พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ : การให้ ‘โอกาส’ คือฟ้าหลังฝนของเด็กในกระบวนการยุติธรรม

โอกาสทางการศึกษา การประกอบอาชีพ และการเริ่มต้นชีวิตใหม่ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูบำบัดเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ให้กลับคืนสู่สังคมและไม่หวนกลับมากระทำผิดซํ้า 

ผลจากความร่วมมือระหว่างกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มูลนิธิปัญญากัลป์ และเครือข่ายศูนย์การเรียน อีก 6 แห่ง ใน ‘โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางเลือก สำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม’ ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2564 เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมตลอดการทำงานช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จำนวน 1,958 คน ได้รับโอกาสทางการศึกษาอีกครั้ง และสามารถเรียนจบการศึกษาแล้ว 685 คน ขณะที่ตัวเลขการกระทำผิดซ้ำในปีแรกลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 22.33 ในปี 2563 เหลือร้อยละ 19.66 ในปี 2564 และลดลงเหลือร้อยละ 15.78 ในปี 2565

ปี 2566 นี้ กรมพินิจฯ และ กสศ. พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จึงได้ร่วมกันจัดงาน ‘โอกาส Open House: สร้างโอกาสทางการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่’ ณ ลิโด้ คอนเน็คท์ ระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2566 เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมภายใต้การดูแลของกรมพินิจฯ ได้แสดงออกถึงศักยภาพ ความสามารถ และความสนใจตามที่ตนเองถนัด

ความสำเร็จของโครงการนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการผลักดันของกรมพินิจฯ และภาคีจากหลากหลายภาคส่วนที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการหรือภาคเอกชนที่ช่วยผลักดันเสริมสร้างคุณค่า ศักยภาพ และความมั่นใจให้กับเด็กในกระบวนการยุติธรรม 

วันนี้เราได้รับเกียรติจาก พันตำรวจโทวรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจฯ หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ได้ให้สัมภาษณ์เปิดมุมมองในกระบวนการช่วยเหลือและฟื้นฟูเด็ก ผ่านกลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่ายต่างๆ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์และนโยบายครั้งสำคัญนี้

อะไรคือที่มา แนวคิด และวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ‘โอกาส Open House: สร้างโอกาสทางการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่’ ให้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม

ต้องเท้าความก่อนว่า เด็กในกระบวนการยุติธรรมคือเด็กที่กระทำผิด ซึ่งเหตุปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กกระทำผิดมีอยู่ 3 ส่วนหลัก คือ 1) ปัญหาครอบครัว 68 เปอร์เซ็นต์ เช่น ครอบครัวแตกแยก การใช้ความรุนแรงในครอบครัว 2) ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา โดบพบว่าเด็กที่กระทำความผิดกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มีการศึกษาอยู่ที่ระดับมัธยมศึกษา รองลงมาคือประถมศึกษา ทำให้เด็กขาดการศึกษาในระดับหนึ่ง 3) กลุ่มที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ความยากจน รายได้ตํ่า ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีอยู่ราว 66 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็น 3 ปัจจัยหลักที่เราจำเป็นต้องแก้ 

ในด้านปัญหาครอบครัว เราอาจลงลึกไม่ได้มากนัก เพราะเป็นเรื่องในอดีตของแต่ละครอบครัว แต่ปัญหาด้านการศึกษา เราสามารถแก้ได้ด้วยระบบการศึกษาหลากหลายที่เรามีในปัจจุบัน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่มาร่วมกันออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้ เพื่อเราจะได้ให้ความรู้ ส่งเสริมการพัฒนาด้านต่างๆ ให้พวกเขามีวุฒิภาวะ มีทักษะความสามารถที่จะดำรงชีวิตต่อไปในสังคม เพราะเขาอยู่กับกรมพินิจฯ ไม่นาน แต่เขาจะต้องอยู่กับสังคมภายนอกนานกว่า

สถิติคดีความของเด็กและเยาวชนที่ผ่านมาสะท้อนอะไรบ้าง ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับคดีอะไร และเด็กกลุ่มไหนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

