กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท จัดงาน “เวทีสร้างความร่วมมือการพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับอำเภอจอมพระร่วมกับภาคีเครือข่ายจังหวัดสุรินทร์ และเวทีลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนระบบการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต” ทั้ง 19 เครือข่าย เพื่อบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนแนวทางการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับอำเภอจอมพระให้มี ‘ระบบการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต’ และ ‘การศึกษาทางเลือกที่ยืดหยุ่นกับคนทุกช่วงวัย’ รวมทั้งนำเสนอแผนการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานลงนามความร่วมมือในการร่วมกันขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ไปกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในภาพรวมของอำเภอจอมพระไปด้วยกัน ณ หอประชุม อบต.หนองสนิท อ.จอมพระ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา
การจัดงานนำโดย นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการบริหาร กสศ. และอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ และผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. อาทิ ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธุ์ ที่ปรึกษาอาวุโส องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ผศ.บงกชรัตน์ ล้ำเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน กสศ. ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. นางสาวกชกร วิสุทธิวสุธาร นักวิจัยอิสระ ร่วมด้วยคณะองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท อาทิ นายสมจิตร นามสว่าง นายก อบต.หนองสนิท นายสมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักปลัด อบต.หนองสนิท และคณะทำงาน
นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการบริหาร กสศ. และอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวเปิดงานและได้ชี้แจงถึงภารกิจการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ว่า “จังหวัดสุรินทร์ได้รับการสนับสนุนจาก กสศ. กว่า 5-6 โครงการฯ มีทั้งโครงการใหม่และเก่าที่ทำอย่างต่อเนื่อง ต่อยอด เติมเต็ม และขยายผล นั่นแสดงให้เห็นว่าฐานของชุมชนนั้นมีความเข้มแข็ง
“เวทีนี้จึงเป็นเวทีที่จะให้ทุกภาคส่วนได้มารู้จักกัน เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องมาทำความรู้จัก เพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน เพราะแต่ละหน่วยงานก็มีหน้าที่และบทบาทที่สามารถหนุนเสริมเยาวชนในด้านต่าง ๆ ได้อย่างตอบโจทย์ไม่เหมือนกัน แต่มีเป้าหมายร่วมกันที่จะต้องร่วมผลักดันการศึกษาทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิตให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และผู้ที่ด้อยโอกาสได้มีทางเลือกตอบโจทย์กับตนเอง
“แสงแห่งความสำเร็จที่ทุกคนได้ทำผ่านโครงการฯ ที่ผ่านมา คือสิ่งที่พวกเรากำลังจะต่อยอดและขยายผลกันในวันนี้ ให้เป็นแสงที่สาดประกายเหมือนดั่ง ‘เพชร’ ที่สาดส่องไปยังพื้นที่อื่น ๆ และสร้างแรงบันดาลใจ ให้เกิดประโยชน์และเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้แก่ชุมชนอื่น ๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ กสศ. พยายามทำมาโดยตลอด การร่วมมือกันจากด้านล่างเพื่อส่งแรงกระเพื่อมไปถึงด้านบน จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาลงนาม MOU สัญญาร่วมกันในระดับเขตท้องที่อำเภอจอมพระ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ไปด้วยกันต่อไป”
นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดเวทีเสวนาบทบาท อปท. และภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการ “ระบบการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต” ระดับพื้นที่ และ เวทีเสวนาระดับนโยบาย “แนวทางการศึกษาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ทางเลือกโดยใช้ทุนของพื้นที่เป็นฐาน” กับกลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาหรือกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย ที่ทำให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รู้ถึงบทบาทและหน้าที่ในการทำงานของแต่ละภาคส่วน มองเห็นถึงความสำคัญของการร่วมพัฒนาทักษะเด็กและเยาวชนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานไปด้วยกัน และมองเห็นถึงแนวทางในการทำงานในระดับนโยบายที่ต้องใช้วิถีชีวิตจริงของเด็กและเยาวชนนำมาเป็นตัวตั้ง เพื่อให้เอื้อต่อการสร้างการเรียนรู้หรือการจัดระบบการศึกษาตามบริบทชีวิตของเขา เชื่อมโยงการทำงาน บูรณาการทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนเรื่องของการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตให้เป็นรูปธรรม เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กและเยาวชนหรือคนในพื้นที่มากที่สุด
อีกทั้งยังมีบูธนำเสนอนิทรรศการผลการดำเนินงานการพัฒนาอาชีพสู่การมีงานทำ “ทางเลือก ทางรอด” ของการสร้างการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่ทำให้เห็นว่าการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน สามารถต่อยอด สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ขยับขยายคนเล็ก ให้กลายเป็นคนใหญ่ในความรู้กับธรรมชาติที่ตนเองเติบโตมา และรอบรู้ในสิ่งที่ต้องเติมเต็มและสร้างสรรค์อยู่เสมอ เกิดทักษะทั้งวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต และส่งผลให้ครอบครัว ชุมชน สังคมรอบข้างเกิดความเข้มแข็งอยู่ร่วมและอยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างมีความสุข
ทางด้าน ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า “สิ่งที่เรากำลังทำ คือการทำงานจากเรื่องเล็ก ๆ เพื่อส่งผลกระเพื่อมไปถึงเรื่องใหญ่ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนช่วยกันหนุนเสริม เติมเต็ม เพื่อร่วมกันจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต ดังเช่น อบต.หนองสนิท ที่ไม่ได้ทำงานกับคนข้างบน หากแต่เป็นการทำงาน ที่ อบต. มาทำงานร่วมกับชาวบ้าน กลายเป็นพื้นที่กลางที่โยงใยวิถีชีวิต วัฒนธรรม ธรรมชาติ และผู้คนทุกช่วงวัยเข้าด้วยกัน
“การเรียนรู้หรือการจัดการศึกษาที่เหมาะสมและตอบโจทย์ก็เช่นกัน เป็นเรื่องที่คนในครอบครัว ชุมชน สังคม ต่างต้องช่วยกันเป็นพื้นที่ที่โอบล้อมเด็กและเยาวชนในชุมชน ช่วยกันดูแล ไม่ใช่เพียงความรับผิดชอบใครเพียงคนหนึ่ง ฐานที่เข้มแข็งเกิดจากฐานชุมชนที่เข้มแข็ง หากอยากให้เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนา และเกิดพื้นที่เรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตเขาจริง ๆ นิเวศแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องให้คนในครอบครัว ชุมชน สังคม ร่วมกันทำความเข้าใจลูกหลานในชุมชนอย่างแท้จริง เมื่อนั้นทุกอย่างจะเปิด ทั้งโอกาส เปิดทั้งใจ ทุกหน่วยงาน ทุกคนในชุมชน เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้ได้ร่วมขับเคลื่อนต่อไปอย่างสร้างสรรค์”
ต่อมาทางด้าน ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธุ์ ที่ปรึกษาอาวุโส องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า “เวทีนี้เป็นเวทียิ่งใหญ่มากในเรื่องของการบูรณาการระหว่างท้องที่และท้องถิ่น รวมทั้งบูรณาการการศึกษาภายในและภายนอกให้อยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานธรรมชาติ
วัฒนธรรม และความเป็นตัวเอง กล่าวคือการสร้างธรรมชาติให้มีมูลค่าโดยใช้ฐานชีวิตของตนเองเองเป็นตัวตั้ง ให้คนได้มองเห็นถึงคุณค่า และสร้างมูลค่า นำพารายได้มาให้ตนเองในที่สุด
“การศึกษาก็เช่นกัน บทเรียนที่เรามีในครั้งนี้ คือเรื่องของธรรมชาติและวัฒนธรรม สิ่งที่เราต้องอยู่อย่างเป็นกัลยานมิตรก็คือธรรมชาติ การศึกษาที่อยู่ในระบบ ต้องก้าวข้ามพรมแดนไปหาธรรมชาติของผู้คน เพราะการพัฒนาที่แท้จริง มันไม่มีพรมแดนมากั้น เพราะฉะนั้นการศึกษาในปัจจุบันต้องปรับและเปลี่ยนให้เหมาะสมตามธรรมชาติ และบริบทของผู้เรียน เชื่อว่าพลังของท้องถิ่น ท้องที่ และชุมชน สิ่งนี้จะเป็นฐานสำคัญ ที่จะนำพาชีวิตคนยากไปสู่ความมั่งคงและยั่งยืนได้ โดยใช้บทบาทหน้าที่ของตนเอง นำพาตนเองออกมาจากพรมแดนของความเชื่อ แล้วมาพบเจอกับความเป็นจริง ที่เราต้องร่วมกันจัดการ เพื่อเกิดกัลยาณมิตรที่เอื้อต่อชีวิตคนยากอย่างแท้จริง”