หนึ่งในทางออกของประเทศไทย คือต้องใส่ใจเด็กนอกระบบการศึกษาอย่างจริงจัง

ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กนอกระบบการศึกษาประมาณ 1.4 ล้านคน ทั้งที่พวกเขาอยู่ในวัยที่ควรได้รับการส่งเสริมศักยภาพ เพราะเรากำลังพูดถึงคนกลุ่ม Gen Z ที่กำลังจะกลายเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ

ดังนั้นการใส่ใจเด็กนอกระบบ จึงเป็นวาระหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าวาระอื่น  เพราะการปล่อยมือจากพวกเขาจะทำให้คำว่า “แรงงานด้อยทักษะ” เป็นคำที่ติดตัวไปตลอดชีวิต  

ชวนทำความเข้าใจสถานการณ์วิกฤตทางการศึกษาที่สำคัญ องค์กรไซส์เล็กอย่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กับภารกิจภาพฝันว่า…วันหนึ่งประเทศไทยจะไม่มีคำว่าเด็กนอกระบบ

1. กลุ่มเด็กมีความหลากหลาย มีสภาพปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ “การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” เป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย

เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาของไทยมีจำนวนสะสมราวๆ 1 ล้านคน ซึ่งหากเรานำมาหารด้วยจำนวนจังหวัด 77 จังหวัด จะพบว่าเหลือจังหวัดละประมาณ 13,000 คน ถือเป็นตัวเลขที่ไม่เยอะมาก ด้วยตัวเลขประมาณนี้ จังหวัดสามารถรับมือได้ กสศ.จึงสนใจจับมือกับกลไกจังหวัด

เหตุผลที่ กสศ.เลือกร่วมมือกับกลไกจังหวัดที่มีการเชื่อมการทำงานไปสู่หน่วยจัดการเรียนรู้ที่ย่อยกว่าระดับอำเภอ ระดับตำบล เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นหน่วยพื้นที่ซึ่งใกล้ตัวเด็ก อีกทั้งในจังหวัดยังมีหน่วยงานย่อยที่ดูแลด้านการศึกษา ดูแลด้านแรงงาน ดูแลด้านสวัสดิภาพต่างๆ ซึ่งหน่วยงานย่อยเหล่านี้มีขอบเขตอำนาจที่สามารถช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบได้ หากหน่วยงานในจังหวัดหันมาจับมือกันทำงาน โดยมองเด็กเป็นศูนย์กลาง ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดได้เร็ว 

การมีเด็กและเยาวชนนอกระบบเยอะ ยังสร้างความสูญเสียต่อ GDP จังหวัดราวๆ 1-2 จุด ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก จังหวัดย่อมไม่อยากเห็นภาพนี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งในมุมของ กสศ. เรามีบทบาทเข้าไปชวนจังหวัดหารือเพื่อให้เห็นปัญหาและทางออกร่วมกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยจัดการเรียนรู้ในพื้นที่ 

ปัจจุบัน กสศ. นำร่องทำงานกับ 12 จังหวัดก่อน โดยสุดท้ายจะมีการถอดบทเรียนเพื่อเป็นต้นแบบเรียนรู้ต่อไป ทั้งนี้ในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบนั้น เรามองโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำด้วย จึงมีการเสนอเชิงนโยบายไปพร้อมกันเพื่อปลดล็อกหลายอย่าง และผลักดันให้กลไกจังหวัดทำงานได้ผล 

โดยในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่กำลังร่างกันอยู่ มีมาตรา 18 ที่ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ประชาชนซึ่งมีภูมิลำเนาหรือประกอบอาชีพหรือธุรกิจในจังหวัดใด อาจรวมตัวกันเป็นคณะบุคคล เพื่อให้การส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ เสนอแนะ อุดหนุน หรือให้ความร่วมมือในการจัด การศึกษาของสถานศึกษาในจังหวัดนั้นหรือจังหวัดใกล้เคียงได้…ซึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมระดับจังหวัด โดยประชาชนเข้ามาจัดการศึกษาได้และสามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วย 

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ กสศ. เองก็ต้องช่วยผลักดัน รวมถึงขับเคลื่อนให้มีแพลตฟอร์มเชิงกฎระเบียบและกฎหมายที่จะมารองรับการทำงาน ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง จะส่งผลดีต่อการทำงานด้านเด็กและเยาวชนนอกระบบในทุกจังหวัด ไม่ใช่เฉพาะแค่ 12 จังหวัดนำร่องเท่านั้น

บทเรียนที่เราพบคือ

1.พื้นที่ซึ่งทำสำเร็จ กลไกจังหวัดจะมีการบูรณาการ โดยรวบรวมคณะทำงานจากหลายภาคส่วน ทั้งจาก พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) นักการศึกษา รวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอ เข้ามาหารือและขับเคลื่อน ทั้งนี้เอ็นจีโอถือว่าสำคัญ เป็นหน่วยขับเคลื่อนที่ทำให้เราได้เห็นตัวเด็ก เพราะเขามีคนลงพื้นที่

นอกจากนี้เรายังการทำงานกับหน่วยจัดการเรียนรู้ระดับอำเภอและระดับตำบล ที่จะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่เยาวชนทั้งด้านทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ โดยใช้ทุนในพื้นที่เป็นฐานการทำงาน 

ดังนั้นการร่วมมือทำงานในหลายภาคส่วนจึงสำคัญและเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จ แต่ทั้งนี้ก็มีจังหวัดและหน่วยจัดการเรียนรู้ที่ทำงานแล้วติดขัดหรือทำงานไม่สำเร็จด้วยเช่นกัน โดยปัจจัยที่ไม่สำเร็จเกิดเพราะมีแต่นักการศึกษาที่เข้าไปทำงานเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่านักการศึกษามีความคุ้นเคยกับเด็กและเยาวชนในระบบมากกว่ากลุ่มที่หลุดออกนอกระบบ ซึ่งพอนักการศึกษาไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเด็กและเยาวชนนอกระบบจึงส่งผลให้การขับเคลื่อนติดขัด การทำงานประเด็นเหล่านี้ควรต้องเป็นสหวิชาชีพ มีคนทำงานจากหลายวิชาชีพมาขับเคลื่อนด้วยกัน

2.ปัจจัยด้านข้อมูล ต้องทำงานด้วยฐานข้อมูล หากคนทำงานไม่มีข้อมูลชี้เป้า จะระบุและเจอตัวเด็กและเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบยากมาก ดังนั้นฐานข้อมูลชี้เป้าจึงสำคัญมาก เพื่อเราจะได้หาพวกเขาพบ ไปเยี่ยม ไปพูดคุย และนำการศึกษากลับไปสู่ชีวิตพวกเขาอีก

3.เราต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ต้องทำมากกว่าแค่บอกให้พวกเขา “กลับไปเรียน” “กลับไปฝึกอาชีพ” เราต้องมีกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจ ให้เขาเห็นคุณค่าตนเอง เห็นทุน เห็นโอกาส 

เมื่อเราให้โอกาสเด็กและเยาวชนวิเคราะห์ว่าเขามีทุนอะไรบ้าง เช่น มีที่ดิน มีความรู้ด้านการเกษตร มีมอเตอร์ไซค์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า และพร้อมแปลงทุนที่ตนมีให้เป็นโอกาสด้านการศึกษาและการทำงาน เขาจะเห็นความหมายของมันมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าแค่ให้เงินแล้วส่งเขาไปฝึกอาชีพหรือไปเรียนต่อ ไม่ได้การันตีเลยว่าเขาจะไม่หลุดออกจากระบบอีก  แต่เราต้องมีระบบสนับสนุนรองรับเขา ต้องมีระบบติดตามที่ดี ปัจจัยเหล่านี้หากทำได้ก็จะนำมาสู่ความสำเร็จ

2. การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก สลายเส้นแบ่งของคำว่าในระบบ-นอกระบบ

คำว่า “การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก” เป็นคำที่ทรงพลังและมีความหมายมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนนอกระบบที่เรากำลังทำงานด้วย คำนี้ยิ่งมีความหมายกับพวกเขา เพราะเวลาเราพูดถึงเด็กนอกระบบ เรากำลังพูดถึงเด็กหลายเฉดมาก มีทั้งเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อ ม.3 หรือ ม.6 แต่เขาอาจจะไม่ได้มีความเสี่ยงอะไร, มีทั้งเด็กกลุ่มเปราะบาง เด็กในสถานพินิจฯ เด็กพิการ คุณแม่วัยใส ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เราต้องมีทางเลือกให้พวกเขา

ความท้าทายที่เจอคือ ปัจจุบันการศึกษาไทยมีแค่ลู่เดียวให้เด็กก้าวเดิน ทั้งที่เด็กและเยาวชนมีหลายเฉดมาก ดังนั้นระบบการศึกษาทางเลือกต้องยืดหยุ่น เด็กจะไปทางไหนก็ได้ จริงๆ ในต่างประเทศนั้น เส้นแบ่งระหว่างวิชาชีพกับวิชาการค่อนข้างเบลอ เหลือแค่เส้นบางๆ แต่ของประเทศไทยการศึกษาสายอาชีพกับวิชาการสามัญยังแบ่งกันเข้มข้นอยู่ จุดนี้ถือว่าเป็นปัญหามาก

การศึกษาทางเลือกก็เกี่ยวพันกับการศึกษาในระบบด้วย ด้วยความแข็งตัวของการศึกษาในระบบจนสร้างอุปสรรคขัดขวาง ทำให้เด็กบางกลุ่มไม่มีโอกาสเข้าเรียน ต้องหันออกนอกระบบ ดังนั้นหากการศึกษาในระบบสามารถทำให้เด็กมีทางเลือกมากขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น นำหลักสูตรการศึกษาทางเลือกเสริมเข้าไปในหลักสูตรปกติของโรงเรียน และเพิ่มพื้นที่ให้เด็กค้นพบตัวเอง ก็จะทำให้เด็กค้นพบความหมายในตัวเขา ส่งผลให้เขาอยากเรียนรู้ จนลดจำนวนเด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบได้ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวพันกัน

เด็กและเยาวชนหลุดออกมานอกรั้วโรงเรียนแล้ว เราควรมีระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นให้พวกเขามีทางเลือก คือ “วิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต” อย่างปัญหาที่เจอตอนนี้ คือ เยาวชนในสถานพินิจ ฯ เขาออกจากรั้วโรงเรียนก่อนจบ ม.3 หรือ ม.6 ทำให้เขาได้วุฒิแค่ ป.6 หรือ ม.3 ซึ่งเป็นวุฒิต่ำกว่าที่เขาได้เรียนรู้มา ดังนั้นเราจึงควรต้องสร้างทางเลือกการศึกษาในสถานพินิจ ฯ ให้เขา เพื่อให้เขาได้รับทั้งวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต 

กรณีคุณแม่วัยใสนั้น มีกฎหมายรองรับให้พวกเขากลับเข้าไปเรียนต่อได้ แต่ในทางปฏิบัติมีหลายอย่างไม่เอื้อ ทำให้แม่วัยใสต้องหลุดออกนอกระบบไป แต่หากเราสามารถจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น และเปิดโอกาสให้แม่วัยใสสามารถเรียนรู้ที่บ้านได้ การสร้างการยอมรับทัศนคติและความเข้าใจ จะทำให้พวกเขาไม่ต้องหลุดจากระบบและจบการศึกษาได้  ดังนั้นความยืดหยุ่นคือหัวใจสำคัญ

3. นวัตกรรมการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก

กรณีศึกษาที่น่าสนใจและอาจนำไปขยายต่อในวงกว้างได้นั้น เบื้องต้นมี 3 โมเดล คือ

1.โมเดลการจัดการศึกษาทางเลือกให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ฯและศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน  ถือเป็นกรณีที่สามารถนำไปขยายวงกว้างได้ โดยตอนแรกเรานำร่องที่จังหวัดนครพนมที่เดียว แต่ต่อมาก็ขยายไปยัง 8 จังหวัดในภาคอีสาน และคิดว่าน่าจะขยายให้ครอบคลุมทั้งประเทศได้

เราทำทั้งการทำงานกับศูนย์การเรียน กศน. Mobile Learning คือสร้างพื้นที่และโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เรียนระหว่างที่พวกเขาอยู่ในสถานพินิจ ฯและศูนย์ฝึกฯ หากขยายไปทั่วประเทศได้ จะสามารถช่วยเหลือเด็กได้หลักหมื่นคน

2.โมเดลกลุ่มคุณแม่วัยใส  ตอนนี้ยังไม่ได้ขยายมากแต่มีศักยภาพที่จะขยายไปวงกว้างได้ ทั้งนี้เราพบว่าการจัดการศึกษาให้กับคุณแม่วัยใสนั้น ควรเริ่มที่วิชาชีพและวิชาชีวิตก่อน ยังไม่ต้องเน้นวิชาการ เพราะสิ่งสำคัญคือต้องสร้างให้เขามีแรงบันดาลใจ ภูมิใจในตนเองก่อน อันจะทำให้เขาเห็นโอกาส เห็นความเป็นไปได้ อยากเรียนรู้  และยังต้องเอื้อให้เขาสามารถดูแลลูกได้ด้วย จากประสบการณ์คือเป็นการทำงานทั้งครอบครัว ควรเปิดโอกาสให้คุณพ่อวัยใสมาเรียนด้วยกัน และทำเรื่องพัฒนาการและการศึกษาของลูกพวกเขาด้วยอีกทาง

โมเดลที่คิดว่าน่าสนใจคือที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ตอนแรกยังคิดไม่ออกว่าจะไปหาตัวคุณแม่วัยใสได้ที่ไหน แต่ที่เชียงใหม่เขามีนวัตกรรมจับมือกับ รพ.สต. เราเลยได้ลงพื้นที่ ไปเยี่ยมบ้านคุณแม่วัยใส ทำให้ครอบครัวเขายอมรับและยินยอมให้คุณแม่วัยใสมาฝึกอบรมวิชาชีพและวิชาชีวิต หลังจากนั้นก็เรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการ พอเขาได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ก็เกิดแรงบันดาลใจที่อยากกลับไปเรียน หลายคนภูมิใจที่หารายได้เองได้ ที่สำคัญคือเขาเห็นคุณค่าตัวเอง และมองเห็นโอกาสจากทุนที่เขามีอยู่

3.โมเดลบทบาทท้องถิ่น เช่น อบต. สามารถเป็นหน่วยจัดการเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชนนอกระบบ ผู้สูงอายุ และผู้ว่างงาน ที่บอกว่า อบต.สามารถเป็นผู้จัดการเรียนรู้ได้ เพราะเขามีทรัพยากร ทั้งงบประมาณและเครือข่ายคนทำงาน

ตัวอย่างที่พบคือ อบต.หนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เขานำปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรอำเภอ และสาธารณสุขอำเภอ มารับรองคุณภาพผักให้เกษตรกร ผลผลิตต่างๆ จึงส่งขายตลาดใหญ่ได้ง่าย และ อบต.ยังมีที่ดินให้ด้วย เกษตรกรสามารถมาทำแปลงเกษตรในที่ดินนี้ได้เลย นอกจากนี้เรายังเห็นเรื่องการศึกษาที่เชื่อมโยงกับชุมชน เชื่อมโยงกับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ตอบโจทย์ทุนที่ชุมชนมี โดยที่เด็กและเยาวชนยังได้อยู่ในชุมชน

4. การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง

การสร้างผู้นำความเปลี่ยนแปลงที่จะมาขับเคลื่อนการศึกษานอกระบบ เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ง่าย คิดว่าน่าจะมีอยู่ 3 เรื่องที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงควรมี คือ

1.ต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายและมีทัศนคติต่อกลุ่มเป้าหมายบนฐานของความเป็นมนุษย์ เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายมีพื้นที่ปลอดภัย มีพื้นที่เรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้เข้าถึงง่าย และผู้นำควรเข้าใจบริบท เข้าใจสภาพแวดล้อมว่าปัจจัยแบบไหนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น กรณีคุณแม่วัยใส บริบทที่เอื้อต่อเขาคือต้องพาคุณพ่อวัยใสและลูกๆ มาเรียนรู้ด้วย ดังนั้นผู้นำจึงควรเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย มองเห็นศักยภาพ และอย่ามองว่าเขาเป็นผู้ด้อยโอกาส

2.มีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษา เดิมเรามองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของนักการศึกษาเท่านั้น แต่เมื่อโจทย์ที่เรากำลังขับเคลื่อนคือเด็กและเยาวชนนอกระบบ ซึ่งนักการศึกษาอาจไม่คุ้นเคยกับกลุ่มนี้ ดังนั้นเมื่อจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ เราจึงควรต้องเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการศึกษา เพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์หลายๆ กลุ่ม เช่น ตอบโจทย์คุณแม่วัยใส ตอบโจทย์เด็กและเยาวชนสถานพินิจฯ ตอบโจทย์เด็กและเยาวชนทั่วไป เรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยเครือข่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นลักษณะของสหวิชาชีพ

3.ต้องมีการทดลองปฏิบัติจริงกับภาคีในพื้นที่ ควรทำ Social Lab เพื่อหากลไกการทำงาน หาแนวทางการทำงานใหม่ๆ ที่ลดช่องว่างและอุปสรรคที่มีอยู่ ซึ่งต้องทดลองทำไปแล้วสรุปบทเรียน เพื่อให้เห็นว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน โอกาสในอาชีพก็ไม่เหมือนกัน ต้องตอบโจทย์ความหลากหลายตรงนี้ด้วย

5. ภารกิจของ กสศ. เป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

การทำงานเพื่อผลักดันความเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ในมุม กสศ.​เรามองว่านี่คือการขับเคลื่อนแนวคิด All For Education ที่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม เราต้องเชื่อในพลังของเครือข่าย ถ้าทุกคนมีส่วนร่วม พลังจะเยอะ

ในแต่ละปี กสศ.ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษา ฯ ไม่ถึง 1% ซึ่งเป็นงบประมาณที่น้อย อย่างเด็กและเยาวชนนอกระบบเราก็ช่วยได้แค่ราวๆ 20,000 คนเท่านั้น ทั้งที่กลุ่มนี้มีเป็นล้านคน ดังนั้นเราจึงต้องช่วยในลักษณะที่เป็น Social Lab ทำตัวแบบแล้วหาปัจจัยความสำเร็จ หาแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแล้วทำเป็นนโยบาย เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ 

กสศ. จึงต้องเข้าไปสร้างเครือข่าย ทำอย่างไรให้จังหวัดเห็นสภาพปัญหา กสศ.ก็นำตัวเลขฐานข้อมูลที่เราสำรวจเข้าไปพูดคุย ให้ผู้เกี่ยวข้องได้เห็นว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในจังหวัดของเขาเป็นอย่างไร เหมือนเราเป็นทั้งกระจกและไฟฉาย ส่องให้เขาได้เห็น โดยเชื่อว่าเมื่อได้เห็นข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในพื้นที่แล้ว คงไม่มีใครอยากปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น คนก็อยากแก้ปัญหา แต่เขาอาจไม่เห็นข้อมูล เลยไม่รู้ว่าปัญหาในพื้นที่มันใหญ่ 

เมื่อเขามองเห็นถึงปัญหาแล้วเขาก็ยินดีที่จะลงทุน ซึ่งต้องบอกว่างบประมาณและทรัพยากรในจังหวัดมีไม่น้อย เพียงแต่มันยังไม่ถูกจัดสรรในมิติเหล่านี้  กสศ.ก็เข้าไปช่วยทำหน้าที่เหมือนแพลตฟอร์ม ให้เกิดการจัดสรรหรือลงทุนเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น 

ที่ผ่านมาคิดว่าเขาได้แรงบันดาลใจและมันขยายผลได้จริง  อย่างในหลายจังหวัดเขาก็ช่วยเหลือเด็กนอกระบบได้หลักหมื่นคน มากกว่าที่ กสศ.ช่วยได้โดยตรงด้วยซ้ำ การที่จังหวัดยื่นมือมาช่วยยิ่งเป็นการขยายตัวของผลประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับ ดังนั้นการมีเครือข่ายทำงานที่แข็งแรงยิ่งทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เร็ว

ด้านเครือข่ายภาคเอกชน ตอนนี้บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ก็มาร่วมมือเรื่องเยาวชนนอกระบบ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ให้เด็กหลุดออกจากการศึกษาเป็นศูนย์ให้ได้ใน 3 ปี กับ “ราชบุรีโมเดล” เอกชนนับเป็นอีกกลไกที่มาช่วยขับเคลื่อนได้ หรือก่อนหน้านี้คนมักจะมีภาพว่าต้องให้ กศน. ดูแลรับผิดชอบ แต่แค่ลำพัง กศน. ย่อมไม่เพียงพอ ดังนั้นต้องมีเครือข่ายทำงานอื่นๆ มาช่วยกัน ขณะเดียวกันก็ต้องขับเคลื่อนนโยบายภาพใหญ่ด้วย ต้องทำพร้อมกัน ที่อยากเน้นย้ำคือการร่วมมือกันจะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

6. ความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษาจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปีการศึกษา 2566 ถ้าไม่จัดการหรือไม่มีนโยบายที่ชัดเจน จากข้อมูลเด็กจะหลุดออกจากระบบวนซ้ำถึง 85%

การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบที่กลับเข้ามาในระบบอีกครั้งแต่อาจเสี่ยงหลุดออกไปอีก คิดว่านโยบายรัฐที่ทำแล้วได้ผลดีและไม่แพงคือจัดฐานข้อมูล เราต้องจริงจังกับฐานข้อมูล เด็กเข้าเรียนกี่คน อยู่ในระบบกี่คน มีความเสี่ยงอะไรบ้าง แล้วเราค่อยใช้ข้อมูลทำงาน หรือเอาข้อมูลมาออกแบบการทำงานได้อย่างตรงจุด 

ยกตัวอย่างการจัดฐานข้อมูลกลุ่มอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่เราได้เข้าไปทำงานด้วย เราพบว่าทุกคนมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบได้หมด แต่ความเสี่ยงนั้นมีความหนักเบาแตกต่างกัน โดยเราสามารถจัดกลุ่มเยาวชนอาชีวศึกษาได้ 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ยังสามารถดูแลความเสี่ยงได้ มีประมาณ 70-80% โดยกลุ่มนี้ หากเราจัดโปรแกรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะชีวิตให้เขา ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ มีภูมิคุ้มกัน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน  เขาจะมองเห็นความหมายในการเรียนรู้ ถ้าเราทำกระบวนการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในโรงเรียนได้ เราจะป้องกันเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาได้

กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบสูง มีประมาณ 10% เอาไม่อยู่ เพราะเขามีปัญหาสภาพครอบครัวแตกแยก ปัญหารุมเร้าและซับซ้อน ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิต มาช่วยแนะนำและปรึกษา ดูแลเด็กเป็นรายคน 

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่อาจต้องช่วยทั้งในแง่นำส่งโรงพยาบาล หรือให้การดูแลด้านยาซึมเศร้า มีประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์  เป็นเป็นกลุ่มที่ถือว่าสถานการณ์หนักจริง 

ในแง่การทำงาน เราสามารถทำข้อมูลและแบ่งกลุ่ม เขียว-เหลือง-แดง เพื่อดูแลไม่ให้เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยอาจไม่ได้ใช้ข้อมูลในการทำงาน ทำให้เราไม่รู้สถานการณ์เด็ก ไม่รู้ความเปลี่ยนแปลงของเด็กอย่างแท้จริง ทั้งนี้เด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบ เขาจะมีการส่งสัญญาณมาก่อนอยู่แล้ว เช่น เริ่มขาดเรียน ผลการเรียนตก สิ่งเหล่านี้ดูแลได้ตั้งแต่ในโรงเรียน หากครูได้รู้ข้อมูลก็สามารถเข้าไปดูแลช่วยเหลือได้เลย 

การทำงานอย่างเป็นระบบ มีการใช้ฐานข้อมูล จัดกลุ่มเด็กตามความเสี่ยง และเข้าไปช่วยเหลือดูแลทันทีที่พบสัญญาณบ่งชี้  จะช่วยลดจำนวนเด็กหลุดออกจากระบบแบบวนซ้ำได้ ช่วยได้ก่อนที่เด็กจะหันหลังให้ระบบการศึกษาอย่างถาวร

โจทย์เรื่องเด็กนอกระบบเป็นโจทย์ใหญ่ การป้องกันปัญหาก็สำคัญ แต่การแก้ไขปัญหาที่เกิดแล้วก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อน อายุของพวกเขาคือ 15-24 ปี ถือเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศ ขณะที่เรากำลังเจอภาวะสังคมสูงวัยและเด็กเกิดใหม่น้อยลง ดังนั้นเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จึงสำคัญมาก หากเราไม่ทำอะไรกับเขาเลย ไม่ดูแลช่วยเหลือ เขาจะกลายเป็นแรงงานนอกระบบที่ทักษะต่ำและเสี่ยงติดอยู่ในวงจรความยากจนอีกนาน  แต่หากเราลงทุนดูแลให้พวกเขาช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้ ผลที่เกิดขึ้นจะดีต่อทั้งชุมชน จังหวัด และประเทศไทย