การศึกษายืดหยุ่น (flexible learning) ฉากทัศน์ใหม่ที่เป็นอนาคต เพื่อเปิดทางเลือกให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้

การศึกษาทางเลือกหรือการศึกษาที่ยืดหยุ่น คือทางเลือกแห่งอนาคตที่สามารถตอบโจทย์ความเป็นไปได้ทางการศึกษาของไทย และตอบโจทย์ผู้เรียนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายทั้งในแง่วิถีชีวิตและสถานภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อดึงพวกเขากลับเข้าสู่การเรียนรู้ในรูปแบบของการศึกษาที่เหมาะสมกับตนเอง

ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ภาพของเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางได้หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย หลายครอบครัว ไม่สามารถแบกรับภาระทางการศึกษาของบุตรหลานได้อีกต่อไป หลายคนเลือกตัดสินใจที่จะออกจากระบบการศึกษาเสียเอง เพราะทางเลือกในชีวิตที่มีอยู่จำกัด บีบคั้นให้พวกเขาต้องเดินออกจากรั้วโรงเรียนสู่การเป็นแรงงานไร้ทักษะ จนไม่อาจหลุดพ้นจากวัฏจักรความยากจนข้ามรุ่นไปได้

โครงการวิจัย ‘การคาดการณ์อนาคตการศึกษาทางเลือก’ (2566) โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดการศึกษาในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อหาแนวทางรองรับผู้เรียนที่มีอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิต ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาค

จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสจากระบบการศึกษาปกติ พบว่า เด็กเหล่านี้ล้วนเผชิญปัญหาในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต ความยากจน ความบกพร่องทางการเรียนรู้ ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ไม่เห็นประโยชน์ของการศึกษา โดยสามารถแบ่งกลุ่มปัญหาได้ดังนี้

1) เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เข้าไม่ถึงสิทธิด้านการศึกษา

2) เยาวชนฐานะยากจน ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาได้ และต้องประกอบอาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว

3) เยาวชนครอบครัวไม่พร้อม พ่อแม่หย่าร้าง ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ หรือมองว่าการศึกษาเป็นภาระ

4) เยาวชนพ่อแม่วัยใส ไม่สามารถเรียนต่อได้เพราะตั้งครรภ์ ต้องดูแลลูกและหารายได้เลี้ยงลูก

5) เยาวชนผู้พิการ ไม่สามารถเดินทางไปเข้ารับการศึกษาได้ ไม่มีสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม ใช้เวลาเรียนรู้นานกว่ากลุ่มปกติ

6) เยาวชนที่สละโอกาสทางการศึกษา เพราะการศึกษาไม่ตอบโจทย์ชีวิตและการทำงาน เข้ากับสังคมในสถานศึกษาไม่ได้ ติดยา หรือติดเกม

คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ด้วยว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นไปได้ในภูมิทัศน์การเรียนรู้ของเยาวชนเหล่านี้ใน 5-10 ปีข้างหน้า

อนาคต 1 : เยาวชนมีความมุ่งมั่นต่อการสร้างอนาคตที่ดีของตัวเองและครอบครัว และมีทางเลือกของการศึกษาให้เข้าถึงได้หลากหลาย ตั้งใจสู้มีแต่ไม่มีตัวช่วย

อนาคต 2 : เยาวชนมีความมุ่งมั่นต่อการสร้างอนาคตที่ดีของตัวเองและครอบครัว แต่มีทางเลือกของการศึกษาให้เข้าถึงได้น้อย

อนาคต 3 : เยาวชนขาดความมุ่งมั่นต่อการสร้างอนาคตที่ดีของตัวเองและครอบครัว แม้มีทางเลือกของการศึกษาให้เข้าถึงได้หลากหลาย

อนาคต 4 : เยาวชนขาดความมุ่งมั่นต่อการสร้างอนาคตที่ดีของตัวเองและครอบครัว และมีทางเลือกของการศึกษาให้เข้าถึงได้น้อย

ผลการศึกษาวิจัยพบว่าแนวโน้มการจัดการศึกษาทางเลือกนั้น จะเป็นแนวทางที่มีความสําคัญมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาในปัจจุบัน ทั้งการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา การเพิ่มโอกาสเข้าถึงหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น และยังเป็นรูปแบบที่ส่งเสริมระบบนิเวศของการจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การศึกษาทางเลือกที่ตอบโจทย์อนาคต คือเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อกับทางเลือกอื่นและทางหลัก ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลลัพธ์และประสิทธิผลได้อย่างเต็มที่ มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของผู้รับช่วงต่อ มีความคล่องตัวยืดหยุ่นและปรับตัวตอบโจทย์ได้ทันเวลา ดังนั้นแล้วจึงไม่ใช่เด็กที่ต้องใฝ่เรียนรู้เพียงฝ่ายเดียว แต่‘การศึกษาต้องปรับตัวเข้าหาเด็ก’ เพื่อเปิดทางเลือกให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้อย่างถึงขีดสุด