อีสานเซียน : ปลุกตัวตนสู่ความเป็นเซียน

การเป็นเซียนจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป วันนี้ ทีมพี่เลี้ยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้สร้างนิเวศการเรียนรู้ใหม่ปลุกความเป็นเซียนในตัวหน่วยจัดการเรียนรู้และผู้ร่วมเรียนรู้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 36 หน่วยฯ ด้วยเครื่องมือที่หลากหลายที่จะมาช่วยเติมเต็มให้การทำงานโค้งสุดท้ายของโครงการทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2566 เกิดประสิทธิผลอย่างสมบูรณ์ ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการหน่วยจัดการเรียนรู้ภาคอีสาน ครั้งที่ 2 “บทเรียนระหว่างทาง: เครื่องมือ กระบวนการประเมินเสริมพลังและการจัดการความรู้ หน่วยฯภาคอีสาน” ณ โรงแรมเดอะคอนวีเนี่ยน จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 9-10 มีนาคม 2567

“กล้วยไม้ไม่ได้งอกงามเฉพาะแค่ตอนผลิดอก แต่มันเกิดความงอกงามทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มปลูก ฉะนั้นกับการทำงานก็เช่นกัน ทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอนล้วนมีความสำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ทำให้เห็นภาพการทำงานที่ยิ่งใหญ่ของคนอีสาน ซึ่งเป็นผู้นำที่ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์ความยากลำบาก แต่ลุกขึ้นมาจัดการตัวเองและชุมชนให้เกิดความงอกงามผ่านการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นได้” ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวถึงประเด็นสำคัญของการทำงานที่ต้องให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอน

ซึ่งครั้งนี้ ทีมพี่เลี้ยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ติดอาวุธทางปัญญาและเครื่องมือการทำงานอย่าง ‘บันไดงู’ และ ‘แผนที่เซียน’ ที่แม้จะเป็นเครื่องมือเดิมที่เคยเรียนรู้ไปแล้วในครั้งก่อน แต่ก็ยังคงนำกลับมาใช้ได้อยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าเป็นการให้หน่วยฯ ได้ทบทวนและสามารถปรับแผนการทำงานที่ยืดหยุ่น รวมถึงสอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของผู้ร่วมเรียนรู้ โดยในครั้งนี้แต่ละหน่วยฯ จะได้นำข้อมูลจากบันไดงูมาใส่ในตารางผลลัพธ์ เพื่อ ทบทวนตัวเองว่าที่ผ่านมาได้ตั้งเป้าอะไรไว้ แล้วขณะนี้เดินไปถึงไหน หรือพลาดอะไรไปบ้าง แล้วเกิดอะไรขึ้นระหว่างทางที่ทำให้งานสำเร็จหรือไม่สำเร็จ จากนั้นจึงแลกเปลี่ยนแนวคิดร่วมกันกับเพื่อนต่างหน่วยฯ เพื่อให้ตกตะกอนการทำงานร่วมกันแล้วหาแนวทางการทำงานที่ดีที่สุดเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

รวมถึงถอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาว่าค้นพบผู้ร่วมเรียนรู้ที่ยกระดับมาเป็น ‘เซียน’ ผู้มีความถนัดและเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการทำงานทั้งหมดกี่ด้าน แล้วเซียนคนนั้นได้สร้างประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างไร อีกทั้งแต่ละหน่วยฯ ยังได้ร่วมกันหาแนวทางสู่การเป็นเซียนเพื่อให้เพื่อนช่วยเหลือเพื่อนที่ยังไม่เป็นเซียน เกิดเป็นนิเวศการเรียนรู้ใหม่ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทุนในชุมชน แต่ทุกคนในเวทีนี้ต่างได้ตกตะกอนความคิดร่วมกัน ถือเป็นการหลอมรวมองค์ความรู้ใหม่ เกิดการเชื่อมความสัมพันธ์และสร้างภาคีเครือข่ายภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เดินทางและเติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ ชุมชน ครอบครัว และผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่จะสร้างนิเวศการเรียนรู้ให้สมบูรณ์ได้

“เครื่องมือสำคัญที่สุดคือตัวเราเองที่จะต้องตั้งเป้าหมายให้ชัด ออกแบบกระบวนการทำงานและกิจกรรมที่ใช่ ตรงใจผู้ร่วมเรียนรู้ ให้เขาได้คิด ได้ลงมือทำ พร้อมยกระดับให้เขาเป็นเซียน และต้องไม่ลืมที่จะสรุปบทเรียนการทำงานทั้งความสำเร็จและไม่สำเร็จทุกครั้ง เพราะบทเรียนนี้จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและนำพาให้ทุกคนไปสู่ความเสมอภาคได้” นางมัสยา คำแหง หัวหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวทิ้งท้าย