“ผสานพลัง ก้าวไปด้วยกัน” ยกระดับ ‘การศึกษาที่มีทางเลือก’ สู่กระแสหลัก เพื่อ ‘การเรียนรู้ที่เปิดกว้าง’ ของเยาวชนนอกระบบการศึกษา

วันที่ 28 กันยายน 2566 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ‘ผสานพลัง ก้าวไปด้วยกัน’ บนเส้นทางการทำงานเพื่อเยาวชนนอกระบบการศึกษา ภายใต้ ‘โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566’ โดยมีหน่วยจัดการเรียนรู้ที่ได้รับทุนสนับสนุน 40 แห่ง ร่วมด้วยคณะทำงานหนุนเสริมวิชาการโครงการ ฯ ผู้ทรงคุณวุฒิและเจ้าหน้าที่ กสศ. เข้าร่วมทำความเข้าใจแนวคิด เป้าหมาย และเส้นทางการดำเนินงาน ตลอดจนเชื่อมต่อการเรียนรู้ผ่านวงสนทนาแลกเปลี่ยน ระหว่างหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค 

‘โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566’ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ซึ่ง กสศ. ดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 ร่วมกับหน่วยจัดการเรียนรู้ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และประสบความสำเร็จในการสร้างหน่วยจัดการเรียนรู้ ที่เชื่อมโยงกับองค์ความรู้ ทรัพยากร หน่วยงาน รวมถึงคนในชุมชน จนเกิดเส้นทางอาชีพที่ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนที่ยั่งยืน 

และในปี 2566 นี้ กสศ. ได้แยกการทำงานกับกลุ่มเยาวชนนอกระบบช่วงวัย 17-24 ปี ออกมาเป็นโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ ในการสร้างกลไกเสริมทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต ทักษะวิชาการ และทักษะวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเยาวชนนอกระบบโดยเฉพาะ ทั้งในลักษณะรายกลุ่มและรายบุคคล หรือเป็นการจัด ‘การศึกษาที่มีทางเลือก’ เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสพัฒนาตนเอง สามารถนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ไปใช้ต่อยอด ทั้งในรูปแบบการเทียบโอนหน่วยกิตเพื่อเข้าสู่การศึกษาในระบบ หรือใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ และกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นย่างก้าวสำคัญ ของการทำให้การศึกษาทางเลือกเข้าไปมีที่ทางในการศึกษากระแสหลัก เป็นการเปลี่ยนระบบการศึกษาที่เคยมีเพียงมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ ให้มีความยืดหยุ่นหลากหลาย หรือคือเปลี่ยนการศึกษาจากเดิมที่ยึด ‘โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง’ (Schooling) เป็น ‘การเรียนรู้ที่เปิดกว้าง’ ซึ่งเด็กเยาวชนทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้จากทุกที่ทุกเวลา

“มากกว่า 50 ปีผ่านมาที่องค์ความรู้ทั้งหลายทั้งปวงอยู่ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย หรือในสถาบันการศึกษาโดยมีครูอาจารย์เป็นบุคคลสำคัญในการถ่ายทอดความรู้นั้น ขณะที่แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของวงการการศึกษาโลกปัจจุบันนั้นเปิดกว้างขึ้น กลายเป็นการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยมีครูเป็นผู้ออกแบบจัดการเรียนรู้และอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองได้ตามความสนใจ ความถนัด และสอดคล้องกับบริบทของชีวิต และโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาก็เช่นเดียวกัน ที่จะดำเนินงานภายใต้อำนาจพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 และ พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2542 ซึ่งนิยามความหมายของการจัดการศึกษาว่ามีทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยให้มีการเทียบโอนผลการเรียนสะสมทั้งในรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบ และไม่ว่าจะเป็นการสะสมผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม รวมถึงสามารถเทียบโอนผลการเรียนจากการฝึกอาชีพหรือประสบการณ์การทำงานเพื่อรับวุฒิการศึกษา การทำงานโครงการนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้มีการเปิดพื้นที่การศึกษาใหม่ ๆ โดยหน่วยจัดการเรียนรู้เป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลาย ให้ผู้เรียนกำหนดรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิต และสามารถใช้ความรู้และทักษะนำพาตนเองไปถึงเป้าหมายที่พึงปรารถนา  

“กล่าวถึงเด็กเยาวชนนอกระบบซึ่งเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบตลอดมา จากระบบการศึกษาที่มีเพียงมาตรฐานเดียว โครงการนี้จึงมุ่งสื่อสารไปยังเยาวชนกลุ่มนี้ ว่าหากได้รับการศึกษาที่ดีและมีรูปแบบเหมาะสม เขาจะมีโอกาสใช้ศักยภาพที่มีได้สูงสุด และพึ่งพาตนเองอย่างมีคุณภาพ ดังนั้นจุดเริ่มต้นของจัดการศึกษา จะต้องมีเป้าหมายตั้งต้นก่อนว่าทำเพื่อตอบโจทย์การมีงานทำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือเพื่อวุฒิการศึกษา ที่สำคัญคือตัวรูปแบบการศึกษาเอง ต้องไม่ใช่เพียงจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นจบแล้วจบกัน แต่ต้องมีกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนเชื่อมั่น และมองเห็นปลายทางว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้จริง”

กรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของโครงการ ฯ คือหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้ง 40 แห่งต้องสามารถฝังตัวระยะยาวในพื้นที่ และ ‘ยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้’ ที่ตอบโจทย์การสร้างงานสร้างอาชีพ ในฐานะ ‘พื้นที่แห่งโอกาส’ ให้ทุกคนในชุมชนสามารถเดินเข้ามาใช้เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของตนเองได้ นอกจากนี้ความหมายของคำว่า ‘ทุกคน’ ในที่นี้ จะต้องครอบคลุมถึงเด็กเยาวชนทุกคุณลักษณะ ทุกพื้นที่ ไม่ว่าเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เยาวชนผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มไร้สัญชาติ หรือเด็กเยาวชนในพื้นที่ชายแดน เพื่อที่ทุกความสำเร็จของทุกหน่วยการเรียนรู้ กสศ. จะได้นำมาถอดบทเรียนและขยายผล  ขับเคลื่อนภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยในภาพรวมต่อไป

 

รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา ผู้จัดการโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา กล่าวว่า โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา จะทำงานสอดประสานระหว่างหน่วยจัดการเรียนรู้ คณะหนุนเสริมวิชาการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภายใต้โจทย์เรื่องเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ซับซ้อน หลากกลุ่ม หลายมิติ และยังมีการเคลื่อนไหวของชุดข้อมูลตลอดเวลา ทั้งนี้หน่วยจัดการเรียนรู้ที่เข้าใจบริบทเชิงพื้นที่เป็นอย่างดี จะเป็น ‘คานงัด’ สำคัญของการทำงาน ซึ่งแต่ละหน่วยจัดการเรียนรู้ที่มาจากสถาบันการศึกษา ท้องถิ่น ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมเอง ก็มีความหลากหลายทางองค์ความรู้ ชุดประสบการณ์ มีบทเรียนและเครื่องมือการทำงานที่ไม่เหมือนกัน 

สำหรับเป้าหมายในปี 2566 โครงการ ฯ จะทำกับเยาวชนนอกระบบการศึกษาราว 1,500 คน เป็นการทำงานเชิงคุณภาพเพื่อให้ได้ ‘บทเรียนต้นแบบ’ ที่จะต่อยอดไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยขั้นตอนทำงานจะเริ่มที่ค้นหากลุ่มเป้าหมายให้พบ ทำความเข้าใจ สำรวจความต้องการ เรียนรู้ศักยภาพ และ ‘สร้างความไว้วางใจ’ ซึ่งถือเป็นหลักการที่สำคัญกว่าการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้เสียอีก 

“หน่วยจัดการเรียนรู้ในฐานะพี่เลี้ยงจึงต้องเป็นเพื่อนร่วมทางการเรียนรู้ไปกับน้อง ๆ เยาวชน โดยส่งเสริมในจุดที่ขาด และรีดเอาศักยภาพในทุกด้านที่พบออกมา ไม่ว่าทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ หรือทักษะชีวิต และการพัฒนาจะต้องคำนึงถึงความต้องการและเงื่อนไขในชีวิตของเยาวชนแต่ละคนเป็นที่ตั้ง นอกจากนี้ทุกหน่วยจัดการเรียนรู้ต้องทำงานกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเชื่อมต่อระบบ สร้างกลไกและมาตรการการพัฒนาศักยภาพของน้อง ๆ ในระยะยาว วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายได้มาปฐมนิเทศและทำความเข้าใจการทำงานร่วมกัน ก่อนทุกหน่วยจัดการเรียนรู้จะลงสนามสู่หน้างานจริงในวาระต่อไป”