เด็กและเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมนั้น ผมขอใช้คำว่าเป็นผลผลิตจากปัญหาสังคมทั้งสิ้น คือเกิดจากปัญหาครอบครัว การศึกษา และสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ปัญหาที่พวกเขาก่อขึ้นเลย ปัญหาการศึกษาก็เป็นปัญหาต่อเนื่องที่เขาไม่ใช่คนสร้าง ปัญหาเศรษฐกิจความยากจนก็เป็นปัญหาที่เขาได้รับผลกระทบ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาแวดล้อมขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือและกลไกต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา 

จากตัวเลขพบว่า เด็กที่กระทำผิดส่วนใหญ่ 40 เปอร์เซ็นต์ คือความผิดในคดียาเสพติด อีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คือคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ที่เหลือจะเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์และอื่นๆ แต่ผลพวงจากคดียาเสพติดกลับเป็นต้นตอไปสู่คดีอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไข จึงเป็นที่มาการร่วมมือกันของหลากหลายองค์กรในการทำโครงการนี้

ในด้านการศึกษา มีปัจจัยอะไรบ้างที่ผลักให้เด็กหลุดจากระบบ และเมื่อหลุดออกมาแล้ว มีผลให้เด็กเสี่ยงที่จะกระทำความผิดร้ายแรงด้วยหรือไม่

แน่นอนว่า 3 ปัจจัยแรกที่ได้กล่าวไปส่งผลให้เด็กมีความเสี่ยงกระทำผิด โดยขอขยายความว่า สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กล้วนมีผลทั้งสิ้น หมายถึง ครอบครัว ชุมชน ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ รายได้ และการดูแลของผู้ปกครอง เช่น เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย ทำให้ไม่ได้มีกำลังที่จะดูแลเด็กได้อย่างเต็มที่ รวมถึงเพื่อนก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะส่งผลให้เด็กต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ และยังมีความซับซ้อนของปัญหาต่างๆ เช่น การเข้าถึงสื่อที่เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ก็เป็นตัวเร่งให้เด็กกระทำผิดได้ไว และรุนแรงมากขึ้น

เมื่อการศึกษาในระบบปกติไม่ตอบโจทย์ชีวิต เด็กจำนวนหนึ่งจึงถูกผลักออกจากระบบ เช่นนี้แล้วประเทศไทยควรมีระบบการศึกษาอย่างไรให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และกรมพินิจฯ จะมีส่วนช่วยสร้างทางเลือกให้กับเยาวชนอย่างไรได้บ้าง

ก่อนอื่นอย่าไปใช้คำว่า ‘ระบบการศึกษาผลักเด็กออก’ เพราะในปัจจุบันเด็กมีความรู้ มีทักษะของตนเอง มีแหล่งข้อมูลความรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ฉะนั้นพวกเขาจึงมีช่องทางค้นหาตนเองได้มาก เขาอาจจะไม่เก่งในการเรียนสายสามัญทั่วไป แต่เขาอาจมีศักยภาพในด้านอื่น ทำให้ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ตอบโจทย์พวกเขาก็ได้ 

อีกด้านหนึ่งคือ ปัจจัยในการดำรงชีวิตอาจเป็นอุปสรรคในการเรียนก็ได้ ระบบการศึกษาไม่ได้ผลักเขาออก แต่ระบบการศึกษาที่มีอยู่ไม่ตอบโจทย์เขา ทำให้เขาหลงทาง ฉะนั้น ระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่ออกแบบโดยรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางเลือก การศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีความยืดหยุ่นพอ จึงทำให้องค์กรต่างๆ เริ่มเห็นความสำคัญ และออกแบบการศึกษาลักษณะนี้มารองรับเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น 

ดังนั้น เราต้องนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อผลักดันเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจากทางเลือกที่มีอยู่ และหลายครั้งสิ่งเหล่านี้ก็สร้างความภาคภูมิใจเล็กๆ ให้กับเด็กหลายคน เพราะเขาไม่คิดว่าจะสามารถทำได้ แต่กลายมาเป็นแรงขับให้พวกเขาสามารถเดินต่อไปได้ 

ปัจจุบันตลาดงานในประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาในระบบการศึกษาปกติ ทางกรมพินิจฯ และภาคีเครือข่าย จะมีส่วนในการอุดช่องว่างนี้อย่างไร เพื่อให้เด็กในกระบวนการยุติธรรมได้รับโอกาสในตลาดงานมากขึ้น

ปัจจุบันภาคธุรกิจมีการปรับตัวเร็ว และมีความเฉพาะตัวของแต่ละภาคธุรกิจเอง ฉะนั้น วุฒิการศึกษาอาจมีความจำเป็นในส่วนหนึ่ง แต่บางส่วนเขาก็ต้องการคนที่มีใจรักในวิชาชีพ มีทักษะ มีวินัยในตัวเอง มีคุณภาพในการดำรงชีวิต ซึ่งวุฒิการศึกษาอาจไม่ได้ตอบโจทย์ในทุกสาขาอาชีพ เช่น ถ้าคุณต้องการเชฟมือดี คุณจึงต้องการคนที่มีทักษะการทำอาหาร เป็นต้น 

ในอีกทางหนึ่ง การเข้าถึงโอกาสในการทำงานของเด็กในกระบวนการยุติธรรมอาจจะยาก ไม่มีโอกาส ดังนั้น เราสามารถเปิดพื้นที่ตรงนี้และพัฒนาพวกเขาได้ เหมือนการนำเพชรมาเจียระไน สามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเด็กและองค์กรที่รับเด็กไปได้ ดังนั้น เราต้องเชื่อก่อนว่า เด็กทุกคนล้วนมีศักยภาพในตัวเอง

‘โมเดลสร้างโอกาส’ ที่กรมพินิจฯ และภาคีร่วมดำเนินการมาตลอด 2 ปี มีผลสัมฤทธิ์ค่อนข้างสูง อยากทราบว่า โครงการนี้จะได้รับการสานต่อเป็นโครงการในระยะยาวไร้รอยต่ออย่างไรบ้าง

เราไม่ได้ทำโครงการแบบเฉพาะกิจ แต่เราทำโครงการบนพื้นฐานของชีวิตคนเลย จากปัญหาปัจจัยพื้นฐาน 3 ข้อ ซึ่งกรมพินิจฯ เห็นมาตลอดเวลา แต่เราโชคดีมากที่มีระบบและกลไกต่างๆ ช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนโครงการได้ตามยุทธศาสตร์ที่เราวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นสถิติการกระทำผิดซํ้าที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในรอบ 3 ปี จาก 22 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 16-18 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้ อันเป็นผลพวงมาจากโครงการนี้ทั้งสิ้น ฉะนั้น หากโครงการนี้ได้ผลดี ตอบโจทย์สังคมจริง สุดท้ายก็จะถูกขับเคลื่อนไปด้วยระบบของมันเอง

ที่ผ่านมาสังคมทั่วไปอาจยังมีอคติต่อเด็กและเยาวชนที่เคยถูกดำเนินคดี กรมพินิจฯ มีแนวทางอย่างไรในการปรับทัศนคติเชิงลบเหล่านี้ เพื่อจะทำให้สังคมเข้าใจและให้โอกาสแก่เยาวชนได้เริ่มต้นชีวิตใหม่

ราต้องบอกว่า ‘อิมแพกต์’ เกิดจาก ‘ความเชื่อ’ เราต้องการคนที่เป็นมืออาชีพ สถานประกอบการที่เป็นมืออาชีพ เพื่อมาร่วมพัฒนาฝึกเด็กของเรา รับเด็กเราไปทำงาน นั่นเป็นการสื่อสารต่อสังคมที่ดีที่สุด ว่าองค์กรมืออาชีพ องค์กรที่มีชื่อเสียงที่สุดยังยอมรับเด็กของเราเข้าไปทำงานได้ ทำไมเด็กของเราจะไปทำงานที่อื่นไม่ได้ อันนี้คือหัวใจของเรื่อง ไม่ใช่เราไปยืนบอกให้องค์กรต้องรับเด็กของเราไป 

ขณะเดียวกัน เราต้องมั่นใจว่าเด็กของเรามีความสามารถ การทำให้เด็กของเรามีคุณภาพในตลาดงาน ต้องเกิดจากการบ่มเพาะ พัฒนา สรรค์สร้างให้ดี ตัวอย่างเช่น เรามีโครงการร่วมกับร้านอาหารระดับมิชลิน รับเด็กเราไปฝึก ทั้งยังรับเด็กของเราเข้าทำงานต่ออีกด้วย ซึ่งเราทำมา 3 รุ่นแล้ว ทางด้านผู้ประกอบการเองก็ไม่เชื่อเช่นกัน ว่าเด็กเหล่านี้จะมีความสามารถมากและทำงานได้ ร้านกาแฟ Bellinee’s เองก็รับเด็กของเรามา 6 รุ่นแล้ว 

แน่นอนว่า อคติอาจจะมีในความแตกต่างกันระหว่างการได้ประกาศนียบัตรทำกาแฟจากกรมพินิจฯ กับประกาศนียบัตรจาก Bellinee’s แต่ผมเอาคุณภาพของเด็กมาเป็นตัวบ่งชี้ว่า ผู้ประกอบการจะรับเด็กหรือไม่ หากผู้ประกอบการไม่รับ ก็เท่ากับเสียโอกาสทางธุรกิจไป ดังนั้น หน้าที่เราคือ การให้โอกาสเด็กได้แสดงศักยภาพออกมา

ในทัศนะของ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คิดเห็นอย่างไรกับแนวทางการฟื้นฟูเยียวยาเยาวชนผู้หลงผิด ระหว่างการลงโทษกับการเสริมพลังเชิงบวก

หลักในการแก้ไขฟื้นฟูเด็กกลุ่มนี้คือ การให้โอกาสล้วนๆ กรมพินิจฯ จะไม่มุ่งเน้นเรื่องการลงโทษเด็ก เพราะว่าการลงโทษไม่ได้เป็นการสร้างคุณค่าให้กับตัวเด็กเลย 

การให้คุณค่าแก่พวกเขาคือ การทำให้พวกเขาได้ค้นพบว่าตัวเองมีศักยภาพมากแค่ไหน เมื่อเขารู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ ทำอะไรสำเร็จ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เขาสามารถเดินไปสู่จุดที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพและมีคุณค่า 

สังคมต้องเข้าใจด้วยว่า เด็กทุกคนพัฒนาได้ เพียงแต่กลไกต่างๆ อาจจะต้องช่วยกันสร้างหรือเสริมให้เขาได้รับการพัฒนา หากเราเชื่อเพียงว่าเด็กสามารถพัฒนาได้ แต่เราไม่ทำอะไรเลย เขาก็จะอาจเดินหลงทางได้ เด็กจำนวนมากที่อยู่กับกรมพินิจฯ ได้รับโอกาสเข้าสู่กระบวนการของ กสศ. จนสามารถเรียนจบ เด็กยังบอกกับเราว่า ถ้าเขาอยู่ข้างนอก เขาไม่มีทางเรียนจบ เพราะชีวิตเขาต้องดิ้นรน ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ดังนั้น การให้โอกาสจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

การทำงานร่วมกันระหว่างกรมพินิจฯ กสศ. และภาคีเครือข่าย ณ วันนี้ถือเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

กรมพินิจฯ เพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถสร้างเด็กให้มีคุณค่าได้ ถ้าเราไม่ได้ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทำให้กลไกในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กเกิดผลได้จริง แต่อาจจะต้องเรียนตามความเป็นจริงๆ ว่า เด็กที่อยู่กับกรมพินิจฯ ไม่ได้อยู่กับเรานาน ส่วนใหญ่ไม่เกิน 4-5 ปี แต่ชีวิตที่เหลือของเขาจะต้องอยู่กับสังคมภายนอกอีกอย่างน้อยๆ 50 ปี ซึ่งก็คือชีวิตที่เขาจะต้องดิ้นรนต่อไป

การที่เราร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือให้เด็กได้รับการศึกษาที่เหมาะสม มองเห็นคุณค่าการศึกษา สร้างความมั่นใจให้กับตัวเด็ก ทำให้พวกเขาสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ มีความมั่นใจที่จะสมัครงานได้ เมื่อได้งานแล้ว สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงส่งต่อไปได้ ทำให้เขาเข้าใจว่า สิ่งที่เขาอดทนต่อสู้มาตลอดนั้นมันเกิดผล เราก็ต้องบอกสังคม บอกผู้ประกอบการด้วยว่า เด็กเหล่านี้มีคุณภาพ รับเขาเข้าทำงานได้ 

สุดท้ายนี้ การดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามา จะช่วยทำให้สังคมได้เรียนรู้ว่า คุณภาพของคน อยู่ที่เนื้อใน ไม่ใช่อยู่ที่ประวัติของคน ถ้าคุณเห็นเขาเป็นทรัพยากรที่มีค่า โอกาสที่คุณให้เขานั้นจะมีความหมายต่อตัวเด็กมาก