นับตั้งแต่วันที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน หนึ่งในนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาคือ ภารกิจในการลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา อันเป็นที่มาของโครงการ ‘Thailand Zero Dropout’ ที่มีเป้าหมายในการค้นหาและพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง และลดจำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เหลือ ‘ศูนย์’ พร้อมทั้งสั่งการไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ให้ร่วมบูรณาการการทำงาน เริ่มต้นจากการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อนำไปสู่การค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเหล่านี้ที่มีจำนวนมากถึงกว่า 1 ล้านคน
ในฐานะที่ กสศ. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ได้สนองรับนโยบาย Thailand Zero Dropout ตามพันธกิจของ กสศ. ในการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคีทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันขับเคลื่อนและเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา นำไปสู่การสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
สำหรับ Roadmap เบื้องต้นที่ กสศ. วาดแผนไว้ เริ่มจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเกี่ยวกับโครงการ Thailand Zero Dropout จากนั้นจะเป็นการจัดทำ MOU เพื่อลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ลำดับถัดไปจึงเป็นการตั้งคณะทำงานประจำจังหวัด ก่อนที่จะ Kick-off โครงการอย่างเป็นทางการ
บันไดขั้นที่ 1 สำรวจข้อมูลเด็ก Dropout พัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษารายบุคคล/พื้นที่ อย่างต่อเนื่อง
.
บันไดขั้นที่ 2 เด็ก Dropout ได้รับการติดตามช่วยเหลือเป็นรายบุคคล ผ่านเครือข่ายความร่วมมือสหวิชาชีพ
.
บันไดขั้นที่ 3 เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น โดยมีนวัตกรรมการศึกษารูปแบบต่างๆ เช่น โรงเรียนมือถือ แพลตฟอร์มอาชีพ ระบบนิเวศการเรียนรู้ โครงการ 1 โรงเรียน 3 ระบบ เป็นต้น
.
บันไดขั้นที่ 4 เด็กและเยาวชนได้รับการส่งต่อผ่านหุ้นส่วนการศึกษา (all for education) ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ในพื้นที่ การระดมทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ในพื้นที่
.
บันไดขั้นที่ 5 เด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตต่อ