‘นครพนมโมเดล’ เปิดลู่การศึกษาทางเลือกเพื่อ ‘วุฒิการศึกษา’ ให้เด็ก ๆ กล้าที่จะกลับมามีความฝันอีกครั้ง

“วุฒิการศึกษาภาคบังคับ อาจเป็นเพียงกระดาษใบเดียวที่เปลี่ยนชีวิตของเขาได้”

“ถ้าเด็กคนหนึ่งมาจากครอบครัวด้อยโอกาส การจะได้ต่อยอดทางสังคมหรือมีหนทางไปต่อในชีวิตย่อมมีน้อย ดังนั้นการที่เขาจะมีวุฒิการศึกษาภาคบังคับ หรือแม้กระทั่งจบ ม.3 จึงมีความสำคัญกับพวกเขามาก เพราะกระดาษใบเดียวสำหรับใครบางคน อาจหมายถึงโอกาสอันน้อยนิดที่พวกเขาจะใช้เปลี่ยนชีวิตได้”

วิทิต เติมผลบุญ เลขาธิการสมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน
ผู้อำนวยการศูนย์การเรียน ซี วาย เอฟ
หนึ่งในภาคีเครือข่ายคณะทำงาน ‘โครงการนครพนมโมเดล’

วิทิต เติมผลบุญ เลขาธิการสมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน ผู้อำนวยการศูนย์การเรียน ซี วาย เอฟ หนึ่งในภาคีเครือข่ายคณะทำงาน ‘โครงการนครพนมโมเดล’ เล่าถึงงานพัฒนาเยาวชนนอกระบบการศึกษา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและหาช่องทางให้เด็กเยาวชนที่หลุดออกจากระบบกล้าที่จะกลับมา ‘ฝัน’ ถึงชีวิตที่ดีอีกครั้งในความเป็น ‘จริง’ ด้วยการศึกษาทางเลือก ที่จะพาไปสู่เป้าหมายตั้งต้น นั่นคือ ‘วุฒิการศึกษา’

‘นครพนมโมเดล’ คืองานขับเคลื่อนการสร้างโอกาสทางการศึกษาบนพื้นฐานของความเสมอภาค ซึ่งจังหวัดนครพนม และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน พัฒนาแผนปฏิบัติการโดยบูรณาการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้เด็กเยาวชนทุกคนในพื้นที่ได้รับโอกาสเรียนรู้พัฒนาตนเองผ่านการทำงานกับเด็กเยาวชน 3 กลุ่ม ตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ คือเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบที่ยังอยู่ในสถานศึกษา กลุ่ม ‘กลางน้ำ’ คือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษากลางทาง หรือ ‘เด็กแขวนลอย’ และ กลุ่ม ‘ปลายน้ำ’ คือเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม

เครือข่ายจังหวัดจะร่วมกันสำรวจติดตาม เพื่อนำพวกเขาไปสู่การศึกษาที่มีการจัดการและกระบวนการที่เหมาะสมตามบริบทความจำเป็นของชีวิต โดยเป้าหมายที่ปักหมุดไว้แน่วแน่ คือการที่เยาวชนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ หรือได้วุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นขั้นต้น

“ผมคิดว่าหน้าที่ของผู้ใหญ่อย่างเราก็คือ ทำให้เด็ก ๆ กล้าที่จะกลับมาฝันอีกครั้ง และร่วมมือกันทำความฝันของพวกเขาให้เป็นจริง โครงการนี้จะทำให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ได้หันมามองเห็นปัญหาแท้จริงของตัวเลขเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งผมเชื่อว่า ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังในการค้นหาเด็กหลุดออกจากระบบและร่วมมือแก้ปัญหา เราจะช่วยเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบให้ถึงฝั่งฝันได้จริง ๆ”

การศึกษาควรจะมอบทั้งวุฒิการศึกษาและวุฒิความเป็นมนุษย์ให้กับเด็ก

แผนงานของ ‘นครพนมโมเดล’ คือความร่วมมือตั้งแต่ระดับฐานข้อมูลเชิงลึกของเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบในจังหวัด แบ่งการทำงานตั้งแต่ในเชิงประเด็นปัญหา รูปแบบการพัฒนา การระดมองค์ความรู้ และการกระจายงานในเชิงพื้นที่โดย 21 หน่วยงานที่เป็นเครือข่าย จนเกิดผลลัพธ์ด้านข้อมูลที่สามารถจำแนกกลุ่มเด็กเยาวชนออกได้ตามลักษณะ มีโรงเรียนต้นแบบ 12 แห่ง ตำบลต้นแบบ 12 แห่ง ผลิตหลักสูตรทางเลือกที่น่าสนใจอาทิ ‘โรงเรียนมือถือ’ (Mobile School) มีงานวิจัยระยะยาวภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ปี บนเป้าหมายที่ว่าภายในปี 2566 จะไม่มีเด็กนอกระบบอยู่ในจังหวัดนครพนมอีกต่อไป

