‘การศึกษายืดหยุ่น’ ฉากทัศน์ใหม่ในอนาคต เปิดทางเลือกที่หลากหลายให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้

การศึกษายืดหยุ่น (flexible learning) ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมการศึกษาที่จะช่วยสลายปมคำว่า การศึกษาในระบบ-นอกระบบ ด้วยแนวคิดทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ เปิดทางเลือกที่หลากหลายให้แก่เด็ก ด้วยการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการ สภาพปัญหาของแต่ละคน บริบทของพื้นที่ และวิถีชีวิต โดยไม่ต้องยึดติดกับตารางสอนของครูในโรงเรียน แต่เปลี่ยนเป็นตารางเรียนที่เหมาะสมของทุกคน เช่น เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย แล้วใช้ทักษะประสบการณ์เทียบโอนผลการเรียน ฯลฯ ความยืดหยุ่นของการศึกษาเช่นนี้คือ โจทย์ใหญ่ของการศึกษาไทยในวันนี้ ที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ภายใต้โครงสร้างแบบเดิม เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาคนของประเทศไทย

ผลการศึกษาวิจัยในโครงการ ‘การคาดการณ์อนาคตการศึกษาทางเลือก’ (Foresight for Alternative Education) พบว่า แนวโน้มการจัดการศึกษาทางเลือกนั้นจะเป็นแนวทางที่มีความสําคัญมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาในปัจจุบัน ทั้งการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา การเพิ่มโอกาสเข้าถึงหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น และยังเป็นรูปแบบที่ส่งเสริมระบบนิเวศของการจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ไปพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ ผู้อำนวยการโปรแกรมการคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) นักวิจัยในโครงการวิจัยดังกล่าว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง NIDA และสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. โดยบทสัมภาษณ์นี้จะช่วยให้ภาคีการศึกษาเห็นถึงภาพรวมและแนวทางสำคัญในการเดินไปสู่เป้าหมายการสร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่นในประเทศไทย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การศึกษาไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอยู่ในขั้นวิกฤตทั้งตัวผู้เรียน ผู้สอน หลักสูตร การสอบวัดผลในระดับนานาชาติที่ตกตํ่า รวมไปถึงโครงสร้างทางการศึกษาขนาดใหญ่ที่ฉุดรั้งไว้ ทำอย่างไรการศึกษาไทยจะสามารถเดินต่อไปอย่างมีคุณภาพในอนาคต

ที่ผ่านมาเราพูดถึงการปฏิรูปการศึกษามามากกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ถ้าเรามุ่งหวังว่าการศึกษาไทยจะต้องมีคุณภาพมากขึ้นในอนาคต เรามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาให้สามารถรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะต้องนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้เรียน ผู้สอน ผู้บริหารการศึกษา รวมไปถึงหลักสูตร ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบการศึกษาแบบเดิมเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่อาจตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป 

การมีทางเลือกในการศึกษาที่หลากหลาย เป็นหน่วยบ่มเพาะอนาคต จึงจะสามารถตอบโจทย์ผู้เรียนได้ ตรงกับเป้าหมายในการเรียนรู้ที่วางอยู่บนความแตกต่างหลากหลาย ตามความสนใจของตัวผู้เรียนเอง แน่นอน ในอีกทางหนึ่งการศึกษายืดหยุ่นนั้น สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กกลุ่มเปราะบางได้ เพราะด้วยความยืดหยุ่นนี้เองจะทำให้เด็กๆ สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาที่วางอยู่บนเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างของพวกเขา 

เมื่อเราพูดถึงการศึกษายืดหยุ่นและการศึกษาทางเลือก อะไรคือหลักใหญ่ใจความสำคัญที่จะทำให้เราไปถึงจุดนั้นได้

การทำความเข้าใจถือเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่ตัวเด็กและเยาวชน ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และในระดับประเทศต้องทำความเข้าใจในการศึกษายืดหยุ่นและการศึกษาทางเลือกเสียก่อน แน่นอน การศึกษายืดหยุ่นหรือทางเลือกไม่ได้สร้างมาเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ กลุ่มเปราะบาง เยาวชนผู้กระทำผิด หรือคุณแม่วัยใสเท่านั้น แต่ความยืดหยุ่นเหล่านี้สามารถนำมาใช้กับการศึกษาในระบบได้ด้วย เป็นการสร้างตัวเลือกในการเรียนรู้ให้มีความกว้างไกลมากยิ่งขึ้น 

