สังคมปัจจุบัน เด็กๆ จำนวนมากมีความแตกต่างหลากหลาย เด็กจำนวนหนึ่งมาจากครอบครัวที่มีฐานะที่ดี เด็กจำนวนหนึ่งครอบครัวอาจมีรายได้ที่ไม่สูงนัก แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่ควรมีผลต่อความเสมอภาคในการบรรลุ ‘เป้าหมายทางการศึกษา’ ของเด็กแต่ละคน
ระบบการศึกษาจึงควรมีความยืดหยุ่น มีทางเลือกที่หลากหลาย และมีกลไกสนับสนุนเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนไทยทุกคนได้ เพราะพวกเขาล้วนมีความฝัน และเป้าหมายทางการศึกษาของตนเอง ซึ่งล้วนแต่จะช่วยสนับสนุนอนาคตของประเทศไทยให้มีการเจริญเติบโตก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน ไม่เกิดปรากฏการณ์ The Lost Einsteins หรือการสูญเสียช้างเผือกในประเทศไทยมากดังที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อยากขอเชิญชวนเพื่อนภาคีทุกท่านมาร่วมกันคิดว่า ทำอย่างไรให้การศึกษาไทยนั้นสามารถมุ่งเน้นไปที่แก่นแกนของคำว่าการศึกษา โดยไม่จำเป็นว่าเด็กทุกคนจะต้องเข้าสู่วิธีหรือกระบวนการศึกษาที่เหมือนกันทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องเดินบนเส้นทางเดียวกัน ใช้พาหนะแบบเดียวกันเสมอไป หรือใส่ ‘เสื้อโหล’ แบบเดียวกันอย่างที่หลายคนเรียกว่า ‘One Size Fits All’ จนทำให้เกิดการจราจรติดขัดในระบบการศึกษา กลายเป็นทางเดินแบบคอขวดที่บีบอัดให้เด็กๆ ต้องเดินบนถนนสายเดียวกัน ภายใต้ความสำเร็จทางการศึกษาที่มีรูปแบบเดียวเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเด็กนักเรียนและผู้ปกครองเองที่จำเป็นต้องออกจาก ‘ระบบที่แข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น’ และละทิ้งเป้าหมายทางการศึกษาของตนไปก่อนเวลาอันควร
ดังนั้นคำถามที่ 2 ที่ตามมาคือ ทำอย่างไรการศึกษาของไทยจึงจะมีความ ‘ยืดหยุ่น’ และสามารถสร้าง ‘ทางเลือก’ ที่มีความหลากหลาย เหมาะสมกับบริบทชีวิตของเด็กแต่ละคน
ทำอย่างไรให้ระบบการศึกษายืดหยุ่นพอที่จะปรับตัวเข้าหาเด็กได้ มากกว่าที่จะให้เด็กต้องปรับตัวเข้าหาระบบการศึกษาตลอดเวลา
หากแก่นของการศึกษาที่แท้จริงคือการเรียนรู้ และปรับตัว การศึกษาจะสามารถเรียนรู้และปรับตัวเข้าหาเด็กได้บ้างได้หรือไม่? โดยไม่ปล่อยให้เด็กไร้ทางเลือก และจำต้องเลือกที่จะออกจากระบบการศึกษาในที่สุด เด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเก่งวิชาการเสมอไป หากเขาอยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติก็ควรได้เข้าโรงเรียนกีฬา หากมีใจรักทางศิลปะ ดนตรี การทำอาหาร ก็ควรมีเส้นทางรองรับที่หลากหลาย และผลักดันให้เขาไปให้สุดในสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุด เจียระไนให้เขาเดินไปถึงเป้าหมายสูงสุดทางการศึกษานั้นได้
หากน้องต้องการทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย
หากน้องต้องเรียนด้วยการเรียนการสอนแบบทวิ-พหุภาษา
หากน้องจำเป็นต้องเรียนร่วมในโรงเรียนที่มีครูการศึกษาพิเศษ
หากน้องจำเป็นต้องเรียนที่บ้านด้วยเหตุผลความจำเป็นด้านสุขภาพ
หากน้องต้องการทุนการศึกษาเพื่อเรียนให้สูงสุดตามศักยภาพของน้อง
หากน้องต้องเรียนไปด้วย เดินสายแข่งขันหรือเป็นตัวแทนประเทศไทยด้านดนตรี ศิลปะ ฯลฯ ไปด้วย
ระบบการศึกษาไทยจะมีพื้นที่ให้น้องๆ เหล่านี้บรรลุเป้าหมายการศึกษาสูงสุดของตัวเอง ครอบครัว และประเทศไทยได้หรือไม่
บุคลากรในระบบการศึกษา รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน สังคม ต้องมองเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาที่ยืดหยุ่นหลากหลายตามความสามารถของเด็กที่แตกต่างกัน แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นสารตั้งต้น สร้าง ‘ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น’ โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อโหลแบบเดียวกันอย่างที่เคยเป็นมา
ถ้าระบบการศึกษาคือแม่พิมพ์ของชาติ เราจะมีแม่พิมพ์ที่ยืดหยุ่นหลากหลายสำหรับเด็กๆ ทุกคนได้หรือไม่?
เราจะเปลี่ยนความหลากหลายเป็นพลัง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ทุกคนต้องการได้หรือไม่?
อนาคตระบบการศึกษาจะยืดหยุ่นเพียงพอจนไม่มีคำว่าเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาอีกแล้วได้หรือไม่?
เราจะช่วยให้เด็กเยาวชนได้รับการศึกษาในรูปแบบที่สอดคล้องกับชีวิตและเป้าหมายที่แตกต่างหลากหลายของเขา โดยไม่ถูกปัจจัยทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และความห่างไกลมาเป็นอุปสรรคได้หรือไม่?
การศึกษาที่เสมอภาค อาจมิใช่การศึกษาที่ทุกคนได้ใส่ ‘เสื้อโหล’ เหมือนกัน แต่คือการศึกษาที่ทุกคนมีโอกาสทางการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและสอดคล้องต่อชีวิตและเป้าหมายของแต่ละคนได้อย่างยั่งยืน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท
ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา