หน่วยจัดการเรียนรู้ภาคเหนือและตะวันตก หรือ “เหนือตะวัน” ภายใต้โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 11 แห่ง จากพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ร่วมเรียนรู้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้และส่งเสริมนิเวศการเรียนรู้ผ่านพื้นที่กลาง เพื่อนำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ รวมทั้งเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ระหว่างทีมพี่เลี้ยง หน่วยจัดการเรียนรู้ และเครือข่ายผู้ร่วมเรียนรู้ เมื่อวันที่ 1-3 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ บ้านห้วยอีค่าง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
ทางด้าน ‘ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์’ หัวหน้าภาคเหนือและตะวันตก กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการชวนหน่วยจัดการเรียนรู้ 11 แห่ง มาร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับงานที่ทำอยู่ และกลับไปพัฒนาชุมชนตนเอง
“สิ่งที่เราต้องการให้เห็นคือ รูปแบบการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านพื้นที่กลาง รวมทั้งเรียนรู้การออกแบบระบบการจัดการกลุ่มของชุมชนบ้านห้วยอีค่าง ซี่งมีรูปแบบและวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถเป็นตัวอย่างของการทำงานได้ดี”
นอกจากนั้น ผศ.ดร.สุวิชาน ยังบอกอีกว่า รูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ครั้งนี้จะแตกต่างไปจากที่ผ่านๆ มา เพราะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยและมาเรียนรู้ร่วมกันในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง จัดกิจกรรมในลักษณะของฐานการเรียนรู้ เพื่อต้องการให้ผู้ร่วมเรียนรู้ได้เห็นว่าการทำงานของพื้นที่อื่นๆ เป็นอย่างไร
“เมื่อทุกคนได้ร่วมลงไปเรียนรู้ในกิจกรรมแต่ละฐาน บนคำถามสำคัญคือ เราเห็นอะไร และเราไม่เห็นอะไร จากนั้นก็ให้ย้อนกลับไปดูที่ชุมชนตนเองว่าที่เราเห็น หรือเราไม่เห็น ที่ชุมชนของเรามีหรือไม่มี และจะกลับไปพัฒนาหรือยกระดับพื้นที่ของตนเองอย่างไร”
สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ทำออกมาในลักษณะของ Walking Meeting หรือ “การเดินประชุม” ด้วยการแบ่งฐานการเรียนรู้ออกเป็น 3 ประเด็น คือ การสร้างพื้นที่กลาง การใช้ประโยชน์ และการออกแบบกลไกการทำงาน ผ่านการเรียนรู้เรื่องของป่า การใช้ประโยชน์จากป่า รวมทั้งการสร้างระบบดูแลเพื่อให้ป่ายังคงสามามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
‘หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง’ ผู้ใหญ่บ้านและแกนนำสตรีบ้านห้วยอีค่าง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติ และยินดีถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาทั้งเรื่องการจัดการป่า การใช้ประโยชน์จากป่า และที่สำคัญคือบทบาทของกลุ่มสตรีต่อการพัฒนาชุมชน
ในส่วนของรูปแบบการเรียนรู้ ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้ สัมผัสกับของจริง เช่น การเดินดูป่า การนำวัตถุดิบจากป่ามาทดลองย้อมผ้า ทดลองนำสมุนไพรมาแปรรูป รวมทั้งทดลองนำวัตถุดิบจากป่ามาทำอาหารภายใต้กิจกรรม Cultural Night ครัวกะเหรี่ยง เพื่อรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน โดยมีผู้อาวุโสและผู้รู้ในชุมชนบอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชน จากนั้นร่วมกันสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้และความรู้สึกที่ได้รับจากการเรียนรู้ร่วมกัน