อย่างเช่น การบูรณาการข้ามสถานศึกษา องค์ความรู้ประเภทเดียวกัน ถ้าผู้สอนสอนเหมือนกันทั้งหมด มันอาจจะไม่ได้สร้างความแตกต่างมากนัก เพราะในความเป็นจริงตัวผู้สอนต่างก็มีความชำนาญเฉพาะทาง หากมีการบูรณาข้ามสถานศึกษาได้ เด็กก็จะสามารถเรียนกับครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ สร้างแรงจูงใจให้การเรียนการสอนน่าสนใจมากขึ้น เป็นต้น 

ปัจจุบันเทคโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนการสอน การเก็บข้อมูลของเด็กแต่ละคนว่ามีความสนใจประเด็นไหน จะทำให้ผู้สอนเองมีความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายได้ดีขึ้น สามารถผลักดันในสิ่งเหล่านั้นต่อได้ ซึ่งตรงนี้เองผู้สอนต้องมีความเป็น ‘โค้ช’ (coach) มากขึ้นด้วย 

การใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ คือหนทางในการใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษามากที่สุด ดึงศักยภาพของครูและนักเรียนออกมา โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการทุ่มลงไปจุดเดียว เพราะหากเราทำความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาไปพร้อมกัน จะทำให้ความเหลื่อมลํ้าในระบบการศึกษาลดลงได้มาก 

หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐาน การวัดและประเมินผล การเทียบวุฒิการศึกษา อาจารย์มองว่าตรงนี้มีปัญหาในเชิงโครงสร้างหรือไม่ อย่างไร

ทุกวันนี้ตัวชี้วัดและการประเมินผลของเรานั้นไม่มีความหลากหลาย เต็มไปด้วยข้อจำกัดและขาดความยืดหยุ่น ไม่ใช่ว่าเราไม่มีโมเดลการศึกษายืดหยุ่นและการศึกษาทางเลือก ซึ่งโรงเรียนหลายแห่งก็พยายามผลักดันนวัตกรรมการศึกษานี้ขึ้นมาแล้ว เช่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เป็นต้น แต่การจะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ค่อนข้างลำบากในเชิงโครงสร้างภาพรวม เพราะต้องอาศัยการทำความเข้าใจของโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน ความร่วมมือของชุมชน และการสนับสนุนจากภาครัฐ เหล่านี้เป็นต้น 

ดังนั้น หากเรามีโมเดลที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว สามารถนำมาแสดงให้เห็นได้ว่า การศึกษายืดหยุ่นนั้นมีมาตรฐาน มีตัวชี้วัดและประเมินผลที่เหมาะสม โรงเรียนและพื้นที่ต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามพื้นที่ สร้างนวัตกรรมการศึกษาของตนเองขึ้นมา ขณะเดียวกัน นโยบายทางการศึกษาในระดับชาติก็มีความจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องและต่อเนื่องด้วย ต้องมีการกระจายอำนาจทางการศึกษา เปิดโอกาสและช่องทางที่นำไปสู่การสร้างมาตรฐานที่ดีได้

การศึกษายืดหยุ่นและการศึกษาทางเลือก สามารถเดินไปพร้อมกับการศึกษาในโรงเรียนได้หรือไม่

แน่นอนว่าได้ หมายความว่าการศึกษายืดหยุ่นหรือการศึกษาทางเลือก สามารถเป็นตัวเสริมการศึกษาแบบเดิม เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป เฉกเช่นสะพานเชื่อม (bridging the gap) สร้างทักษะใหม่ๆ ที่ขาดหายไปในระบบการศึกษาในโรงเรียน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาคน การศึกษายืดหยุ่นจะสามารถตอบโจทย์ประเทศไทยในอนาคตได้หรือไม่

