‘เรียนไม่ได้หรือไม่เคยปรับ’: สำรวจการศึกษาใน ‘เด็กพิเศษ’ ที่ไม่เคยพิเศษในระบบการศึกษาไทย กับ ชนิศา ตันติเฉลิม

ที่ผ่านมา ‘เด็กพิเศษ’ เป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่สังคมไทยไม่ค่อยพูดถึงมากนัก ทำให้หลายครั้งความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กพิเศษมีอยู่อย่างจำกัด และความเข้าใจที่จำกัดนั้นหลายอย่างก็เป็นความเข้าใจผิด จนนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่ไม่ตอบโจทย์กลุ่มเด็กพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางด้านการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องประสบพบเจอ เป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิตของเด็กแต่ละคน

แม้การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลผู้มีความต้องการพิเศษนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นภารกิจที่สถาบันทางการศึกษาต้องให้ความสำคัญ ดังที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติกำหนดให้มีการจัดการศึกษาแก่บุคคลผู้มีความต้องการพิเศษอย่างทั่วถึงและไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ในความเป็นจริง เด็กพิเศษกลับเป็นกลุ่มที่ถูกผลักออกจากระบบการศึกษาและผลักพวกเขาออกไปเป็น ‘คนพิการ’ ทั้งที่เนื้อแท้ของทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างมาก และผู้มีความต้องการพิเศษ ต้องการ ‘การศึกษาพิเศษ’ ที่เป็นการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง มีความเฉพาะตัวทั้งในด้านวิธีการสอน เนื้อหาวิชา เครื่องมือที่จำเป็นต่างไปจากหลักสูตรแกนกลางปกติ เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ของพวกเขาอย่างจำเพาะเจาะจง

แต่ถึงแม้จะมีคำว่า ‘พิเศษ’ ต่อท้าย ตลอดมาหลักสูตรกลับไม่เคยปรับให้ตอบโจทย์กับผู้เรียน บุคลากรครูก็ไม่พร้อมสำหรับการศึกษาพิเศษ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กผู้มีความต้องการพิเศษเหล่านี้จะถูกผลักออกไปจากระบบการศึกษา – และการศึกษาไทยก็เหมือนไม่ใช่ของทุกคนอย่างแท้จริง

101 จึงชวน ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปัญหาการศึกษาพิเศษที่ไม่เคยพิเศษ และอนาคตของการศึกษาพิเศษของประเทศไทย

ชนิศา ตันติเฉลิม

การศึกษาพิเศษ(?) ที่ไม่เคยพิเศษในระบบการศึกษา

ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม อธิบายว่าการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาพิเศษ ลำดับแรกต้องเข้าใจนิยามของคำว่า ‘เด็กพิเศษ’ เสียก่อน เพราะที่ผ่านมาความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กพิเศษมีจำกัดมาก และบางทีความเข้าใจที่จำกัดนั้นหลายอย่างก็อาจเป็นความเข้าใจที่ผิด 

“คำว่า ‘เด็กพิเศษ’เป็นเหมือนคำย่อของ ‘เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ’ หรือ ‘children with special needs’ นั่นแปลว่าไม่ว่าจะเป็นเยาวชนคนไหนก็ตามที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เช่น การรักษาพยาบาล การเรียนรู้เพิ่มเติม การเรียนรู้ด้านพฤติกรรม ต่างเป็นเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษด้วยกันทั้งหมด”

แม้คำว่า ‘เด็กพิเศษ’ จะเป็นคำที่หลายคนได้ยินอยู่บ่อยครั้ง แต่ชนิศาเล่าว่า ‘เด็กพิเศษ’ กลับไม่ถูกบรรจุลงไปในกฎหมายของไทยสักฉบับ เพราะในกฎหมายมักเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า ‘คนพิการทางการศึกษา’ นั่นสะท้อนแนวคิดในการจัดการสวัสดิการว่า หนทางเดียวที่คุณจะได้รับบริการจากรัฐในฐานะเด็กพิเศษได้ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการสำหรับการรักษาพยาบาลซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์มหาศาล หรือจะเป็นการปรับพฤติกรรมก็ตาม ผู้ปกครองจะต้องนำลูกไปขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการ

ทั้งนี้ชนิศาตั้งคำถามว่า หากวันนี้เด็กคนหนึ่งที่เป็นผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษไปขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการ เพื่อเข้าถึงสวัสดิการทางด้านการรักษาพยาบาลแล้ว สังคมไทย ผู้ปกครอง หรือสถาบันทางการศึกษาจะปฏิบัติเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ สำหรับชนิศาคำตอบคงเป็นเหมือนเดิม

“ดังนั้น เมื่อมีเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ การศึกษาพิเศษจึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการจำเป็นนี้ เพราะหลักสูตรแกนกลางไม่ได้ถูกเขียนไว้ให้พวกเขา เด็กกลุ่มนี้มักถูกมองว่า ‘เรียนไม่ได้’ แต่ครูขอขยายความว่า พวกเขาเรียนไม่ได้ ถ้าหลักสูตรหรือโรงเรียนไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการ

“ที่ผ่านมาโรงเรียนไม่เคยเปลี่ยน การศึกษาไม่เคยเปลี่ยนไปเลย แม้กระทั่งการศึกษาทางเลือกก็ยังคงอยู่ภายใต้ระบบของมัน นั่นแปลว่าเราไม่ได้ยอมรับเลยว่า มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางได้ ไม่ใช่เพราะเขามีสติปัญญาบกพร่อง แต่แค่เด็กเหล่านั้นเรียนคณิตศาสตร์แบบที่คุณสอนเขาไม่ได้ เรียนวิชาภาษาไทยแบบที่คุณสอนเขาไม่ได้”

แม้ประเทศไทยจะยอมรับในข้อตกลงของประเทศสมาชิกองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับหลักการสากลอย่าง ‘การศึกษาเพื่อปวงชน (education for all)’ ที่กำหนดว่าการศึกษาเป็นสิทธิอันพึงมีของประชากรโลก เพราะการศึกษาจะพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้สามารถดำรงอยู่ในชุมชนและสังคมโลกได้อย่างเข้มแข็ง แต่ชนิศายังพบว่ากลุ่มเด็กพิเศษกลับถูกเลือกปฏิบัติ บางสถานศึกษาเลือกไม่รับเด็กพิเศษหรือไม่ให้เรียนต่อ ภายใต้เหตุผลว่าหลักสูตรของโรงเรียนไม่พร้อม หรือไม่มีครูการศึกษาพิเศษ

“แม้ที่ผ่านมาการศึกษาพิเศษจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีจุดอ่อนเยอะมากเช่นกัน จุดอ่อนนั้นมาจากความไม่แน่นอนของนโยบายด้านการศึกษา และความสามารถของบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพครู จนทำให้เด็กพิเศษหลายคนอาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาไปซึ่งการแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าวต้องใช้เวลาอย่างมาก

“ในฐานะคณะที่ผลิตบุคลากรทางการศึกษานั้น เอกการศึกษาพิเศษ สาขาจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนวและการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็พยายามจะออกแบบหลักสูตรเพื่อสร้างบุคลากรทางการศึกษาพิเศษที่เข้าใจในการศึกษาพิเศษ เช่น การสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยทางการศึกษาพิเศษ (special education research unit) เพื่อให้นิสิตคณะครุศาสตร์มาศึกษาว่าเมื่อมีเด็กพิเศษมีปัญหาในการเรียนรู้ เช่น อ่านไม่ออก ครูจะต้องช่วยเขาอย่างไร เราก็จะสาธิตในห้องนี้เพื่อให้เขาที่จะออกไปเป็นครูรู้ว่าจะต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้างในการช่วยเหลือเด็กแต่ละคน”

การศึกษาพิเศษในมุมมองของชนิศาจึงไม่ใช่การเรียนเพื่อติวสอบ หรือการสอบเพื่อวัดระดับของสติปัญญา แต่เป็นการแก้ไขในสิ่งที่นักเรียนไม่เข้าใจ เพราะความพิเศษของเด็กกลุ่มนี้เกิดจากภายในสมองของเขาที่ทำให้มองโลกไม่เหมือนเด็กคนอื่น ดังนั้นการแก้ปัญหาของครูกับเด็กพิเศษก็จะไม่เหมือนการแก้ปัญหาของครูกับเด็กคนอื่นเช่นกัน

“ที่ผ่านมา ห้องปฏิบัติการวิจัยทางการศึกษาพิเศษ (special education research unit) นี้เพิ่งได้เปิดให้บริการ โดยพบว่าเยาวชนที่เข้ามาใช้บริการอยู่ ม.1 แต่ยังมีปัญหาในการอ่านหนังสือ เช่น ไม่สามารถแยกตัวอักษร ‘ฬ’ ได้ คำถามคือ เด็กคนนี้ผ่านการศึกษาจนมาถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้อย่างไร นั่นเป็นเพราะนโยบายการศึกษาไม่มีนโยบายให้เด็กคนไหนซ้ำชั้น และครอบครัวโรงเรียนก็ไม่ได้แก้ไขอะไร ในขณะที่ระบบหลักสูตรแกนกลางบอกให้เขาต้องเรียนกาพย์ กลอน เมื่อเขายังไม่สามารถอ่านหนังสือได้ แค่นี้เด็กคนนี้ก็ลำบากแล้ว

“แม้วันนี้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกมากขึ้น จนการอ่านไม่ออกหรือเขียนไม่ได้อาจจะไม่กระทบต่อชีวิตของพวกเขาในวันที่เรียนจบไป แต่การที่เด็กคนหนึ่งจะทำงานได้ เพื่อนยอมรับ ทั้งหมดล้วนเป็นทักษะสังคม เช่น หากได้รับงานมา แต่พวกเขาทำงานไม่ได้ก็เลือกที่จะไม่ทำเลย นี่คือธรรมชาติของเด็กกลุ่มนี้คือการเรียนรู้ที่จะล้มเหลว

ห้องปฏิบัติการวิจัยทางการศึกษาพิเศษ (special education research unit)

“การศึกษาพิเศษไม่ได้สอนแค่ให้เด็กพิเศษอ่านออกเขียนได้ แต่มุ่งเน้นเรื่องการจัดการพฤติกรรมของ ‘เด็กทุกคน’ ภาพที่ดีที่สุดคือเด็กที่มีความต้องการพิเศษกับเด็กปกติก็สามารถเรียนในห้องร่วมกันได้ และครูก็สามารถจัดการพฤติกรรมของเด็กทุกคน เช่น รู้ว่าเด็กคนนี้กำลังจะกรี๊ดแล้ว ครูก็จับเด็กย้ายที่นั่ง เหมือนเป็นการวางแผน นี่คือการจัดการพฤติกรรมที่การศึกษาพิเศษจะทำได้ดีกว่าการศึกษาทั่วไป เพราะการศึกษาทั่วไปมักจะไปเน้นกลุ่มสาระ จะต้องทำอย่างไรให้เด็กแก้โจทย์ปัญหาได้ แต่ครูไม่ได้มีเวลาพอที่จะเรียนรู้ในการจัดการพฤติกรรมในชั้นเรียน คุณจะเอาแต่สอนวิชาการไม่ได้ เพราะคุณจะไม่ได้รับความสนใจจากเด็กเลย”

ชนิศาตั้งคำถามว่า หากวันนี้การศึกษาไทยพยายามจะกีดกันเด็กพิเศษออกไปจากระบบการศึกษาแกนกลางแล้ว เด็กกลุ่มนี้จะเรียนหนังสือได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาสังคมมักแยกพวกเขาออกไปเรียนที่โรงเรียนสำหรับคนพิการ ซึ่งแนวทางดังกล่าวไม่ตอบโจทย์สำหรับการศึกษาในเด็กพิเศษ เนื่องจากโรงเรียนเหล่านั้นต่างมองว่าเด็กกลุ่มนี้คือตัวปัญหาที่ต้องกันออกจากสังคมส่วนรวม

เรียนร่วม หรือ เรียนรวม 
การกลัดกระดุมผิดเม็ดตั้งแต่เม็ดแรกของระบบการศึกษาไทย

การศึกษาแบบเรียนรวม เป็นการจัดการการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษสามารถอยู่ร่วมกับนักเรียนปกติ

“การเรียนรวม คือ การจำลองโลกปกติให้กับทุกคน ที่ห้องเรียนใดห้องเรียนหนึ่งจะมีเด็กแสบ เด็กซน เด็กซ่า เด็กเกเร หรือแม้แต่เด็กพิเศษ ก็เหมือนกับสังคมที่เมื่อคุณออกไปทำงานคุณก็พบเจอผู้คนที่หลากหลายไม่ต่างกัน

“ถ้าไม่มีการศึกษาแบบเรียนรวม เด็กพิเศษเหล่านั้นจะไม่มีโอกาสฝึกการอยู่กับเด็กทั่วไปเลย เมื่อออกมาสังคมอาจจะไม่เข้าใจในการกระทำของเขา เพราะว่าพวกเขาไม่เคยได้ฝึกว่าอยู่โรงเรียน หรืออยู่กับคนทั่วไปจะต้องทำอย่างไร เพราะฉะนั้น โรงเรียนจึงเป็นเหมือนภาพฉายสังคมที่มีทั้งคนส่วนมากและคนส่วนน้อย และโรงเรียนต้องแก้ปัญหาในการจัดชั้นเรียนเองว่าถ้าเจอแบบนี้จะทำอย่างไร ไม่ใช่ผลักคนที่ไม่ใช่เด็กปกติออกไปจากระบบการศึกษา”

สำหรับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐต่อกลุ่มเด็กพิเศษตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ชนิศามองว่าประเทศไทยกำลังพบเจอกับ ‘ปัญหาไม้เอกระดับชาติ’ เพราะรัฐบาลไม่สามารถเลือกได้ว่านโยบายการศึกษาในกลุ่มเด็กพิเศษนั้นจะเป็น ‘การเรียนร่วม (mainstreaming)’ หรือ ‘การเรียนรวม (inclusive education)’

โดยนักวิชาการและนักวิจัยต่างพยายามนิยามความแตกต่างของรูปแบบการศึกษาทั้งสองแบบนี้ โดยอธิบายว่า ‘การเรียนร่วม (mainstreaming)’ เป็นการจัดการศึกษาแก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษให้ได้รับบริการทางการศึกษาพิเศษในห้องทั่วไป เพื่อให้เหมาะสมกับศักยภาพของนักเรียนเป็นหลัก เช่น เรียนบางวิชากับนักเรียนทั่วไป แต่บางวิชาก็จะเป็นการเรียนตัวต่อตัวกับครูการศึกษาพิเศษ

สำหรับ ‘การเรียนรวม (inclusive education)’ เป็นการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษให้มีข้อจำกัดน้อยที่สุดในการเรียนกับเด็กทั่วไปโดยไม่คำนึงถึงความบกพร่อง กล่าวคือโรงเรียนมีหน้าที่เตรียมสภาพแวดล้อม เครื่องมือ อุปกรณ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคล

“ปัญหาไม้เอกระดับชาตินั้นส่งผลต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอย่างมาก โดยในช่วงแรกกระทรวงเองก็บอกว่าจะเป็นการเรียนร่วม แต่เมื่อนานาชาติกดดันว่าต้องเป็นการเรียนรวม เขาจึงเอาไม้เอกออก แต่นโยบายก็เหมือนเดิม โดยไม่มีใครบอกว่าเมื่อเอาไม้เอกออกแล้ว โรงเรียนต้องทำอย่างไร

“ไม่ต้องสนใจหรอกว่าวันนี้ การศึกษาของประเทศไทยจะเป็นการเรียนร่วมหรือการเรียนรวม หากเรายึดหลักการว่าการศึกษานั้นต้องเป็นของทุกคน เพราะฉะนั้นต้องไม่มองว่าเด็กคนนั้นจะเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ เพียงต้องยอมรับว่าเด็กทุกคนต้องมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาเรียนและอยู่ร่วมกัน อย่างการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ ที่ยึดหลักว่าโรงเรียนที่ดีที่สุดของทุกคนคือโรงเรียนใกล้บ้าน ดังนั้นเขาจะไม่แยกว่าเด็กพิเศษจะต้องไปเรียนโรงเรียนไหน เพราะทุกโรงเรียนเป็นการเรียนรวมและมาตรฐานของโรงเรียนเท่ากันหมด”

ทั้งนี้ ชนิศามองว่าปัญหาที่ทำให้การศึกษาไม่สามารถเป็นของทุกคนได้ ก็เพราะนโยบายการผลิตบุคลากรครูที่มีปัญหา กล่าวคือกระทรวงศึกษาธิการไม่สนใจว่าครูแต่ละคนนั้นสอนอะไรบ้าง สนใจเพียงจำนวนสัดส่วนระหว่างเด็กกับครู เช่น หากโรงเรียนหนึ่งต้องการครูเพิ่ม จะต้องไปดูสัดส่วนและเพิ่มตามสัดส่วนนั้น แต่ไม่เคยสนใจว่าครูที่บรรจุเข้ามาจะสอนวิชาอะไร อีกทั้งยังไม่มีอัตราในการบรรจุครูการศึกษาพิเศษ

“นโยบายดังกล่าวไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาการศึกษาอย่างมาก เหมือนวันนี้โรงพยาบาลรับเพียงหมอหัวใจ แต่ปรากฏว่ามีคนไข้ที่เป็นโรคหืดด้วย คุณจะทำอย่างไร เพราะโรงพยาบาลนี้ไม่มีหมอโรคหืดเลยด้วยซ้ำ (หัวเราะ)

“ดังนั้น อนาคตของการศึกษาพิเศษนั้นคือการเรียนรวมนั่นแหละ แต่สังคมอาจจะต้องเปลี่ยนโจทย์จากอนาคตของการศึกษาในเด็กพิเศษ เป็นอนาคตของการเรียนรวม เมื่อไหร่ที่เราทำให้การเรียนรวมดีได้ เราจะช่วยเด็กได้ทุกคน”


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

โดย : เรื่อง: ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา

ภาพถ่าย: อุชุกร เกาะสมุทร