“ถ้าชุมชนเข้มแข็ง เด็ก ๆ จะใฝ่ฝันถึงอาชีพอะไรก็ได้ที่อยากเป็น” : รู้จักการศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต ณ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์

ด้วย ‘กระบวนการ’ ช่วยเหลือประคับประคองให้ค้นพบเส้นทางเรียนรู้รายคน และมี ‘กิจกรรมให้ลงมือทำ’ ก่อให้เกิดทักษะและสร้างรายได้ 2 สิ่งนี้ เป็นฐานสร้างทัศนคติให้เด็กเยาวชนอยากพัฒนาตนเอง และช่วยจุดประกายให้พวกเขามองเห็นเป้าหมายอนาคต 

นี่คือใจความสำคัญจาก ‘แผนงานสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาเยาวชนนอกระบบ’ ที่ อบต.หนองสนิท กำลังทำผ่านความร่วมมือของ ‘คนเล็ก ๆ’ ในชุมชน เพื่อประกอบเป็นภาพใหญ่ในการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่ ‘มีทางเลือก’ และ ‘ตอบโจทย์ชีวิต’ สำหรับเด็กเยาวชนในพื้นที่อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนไปสำรวจพื้นที่ด้วยกัน ผ่านเรื่องเล่าการสร้างเส้นทางเรียนรู้เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพเด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ณ “หนองสนิทโมเดล” 

จากการเริ่มจัดตั้งหน่วยพัฒนาอาชีพ ที่ต่างคนต่างชักชวนกันมาเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ครบวงจร พวกเขาทำอย่างไรจึงพบแนวทาง ‘การเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ จนตำบลหนองสนิทเกิดช่องทางใหม่ ๆ มากมายในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งยังยกระดับโดยนำองค์ความรู้และประสบการณ์มาจัดตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้การปลูกผักอินทรีย์หนองสนิท’ อันเป็นต้นแบบการทำงานเชิงพื้นที่ที่พร้อมขยายผลไปยังตำบลอื่น ๆ ในอำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

ก่อนที่พี่น้องหนองสนิทจะ ‘ต่อจุด’ ทำงานจากบทเรียน มาออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ที่มีทางเลือก สอดรับกับบริบทชีวิต รวมถึงต้องตอบโจทย์ความสนใจและความถนัดของเด็กเยาวชนเป็นรายคน วันนี้แม้ยังเป็นเพียงช่วงของการเริ่มต้น แต่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ‘หนองสนิทโมเดล’ อาจเป็นทางออกของการร่างเส้นทางการเติบโตให้กับเด็กเยาวชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน เป็น ‘ไอเดีย’ ให้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้อีกทาง

หนองสนิทโมเดล ‘พื้นที่เรียนรู้ของคนทุกวัย’

ปี 2541 ชาวบ้านหนองสนิท 19 คน รวมกลุ่มตั้ง ‘ธนาคารผัก’ เล็ก ๆ แบ่งพื้นที่ปลูกผักกันคนละ 2 งาน อาศัยว่าใครอยากกินผักอะไรก็ปลูกผักชนิดนั้น เหลือก็เอาไปขาย เป็นการลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ ให้กับครอบครัว

จนปี 2562  อบต.หนองสนิท เข้าร่วม ‘โครงการทุนส่งเสริมการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ.’ ตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพเกษตรกร และเพิ่มคุณภาพผลผลิต จึงได้ชักชวนผู้สนใจเข้าอบรมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องการยกระดับการทำเกษตรปราณีต และกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ต่างเข้าร่วมพร้อมหน้า

ไม่นาน พื้นที่เรียนรู้ดังกล่าวได้ขยายออกไป มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการส่งเสริมอาหารปลอดภัยในชุมชนด้วยความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่อำเภอจอมพระ และทั้งจังหวัดสุรินทร์ ทยอยส่งกำลังเข้ามาสนับสนุน

แล้ววิถีเกษตรกรรมที่ตำบลหนองสนิท ก็เปลี่ยนผ่านสู่การเป็น ‘เครือข่ายเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร’ …มีอาคารหลังใหม่ผุดขึ้นสำหรับขายพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะ ‘ธนาคารผักเดิม’ ถูกยกฐานะเป็น ‘สหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิท จำกัด’

ผักที่ปลูกได้กลายเป็นวัตถุดิบอาหารกลางวันของทุกโรงเรียนในตำบล ก่อนขยายสู่โรงพยาบาลในพื้นที่ และตลาดข้างนอก เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือเซ็นทรัล 

…ถึงตรงนั้น หนองสนิทจึงกลายเป็น ‘ศูนย์เรียนรู้ตำบล’ สำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย อย่างเต็มรูปแบบถึงตอนนี้

พัฒนาทักษะแบบกลุ่ม และต้องมีตลาดรองรับ

‘ไร่นาสวนผสมเพิ่มทรัพย์ฟาร์ม’ คือหนึ่งในสถานที่ฉายภาพของการเปลี่ยน ‘ฐานทุน’ เป็น ‘สินทรัพย์’ ได้เป็นอย่างดี จากมื้ออาหารกลางวันที่ ‘พี่เอก’ เจ้าของฟาร์มจัดมาต้อนรับชาวคณะ ด้วยกับข้าวและผักผลไม้สด ๆ ที่เจ้าตัวยืนยันว่าวัตถุดิบทุกเมนูคือผลผลิตในฟาร์ม  

พี่เอกบอกว่าตัดสินใจกลับบ้านมาที่อำเภอจอมพระพร้อมกับ ‘พี่เจี๊ยบ’ ภรรยาคู่ชีวิต แล้วค่อย ๆ ช่วยกันเปลี่ยนผืนดินโล่งของครอบครัวที่ตำบลหนองสนิท ให้กลายเป็น ‘ฟาร์มเกษตรอินทรีย์’ จากความไม่รู้ สองคนใช้เวลาเรียนรู้ ทดลอง ล้มเหลว และสำเร็จ จนได้มาตรฐานออแกนิกในเวลา 3 ปี ก่อนที่พี่เอกพี่เจี๊ยบจะเข้าไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ในภารกิจการเปลี่ยนตำบลหนองสนิทให้เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 100%

ประสบการณ์ส่วนตัวทำให้พี่เอกพบว่า “การทำเกษตรต้องเริ่มจากมีตลาดรองรับ และต้องทำเป็นกลุ่ม เพราะถ้าใครทำเดี่ยวจะไม่อาจรับมือเรื่องความต่อเนื่องของการส่งผลผลิตได้ ซึ่งปัจจัยนี้ถือว่าสำคัญมากในการต่อรองกับคู่ค้า การทำเป็น

กลุ่มจะทำให้สามารถวางแผนปลูก เก็บเกี่ยว และส่งผลผลิตได้เอง และนั่นคือแนวทางการเติบโตเป็นผู้ประกอบการที่ยั่งยืน”  แนวคิดนี้เองที่ทำให้ ‘สหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิท’ ต่อยอดการส่งผลผลิตไปสู่ตลาดได้กว้างและไกลกว่าในชุมชน ทั้งเป็นบทเรียนหนึ่งที่พี่เอกบอกว่า สามารถนำมาใช้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิตให้เด็กเยาวชนในชุมชน โดยสามารถปรับใช้ได้ในการพัฒนาทักษะอาชีพต่าง ๆ ให้มีโอกาสเรียนรู้และมีรายได้ไปพร้อมกัน

สร้างรายได้จากสิ่งที่เราสนใจ ต้นทางของการพึ่งพาตัวเอง

“ชุมชนเรามีแต่คนทำเกษตรกรรม หมดหน้านาก็ไม่มีงาน ใครไม่มีอาชีพเสริมก็ไม่มีเงิน พอไม่มีเงินเด็กก็ไม่ได้เรียนต่อ แล้วหลุดออกมาก็มีลูกมีครอบครัวกันไวทั้งที่ยังไม่พร้อม เหมือนวงจรชีวิตวนลูปอย่างนี้”

เกือบ 20 ปีที่ไปทำงานเป็น ‘หัวหน้าเชฟ’ ในหลายประเทศ ‘พี่นาย’ เป็นอีกคนหนึ่งที่กลับมายังชุมชนบ้านเกิดที่บ้านตาเพชร ตำบลนานวน อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ เพื่อทำงานเป็น ‘นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ’ ก่อนพบว่ามีเด็กเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่หลุดจากโรงเรียนออกมาอย่างไร้ทิศทาง และต่างระหกระเหินอยู่บนความสุ่มเสี่ยงที่ไม่รู้ว่าจะพัดพาชีวิตไปทางไหน

พี่นายจึงเกิดความคิดว่า อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันน้อง ๆ เหล่านี้ให้เดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น “เรารู้ว่าถ้าคนคนหนึ่งมีพื้นที่ให้เรียนรู้ เขาจะพบว่าตนเองสามารถพัฒนาได้ และจะเริ่มตั้งเป้าหมายกับอนาคต แต่ข้อเท็จจริงคือการจะทำอย่างนั้นมันต้องใช้ทั้งทุน และต้องใช้มืออีกหลายมือมาช่วยกัน” พี่นายพูดถึงความยาก ณ จุดเริ่มต้น ซึ่งเขาเชื่อว่า ‘ลำพังตัวคนเดียวไม่น่าทำได้สำเร็จ’

จนเมื่อมาพบกับ กสศ. และ อบต.หนองสนิท พี่นายก็รู้สึกว่าได้พบกับ ‘กลุ่มคน’ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน และเริ่มร่างแนวคิดเรื่องการพัฒนาเด็กเยาวชน โดยเชื่อมโยงแรงสนับสนุนหลายฝ่าย จัดตั้ง ‘กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชร’ ชวนเด็กเยาวชนกลุ่มแรกเข้ามาฝึกทักษะอาชีพ โดยใช้บริบทชุมชนเป็นฐานตั้งต้น

แม้ระบุนามว่า ‘กลุ่มเกษตร’ แต่พี่นายบอกว่า แท้จริงแล้วการทำเกษตรเป็นเพียงการปูพื้นฐานอาชีพให้กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ยังไม่พบความสนใจของตัวเอง เพราะคนบ้านตาเพชรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ส่วนในกระบวนการเรียนรู้จริง จะเชิญชวนปราชญ์ชุมชนทุกสาขาอาชีพมาช่วยกันวางแนวทาง ส่งเสริมทั้งวิชาชีพ วิชาการ และวิชาชีวิต ซึ่งเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้การทำเกษตรไปพร้อมกับทักษะอื่นที่สนใจ อาทิ ช่างไม้ ทอผ้าไหม ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ค้าขายออนไลน์ ฯลฯ และหนึ่งทักษะที่ขาดไม่ได้เลยคือการทำอาหาร ซึ่งพี่นายช่ำชองที่สุด

ความร่วมมือของคนและหน่วยงานที่หลากหลาย ทำให้เด็กเยาวชนบ้านตาเพชรค้นพบทักษะ สามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่สนใจ เป็นต้นทางของการช่วยเหลือและพึ่งพาตัวเอง และจุดประกายให้มองไปยังอนาคต

“อย่างเราเริ่มจากสอนทำแซนด์วิช เอาผักที่ปลูกกันมาเป็นวัตถุดิบ พอเด็กทำเป็น เขาก็คิดต่อว่าจะเอาไปลองขายหน้าโรงเรียน ปรากฏว่าขายได้ขายดี ก็มีกำลังใจ เด็กก็มาฝึกทำอย่างอื่นอีก เริ่มมีแรงบันดาลใจอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น รอบรู้มากขึ้น เราเองก็ดีใจ ว่าสามารถทำให้เขาซึมซับและเข้าใจ ว่าแม้ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน แต่การเรียนรู้มันจะไม่มีวันสิ้นสุด” พี่นายเล่า

‘กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชร’ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการศึกษาที่ ‘มีทางเลือก’ และ ‘ตอบโจทย์ชีวิต’ สำหรับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่พี่นายอธิบายไว้ว่า

“แม้กระทั่งตัว ‘โจทย์ชีวิต’ เอง มันก็ยังจะเปลี่ยนไปได้อีกตามลำดับขั้นตอนการเติบโต ตามช่วงวัยและการรับรู้ของคน ดังนั้นหากยังมีการเติมองค์ความรู้และข้อมูลใส่เข้าไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งเด็กจะยิ่ง ‘มี’ และ ‘มองเห็น’ ทางเลือกของชีวิต ที่กว้างออกไปกว่าเพียงไม่กี่อาชีพที่รู้จักในวันนี้”

ผลลัพธ์ที่ไกลกว่าสิ่งที่คาดหวัง

หนึ่งตัวอย่างที่บอกเล่าถึงการหยั่งราก เติบโต และออกผล ของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่น่าสนใจ คือเรื่องราวของ ‘แม็ค’ กับ ‘เต้’ คู่หูต่างวัยที่เติบโตมาด้วยกัน และเป็นหนึ่งในเยาวชนในพื้นที่ที่ได้รับชักชวนจากพี่นาย ให้เข้าร่วมกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพ็ชร

ทั้ง ‘แม็ก’ และ ‘เต้’ ไม่ได้เรียนต่อหลังจบชั้น ม.3 ด้วยเหตุผลเดียวกันคือที่บ้านไม่มีเงินส่งเสีย ถึงแม้ว่าผลการเรียนจะไม่ใช่ ‘ตัวชี้วัด’ ว่าใครจะประสบความสำเร็จในชีวิต เราก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะแม็คบอกว่าเขาจบ ม.3 มาด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.8 และถ้าเลือกได้ แม็คเองก็อยากจะเรียนต่อชั้นมัธยมปลาย

แต่เมื่อเรื่องราวและเวลาก็ผ่านไปแล้วอย่างไม่หวนกลับ แม็คทิ้งความเสียดายไว้เบื้องหลัง แล้วมองหาเส้นทางใหม่ให้ตัวเอง โดยตั้งหลักจากสิ่งที่ตนเองสนใจในระดับ ‘หมกมุ่น’ นั่นคือ ‘มังงะ’ หรือการ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่น ที่แม็คตามอ่านมาตั้งแต่ยังตัวเล็ก ๆ ทั้งทางออนไลน์และสัมผัสจากหมึกพิมพ์บนกระดาษ ส่วนเต้สนใจมังงะเพราะได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากแม็ค แม็คจึงชวนเต้ซึ่งแก่กว่าสองปีมาลองช่วยกันทำช่องยูทูป นำมังงะที่แปลเป็นภาษาไทยมาพากย์เสียงเล่าเรื่องเพิ่มอรรถรส สนองความต้องการของกลุ่มคนผู้หลงใหลในสิ่งเดียวกัน

หลังปล่อยผลงานออกไป จากคลิปแรก ๆ ที่มีผู้ติดตามเพียงหลักสิบ ก็ค่อย ๆ ขยับเพิ่มเป็นหลักร้อยในคลิปต่อมา และเมื่อทำอย่างต่อเนื่องก็ขึ้นแตะถึงหลักพัน จนไม่ถึงหนึ่งปีดี ช่องของแม็คกับเต้ก็สามารถสร้างฐานผู้ติดตามได้มากกว่า 54,000 คน กลายเป็นรายได้ที่คืนกลับมาอย่างที่ทั้งสองคนก็คาดไม่ถึง ทั้งคู่ตื่นเต้นดีใจ และมีกำลังใจที่จะเรียนรู้ให้หนักขึ้น เพื่อหาทางต่อยอดงานให้ดียิ่งขึ้นไปอีก 

แม็ค และ เต้ เป็นเคสตัวอย่างของ ‘ผลลัพธ์ที่ไกลกว่าสิ่งที่คาดหวัง’ ที่พี่นายผู้ก่อตั้งกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชรเปรียบเปรยไว้ ว่า

“ในชุมชนเล็ก ๆ ห่างไกลที่ไม่ได้มีต้นทุนหรือโอกาสมากนัก การมีพื้นที่เรียนรู้แลกเปลี่ยนที่แม้จะตั้งต้นด้วยการทำการเกษตร ซึ่งเด็กบางคนอาจไม่ได้สนใจหรือไม่ถนัด แต่เมื่อเด็กได้เข้ามาใช้เวลาด้วยกันบ่อย ๆ มันจะเกิดการถ่ายเทความฝันและปันความรู้ระหว่างกัน …เหมือนดั่งต้นไม้ที่เราปลูกขึ้นเพื่อหวังผลอย่างหนึ่ง แต่ท้ายสุดแล้วก็อาจให้ผลออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ดีกว่าที่เรานึกไว้ก็เป็นได้”

ประสบการณ์คือมูลค่า

ณ ลานกิจกรรม อบต.หนองสนิท สถานที่จัด ‘นิทรรศการผลการดำเนินงานการพัฒนาอาชีพสู่การมีงานทำ’ 

ท่ามกลางบูธแสดงผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชผักอินทรีย์นานาชนิด เราพบบูธหนึ่งสะดุดสายตา ด้วยบนโต๊ะตัวยาวตั้งไว้ด้วยรองเท้าสนีกเกอร์ 2-3 คู่ ขนาบด้วยราวแขวนกางเกงหลายไซซ์หลายขนาด ส่วนโต๊ะอีกตัวหนึ่งเป็นที่ตั้งของถุงพลาสติกขนาดย่อม ภายในอัดแน่นด้วยเห็ดฟาง เบื้องหลังบูธนั้นมีเยาวชน 4-5 คนในช่วงวัยราว 17-20 ยืนเฝ้าอยู่

เป็นภาพแปลกตา ชวนมอง ทั้งยังชวนให้ฉงนใจว่าเป็นบูธแบบใด?

เมื่อคุยกับพี่กนกแก้ว ผู้เป็นที่ปรึกษาเยาวชนนอกระบบตำบลหนองสนิท จึงทราบว่า น้อง ๆ กลุ่มนี้เป็นเยาวชนกลุ่มแรกที่เข้ามาร่วมเรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดฟาง และการขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์ โดยแม้ยังรวมกลุ่มกันได้ไม่นาน แต่ด้วยเป็นกิจกรรมที่ออกแบบจากความสนใจของผู้ร่วมเรียนรู้เป็นที่ตั้ง ทั้งกลุ่มเห็ดฟางและกลุ่มขายเสื้อผ้าออนไลน์จึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และให้ผลตอบแทนกลับมาเป็นรางวัลกับน้อง ๆ ได้แล้ว

“เห็ดฟางวันนี้เอามาได้ไม่มาก เพราะเริ่มผลิตไม่ทันความต้องการ คือกลุ่มเขาเริ่มจากทำจำนวนน้อย เน้นให้เด็กเรียนรู้เข้าใจกระบวนการ ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะผลิตคราวละมาก ๆ แต่หลังจากนี้คงต้องวางแผนกันใหม่ ส่วนกลุ่มเสื้อผ้าออนไลน์ก็ขายได้เรื่อย ๆ เด็ก ๆ เขาสนุกเพราะสนใจทางนี้กันอยู่แล้ว พอเจอของดีที่ขายได้ตัวนึงหลายพัน ก็ดีใจกันใหญ่”               

พี่กนกแก้วออกตัวแทนน้อง ๆ ว่า เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเงียบ ประหม่า พูดน้อย ซึ่งเมื่อเราลองเข้าไปสอบถามน้อง ๆ เรื่อง ‘การศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต’ ก็พบว่าจริงของพี่กนกแก้ว เพราะแต่ละคนต่างไม่มีความเห็น บางคนออกตัวว่าเขาหลุดออกมาจากโรงเรียนแล้ว คงไม่มีโอกาสได้เกี่ยวข้องอะไรกับการศึกษาอีก

แต่ใครจะรู้ว่า พอเราลองเปลี่ยนคำถามเป็นเรื่องกระบวนการเพาะเห็ด หรือถามเรื่องการเปิดกระสอบเสื้อเพื่อคัดของและตั้งราคาว่าต้องทำอย่างไร หรือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าของแต่ละชิ้นควรมีราคาเท่าไหร่ น้อง ๆ กลับเล่าได้เป็นคุ้งเป็นแควถึงขั้นลงรายละเอียดเรื่องดินน้ำลมฟ้าอากาศ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของเห็ด หรือกลุ่มขายเสื้อผ้ามือสองก็สามารถระบุลึกถึงลักษณะเนื้อผ้า การเย็บตะเข็บ หรือเทคนิคการสกรีนของเสื้อตัวหนึ่ง ว่ามันสามารถบ่งบอกได้ว่าเสื้อตัวนั้นผลิตขึ้นในช่วงปีไหน หรือตัดเย็บกันจากโรงงานในภูมิภาคใด โดยไม่ต้องดูป้ายกำกับบนคอเสื้อด้วยซ้ำ

พี่กนกแก้วบอกว่า สิ่งเหล่านี้คือ ‘การศึกษาที่เพิ่มพูนผ่านประสบการณ์’ ซึ่งตัวเด็ก ๆ เองยังไม่รู้ว่าคือมูลค่า หรือคือต้นทุนที่เขาจะนำไปใช้ต่อยอดชีวิตได้ และนั่นเองคือสิ่งที่ ‘เรา’ ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน จะต้องช่วยกันทำให้เกิดการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก ซึ่งจะช่วยให้เด็กเยาวชนเหล่านี้นำต้นทุนในตัวมาใช้ได้เต็มศักยภาพที่สุด 

“ถ้าชุมชนเข้มแข็ง เด็ก ๆ จะใฝ่ฝันถึงอาชีพอะไรก็ได้ที่อยากเป็น”

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ ‘เส้นทางความเป็นมา’ และ ‘เรื่องราวที่กำลังเป็นไป’ ในการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่ ‘มีทางเลือก’ และ ‘ตอบโจทย์ชีวิต’ จากทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. สำหรับเด็กเยาวชนที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งคณะทำงานทุกฝ่ายต่างมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างโอกาส แผ้วถางเส้นทาง และช่วยเสริมแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ได้ค้นพบรูปแบบการพัฒนาทักษะเพื่อการประกอบอาชีพเป็นรายบุคคล รวมถึงจุดประกายให้มองถึงการศึกษาต่อในระดับสูง หรือการพยายามหาช่องทางเรียนรู้ทักษะอาชีพทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อรองรับความเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

โอกาสนี้ ภาคีเครือข่าย ‘การพัฒนาเด็กเยาวชนในระดับอำเภอจอมพระ’ จึงลงนามความร่วมมือ (MOU) กัน เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะบอกว่า ถ้าหากเครือข่ายชุมชนจับมือกันอย่างเหนียวแน่น ผนวกกับกำลังเสริมที่เข้มแข็งจากหน่วยงานทุกฝ่าย เมื่อนั้นแล้ว ไม่ว่าเด็กเยาวชนคนหนึ่งจะเกิดและเติบโตในที่แห่งใด จะเรียนรู้จากข้างในหรือนอกระบบโรงเรียน เขาจะเข้าถึงโอกาสเรียนรู้ พัฒนาตนเองด้วยวิถีทางที่สอดคล้องกับชีวิต สามารถใฝ่ฝันถึงการประกอบอาชีพอะไรก็ตาม …เท่าที่จะฝันได้ และมีศักยภาพพียงพอจะไปถึง

กสศ. ชวนติดตามเรื่องราวฉบับเต็มจากซีรีส์ ‘หนองสนิทโมเดล : ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ได้ที่เพจและเว็บไซต์ของเรา