ธีร์กลับมาเรียนแล้วครับ

ทีมงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาพร้อมด้วยอาสาสมัครสามพลัง  ผู้ใหญ่บ้าน  และ Case Manager (ผู้จัดการรายกรณี)  ลงพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา

“ธีร์” เด็กชาย อายุ 14 ปี หลุดจากระบบมาตั้งแต่ชั้น ม.1 เปิดเทอมนี้เพื่อนๆของธีร์อยู่ชั้น ม.3  กันแล้ว  ในตอนที่คณะของ กสศ. ไปถึง แม่ของธีร์บอกว่า ธีร์วิ่งหนีเข้าป่าละเมาะหลังบ้านไปเมื่อครู่  จนลูกพี่ลูกน้องอีกคนต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามกลับมา 

“นึกว่าจะมาจับผมไปโรงเรียน”  นี่เป็นคำแรกที่ธีร์พูดกับทุกคน  ในขณะที่เนื้อตัวเปื้อนเปรอะด้วยเศษหญ้าและดินจากตอนที่หนีเข้าป่า

ธีร์เล่าว่าที่ไม่ไปโรงเรียนเพราะถูกครูตีด้วยหวาย เพราะไม่ส่งการบ้าน ทำงานไม่ทันเพื่อน

“ผมจะไม่มีวันไปโรงเรียนอีกแน่นอน ไม่มีทาง” แม่ของธีร์บอกกับเราว่าเธอไม่บังคับลูก เพราะกลัวเขาเตลิดไปไม่กลับมา

หลังจากที่ทีมงานใช้เวลาพูดคุยกันธีร์พักใหญ่ ทำให้น้องเกิดความไว้วางใจมากขึ้นและเห็นว่าทุกคนรับฟังเขาจริงๆ

ธีร์เล่าว่าทุกวันนี้ช่วยที่บ้านเลี้ยงวัวและทำสวนฝรั่ง เขาชอบเลี้ยงวัวมาก ขายวัวได้สองตัวแล้ว ได้เงินเกือบ 30,000 บาท

ธีร์เล่าพลางพาทีมงานทุกคนไปดูฝูงวัวที่อยู่ในคอกด้วยความกระตือรือร้น  ฝรั่งที่บ้านธีร์หวานอร่อยมาก มีคนมารับซื้อถึงบ้าน ขายหมดทุกครั้ง

ครูหน่องและครูตูนจากศูนย์การเรียน CYF  ให้ข้อมูลกับธีร์ว่า เราสามารถเรียนหนังสือวิชาต่างๆ ผ่านการเลี้ยงวัวและปลูกฝรั่งอย่างที่ทำอยู่ได้ และหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะทำให้ธีร์ทำสิ่งนี้ได้ดีขึ้น ทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ ความรู้ต่างๆ เป็นหน่วยกิตและคุณวุฒิทั้งหมด

ถ้าเรียนแบบนี้ ธีร์อยากกลับมาเรียนอีกมั้ย ?

ธีร์หยุดคิดใคร่ครวญ  ครู่เดียวก็พยักหน้าหงึกหงักพร้อมบอกว่า “ผมสนใจครับ”

2 ปีเต็มที่ธีร์ต้องออกจากโรงเรียน   วันนั้นเราใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง พาธีร์ก้าวผ่านกำแพงในใจที่เข็ดขยาดโรงเรียน  เมื่อมีทางเลือกการเรียนที่ยืดหยุ่นขึ้นและมีผู้ใหญ่ที่รับฟังเด็กจริงๆ

หัวใจธีร์ก็เปิดรับ

ธีร์กลับมาเรียนที่โรงเรียนเนกขัมวิทยา ซึ่งจัดการศึกษาด้วยแนวทาง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ   เริ่มต้นด้วยรูปแบบออนไลน์และมีใบงานให้ทำสม่ำเสมอ

สองสัปดาห์ต่อมาที่เรากลับไปหาธีร์ เขายิ้มกว้าง แววตาสดใส คุยเก่งขึ้น

ชีวิตของธีร์ได้เริ่มต้นใหม่แล้ว

………….

ผอ.สุทิสา สุธาบูรณ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนเนกขัมวิทยา   จังหวัดราชบุรี  (1 โรงเรียน 3 รูปแบบ) ที่ลงพื้นที่ไปพบน้องธีร์  บอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานในครั้งนี้คือเรื่องทัศนคติ ด้วยตัวเด็กที่เลือกออกจากระบบการศึกษาเองส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการศึกษาในระบบไปแล้ว การพาเขากลับเข้ามาในระบบอีกรอบเป็นเรื่องที่ผู้สอนและผู้เรียนเองต้องทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจ รวมถึงการติดตามที่สม่ำเสมอ

ทางโรงเรียนเองออกแบบให้ผู้เรียนต้องมาเข้ากลุ่มที่โรงเรียนสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อติดตามผลตลอดการศึกษา แต่ก็อาจมีปัญหาที่เด็กไม่สามารถมาเข้ากลุ่มได้ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน ซึ่งตัวครูเองก็ต้องทำหน้าที่ติดตามและช่วยแก้ไขปัญหาด้วยความเข้าอกเข้าใจ ทางโรงเรียนตั้งเป้าหมายชัดเจนว่านักเรียนทุกคนที่กลับเข้ามาในระบบจะต้องสำเร็จการศึกษา 100% ไม่มีตกค้าง

“ทางโรงเรียนเองเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กและเยาวชนทุกคนมีศักยภาพ แต่เนื่องด้วยเงื่อนไขมากมายในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความเป็นอยู่ สุขภาพ ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบ อีกหนึ่งปัจจัยคือทัศนคติต่อการเรียนในห้องเรียน บทเรียนที่ไม่ตรงกับวิถีชีวิตและความสนใจของตัวผู้เรียน ก็อาจจะทำให้เด็กกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษาได้ ‘การศึกษายืดหยุ่น’ จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ยังคงอยู่ในระบบฯต่อไปได้ เพราะในบริบทชีวิตของเด็กหลายๆ คน ในมุมมองของเขาการศึกษาอาจไม่ใช่ความสำคัญอันดับหนึ่งของเขา แต่เราก็ยังอยากให้การศึกษา การเรียนรู้ ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา เพราะมันคือสิ่งที่สำคัญจริงๆ ค่ะ”

กสศ. ขอขอบคุณ อาสาสมัครสามพลัง คุณลุงณรงค์ชัย จุ้ยเจริญ ประธานอสม. อ.เมือง จ.ราชบุรี  นำทีมค้นพบน้องธีร์

ครูหน่อง วิทิต เติมผลบูรณ์    ครูตูน  พิมพ์ชนก จอมมงคล  ศูนย์การเรียน CYF    อ.ก้อย ดร.นิสาพร วัฒนศัพท์   ทีมเยียวยารักษา ฟื้นฟูให้เด็กๆ เปิดใจให้กับการเรียนอีกครั้ง  และที่สำคัญ ผอ.สุทิสา สุธาบูรณ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนเนกขัมวิทยา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี  ที่ทุ่มเทด้วยหัวใจเกินร้อยเพื่อนำการศึกษาไปให้เด็กทุกคน