“สัญชาติไม่ควรตัดโอกาสทางการศึกษาของใคร” ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ มหาชัย พื้นที่เติบใหญ่ของลูกแรงงานพม่า

คำกล่าวที่ว่า “การศึกษาคือบันไดสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้น” เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ในทุกสังคม ทุกประเทศ หากมองจากมุมของพ่อ-แม่ ย่อมเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าการศึกษาจะพาลูกหลานไปสู่อนาคตที่ดีกว่าคนรุ่นตัวเอง โดยเฉพาะกับ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ผู้แบกความรับผิดชอบมาขายแรงงานที่ต่างแดนเพื่อแลกกับความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ หนึ่งในเหตุผลที่แรงงานเหล่านี้ต้องโยกย้ายถิ่นฐานก็ด้วยความหวังว่าเงินที่หาได้จะช่วยให้ครอบครัวได้สุขสบาย ให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือสูงๆ เพื่อที่จะมีอาชีพการงานที่ดีกว่าในอนาคต ทุกหยาดเหงื่อที่อุทิศให้กับงานก็เพราะไม่อยากส่งต่อความยากลำบากแก่ลูกหลาน

แต่โลกแห่งความจริงนั้นไม่ง่าย แรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่เข้ามาหางานในไทยจำเป็นต้องให้ลูกหลานติดตามเข้ามาทำงานด้วย ทั้งจากเหตุผลที่เด็กไม่มีคนช่วยดูแล หรือด้วยความขัดสนทางการเงินที่ทำให้เด็กเหล่านี้ต้องรีบเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อหารายได้ช่วยจุนเจือครอบครัว เด็กหลายคนเกิดและถูกเลี้ยงดูในไทย จำนวนมากเติบโตในแคมป์แรงงานก่อสร้าง ชุมชนใกล้แพปลา หรือในสภาพแวดล้อมที่ห่างไกลจากคำว่า ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’

แม้แต่ปัจจัยสี่ เด็กข้ามชาติเหล่านี้ยังเข้าถึงได้ไม่ครบ การศึกษายิ่งดูเป็นเรื่องเกินเอื้อม ชีวิตของเด็กหลายคนจึงลงเอยที่งานประเภท 3D (dirty job, dangerous job, demanding/difficult job) ไม่ต่างจากรุ่นพ่อแม่ ที่เลวร้ายไปกว่านั้น เด็กข้ามชาติที่จำต้องเข้าสู่การทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสยุคใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไทยได้ใบเหลืองการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU) จากสหภาพยุโรปเมื่อปี 2558

ทุกหน่วยงานเห็นตรงกันว่าการให้การศึกษาคือทางออกที่ยั่งยืนของปัญหานี้ แต่เมื่อหันมาดูนโยบายของไทย ประเทศที่เป็น ‘บ้าน’ ของเด็กข้ามชาติกว่า 300,000 คน และยังจะต้องพึ่งพาแรงงานจากเพื่อนบ้านไปอีกหลายปีข้างหน้าเมื่อก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย การดึงเด็กข้ามชาติออกจากสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสมกลับยังลุ่มๆ ดอนๆ

แม้รัฐไทยลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ตั้งแต่ปี 2535 หนึ่งในหลักการสำคัญนั้นว่าด้วยสิทธิที่เด็กจะได้รับการพัฒนาทางร่างกาย สมอง และจิตใจ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเชื้อชาติ สีผิว ศาสนาหรือความเชื่อใด และแม้ 13 ปีต่อมามีมติคณะรัฐมนตรี 5 กรกฎาคม 2548 เห็นชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีแก่บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ในทางปฏิบัติจวบจนปัจจุบัน เด็กข้ามชาติจำนวนมากยังเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา ทั้งจากระบบ ความไม่รู้และความไม่พร้อมของโรงเรียน กำแพงภาษา และค่าใช้จ่ายในการเข้าถึง

เมื่อรัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่กีดกันการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติได้ ภาคประชาสังคมและชุมชนแรงงานข้ามชาติจึงต้องสร้างการศึกษาทางเลือกเพื่อลูกหลานขึ้นมาเอง 101 พาไปดูศูนย์ฝึกอบรมเด็กรายวันอิสระ (Daily Training Independent Children Center) หรือเรียกตามที่เด็กและผู้ปกครองเข้าใจกันก็คือ ‘โรงเรียนเด็กข้ามชาติ’ ที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ของลูกแรงงานชาวพม่า ก่อตั้งโดยพระชาวพม่า ร่วมด้วยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network: LPN) เพราะการศึกษาคือสิ่งล้ำค่าที่สุดที่สังคมจะมอบให้ได้ การร่วมแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วนจึงเกิดขึ้น

ตึกแถว 4 คูหา 4 ชั้นในซอยแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากตลาดสดมหาชัยเมืองใหม่ จังหวัดสมุทรสาคร คือโรงเรียนของเด็กพม่าอายุตั้งแต่ 3-15 ปี จากหลากชาติพันธุ์ราว 190 คน มีตั้งแต่ชาวไทใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง ปะโอ และกูรข่า มีความหลากหลายในการนับถือศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม เด็กๆ อยู่ในชุดนักเรียนที่ไม่ต่างกับเด็กในโรงเรียนไทย บ้างสื่อสารกับเราเป็นภาษาไทยได้ บ้างก็ใช้ภาษาอังกฤษทักทายเพราะเห็นว่าเราโต้ตอบด้วยภาษาพม่าไม่ได้

ตึกแถว 4 คูหา 4 ชั้นในซอยแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากตลาดสดมหาชัยเมืองใหม่ จังหวัดสมุทรสาคร คือโรงเรียนของเด็กพม่าอายุตั้งแต่ 3-15 ปี จากหลากชาติพันธุ์ราว 190 คน มีตั้งแต่ชาวไทใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง ปะโอ และกูรข่า มีความหลากหลายในการนับถือศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม เด็กๆ อยู่ในชุดนักเรียนที่ไม่ต่างกับเด็กในโรงเรียนไทย บ้างสื่อสารกับเราเป็นภาษาไทยได้ บ้างก็ใช้ภาษาอังกฤษทักทายเพราะเห็นว่าเราโต้ตอบด้วยภาษาพม่าไม่ได้

พ่อ-แม่ของพวกเขาคือแรงงานข้ามชาติที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสมุทรสาคร จังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ของประเทศ บ้านของเด็กส่วนใหญ่อยู่ในมหาชัย ศูนย์กลางของอาหารทะเลและการทำประมงที่สำคัญของไทย มีบ้างที่พ่อ-แม่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ส่งลูกมาเป็นนักเรียนประจำ กิน-นอน-เล่น-เรียน ที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้

แม้จะเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้รายวันสำหรับเด็กมา 3 ปีแล้ว แต่นี่เป็นภาคการศึกษาแรกที่เปิดรับนักเรียนประจำ เพราะมีผู้ปกครองจำนวนมากประสงค์จะส่งลูกมาเรียนแต่ทำงานอยู่ไกล ไม่สามารถมาเรียนแบบไป-กลับได้

ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นหนึ่งใน 20 ศูนย์ภายใต้การดูแลของมูลนิธิ LPN ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ตามจังหวัดที่มีการกระจุกตัวของแรงงานข้ามชาติสูง เช่น ระยอง ชลบุรี ปทุมธานี ส่วนใหญ่จะเป็นศูนย์สอนภาษาและฝึกอาชีพสำหรับเยาวชน มีการจัดการเรียนรู้ปรับเปลี่ยนไปตามความหลากหลายทางเชื้อชาติของพี่น้องแรงงานแต่ละพื้นที่

ท่ามกลางเสียงเกรียวกราวจากการปรบมือและร้องเพลงของเด็กๆ ที่กำลังสนุกสนานกับกิจกรรมสันทนาการยามบ่ายหลังรับประทานอาหารเที่ยง เราพูดคุยกับ สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network: LPN) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นที่ปรึกษาและร่วมก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้

แม้มูลนิธิ LPN จะเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจากการร่วมกับผู้สื่อข่าว AP เปิดโปงการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง จนนำไปสู่ปฏิบัติการช่วยชีวิตลูกเรือประมงที่ถูกหลอกไปทำงานในประเทศอินโดนีเซียกว่า 2,000 คน ที่ทำให้ทีมผู้นำเสนอข่าวนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ สาขาบริการสังคม ปี 2017 แต่สมพงค์บอกกับเราว่า LPN ทำงานปกป้องสิทธิและสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิในปี 2004 และขยายไปครอบคลุมประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตแรงงานข้ามชาติ

สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network: LPN)

“เราทำ learning center ก่อนรัฐจะมีมติ ครม. ให้เด็กข้ามชาติเข้าเรียนได้เสียอีก หลักคิดแรกเลยที่เราดึงเด็กมาอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ คือถ้าไม่ได้เรียน เขามีโอกาสสูงที่จะไปทำงานกับพ่อแม่ ไปเป็นแรงงานเด็กตามโรงงาน ตามล้ง หรือสถานที่ทำงานที่มีความสุ่มเสี่ยง ไม่ปลอดภัย

“หลายครั้งการรับเด็กที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติเข้าทำงานก็มาจากความหวังดีของนายจ้าง คิดว่าเด็กอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร รับเข้ามาทำงานช่วยพ่อแม่หาเงินดีกว่า แต่มุมมองชาวต่างชาติที่นำเข้าผลิตภัณฑ์จากเรา มองว่าการใช้แรงงานเด็กเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ภายหลังนายจ้างก็ตระหนักมากขึ้นเพราะมีเรื่องธุรกิจมาเกี่ยวข้อง”

สมพงค์เล่าว่าหลังองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เข้ามาทำวิจัยและสำรวจอุตสาหกรรมประมงในไทย และพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ มูลนิธิ LPN ซึ่งทำงานกับเด็กข้ามชาติมาก่อนหน้านี้แล้วจึงได้เป็นภาคีกับ ILO โดยมีโจทย์ร่วมคือการขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กโดยใช้การศึกษา และมีบทบาทในการผลักดันให้รัฐไทยมีนโยบายที่คุ้มครองสิทธิของเด็กทุกสัญชาติที่อยู่ในไทย จนในที่สุดก็มีมติ ครม. รับรองการศึกษาสำหรับทุกคน แต่การมีกฎหมายไม่ใช่จุดสิ้นสุดอย่างที่คาดไว้ เพราะการนำไปปฏิบัติยังพบปัญหามากมาย

“สมัยแรกเราพบว่าโรงเรียนมีกำแพงในการรับเด็กข้ามชาติเข้าเรียน หนึ่ง อาจจะด้วยความไม่เข้าใจและอคติต่อพี่น้องแรงงานที่มีอยู่ก่อนแล้ว สอง โรงเรียนกังวลว่าถ้ามีเด็กพม่าหรือกัมพูชาเข้ามาเรียน กลัวจะเข้ากับเด็กไทยไม่ได้ กลัวไม่รู้ภาษา กลัวสอนไม่ได้ สาม โรงเรียนกังวลเรื่องเอกสาร เช่น เด็กหลายคนไม่มีใบเกิด หรือพ่อแม่เป็นแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต ทำให้โรงเรียนกังวลว่าจะผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารแต่ละโรงเรียนก็ต่างกัน ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติขึ้น โรงเรียนภายใต้การดูแลของหน่วยงานท้องถิ่น เช่น โรงเรียนเทศบาล มักจะไม่รับเด็กข้ามชาติเข้าเรียน”

เมื่อเป็นเช่นนั้นสมพงค์และผู้มีส่วนร่วมผลักดันการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติจึงต้องเดินสายสร้างความเข้าใจแก่ครูและโรงเรียน

“ระยะแรกเราเชิญผู้อำนวยการและครูมาดูที่ศูนย์การเรียนรู้ของเราเลย เขาจะได้เห็นภาพว่าเด็กข้ามชาติก็ไม่ต่างจากเด็กไทย เขาควรได้อยู่ในพื้นที่ที่เอื้อให้เขาเติบโต ได้เรียนรู้ ลองผิด ลองถูก และมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน” สมพงค์กล่าว

แน่นอนว่าเป้าหมายหลักขององค์กรที่มุ่งส่งเสริมสิทธิเด็กอย่าง LPN คือการผลักดันให้เด็กข้ามชาติได้เข้าสู่โรงเรียนและการศึกษาตามระบบ ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ทำงานนี้มามูลนิธิสามารถผลักดันเด็กเข้าสู่โรงเรียนได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน อย่างไรก็ตามแม้ทุกวันนี้โรงเรียนจะเปิดกว้างและอ้าแขนรับนักเรียนข้ามชาติมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคหลงเหลืออยู่ และการเข้าสู่โรงเรียนในระบบก็อาจไม่ได้ตอบโจทย์เด็กทุกคน ทำให้โรงเรียนในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้อิสระที่ดำเนินการโดยมูลนิธิและชุมชนแรงงานข้ามชาติยังจำเป็นสำหรับเด็กหลายคน

“เราไม่ใช่โรงเรียนในความหมายของการศึกษาตามระบบ เพราะไม่มีกฎหมายครอบคลุมถึงและไม่ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐ แต่การมีอยู่ของโรงเรียนเราจัดว่าเป็นการศึกษาทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิต ทั้งต่อเด็กและพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ที่นี่เราสอนภาษาพม่า ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หลายโรงเรียนไม่ได้มีหลักสูตรการสอนภาษาพม่า พ่อแม่ที่อยากให้ลูกยังผูกพันกับบ้านเกิด ถ้ามาเรียนที่นี่ก็จะได้เรียนภาษาพม่าด้วย เด็กบางคนโตมาในชุมชนแรงงานพม่า พูดภาษาพม่าได้ แต่เขียนไม่ได้ การเข้ามาเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ก็จะตอบโจทย์ทั้งการอ่าน การเขียน การสื่อสาร” แม้จะเปิดรับนักเรียนถึงอายุ 15 ปี แต่สมพงค์บอกว่าเด็กที่เรียนจบจากที่นี่มีพื้นฐานที่แน่นพอที่จะเลือกเส้นทางของตัวเอง เด็กสามารถเลือกเข้าเรียนตามสายสามัญในโรงเรียนรัฐตามระบบ หรือเลือกไปเรียน กศน. ได้

นอกจากจะเปิดเป็นโรงเรียนที่มีเวลาเข้าเรียนเหมือนโรงเรียนรัฐในวันราชการแล้ว ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ยังเปิดสอนพิเศษในวันเสาร์ สำหรับเด็กที่เรียนประจำและเด็กข้ามชาติที่เข้าสู่การศึกษาในระบบตามโรงเรียนรัฐบาลแล้ว ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรียนตามเพื่อนไม่ทันเพราะไม่คล่องภาษาไทย การเรียนเพิ่มในวันเสาร์จะช่วยเติมเต็มทักษะทางภาษาให้สามารถเรียนตามระบบโรงเรียนไทยได้อย่างราบรื่น