การศึกษายืดหยุ่นและการศึกษาทางเลือกสามารถตอบโจทย์ความเป็นไปได้ทางการศึกษาของกลุ่มเปราะบางต่างๆ เพราะเป็นการสร้างทางเลือก สร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของแต่ละคน

ในทางจิตวิทยาก็ดี สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมความมุ่งมั่นของผู้เรียน ตรงนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะจากการลงพื้นที่วิจัยพบว่า เด็กจำนวนมากมีความมุ่งมั่นกลับคืนมาด้วยการศึกษายืดหยุ่น เพราะพวกเขาต้องการเรียนหนังสือเพื่อพ่อแม่ เพื่อจะนำมาสู่การลดภาระ สร้างชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวในอนาคตให้ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าแรงขับเช่นนี้เป็นเจตนาที่ต้องการจะหลุดออกจากวงจรความยากจนที่ส่งต่อกันมาข้ามรุ่น

อย่างที่ได้ตอบคำถามในข้างต้น ตลาดแรงงานในปัจจุบันต้องการแรงงานทักษะที่สูงขึ้น ความยืดหยุ่นของการศึกษาเช่นนี้ จูงใจให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะได้มากขึ้นจากความสนใจของตนเอง อย่างเช่น การเรียนรู้เรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงทักษะอื่นๆ ทั้งวิชาชีพ วิชาชีวิต เป็นต้น

หลายฝ่ายมีความกังวลใจว่า AI กำลังเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ในอนาคต อาจารย์มีทัศนะอย่างไรกับเรื่องนี้

แน่นอนว่า เสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ปัจจุบันเราก็สามารถเห็น AI ทำได้อย่างมนุษย์ เช่น AI Generated ต่างๆ ตรงนี้เกิดคำถามว่า ทำอย่างไรแรงงานไทยสมัยใหม่จะสามารถใช้เทคโนโลยี AI ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด การจะใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของแรงงานให้สามารถปฏิบัติการควบคุมได้ ซึ่งการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีทักษะสูงนั้น การศึกษาทางเลือกคือคำตอบ เพราะแรงงานจะสามารถเรียนรู้นอกเวลางาน เพื่อพัฒนาทักษะให้สูงขึ้นได้


อ่านประกอบ: ข้อค้นพบจากโครงการวิจัย ‘การคาดการณ์อนาคตการศึกษาทางเลือก’


การศึกษาทางเลือกหรือการศึกษาที่ยืดหยุ่น คือทางเลือกแห่งอนาคตที่สามารถตอบโจทย์ความเป็นไปได้ทางการศึกษาของไทย และตอบโจทย์ผู้เรียนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายในแง่ของวิถีชีวิตและสถานภาพทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่า การศึกษาเช่นนี้มีพื้นฐานแนวคิดที่มุ่งเน้นการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ไปจนถึงกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา เพื่อดึงพวกเขากลับเข้าสู่การเรียนรู้อีกครั้งในรูปแบบของการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับผู้เรียน

ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ภาพของเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางได้หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้หลายครอบครัวนั้นไม่สามารถแบกรับภาระทางการศึกษาของบุตรหลานได้อีกต่อไป หลายคนเลือกตัดสินใจที่จะออกจากระบบการศึกษาเสียเอง เพราะทางเลือกในชีวิตที่มีอยู่จำกัด บีบคั้นให้พวกเขาต้องเดินออกจากรั้วโรงเรียนสู่การเป็นแรงงานไร้ทักษะ จนไม่อาจหลุดพ้นจากวัฏจักรความยากจนข้ามรุ่นไปได้

โครงการวิจัย ‘การคาดการณ์อนาคตการศึกษาทางเลือก’ (2566) โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดการศึกษาในอนาคต เพื่อหาแนวทางรองรับผู้เรียนที่มีอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิต ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม

จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสจากระบบการศึกษาปกติ พบว่า เด็กเหล่านี้ล้วนเผชิญปัญหาในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต ความยากจน ความบกพร่องทางการเรียนรู้ ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ไม่เห็นประโยชน์ของการศึกษา โดยสามารถแบ่งกลุ่มปัญหาได้ดังนี้ 

1) เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เข้าไม่ถึงสิทธิด้านการศึกษา 
2) เยาวชนฐานะยากจน ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาได้ และต้องประกอบอาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว
3) เยาวชนครอบครัวไม่พร้อม พ่อแม่หย่าร้าง ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ หรือมองว่าเป็นภาระ
4) เยาวชนพ่อแม่วัยใส ไม่สามารถเรียนต่อได้เพราะตั้งครรภ์ ต้องดูแลลูกและหารายได้เลี้ยงลูก
5) เยาวชนผู้พิการ ไม่สามารถเดินทางไปเข้ารับการศึกษาได้ ไม่มีสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม ใช้เวลาเรียนรู้นานกว่ากลุ่มปกติ
6) เยาวชนที่สละโอกาสทางการศึกษา เพราะการศึกษาไม่ตอบโจทย์ชีวิตและการทำงาน เข้ากับสังคมในสถานศึกษาไม่ได้ ติดยา หรือติดเกม

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่เกิดจากครอบครัว พบว่ามีทั้งปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ผู้ปกครองไม่ให้ความสำคัญของการศึกษา การย้ายถิ่นฐานบ่อย ฐานะยากจน มีหนี้สิน มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ ครอบครัวแตกแยก เป็นต้น

ส่วนปัจจัยทางด้านโรงเรียนและชุมชน ครูผู้สอนยังขาดความเข้าใจสถานการณ์ด้อยโอกาสของผู้เรียน ขาดกลไกให้ความช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาส หลักสูตรการเรียนการสอนไม่ตอบโจทย์ โรงเรียนขาดทรัพยากร อยู่ห่างไกลชุมชน ขาดความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ไม่มีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออก เป็นต้น

นอกจากนี้อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กกลุ่มเปราะบางคือ ระบบการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม ได้แก่ การบูรณาการข้ามสถาบันเป็นไปได้ยาก ตัวชี้วัดไม่สอดคล้องกับบริบทสังคม การวัดและประเมินผลไม่หลากหลาย จำนวนครูไม่เพียงพอ ขาดระบบทดสอบสมรรถนะ หลักสูตรล้าหลังไม่เหมาะสม ผลกระทบจากสังคมผู้สูงอายุทำให้จำนวนเด็กลดลง เศรษฐกิจและสังคมมีความเหลื่อมล้ำ ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอ นโยบายไม่สอดคล้อง ขาดความต่อเนื่อง งบประมาณทางการศึกษาจำกัดมากขึ้น รวมถึงอุปสรรคด้านกฎหมายและการกระจายอำนาจ 

คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ด้วยว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตของเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในแต่ละกลุ่ม และได้จำแนกปัจจัยเหล่านั้นออกเป็นปัจจัย

แนวโน้มและปัจจัยความไม่แน่นอน ได้แก่ 1) ปัจจัยด้านความ

ความมุ่งมั่นของผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และ 2) ปัจจัยด้านความหลากหลายทางเลือกการศึกษา เพื่อสร้างภาพอนาคต 4 แบบที่เป็นไปได้ของเยาวชนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ได้ผลดังนี้

อนาคตที่เป็นไปได้ 1: เยาวชนมีความมุ่งมั่นต่อการสร้างอนาคตที่ดีของตัวเองและครอบครัว และมีทางเลือกของการศึกษาให้เข้าถึงได้หลากหลาย
อนาคตที่เป็นไปได้ 2: เยาวชนมีความมุ่งมั่นต่อการสร้างอนาคตที่ดีของตัวเองและครอบครัว และมีทางเลือกของการศึกษ
ให้เข้าถึงได้น้อย
อนาคตที่เป็นไปได้ 3: เยาวชนขาดความมุ่งมั่นต่อการสร้างอนาคตที่ดีของตัวเองและครอบครัว และมีทางเลือกของการศึกษาให้เข้าถึงได้หลากหลาย
อนาคตที่เป็นไปได้ 4: เยาวชนขาดความมุ่งมั่นต่อการสร้างอนาคตที่ดีของตัวเองและครอบครัว แต่มีทางเลือกของการศึกษาให้เข้าถึงได้น้อย

ขณะเดียวกัน คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ผลการคาดการณ์ระบบการศึกษาทางเลือกในอนาคต โดยจำแนกออกเป็นปัจจัยแนวโน้มและปัจจัยความไม่แน่นอน ได้แก่ 1) การบริหารจัดการการศึกษาแบบรวมศูนย์ (Centralization) 2) การบริหารจัดการการศึกษาแบบกระจายอำนาจบนความไม่พร้อมของพื้นที่/หน่วยดำเนินงาน

(Decentralization with constraint) และ 3) การบริหารจัดการการศึกษาแบบกระจายอำนาจด้วยความพร้อมของพื้นที่/หน่วยดำเนินงาน (Decentralization with readiness) ทำให้ได้ภาพอนาคต ดังนี้

อนาคตที่เป็นไปได้ของระบบการศึกษาทางเลือก 1: ศูนย์กลางนวัตกรรมการเรียนรู้แบบรวมศูนย์ (Centralised Innovation Hub: Navigating Educational Frontiers)

อนาคตที่เป็นไปได้ของระบบการศึกษาทางเลือก 2: การกระจายอำนาจการศึกษาแบบไร้ระเบียบ (Fragmented Realities: Decentralised Disarray in Education)

อนาคตที่เป็นไปได้ของระบบการศึกษาทางเลือก 3: ระบบนิเวศการเรียนรู้ ตามแนวทางการกระจายอำนาจ (Adaptive Learning Ecosystems: Nurturing Potential in Empowered Localities)

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้เสนอแนวทางส่งเสริมการศึกษาทางเลือกที่ตอบโจทย์อนาคต ได้แก่

บูรณาการเข้ากับการศึกษาทางหลัก ทั้งในด้านการใช้พื้นที่ การแชร์สื่อการเรียนรู้ การแชร์แหล่งเรียนรู้ เชื่อมต่อข้อมูลการเรียนรู้รายคน และการเทียบโอน
ยืดหยุ่นและประหยัดขึ้นด้วยเทคโนโลยี เพิ่มความเข้าใจ เข้าถึงได้ในวงกว้าง ลดงานที่ไร้คุณค่าต่อเด็ก เน้นใช้ซ้ำและต่อยอด 
เชื่อมต่อทางเลือกที่หลากหลาย เครือข่ายการศึกษาทางเลือกแชร์สื่อการเรียนรู้ระหว่างกัน เชื่อมต่อข้อมูลการเรียนรู้รายคน มีระบบการเทียบโอนที่ง่าย และมีกลไกการกำกับตนเองที่น่าเชื่อถือ 
เพิ่มความน่าเชื่อถือกับโอกาสข้างหน้า เชื่อมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อโอกาสอนาคต เชื่อมเอกชนเพื่อส่งเสริมอาชีพ นำมาตรฐานที่ยืดหยุ่นมาใช้ เสริมสร้างศรัทธาผู้บริจาค
พัฒนาศักยภาพเชิงพลวัตของทรัพยากร จัดให้มีทุนพัฒนาครูทางเลือก สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาครู มีนวัตกรรมและองค์ความรู้ของการศึกษาทางเลือก 
ทบทวนกฎกติกาให้เอื้อต่อนวัตกรรม เน้นเยาวชนเป็นศูนย์กลาง เน้นผลลัพธ์ในการสร้างโอกาส เชื่อมต่อกองทุนและแหล่งสนับสนุน พัฒนาสู่การเรียนรู้ระบบเปิด 

ในรายงานการวิจัยให้ข้อสรุปว่า การออกแบบนโยบาย ระบบ และกลไกการส่งเสริมการศึกษาทางเลือก จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจอนาคตของระบบการศึกษา และนัยยะผลกระทบที่มีต่อความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาและการศึกษาทางเลือก ซึ่งเป็นเงื่อนไขสู่ความสำเร็จของ กสศ. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระบบนิเวศการศึกษาในการออกแบบนโยบายและมาตรการส่งเสริมการจัดการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในอนาคต