7 สาเหตุที่ทำให้เด็กออกนอกระบบการศึกษา

กสศ.ได้พัฒนางานวิจัยเชิงสํารวจเพื่อศึกษาข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษาภายใต้ “โครงการการสนับสนุนและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนครูและเด็กนอกระบบการศึกษา” ประกอบด้วยข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากองค์กรเครือข่าย ทั้งสิ้น 67 องค์กร จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม  มีจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาที่ให้ข้อมูลความต้องการ  35,003 คน ในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 21,220 คน  เพศหญิง 13,498 คน ไม่ระบุ 285 คน

การวิเคราะห์จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาจำแนกตามสาเหตุของการออกนอกระบบการศึกษาพบว่า มีสาเหตุมาจากความยากจนมากที่สุด ร้อยละ 46.70 รองลงมาคือ มีปัญหาครอบครัว ร้อยละ 16.14 ออกกลางคัน/ถูกผลักออก ร้อยละ 12.03 ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา ร้อยละ 8.88 ปัญหาสุขภาพ ร้อยละ 5.91 อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 4.93 และได้รับความรุนแรง ร้อยละ 3.63

เมื่อวิเคราะห์สาเหตุอื่น ๆ ของการออกกลางคันจากการตอบคำถามปลายเปิดจากจำนวนคำตอบทั้งสิ้น 5,270 คำตอบพบว่า เหตุผลที่ปรากฏบ่อย ได้แก่ ไม่อยากเรียน ต้องการทำงาน ตั้งครรภ์ในวัยเรียน มีครอบครัว ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน พิการ ยาเสพติด ฯลฯ

การวิเคราะห์ข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษาเป็นรายกรณี จะพบว่า เด็กกลุ่มนี้กำลังเผชิญกับปัญหาที่โยงใยซับซ้อนมากกว่า 1 ปัญหา โดยที่ไม่สามารถแก้เพียงเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วจะหลุดพ้นจากวิกฤตได้

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีงานประจำ/รับจ้างรายวัน ร้อยละ 47.11 รองลงมาคือ มีงานประจำ ร้อยละ 27.95 และว่างงาน ร้อยละ 12.10 ทั้งนี้มีผู้ไม่ระบุลักษณะการจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 12.83

โดยส่วนใหญ่ผู้ปกครองมีอาชีพเกษตรกรรมมากที่สุด ร้อยละ 42.67 รองลงมาคือค้าขาย ร้อยละ 12.75 ก่อสร้าง ร้อยละ 8.27 พนักงานในโรงงาน ร้อยละ 4.48 งานบริการ ร้อยละ 1.80 และมีอาชีพช่างไม้/ช่างฝีมือ ร้อยละ 1.79

สะท้อนถึงความไม่มั่นคงด้านรายได้ของครอบครัว อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การทําให้เด็กออกนอกระบบการศึกษา