สมพงค์ทวนลำดับความสำคัญของเป้าหมายว่า ต้องพาเด็กออกจากสภาพการทำงานที่เลวร้ายให้ได้ด้วยการศึกษาก่อน โจทย์ต่อมาคือถ้าผลักดันเข้าสู่ระบบได้แล้ว จะทำอย่างไรให้เด็กข้ามชาติเรียนต่อได้สูงที่สุด หรืออย่างน้อยจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ยังมีข้อจำกัดทางสัญชาติในการขอกู้เงิน กยศ. ในกรณีที่เด็กเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนทางการเงินในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นไป สมพงค์ชวนมองภาพในระยะยาวว่ายังมีข้อท้าทายใหญ่รออยู่ ต่อให้เด็กข้ามชาติมีใบปริญญา

“แม้จะเรียนจบสูง แต่กำแพงในหน้าที่การงานยังขวางความก้าวหน้าอยู่ดี เพราะมีกฎหมายกำหนดว่าแรงงานข้ามชาติประกอบอาชีพได้เท่าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เช่น กรรมกร แม่บ้าน ตอนนี้ยังไม่เห็นโร้ดแมปที่มองไปถึงอนาคตของเด็กกลุ่มนี้ รัฐบอกแค่ว่าคุณมีสิทธิเรียนได้ แต่ไม่ได้บอกว่าเรียนจบแล้วคุณจะประกอบอาชีพเหมือนคนไทยได้” สมพงค์กล่าว

Jatila (ขวา) คือพระชาวพม่าผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้

Jatila คือ ‘พระอาจารย์’ ที่ทุกคนกล่าวขานถึง เขาคือพระชาวพม่าที่เข้ามาศึกษาต่อสาขาวิชาพระพุทธศาสนา ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เขามาอยู่ไทยได้ราว 13 ปีแล้ว และเริ่มก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมภาษาและพัฒนาแรงงานข้ามชาติชาวพม่า (Migrant Training Center) มานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับแรงงานข้ามชาติที่เป็นเยาวชนหรือผู้ใหญ่ มีการสอนภาษาและฝึกอาชีพในทุกวันอาทิตย์ และปัจจุบันก็ยังดำเนินการอยู่ ส่วนศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติเพิ่งเปิดในปี 2564 หลังจากการแพร่ระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย

“ช่วงที่สถานการณ์โควิดรุนแรงจนต้องปิดโรงเรียน ทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน และต้องอยู่กับพ่อแม่ที่ไม่มีงาน ตอนนั้นแรงงานข้ามชาติคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก กลับประเทศก็ไม่ได้ อยู่ต่อก็ไม่มีรายได้จุนเจือ เด็กยิ่งสุ่มเสี่ยงที่จะหล่นจากระบบการศึกษา เลยมีความคิดจะขยายจากการทำศูนย์การเรียนรู้ผู้ใหญ่ มาเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กที่เรียนจันทร์ถึงศุกร์เหมือนโรงเรียนตามระบบ แม้จะไม่ได้รับวุฒิการศึกษาเหมือนโรงเรียนไทย แต่อย่างน้อยให้เขาได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาก็นับว่าสร้างประโยชน์ให้พี่น้องแรงงานแล้ว” พระอาจารย์กล่าว

จากการเป็นที่เคารพและศรัทธาของแรงงานพม่าที่นับถือศาสนาพุทธ พระอาจารย์ได้สนทนาและรับรู้ถึงปัญหาของแรงงานข้ามชาติในไทย ปัญหาใหญ่คือความขัดสนทางการเงิน แม้จะมาทำงานกันทั้งครอบครัวแต่ก็ยังไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายและที่ต้องส่งกลับบ้านเกิด ปัญหาต่อมาที่พบได้มากคือการเข้ามาทำงานแบบไม่มีใบอนุญาตหรือใบอนุญาตหมดอายุ แรงงานพม่าหลายคนจึงถอดใจที่จะส่งลูกเข้าเรียนตามการศึกษาในระบบ และยังมีความกังวลเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติ พระอาจารย์จึงคิดว่าการสร้างโรงเรียนที่ดำเนินการโดยชุมชนหรือเครือข่ายที่เป็นชาวพม่า ระดมเงินบริจาคจากพี่น้องแรงงาน จะทำให้ผู้ปกครองวางใจที่จะส่งลูกหลานมาเรียน

