รู้จักตัวเลข 1.02 ล้านคน “เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา” มาจากไหน?

‘1.02 ล้านคน’ มาจากตัวเลขของเด็กและเยาวชนที่เกิดระหว่างปี 2549 – 2563 (อายุระหว่าง 3-18 ปี) ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา ปีการศึกษา 2566 (30 พ.ย. 2566) จากจำนวนเด็กในช่วงวัยนี้ที่มีทั้งหมดกว่า 12 ล้านคน

การได้มาของตัวเลขดังกล่าวนี้ เกิดจากเป้าหมายของรัฐบาลไทย ที่ให้ความสำคัญกับอนาคตของเด็กและเยาวชน จึงผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสรุปจำนวนที่ชัดเจนว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาอยู่เท่าไร เพื่อจะได้ “ค้นหา-ช่วยเหลือ-ส่งต่อ-ดูแล” ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ได้เรียนรู้ พัฒนาตนเองตามศักยภาพและความสนใจ ตรงตามนโยบาย “Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน”

เพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวน  ปี 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เป็นเจ้าภาพทำ Data Cleansing จัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้เชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนรายบุคคลใน 21 สังกัดหน่วยจัดการศึกษา จากระบบฐานข้อมูลกลางของกระทรวงศึกษาธิการ EDC: Education Data Center ประกอบด้วย

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)
กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.)
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)
สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
กระทรงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (มวส.)
สำนักการศึกษา เมืองพัทยา
ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี
สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.)
กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.)
สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.)
กองทัพบก (ทบ.)
กองทัพเรือ (ทร.)
กองทัพอากาศ (ทอ.)
มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ (มกช.) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

จับคู่ข้อมูลเข้ากับฐานทะเบียนราษฎร์รายบุคคล ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทำให้พบตัวเลขเด็กและเยาวชน อายุ 3 – 18 ปี (เทียบเท่าระดับชั้นอนุบาล 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6) ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา จำนวน 1,025,514 คน คิดเป็น 8.4% ของจำนวนประชากรช่วงวัยนี้ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 12,200,105 คน