ภาคีเริ่มต้นด้วยการวางแผนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมระดมสมองพัฒนาหลักสูตร หรือปรับปรุงต่อยอดหลักสูตรที่มีอยู่ให้มีมิติมากขึ้น จากนั้นจึงตั้งธงว่าหลักสูตรนั้น ๆ เหมาะกับเยาวชนกลุ่มใด ผลลัพธ์ของหลักสูตรคืออะไร เป้าหมายคืออะไร เมื่อลงตัวแล้วจึงเริ่มสำรวจข้อมูลพื้นฐานของหลักสูตร สร้างฐานข้อมูล ยกร่างหลักสูตรโดยไม่ลืมเว้นพื้นที่ไว้ให้ปรับปรุงช่องโหว่ ยืดหยุ่นให้ได้มากที่สุด

“เพราะเรามีวิธีการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ถ้าทุกฝ่ายมองเห็นและยอมรับ ร่วมกันแก้ไขให้ตรงกับบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มปัญหา หรือช่วยกันหาทางแก้เป็นรายกรณี โอกาสที่เขาจะกลับมาเรียนรู้ สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ และอยู่บนเส้นทางชีวิตที่ดีงามก็เป็นไปได้”

แล้วปัญหาที่ว่าคืออะไร…

การลงพื้นที่สัมภาษณ์พูดคุยกับเยาวชนของคณะทำงานนครพนมโมเดล พบว่าเด็กจำนวนมากกำลังเผชิญปัญหาติดเกม ยาเสพติด และตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมจนกลายเป็นคุณแม่วัยใส อุปสรรคที่รายล้อมรอบตัวเหล่านี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

ข้อมูล หรือ Big Data จึงเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาที่ชัดเจนดังที่คุณวิทิตกล่าว ทั้งข้อมูลด้านวิชาการภายใต้แผนงานพัฒนาหลักสูตรรายวิชาฐานสมรรถนะ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนสิ่งที่จำเป็นและเหมาะสม ข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนด้านชีวิต เพราะโมเดลนี้มีแผนงานการพัฒนาทักษะชีวิตเพื่อเด็กและเยาวชน ชีวิตพวกเขาควรจะมีความสุขควบคู่ไปกับการเรียน และที่ขาดไม่ได้เลย คือข้อมูลด้านวิชาชีพภายใต้การพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพที่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่

เพราะการที่เด็กสักคนหนึ่งจะได้มาซึ่งวุฒิการศึกษา โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรู้ต้นตอของปัญหาเสียก่อน

“เราปฏิเสธปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ได้ แต่เราสามารถช่วยเด็กที่หลุดออกจากระบบกลุ่มนี้ให้พวกเขาได้รับโอกาสที่จะกลับมาฝัน ได้รับโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ซึ่งผมคิดว่ามันต้องเริ่มต้นจากการศึกษา และนั่นคือสิ่งที่เรามอบให้พวกเขาได้”

“ผมคิดว่าสิ่งแรกเลยที่ผู้ใหญ่อย่างเราต้องทำก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้พวกเขาได้กลับมาตาม ‘ฝัน’ ที่เคยมีด้วยบันไดขั้นแรก นั่นคือวุฒิการศึกษา ดังนั้นเราต้องมาผนึกกำลังกันแล้วค้นหาวิธีที่จะสร้างฝัน และดึงฝันของเด็ก ๆ ให้กลับคืนมา เพื่อให้พวกเขาได้กลับมาเป็นพลเมืองคุณภาพดังคำที่ว่า ‘การศึกษาสร้างความเป็นมนุษย์ให้กับคน’ และนครพนมโมเดล ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เด็ก ๆ กล้าที่จะฝัน และพยายามต่อไปที่จะทำให้ฝันของตนเป็นจริงในวันข้างหน้า” วิทิต กล่าว

เรียบเรียงจาก : ‘งานประชุมตำบลต้นแบบโครงการนครพนม’ facebook.com นครพนมโมเดล Zero Dropout