สมพงค์เสริมว่าศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาตินี้ริเริ่มด้วยพระอาจารย์ ส่วนมูลนิธิ LPN เข้ามาหนุนเสริม คอยเป็น ‘ร่ม’ และเป็นที่ปรึกษาให้ “การที่คนในชุมชนริเริ่มเอง เขาจะรู้ดีที่สุดว่าชุมชนต้องการอะไร พ่อแม่ของเด็กต้องการอะไร ที่นี่เขาสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ 80% แล้วเราค่อยเข้ามาเสริม เพราะความยั่งยืนที่สุดคือ ‘ไม่มีเรา เขาเดินได้’”

ออม หรือ Nan Ohun เป็นผู้ช่วยหรือพี่เลี้ยงที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้มาตั้งแต่เริ่มรับเด็กเล็กเข้าเรียน เด็กๆ เรียกเธอว่าคุณครู แต่ก็นับถือเธอเหมือนแม่อีกคน หลังเรียนจบมัธยมที่พม่า ออมติดตามแม่เข้ามาทำงานในไทย ก่อนมาไทยเธอตั้งความหวังว่าจะมาเรียนต่อระดับปริญญาที่นี่ แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องทำงานหารายได้ช่วยพ่อ-แม่อยู่หลายปีกว่าจะได้สมัครเรียน ตอนนี้เธอคือนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพราะเชื่อในคุณค่าของการศึกษา ออมจึงรักที่จะทำงานที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ พร้อมกับเรียนปริญญาตรีไปด้วย

ออม ครูผู้ช่วยหรือพี่เลี้ยง

ออมพาเราเดินทัวร์ทุกห้องเรียนของนักเรียนที่นี่ แต่ละมุมของห้องเราจะเห็นตะกร้าจำนวนมากวางรวมกันอยู่ ออมบอกว่านี่คือตะกร้าที่ผู้ปกครองจัดเตรียมให้ลูกใส่สิ่งของจำเป็น เช่น แปรงสีฟัน กล่องใส่อาหารที่ห่อมาจากบ้าน เพราะนักเรียนมีความหลากหลายของความเชื่อและศาสนา ผู้ปกครองจึงรับหน้าที่จัดการอาหารการกินของลูกๆ เอง สำหรับนักเรียนที่อยู่ประจำที่นี่ โรงเรียนจะทำอาหารให้ทุกมื้อ โรงเรียนยังจัดเตรียมชุดนักเรียนให้คนละ 1 ชุด รวมไปถึงหนังสือและอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ ที่จำเป็น อีกทั้งมีบริการรถรับ-ส่ง จากชุมชนที่แรงงานพม่าอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

“ที่นี่จะประยุกต์ใช้หลักสูตรพม่าร่วมกับหลักสูตรไทย เพราะต้องคิดเผื่อไปว่าถ้าเด็กจะกลับพม่าไปเข้าเรียนตามระบบที่นั่น เขาจะสามารถไปเริ่มได้อย่างไร้รอยต่อ หนังสือที่ใช้สอนคือหนังสือที่สั่งซื้อจากพม่า เป็นแบบเรียนตามหลักสูตรที่โน่นเลย คุณครูที่สอนเด็กๆ ก็เป็นครูอาสาที่มาจากพม่า”

สมพงค์กล่าวเสริมว่านอกจากการสอนภาษาแล้ว ยังมีการสอนคณิตศาสตร์ ทักษะชีวิต พานักเรียนไปออกค่าย ทำกิจกรรมนอกพื้นที่ เพราะมากกว่าความรู้ทางวิชาการในตำรา คือการพาเด็กออกไปใช้ชีวิต

เนื่องจากนักเรียนหลายคนใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าอยู่กับครอบครัวเสียอีก ที่นี่จึงสอนทั้งการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การซักผ้า การทำความสะอาด รวมถึงมารยาทการเข้าสังคม กฎระเบียบของสังคมไทย สิทธิที่เขาพึงจะได้รับ ออมกำลังวางแผนการสอนเรื่องสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายให้กับนักเรียน การสร้างความตระหนักในประเด็นเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ เติบโตและอยู่ร่วมกับคนไทยได้โดยไม่ก่อปัญหา ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ไม่หวังดี

“ถ้ายังเด็กอยู่มากๆ อย่างน้อยเราต้องให้เขาสามารถซื้อของเองได้ ให้เขารู้ว่าเหรียญนี้ ธนบัตรนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ อีกอย่างคือเขาจะไม่โดนโกงด้วย พอโตหน่อยจะค่อยๆ สอนเขาเรื่องสิทธิพื้นฐาน” ออมกล่าว

สมพงค์เสริมว่า สำหรับเขาแล้วการรู้ภาษาไทยคือสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ สำหรับเด็กข้ามชาติที่เติบโตในไทย “ถ้าเขารู้ภาษา ชีวิตก็จะดีขึ้น ชีวิตก็จะปลอดภัยขึ้น เพราะเขาต่อรองกับตำรวจได้ เวลาโดนรีดไถ เขาจะรู้เท่าทันการเอารัดเอาเปรียบจากคนที่ทำหน้าที่โดยมิชอบ และเด็กเองก็ต้องตระหนักว่าเขาจะไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่นเช่นกัน”

ทุกห้องเรียนที่เราเข้าไปเยี่ยมชมจะได้รับการต้อนรับด้วยการกล่าวคำว่าสวัสดี ทั้ง 3 ภาษา ไทย พม่า และอังกฤษ อย่างเสียงดังฟังชัด แม้หลายคนยังเขินอายที่จะใช้ภาษาไทยแต่เราก็เห็นความพยายามเรียนรู้ผ่านสมุดจด ผ่านแบบฝึกหัด หรือสะท้อนผ่านดินสออันสั้นกุดที่คงจะผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก บรรยากาศในห้องเรียนไม่ต่างอะไรกับโรงเรียนไทยที่เราเติบโตมา เด็กๆ มีความฝัน มีเป้าหมายอยากมีอาชีพการงานที่ดีไม่ต่างกัน เพียงแต่สัญชาติของเด็กเหล่านี้ทำให้อาจไปถึงฝันได้ไม่ง่าย

ตราบใดที่ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน การดูแล จัดสวัสดิการแก่แรงงานข้ามชาติอย่างสมเหตุสมผลเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างยิ่ง และควรมองไปไกลกว่าตัวปัจเจก เพราะเบื้องหลังเขาคือครอบครัว คือลูกที่เป็นกำลังใจให้พ่อ-แม่สู้กับงานที่แม้แต่คนไทยเองก็ไม่อยากทำ

หากมองเด็กข้ามชาติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เขามีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยไม่มีสัญชาติเป็นข้อจำกัด มองในมิติแรงงาน เด็กเหล่านี้จะเติบโตไปเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากรัฐไทยลงทุนกับพวกเขามากกว่านี้


สมพงค์กล่าวว่า “เด็กที่ติดตามพ่อแม่มาไทยหรือเกิดที่ไทย ถ้าเขามีโอกาสได้เรียน จะตอบโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิตเขาในอนาคต ทำให้เขาอยู่ร่วมกับสังคมได้ปกติ ไม่สร้างปัญหา การศึกษาจะทำให้เขาสามารถกลมกลืนไปกับสังคมได้เป็นอย่างดี เมื่อเขาเติบใหญ่ไปเขาจะรู้สึกผูกพันกับประเทศไทย เด็กหลายคนโตไปไม่เคยกลับพม่าเลยก็มี บางคนกลับไปก็ไม่อยากอยู่เพราะอยู่เมืองไทยดีกว่า ฉะนั้นการศึกษาเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบทางสังคม ถ้าลูกอยู่เมืองไทยได้อย่างราบรื่น พ่อแม่ก็มีความสุขที่ลูกอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย มีที่เรียนรู้ มีสังคมในช่วงวัยเขา

“ในวันที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมวัยชรา จะมามัวผลักไสแรงงานเพื่อนบ้านให้กลับไปคงไม่ถูกแล้ว ถ้าพูดถึงในแง่แรงงาน เด็กกลุ่มนี้จะเติบโตไปเป็นแรงงานคุณภาพ ถ้าเขามีโอกาสได้เข้าทำงาน เพราะเขาพูด-อ่าน-เขียน ได้ทั้งภาษาไทย พม่า และภาษาอังกฤษ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการแรงงาน การให้การศึกษาแบบที่เราทำอยู่คือการสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพให้กับผู้ประกอบการ โดยที่ผู้ประกอบการไม่ได้ลงทุนอะไรแม้แต่น้อย บางครั้งเราไปลงพื้นที่ที่โรงงาน เราเจอเด็กที่เคยมาเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้เรา เขาก็จะมาทักทาย บอกว่าหนูเป็นล่าม หนูเป็นผู้ช่วยฝ่ายบุคคล หนูเป็นหัวหน้าเสมียน จำหนูได้ไหม หนูเคยมาเรียนที่นี่ พอเห็นภาพแบบนี้เราก็ตื้นตันใจที่สุดท้ายเขาก็เติบโตไปอย่างมีคุณภาพ มีหน้าที่การงานที่ดี ออกจากวังวนอาชีพใช้แรงงานที่พ่อแม่เขาไม่อยากให้ลูกต้องมีชะตาชีวิตแบบเดียวกัน”

สมพงค์ทิ้งท้ายว่า รัฐ รวมถึงคนในสังคมไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ “อย่ามองเขาแค่แขน ขา ร่างกาย ที่จะมาช่วยทำงาน แต่ต้องมองที่สติปัญญาของเขาด้วย เขามีศักยภาพที่จะร่วมพัฒนาประเทศเราได้ เขาสามารถทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนได้ ฉะนั้นรัฐบาลไทยควรส่งเสริมและสร้างโอกาสให้เขาอย่างจริงจัง เพราะสุดท้ายแล้วเขาก็ไม่ไปไหน อยู่เมืองไทยกันต่อ เขาจะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพให้กับเรา”

ส่วนพระอาจารย์และออม กล่าวในฐานะชาวพม่าที่ยังมองไม่เห็นว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่ประเทศของตนจะคลี่คลาย ว่าประเทศไทยอาจจะกลายเป็นบ้านของเด็กข้ามชาติคนหนึ่งทั้งชีวิตเลยก็ได้ ในเมื่อไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากพม่าหรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ก็อยากให้เผื่อแผ่สวัสดิการมาถึงแรงงานและลูกหลานของพวกเขาบ้าง การให้การศึกษาจะเป็นอาวุธสำคัญที่สุดทั้งต่อตัวเด็กเองและเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งสองยืนยันว่าสัญชาติไม่ควรเป็นปัจจัยตัดโอกาสการศึกษาของเด็กคนใดก็ตาม ฉะนั้นจึงอยากส่งเสียงให้รัฐลดข้อจำกัดในการเข้าสู่ระบบการศึกษาและอย่าผลักไสหรือเมินเฉยต่อเสียงแรงงานข้ามชาติ

ออมกล่าวด้วยน้ำเสียงแห่งความหวังว่ารัฐบาลใหม่ของไทยน่าจะใส่ใจผลักดันนโยบายเพื่อแรงงานข้ามชาติมากขึ้น


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world