จากพนักงานออฟฟิศในเมืองกรุงที่ยอมทิ้งเงินเดือนกว่า 20,000 บาท กลับมาบ้านเกิดเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในฐานะ “เกษตรกร” กับรายได้ที่หายไปเกือบ 4 เท่า ด้วยเหตุผลข้อเดียวคือ “ความสุข” ที่ต้องการกลับมาอยู่กับลูกสาวแบบพร้อมหน้าพร้อมตา
ก่อนหน้านี้ชีวิตเธอก็ไม่แตกต่างกับคนในชุมชนจำนวนมากที่มุ่งหน้าไปหางานในกรุงเทพฯ ด้วยความคิดที่ว่าต้องการเก็บเงินเพื่อสร้างความสุขให้กับครอบครัว จนวันหนึ่งเธอกลับรู้สึกว่าความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋า แต่คือการได้อยู่ดูแลคนที่เรารัก
ในวันที่ “รายได้” ลดลง แต่ “ความสุข” กลับเพิ่มขึ้น เพ็ญธิยา เดชภูมี ในวัย 37 ปี ยืนยันว่า ตัดสินใจถูกที่เลือกกลับมาเป็นชาวนา ที่กำลังเรียนรู้การปลูกข้าวในพื้นที่บ้านเกิดจังหวัดสกลนคร ด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ที่ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่ยังเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
“พอกลับมาอยู่บ้านพี่สาวก็แบ่งนาให้ทำ ตอนนั้นเราต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่หมด เพราะเคยทำแต่งานบริษัท ไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องทำยังไง แต่เราคิดว่าถ้าปลูกข้าวเหมือนกับคนอื่นก็จะขายไม่ได้ราคา ดังนั้นต้องหาวิธีเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวของตัวเอง ช่วงเดียวกับตอนนั้นกระแสรักสุขภาพกำลังมา คนนิยมสินค้าเกษตรอินทรีย์ จึงคิดว่าการบุกเบิกเส้นทางนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับ
“รายได้อาจจะไม่เยอะเท่ากับที่ทำงานในเมือง แต่สิ่งที่ได้มาทดแทนคือความสุข เพราะได้อยู่กับลูก ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้มากเหมือนอยู่ในเมือง ทำให้ปรับตัวและอยู่ได้อย่างมีความสุข เราแค่มองหาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนและต่อยอดเป็นช่องทางสร้างโอกาส สร้างรายได้”
ภูมิปัญญาชาวบ้านกับวิทยาศาสตร์การอาหาร
บุกเบิกแบรนด์ “ข้าวเหนียว เดอ grill”
จังหวะเดียวกับที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้ามาทำงานในพื้นที่ ขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนในชุมชน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ปี 2562 ผนวกความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ากับวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) พร้อมขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสู่ออนไลน์ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนที่มากขึ้น
นับเป็นโอกาสอันดีให้เพ็ญธิยารวมกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ พัฒนาจุดแข็งเรื่องข้าวอินทรีย์ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซีเรียลบาร์ ข้าวพอง มินิโป่ง และข้าวต้มมัดญวน ที่สร้างรายได้และขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น พร้อมแจ้งเกิดแบรนด์ “ข้าวเหนียว เดอ grill”ที่คนต่างถิ่นเริ่มมาสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์
“ตอนนั้นปัญหาเรื่องการจัดส่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะถ้าส่งช้าไปของก็จะเน่าเสีย แต่ได้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรมาช่วยกันพัฒนาสินค้าให้เก็บได้นานขึ้น จาก 3-5 วันกลายเป็นเก็บได้นาน 6 เดือน ส่งถึงมือลูกค้าได้โดยไม่เน่าเสีย ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้น รายได้มากขึ้น”
จากนั้นจึงยกระดับมาตรฐานการผลิต จนได้รับมาตรฐาน GMP พัฒนาสูตรให้คงที่ จากเดิมที่ใช้การกะปริมาณ มาเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน มีขั้นตอน การชั่งตวงวัดที่ได้มาตรฐานเท่ากันทุกชิ้น ทั้งความอร่อย ปลอดภัย สะอาด แต่ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์อยู่นานกว่าจะผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยทุกขั้นตอนจะต้องใส่ใจและพิถีพิถันเป็นพิเศษ
รวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็ง
เสริมการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน
เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ รวมถึงเด็กวัยรุ่น เด็กบางคนขายออนไลน์เก่งก็มาช่วยขาย บางคนไม่ถนัดผลิตก็มาช่วยหาวัตถุดิบ เป็นความร่วมมือของคนในชุมชนที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
“สิ่งสำคัญคือ การที่เราได้เรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานหาเงินที่ไหนไกล แต่ละชุมชนมีของดีของตัวเอง อยู่ที่เราจะเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดอย่างไร และความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่แค่ต้องมีเงินเยอะๆ แต่อยู่ที่เราได้มีเวลากับครอบครัวที่เรารักมากกว่า”
ผศ.ดร.พัดชา เศรษฐากา ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการที่ใฝ่เรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรมชุมชน อธิบายเพิ่มว่า
นอกจากการเติมความรู้เรื่องมาตรฐานการผลิตให้ได้คุณภาพแล้ว สิ่งหนึ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการเรียนรู้คือ การคำนึงถึงต้นทุนและความคุ้มทุนของสินค้า หากสินค้าถูกตีกลับบ่อยๆ เพราะไม่ได้คุณภาพ มันไม่คุ้มทุนแล้ว ทำให้กลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง รวมถึงการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอีกด้วย
“การปรับส่วนผสมในอาหารเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน นำมารวมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือเทคนิคบางอย่าง เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ของ อย. และยืดอายุสินค้าให้นานขึ้นด้วยวิธีที่ปลอดภัย จึงได้ขอความร่วมมือจากอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหารในมหาวิทยาลัย ทดลองปรับเปลี่ยนจนได้สูตรที่ลงตัว จากนั้นจึงนำมาถ่ายทอดต่อให้กับกลุ่มเป้าหมาย”
ที่สำคัญคือการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ในชุมชนเองก็มีการจัดสรรงานตามความถนัด ความสมัครใจของสมาชิกแต่ละคน จนปัจจุบันได้พัฒนากลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ที่นำมาสู่การเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด