‘สวนยาง ผืนไร่ อู่ซ่อมรถ… โรงเรียนไร้ขอบเขตของ ด.ช.กวินท์ ลิสอน เมื่อการเรียนรู้ออกแบบจากวิถีชีวิตได้’

กวินท์ไม่ได้ไปโรงเรียนทุกวันเหมือนเพื่อนคนอื่น ไม่ได้ทำกิจกรรมสามัญอันเป็นประสบการณ์ร่วมของนักเรียนชั้นมัธยมต้นทั่วไป ห้องเรียนของกวินท์คือผืนไร่ตอนกลางวัน คือสวนยางยามค่ำคืน อุปกรณ์การเรียนที่หยิบจับประหนึ่งสมุดปากกาคือฝักถั่วและมีดกรีดยาง

และถึงกฎเกณฑ์จะไม่บังคับเรื่องเครื่องแบบ แต่กวินท์จะแต่งกายรัดกุมปิดผิวกายไว้จากแดดระอุ สวมรองเท้าหุ้มส้นคลุมข้อเท้าเสมอ เพื่อปลอดภัยจากการย่ำไปบนผิวดินร้อน และเตรียมพร้อมกับทางเดินชื้นแฉะและมืดมิดในสวนยาง    

ข้อมูลผิวเผินชุดนี้คล้ายเป็นเรื่องราวของเยาวชนนอกระบบการศึกษาอีกคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่านี้ไม่ได้เดินตามขนบที่ว่า เพราะ ‘กวินท์’ ที่อ้างถึง คือนักเรียนชั้น ม.2 ของโรงเรียนมหาราช 7 อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี โดยเป็นหนึ่งในนักเรียนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับการติดตามผ่าน ‘ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา’ และสามารถเรียนรู้อยู่ในโรงเรียนต่อไป ด้วยนวัตกรรม ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ อันเป็นโมเดลที่โรงเรียนมหาราช 7 ได้นำมาใช้รับมือกับนักเรียนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาแล้วสองปีการศึกษา นับตั้งแต่ผลพวงของโควิด-19 ทำมีเด็กเยาวชนต้องออกจากโรงเรียนและกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

เมื่อภาระมหาศาล โรงเรียนจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ถูกตัดออกจากความจำเป็นของชีวิต

“ม.2 เทอมสอง กวินท์เริ่มขาดเรียนสัปดาห์ละ 2-3 วัน บางทีหายไปเกือบทั้งอาทิตย์ ถึงตรงนั้นเรารู้ว่าจะรอนานกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะถ้าได้ขาดถึง 1 เดือนเมื่อไหร่ โอกาสหลุดถาวรมันแทบจะ 100% ทันที”   

‘ครูพีท’ จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง ครูแนะแนวโรงเรียนมหาราช 7 ระบุ ‘สัญญาณเตือน’ ผ่านอัตราการขาดเรียนของลูกศิษย์ ซึ่งค่อย ๆ เพิ่มความถี่ และหมายถึงความเสี่ยงสูงว่า กวินท์กำลังจะเปลี่ยนสถานะเป็น ‘เยาวชนนอกระบบการศึกษา’

ครูพีทเล่าว่า กวินท์จะไม่ได้เรียนต่อตั้งแต่จบ ป.6 เพราะผู้ปกครองส่งเสียไม่ไหว จนมาเจอครูพีท จึงมีการเยี่ยมบ้าน และคุยกับแม่ของกวินท์ จากนั้นจึงพากวินท์เข้าเรียนชั้น ม.1 ที่โรงเรียนมหาราช 7 โดยโรงเรียนจะไม่มีค่าบำรุงการศึกษา และจัดการค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องแบบและอุปกรณ์การเรียนให้ทั้งหมด แลกกับเงื่อนไขเดียวคือกวินท์ต้องเรียนให้จบชั้น ม.3

ครูพีท จรรยาวรรธ์ กับกวินท์

ผ่านไปหนึ่งปีการศึกษา กวินท์ขึ้น ม.2 กิจวัตรของเด็กมัธยมต้นคนหนึ่งดำเนินราบเรียบ กวินท์ไปเรียนและใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนและหยุดเสาร์อาทิตย์ช่วยแม่ทำงานหารายได้ แต่ตอนนั้นเอง แม่ของกวินท์ที่ทำงานรับจ้างรายวันหารายได้ดูแลน้องเพียงลำพังเกิดประสบอุบัติเหตุจนลุกเดินไม่ได้ เพียงข้ามคืน ภาระหาเงินจุนเจือสองชีวิตจึงเปลี่ยนมือจากแม่มาที่กวินท์

อย่างว่าง่าย เด็กชายวัย 14 ตัดสินใจทำงานเต็มเวลา กลายเป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการรับจ้างเก็บถั่วฝักยาวแลกค่าแรงชั่วโมงละ 30-60 บาท ระหว่างนั้นยังมีความรับผิดชอบคือดูแลแม่ กับอีกหนึ่งบทบาทที่ยังทิ้งไม่ได้ คือการ ‘เรียนหนังสือ’

“ด้วยอายุขนาดนั้นกับหน้าที่หลายอย่างที่ต้องแบกรับ ยังไงเขาก็ไม่มีทางทำทุกอย่างให้ดีได้ทั้งหมด” ครูพีทพูดถึงน้ำหนักมหาศาลที่กวินท์แบกรับ ในวัยที่เพื่อนร่วมรุ่นส่วนใหญ่มีภารกิจเดียวต้องทำคือไปโรงเรียน

“เราเห็นแล้วว่ากวินท์ขาดเรียนบ่อย ประกอบกับที่กวินท์ได้รับทุนจากศูนย์ช่วยเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตของ กสศ. ช่วงโควิด ทำให้ครูต้องเยี่ยมบ้านทุกเดือน เราจึงค่อย ๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงในครอบครัวเขา ซึ่งมันผันแปรกับอัตราขาดเรียน จาก ม.2 เทอมแรกที่ขาดวันหนึ่งกลับมาเรียนสองวัน พอเทอมสองกวินท์เริ่มไม่มาเรียนทั้งสัปดาห์ แล้วครูไปหาที่บ้านก็ไม่เจอ ได้แต่ข่าวอัปเดตจากแม่เขาว่า กวินท์ไปรับจ้างทำงานเต็มวันทุกวัน ไม่หยุดกระทั่งเสาร์อาทิตย์

“ไม่ต้องคิดแทนเด็ก เราก็รู้ว่ารายจ่ายมากมายรายล้อมเขาอยู่ ทั้งค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง ค่าไฟค่าน้ำ ค่าดูแลรักษาแม่ ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะเลือกงาน และการไปโรงเรียนจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ถูกตัดออกจากความจำเป็นของชีวิต”

ทาง (ที่ไม่ได้) เลือก?


“ผมไม่ได้อยากหยุดเรียนนาน ๆ แต่บ้านเราต้องใช้เงิน ถ้าไปเรียนทุกวันแม่กับผมก็ใช้ชีวิตไม่ได้ มันเหมือนไม่ใช่ผมหรอกที่เลือกจะไม่ไปโรงเรียน แต่คือโรงเรียนไม่เลือกผมแล้วมากกว่า”กวินท์พูดถึงสถานการณ์ช่วงหมิ่นเหม่จะหลุดจากระบบการศึกษา ก่อนถ่ายทอดความคิดตอนนั้น ว่า “ถึง ม.2 เทอมสอง ผมถอดใจแล้วว่าจะไม่กลับไปเรียนอีก เอาจริงคือตั้งแต่วันที่แม่ทำงานไม่ได้ ผมก็รู้แล้วครับว่ายังไงต้องเป็นแบบนี้”


(กวินท์กับแม่)

กวินท์ตัดสินใจถอยจากโรงเรียนเงียบ ๆ โดยไม่ปรึกษาใคร หากแต่เป็นครูพีทที่ไม่ยอม ยังคงเทียวไปบ้านของกวินท์ไม่ขาด จนเจอตัวและมีโอกาสคุยกัน          

“ครูถามผมว่ายังจำที่เคยพูดได้ไหม ว่าอยากเรียนให้จบ ผมบอกครูว่าจำได้ แล้วถึงตอนนี้ผมยังไม่เคยเปลี่ยนความคิดเลย ผมยังคงอยากเรียน อยากจบ ม.3 อยากเรียนสูงกว่านั้นด้วย แต่สถานการณ์ตอนนี้มันสุดทางแล้ว ครอบครัวผมต้องมีคนทำงานหาเงิน”

หลังทวนคำตอบจนแน่ใจว่าลูกศิษย์ยังอยากเรียน ก่อนกลับครูพีทจึงรับปากว่า “ถ้ากวินท์ยืนยันว่ายังอยากเรียน ครูก็จะหาทางให้”

เด็กชายผู้กำลังจะมีสถานะเป็น ‘เยาวชนนอกระบบการศึกษา’ รำลึกความทรงจำวันที่คุยกับครู ไม่เคยลืมว่าวันนั้นเขารู้สึกดีแค่ไหนที่ครูห่วงใยเขากับแม่ แต่เมื่อห่างจากโรงเรียนมาเกือบหนึ่งเดือนเต็ม กวินท์นึกไม่ออกว่า ถ้าเขายังต้องทำงานหาเงินทุกวันอย่างนี้ จะมีทางไหนให้กลับไปเรียนหนังสือได้อีก?

‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ออกแบบการเรียนรู้จากชีวิตประจำวัน’

สามวันจากนั้นครูพีทกลับมา บอกกวินท์ว่าโรงเรียนกำลังเริ่มหาทุนมาช่วยสนับสนุนครอบครัวของเขา พร้อมกับอีกข้อมูลสำคัญคือ กวินท์ยังคงมีสถานะเป็นนักเรียนของโรงเรียนมหาราช 7 และจะสามารถทำงานและเรียนหนังสือควบคู่กันไป ด้วยรูปแบบการจัดการศึกษา ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (2542) มาตรา 15 ที่ระบุว่าโรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้หลายรูปแบบและมีภาคีเครือข่ายในการจัดการศึกษา ซึ่งโรงเรียนมหาราช 7 ได้นำเนื้อหาจาก พ.ร.บ. มาตีความ และออกแบบการจัดการศึกษาโดยนำสภาพปัญหาและปัจจัยหลากหลายของนักเรียนกลุ่มเสี่ยงมาเป็นตัวตั้ง

“เราเอาเรื่องกลับมาคุยกันที่โรงเรียน แล้วจึงออกแบบวิธีเรียนรู้ที่ตั้งต้นจากวิถีชีวิตของกวินท์ นำประสบการณ์ ทักษะ ความจำเป็น รวมถึงองค์ความรู้ที่กวินท์ได้รับผ่านการทำงานมาปรับและดัดแปลงเป็นหลักสูตรเฉพาะ ขยายห้องเรียนและบทเรียนไปถึงแปลงผัก สวนยาง ผืนไร่ ผนวกกิจกรรมต่าง ๆ

ไม่ว่าเก็บถั่ว ห่มฟาง หรือการไปพลิกขี้ยางตอนกลางคืน รวมถึงสิ่งที่เขากำลังฝึกฝนเรียนรู้ในชีวิตจริงเช่นการกรีดยาง เหล่านี้ล้วนเป็นความรู้และทักษะก้าวหน้าที่เพิ่มพูนผ่านการทำซ้ำ ซึ่งโรงเรียนเอามาเปลี่ยนเป็นชุดบทเรียนที่มีตัวชี้วัดตามกลุ่มสาระวิชาต่าง ๆ”

ครูพีทบอกว่า หลักการสำคัญของ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ สำหรับเยาวชนกลุ่มเสี่ยง คือการช่วยจัดสรรตารางเวลาชีวิตให้เด็กอย่างเป็นระบบ โดยต้องแทรกการเรียนรู้เข้าไปในทุกกิจวัตรประจำวัน ยืดหยุ่นเรื่องเวลาส่งงานและเข้าเรียนให้สัมพันธ์กัน ซึ่งการจะทำได้ คณะครูต้องลงพื้นที่ มีการทำความเข้าใจกันระหว่างครูแนะแนว ครูประจำชั้น และครูผู้สอนวิชาต่าง ๆ เพื่อหาทางเชื่อมโยง ‘ภาระงาน’ ให้ไปถึง ‘ตัวชี้วัดรายวิชา’

“วิชาคณิตศาสตร์ของกวินท์จึงอยู่ในกิจกรรมห่มฟาง ที่เขาต้องคำนวณขนาดพื้นที่และรูปทรง ซึ่งครูจะมีโจทย์ผ่านใบงานไปให้ ส่วนวิชาภาษาไทยจะเรียนรู้จากการเรียบเรียงเรื่องเล่าผ่านการเขียนบันทึก มีวิชาทักษะอาชีพที่วัดประเมินผลจากชั่วโมงฝึกกรีดยาง รวมถึงอีกหนึ่งศาสตร์คือการซ่อมมอเตอร์ไซค์ที่กวินท์สนใจ และได้ทดลองเรียนรู้ที่สถานประกอบการใกล้บ้าน ส่วนตัวชี้วัดใดที่ขาดไปก็จะใช้วิธีเก็บเอาทีหลังโดยให้มาเรียนเสริมที่โรงเรียน ทั้งหมดนี้คือการเอาเวลามาคำนวณให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด เพื่อให้กวินท์มีโอกาสเรียนรู้ต่อไป และต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต ทั้งงาน การเรียน การดูแลแม่ และการพักผ่อน”

เชื่อมโยงภาคีรับช่วง-ส่งต่อ เติมเต็มการศึกษาที่ ‘ตอบโจทย์ชีวิต’

วงษ์สัน คูหามณีโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7 กล่าวว่าแนวทางการดำเนินงาน 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ จะทำผ่านแนวร่วมเครือข่ายทั้งบุคคล องค์กร สถานประกอบการ โดยตกผลึกว่าในจุดเริ่มต้น โจทย์ใหญ่จะอยู่ที่การติดตามเฝ้าระวังจากครูในโรงเรียน

“เพราะด้วยสารพัดปัญหาที่เด็กเผชิญอยู่ ถ้าครูมองไม่เห็น จะไม่มีมือไหนยื่นไปช่วยเด็กได้อีกแล้ว…

“ถ้าเราเอาใจเข้าไปจับกับปัญหาของเด็ก มันถึงจะเห็นว่าบางคนต้องทำงานเลี้ยงดูผู้ปกครองที่พิการ เช้ามืดตื่นก็ออกไปทำงาน ตกเย็นไปทำอีกที่หนึ่ง บางคนต้องหยุดบ้างเรียนบ้าง เพราะค่าตอบแทนจากงานสำคัญกับชีวิตของเขามากกว่า …ฉะนั้นถ้าเราตามเด็กกลับมาแล้วจับเขายัดกลับเข้าไปอยู่ในระบบ แน่นอนว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการติด 0 ติด ร และ มส และสุดท้ายก็ต้องหลุดจากโรงเรียนไปเพราะมีเวลาเรียนน้อยกว่า 80%”

ขณะที่กวินท์ซึ่งวันนี้กลับมาเรียนรู้ได้อีกครั้ง ด้วยวิธีการเฉพาะที่โรงเรียนออกแบบสำหรับเขา โดยครอบคลุมสาระวิชาหลักทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สุขศึกษา และที่พิเศษที่สุดคือวิชา ‘ฝึกอบรมอาชีพ’ ที่กวินท์บอกว่าเขาจะได้เอาทักษะและความรู้ไปใช้เรียนต่อหลังจบชั้น ม.3 อีกด้วย

“ครูเอาสิ่งที่ผมทำทุกวันมาออกแบบเป็นวิชาใหม่ เขาจะมีโจทย์ มีใบงาน มีแบบเขียนบันทึกให้ผมเล่าเรื่อง อธิบาย และหาคำตอบให้ตรงกับกรอบคำถามนั้น พอได้เรียนอย่างนี้ผมสบายใจขึ้นมากครับ  

“ผมสนใจเรื่องการซ่อมเครื่องยนต์ ตั้งใจว่าจบ ม.3 จะเรียนสายอาชีพ เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ผมรู้ว่าไม่ง่ายและคงต้องเหนื่อยอีกเยอะ แต่แค่ผ่านช่วงที่เกือบไม่ได้เรียนต่อมาได้ ผมคิดว่าทำได้ครับ” กวินท์เผยเส้นทางอนาคตที่วาดไว้

…ปีการศึกษา 2566 สิ้นสุดลง กวินท์ที่เรียนรู้ด้วยรูปแบบการศึกษาที่ ‘มีทางเลือก’ และ ‘ตอบโจทย์ชีวิต’ ผ่านจาก ม.2 ขึ้นชั้น ม.3 ครูพีทระบุว่า การออกแบบการเรียนรู้ที่สอดรับกับวิถีชีวิตของกวินท์ยังไม่สิ้นสุดลง เพราะเมื่อทางโรงเรียนรับรู้ความฝันและความตั้งใจของน้องแล้ว จึงได้ทำข้อตกลงกับ ‘วิทยาลัยการอาชีพปากท่อ’ เพื่อส่งต่อกวินท์สู่การเรียนสายอาชีพ พร้อมทุนการศึกษา ที่พัก และค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ

และเมื่อวันนั้นมาถึง โรงเรียนมหาราช 7 จะถอดบทเรียนกรณีของกวินท์อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อสรุปผลลัพธ์ สร้าง ‘ตัวแบบ’ และยกระดับมาตรฐานนวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

“เคสของกวินท์เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ของการมีระบบดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา โดยนับจากช่วงวิกฤตโควิด-19 เด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงหลุดจะถูกนำเข้า ‘กลุ่มเฝ้าระวัง’ และมีการพยายามหาทางช่วยเหลือทั้งด้านปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการออกจากโรงเรียน รวมถึงการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายมาช่วยในการรับช่วง-ส่งต่อ โดยปรับการเรียนรู้ให้เด็กสามารถนำประสบการณ์ทำงาน มาเทียบเคียงกับตัวชี้วัดตามกลุ่มสาระวิชาในหลักสูตรมาตรฐานแกนกลาง เพื่อให้เด็กยังอยู่ในระบบ เรียนได้จนจบและมีวุฒิการศึกษาภาคบังคับ”

ครูพีทกล่าวสรุป

ด้วยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับกวินท์และเพื่อน ๆ โมเดลนี้จึงอาจเป็นคำตอบหนึ่ง ที่หลายโรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อออกแบบ ‘การศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต’ ที่ช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มเสี่ยงให้มีช่องทางการเรียนรู้โดยไม่หลุดออกไปจากโรงเรียนก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ หรือในอีกทางหนึ่ง น้อง ๆ ที่หลุดออกจากระบบไปแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็จะมีโอกาสอีกครั้งในการกลับมาเรียนให้จบ และมีวุฒิการศึกษาไปใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับชีวิตตนเองและครอบครัวในวันข้างหน้า

“…คำถามคือถ้าเด็กที่มีปัญหาส่วนตัว มีสิ่งต้องทำซึ่งสำคัญกว่าการมาโรงเรียน เขาจะเรียนจบได้ไหม คำตอบคือไม่มีทาง

แต่วันนี้เราทำให้เขามีโอกาส เมื่อการเรียนรู้มีความหลากหลายขึ้น คำนึงถึงบริบทชีวิตผู้เรียนมากขึ้น เรามี ‘ห้องเรียนสร้างโอกาส’ มีชุดการเรียนออนไลน์ มีหลักสูตรเรียนรู้ที่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ชีวิตของเด็ก ๆ เพื่อปลายทางคือเด็กทุกคนต้องมีโอกาสจบการศึกษาภาคบังคับเป็นอย่างน้อย แล้วมันจะเป็นจุดเชื่อมสู่โอกาสในขั้นต่อไปของการศึกษาต่อ หรือการประกอบอาชีพในอนาคต

นี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง และคือสิ่งที่โรงเรียนกำลังพยายามทำให้เกิดผล การศึกษา 3 รูปแบบใน 1 โรงเรียน จึงเป็นหนึ่งหนทางของการช่วยตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำ และจะพาเราไปถึงวันที่ Zero Dropout เกิดขึ้นจริง ๆ”

ผอ.โรงเรียนมหาราช 7 กล่าวปิดท้ายด้วยความหวัง…