“พื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้” ตอบโจทย์ชีวิตด้วย “Personalized Learning”

อภิวัฒน์ แซ่ลิ้ม หรือ ‘เอ็ม’ เคยตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่า หากเรียนจบชั้นมัธยมต้นแล้วอยากไปเรียนต่อสายอาชีพ เรียนรู้ด้านเครื่องยนต์ เมื่อจบการศึกษาก็ตั้งใจจะนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเปิดร้านซ่อมจักรยานยนต์เล็กๆ ในละแวกบ้าน หรือไม่ก็เป็นลูกมือให้กับพ่อ ซึ่งมีอาชีพเป็นช่างยนต์ 

แต่แล้ว… ความฝันขนาดกะทัดรัดของเขาก็ต้องชะงักลง เพราะต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ซึ่งเหลืออีกเพียงไม่กี่เดือนก็จะจบการศึกษาตามที่หวังไว้ด้วยเหตุผลบางประการ

อภิวัฒน์ แซ่ลิ้ม หรือ ‘เอ็ม’

“การให้ลูกไปเรียน กลายเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะเราไม่มีเวลาว่างไปตามดูแลเขา ไม่รู้ว่าออกจากบ้านไปโรงเรียน แล้วจะไปถึงโรงเรียนตามที่บอกมั้ย เพราะที่ผ่านมาก็เคยเป็นอย่างนั้น”

ดุจดาว แซ่ลิ้ม แม่ของ ‘เอ็ม’ เริ่มเล่าถึงปัญหาที่กำลังประสบอยู่ และยอมรับว่าครอบครัวมีสถานะยากลำบาก ต้องทำงานรับจ้างรายวันในโรงเลี้ยงวัว ไม่สามารถรับมือและแก้ไขปัญหาด้านพฤติกรรมของลูกได้ และจำเป็นที่จะต้องให้ลูกออกจากโรงเรียนกลางคัน ก่อนจบชั้น ม.3 เพื่อมาเป็นแรงงานช่วยเลี้ยงวัวและทำงานในไร่

ดุจดาว แซ่ลิ้ม แม่ของ ‘เอ็ม’

ภายหลังจากที่ทราบว่า จังหวัดราชบุรีได้จัดให้มีโครงการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ตอบโจทย์ชีวิต เพื่อสร้างรูปแบบการเรียนรู้ทางเลือกให้ตอบสนองความต้องการและปัญหาที่แตกต่างกันของผู้เรียนรายบุคคล ด้วยการปรับระบบการศึกษาให้เป็นการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ ทำให้แม่ของเอ็มกลับมาเห็นโอกาสที่ลูกจะเรียนจนจบชั้นมัธยมได้อีกครั้ง

“ที่จริงก็ไม่อยากให้ลูกออกจากโรงเรียน อยากให้มีวุฒิการศึกษา อย่างน้อยก็ให้เขาจบ ม.3 ตอนนี้มีโอกาสได้กลับมาเรียนต่อทางออนไลน์ เรียนผ่านโทรศัพท์มือถือ ได้เห็นเขาอยู่ในสายตาก็หมดห่วง สามารถเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยได้ ส่วนเรื่องการจัดตารางเรียน ครูที่สอนจะบอกล่วงหน้า ว่าจะเรียนช่วงไหนเวลาไหน ก็บอกให้ลูกเตรียมตัว ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ ก่อนจะเริ่มเรียน” ดุจดาวเล่าถึงโอกาสที่ลูกได้กลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง

จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนมหาราช 7

จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนมหาราช 7 อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี หนึ่งในบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการ ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ เล่าว่า กรณีของเอ็มเป็นเพียงหนึ่งในปัญหาที่พบมากในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่มีประชากรฐานะยากจน ประกอบอาชีพรับจ้างรายวันในไร่และโรงงานต่างๆ หลายครอบครัวมีปัญหาเฉพาะ เช่น ติดยาเสพติด ตั้งครรภ์ในวัยเรียน เด็กพิการ เด็กที่มีความต้องการพิเศษด้านการเรียนรู้ เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม เด็กชาติพันธุ์ และเด็กบางส่วนต้องย้ายโรงเรียนบ่อย หรือย้ายตามพ่อแม่ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งงานใหม่ๆ เมื่อหมดฤดูจ้างงาน 

ปัญหาดังกล่าว เป็นโจทย์การทำงานของโครงการ ‘Zero Dropout’ และศูนย์การเรียนรู้ ที่จังหวัดราชบุรีช่วยกันออกแบบขึ้น โดยออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความต้องการเป็นรายคน (Personalized Learning) มีความยืดหยุ่น ทั้งเวลา รูปแบบ และเงื่อนไขการเข้าเรียน ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุของผู้เรียน สามารถเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยได้ รวมถึงสร้างแหล่งเรียนรู้ในช่องทางต่างๆ เช่น Mobile School

“จากสถานการณ์โควิด- 19 ระบาดเมื่อปี 2563-2564 ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2-3 ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน ด้วยปัญหาหลักคือ ครอบครัวยากจน และด้วยปัญหาของตัวเด็กเองที่เบื่อหน่ายการเรียน ทำให้เด็กประมาณเกือบ 20 คน หายไปจากห้องเรียน แม้โรงเรียนจะพยายามตามกลับมาเรียนก็ไม่สำเร็จ พยายามเชิญพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กกลุ่มที่มีปัญหานี้มาพูดคุยหาทางออก แต่ก็แก้ปัญหาได้แค่ระยะแรก ไม่สามารถพาพวกเขากลับมาห้องเรียนได้สำเร็จ เพราะบางคนต้องออกไปเป็นแรงงานให้กับที่บ้าน 

“การแก้ปัญหานี้จึงจำเป็นต้องหาทางเลือกอื่นให้กับพวกเขา ต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่มีมากกว่าเพียงแค่การเรียนในห้อง ต้องสร้างระบบการเรียนที่เปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถเรียนในวิชาที่ยังขาดอยู่ ผ่านช่องทางออนไลน์ ให้เขาเรียนได้ทุกที่ ทั้งที่บ้าน ชุมชน และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ตามที่เด็กสามารถเดินทางไปเรียนได้สะดวก” 

ครูจรรยวรรธน์เล่าอีกว่า รูปแบบการเรียนการสอนในแหล่งเรียนรู้ที่ได้ออกแบบขึ้นนี้ ต้องคำนึงถึงรายละเอียดและความจำเป็นด้านต่างๆ ของเด็ก เช่น เด็กกลุ่มนี้มักมีอุปนิสัยขี้อาย พูดน้อย และขาดทักษะการสื่อสาร การสอนจึงต้องใส่ใจและเข้าใจข้อจำกัดของพวกเขาเป็นรายคน เพื่อสร้างสะพานเชื่อมให้พวกเขาเปิดใจ บอกเล่าความต้องการในการเรียนรู้ หากไม่เข้าใจเนื้อหาส่วนไหน ครูก็จะสามารถเน้นการสอนได้ตรงจุด 

“ตอนนี้ศูนย์การเรียนรู้ของโรงเรียน สามารถพาเด็กกลับมาเล่นได้ 6 คน หนึ่งในนั้นก็คือเอ็ม และมีเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่กำลังตั้งครรภ์ โดยหลังจากที่เปิดช่องทางการเรียนในรูปแบบนี้ขึ้น พบว่าเด็กแต่ละคนมีความตั้งใจในการเรียนและพยายามรักษาโอกาสครั้งนี้มาก เพราะเงื่อนไขด้านเวลาเรียนนั้นขึ้นอยู่กับความสะดวกของนักเรียนเป็นหลัก ไม่มีการบังคับว่าพวกเขาต้องมาเรียนตอนไหนเวลาไหน เรายืดหยุ่นเวลาเรียนให้กับพวกเขาอย่างเต็มที่” 

ผลจากโครงการนี้ ทำให้เด็กบางคนสะท้อนกลับมาว่า การเรียนในรูปแบบนี้ ทำให้เขามีโอกาสได้เรียนจนจบการศึกษา มากกว่าที่ต้องเข้าห้องเรียนในระบบปกติ เพราะสามารถปฏิบัติตามใบงาน หรือหากสอบไม่ผ่านก็ยังมีโอกาสสอบใหม่จนกว่าจะผ่านได้ หลายคนมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น และหลายคนก็เริ่มมองเห็นเป้าหมายในชีวิตอีกครั้ง