มติครม. 4 มาตรการเร่งด่วน เพื่อเด็กและเยาวชน droup out จากข้อเสนอของกสศ.และภาคีเครือข่าย

เมื่อวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารกสศ.และหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังนี้

มาตรการที่ 1

มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ดังนี้

(1) บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของเด็กและเยาวชนระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(2) พัฒนาระบบสารสนเทศกลางในระยะยาวเพื่อรองรับการบูรณาการข้อมูลและค้นหาให้มีประสิทธิภาพ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติขึ้น มีองค์ประกอบเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มาตรการที่ 2

มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาโดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนาการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม ดังนี้

(1) จัดการศึกษาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการด้วยกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัด และศึกษาธิการจังหวัดเป็นรองประธาน และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ

(2) ช่วยเหลือ ดูแล และส่งต่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาด้วยระบบการจัดการรายกรณี (Case Management System: CMS) และการบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีกระทรวงมหาดไทย (โดยผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ กสศ.

มาตรการที่ 3

มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและพัฒนา เต็มศักยภาพของตนเอง ดังนี้

(1) จัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น โดยให้การรับรองคุณวุฒิหรือเทียบโอนคุณวุฒิการศึกษา/ใบประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ ระหว่างการจัดการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

(2) ยกระดับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและองค์กรระดับพื้นที่ ท้องถิ่น ชุมชน องค์กรทางศาสนา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับพื้นที่และสภาพสังคม

(3) ส่งเสริมการจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน หรือที่เรียกว่า Learn to Earn ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ/วิชาชีพของเด็กและเยาวชนในการทำงานจริง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และให้มีรายได้เสริมในระหว่างการศึกษา

ในการขับเคลื่อนมาตรการนี้เห็นควรให้หน่วยงานที่จัดการศึกษาหรือเรียนรู้ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน หน่วยจัดการเรียนรู้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรทางศาสนา หรือหน่วยงานอื่นๆ มีส่วนร่วมดำเนินการ

มาตรการที่ 4

มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn ให้เด็กและเยาวชนอายุ 15 – 18 ปี ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เหมาะสมตามศักยภาพและมีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา ดังนี้

(1) ส่งเสริมหรือจูงใจผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ควบคู่กับ การทำงานด้วยมาตรการหรือกลไกทางภาษี โดยกระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการต่อไป

(2) สนับสนุนให้สถานประกอบการเข้าร่วมจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน โดยกระทรวงแรงงานพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม