอบครัวนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังนั้นการทำงานเพื่อช่วยให้พวกเขาได้รับการศึกษา มีอาชีพ และทักษะสำคัญในการพึ่งพาตนเองได้จึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่
นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวเสริมว่า การทำงานกับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่นนั้นต้องมองความเหลื่อมล้ำให้ครอบคลุมปัญหาที่ซับซ้อนในหลายมิติ ไม่ใช่เพียงด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาพ เพศวิถี และมิติอื่นๆ ด้วย โดยพบปรากฏการณ์ว่า ปัจจุบันพ่อแม่วัยรุ่นนั้นเริ่มมีอายุต่ำกว่า 14 ปีมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาในมิติต่างๆ ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญกับการทำงานด้านข้อมูลควบคู่กันไป
“งานพ่อแม่วัยรุ่นนั้น ไม่ได้ทำแค่การแก้ไขเท่านั้น แต่ต้องทำตั้งแต่การป้องกันความเสี่ยง การดูแลระหว่างตั้งครรภ์ กระทั่งหลังคลอด ดูแลเลี้ยงดูลูก และการส่งต่อช่วยเหลือ จะเห็นว่าเส้นทางชีวิตของพ่อแม่วัยรุ่นไม่ได้มีแค่ผู้หญิงวัยรุ่นที่เป็นแม่ และผู้ชายวัยรุ่นที่เป็นพ่อเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์ของครอบครัว และนิเวศแวดล้อมอื่นๆ อีกมากที่เกี่ยวโยงกัน ดังนั้นคนทำงานนี้หรือหน่วยจัดการเรียนรู้จึงไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ แต่ต้องมองหาว่าใครที่จะเข้ามาเป็นเพื่อน เป็นเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานร่วมกันได้”
ด้าน นางสาวจิตติมา ภาณุเตชะ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา และผู้จัดการโครงการเสริมศักยภาพและถอดบทเรียนหน่วยจัดการเรียนรู้สำหรับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น กสศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โจทย์ร่วมของการทำงานเชิงลึกกับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่นสำหรับหน่วยจัดการเรียนรู้ คือจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มีแนวทางการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับวิถีชีวิต มีโอกาสในอาชีพการงาน และหยุดการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นของเด็กที่เกิดจากพ่อแม่วัยรุ่น โดยจะเน้นการทำงานกับมุมมองและวิธีคิดของคนทำงานเป็นหลัก เนื่องจากชีวิตพ่อแม่วัยรุ่นนั้นเกี่ยวโยงกับสาเหตุ ปัจจัย และปัญหาในหลายมิติ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนแตกต่างกันไป
“เป็นเรื่องท้าทายว่าจะทำงานอย่างไรกับพ่อแม่วัยรุ่นให้เขาไม่ถูกตีตรา มีความรู้ เข้าใจ และเข้าถึงสวัสดิการ กฎหมาย เห็นคุณค่าในตนเอง เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทุกคนเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการทำงาน ให้เขาสามารถออกแบบชีวิตตนเองได้ เพื่อให้พ่อแม่วัยรุ่นมีทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิตตนเอง”