พื้นที่เรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและมีชีวิตชีวาแบบฉบับสังคมกึ่งเมือง

พื้นที่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นคืออะไร มีความสำคัญต่อคนทุกช่วงวัยอย่างไร ครั้งนี้ โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนทุกคนมานั่งล้อมวงฟังเรื่องเล่าของชมรมเครือข่ายชวนพัฒน์ จังหวัดนนทบุรี ที่แม้จะเป็นชุมชนที่อยู่ชิดติดกรุงเทพมหานคร แต่พวกเขายังสามารถจัดพื้นที่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นที่ตอบโจทย์คนทุกช่วงวัย

ล้อมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ นำโดยนายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ และทีมคณะหนุนเสริมวิชาการโครงการต่าง ๆ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงพื้นที่ศึกษาดูงานหน่วยจัดการเรียนรู้ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ณ ชมรมเครือข่ายชวนพัฒน์ จังหวัดนนทบุรี ที่นำประสบการณ์การทำงานร่วมกับ กสศ. อย่างต่อเนื่อง มาใช้เพื่อส่งต่อโอกาสและทางเลือกให้กับคนในชุมชนกึ่งเมืองได้อย่างน่าสนใจ 

หากมองที่บริบทจะพบว่าจังหวัดนนทบุรีส่วนใหญ่เป็นพื้นที่กึ่งเมือง และหลายพื้นที่กำลังพัฒนาจากชนบทเป็นเมือง นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนดั้งเดิมและคนพลัดถิ่นที่มาอยู่ใหม่ ไม่ว่าเรื่องอาชีพ หรือการเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ต่างๆ ชมรมเครือข่ายชวนพัฒน์ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นหน่วยจัดการเรียนรู้จากภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก จึงดำเนินโครงการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ฟื้นฟูคุณค่าวิถีชุมชนคนนนทบุรี ภายใต้โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. เพื่อส่งต่อทางเลือกและโอกาสให้กับคนในชุมชนทั้งเกษตรกร ผู้สูงอายุ พ่อค้าแม่ค้า คนว่างงาน และเยาวชนรวมกว่า 70 คน โดยใช้พื้นที่โยคะบ้านสวน ในตำบลไทรม้าอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งพี่นกน้อย หรือ คุณถนอมวงค์ ถนอมกุลบุตร หนึ่งในคณะทำงานชมรมฯ ได้เอื้อเฟื้อสถานที่ส่วนบุคคลให้เป็นพื้นที่กลางสำหรับกิจกรรมเรียนรู้ของทุกคนในครั้งนี้ 

นางสาวพาฝัน ไพรเกษตร หนึ่งในคณะทำงานหลักของชมรมฯ กล่าวว่า ชมรมเครือข่ายชวนพัฒน์จังหวัดนนทบุรี ก้าวสู่โจทย์ท้าทายใหม่เพื่อทำงานกับผู้คนในพื้นที่ชุมชนกึ่งเมือง ในพื้นที่ไทรม้า-ท่าอิฐ และพื้นที่บางบัวทอง-ไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี จากโจทย์แรกคือการส่งเสริมทักษะแปรรูปและการตลาดให้กับคนในชุมชน โดยใช้ชุมชนเป็นฐานตั้งต้นจากสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ เป็นอาชีพของคนนนทบุรีรวมถึงต้นทุนศูนย์เรียนรู้และผู้รู้ที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น การเพาะปลูก ทำสวนทุเรียน พืชผักผลไม้ต่างๆ สานตะกร้า ปลูกมะลิ ร้อยพวงมาลัย ทำสบู่ และพิมเสนน้ำ จึงอยากส่งต่อโอกาสในการพัฒนาทักษะเหล่านี้ไปสู่ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับตลาดในเมือง 

อย่างไรก็ตาม การทำงานครั้งนี้เต็มไปด้วยความท้าทาย ซึ่งในเรื่องแรก นางสาวพาฝัน บอกว่า คือกระบวนการค้นหาผู้ร่วมเรียนรู้ที่เป็นตัวจริง เพราะในตอนแรกประกาศรับสมัครผู้ร่วมเรียนรู้จากทางเพจเฟซบุ้ก ทำให้มีคนที่หลากหลายสนใจเข้าร่วมทั้งคนด้อยโอกาสจริงๆ และคนที่ไม่ใช่ โดยในวันเปิดโครงการได้ชวนมาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อชี้แจงสิ่งที่เรากำลังจะทำ และชวนปราชญ์หรือคนที่ทำศูนย์เรียนรู้ในชุมชนมาเป็นวิทยากรถ่ายทอดทักษะอาชีพเบื้องต้นเลย เพื่อให้เขาเห็นตัวเลือกอาชีพ แต่ด้วยมีผู้สนใจจำนวนมากจึงต้องคัดกรองเพื่อให้ได้ผู้ร่วมเรียนรู้ที่เป็นตัวจริงเสียงจริง คณะทำงานจึงลงชุมชน เข้าไปพูดคุยรายบุคคล สอบถามความต้องการเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าเราช่วยอะไรเขาได้บ้าง ทั้งความต้องการที่จะมีรายได้เพิ่ม และทักษะความรู้ต่างๆ แล้วจึงออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ค้นหาวิทยากรมาอบรมเรื่องที่ตอบโจทย์ความต้องการแต่ละกลุ่ม และที่สำคัญเขาต้องนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านมีส่วนร่วมในการแนะนำข้อมูลของเชิงลึกอย่างมาก

ความท้าทายถัดมา คือ เวลาและเงื่อนไขชีวิต อย่างเช่นคณะทำงานเองต้องทำงานประจำ จึงต้องใช้เวลาช่วงกลางคืนเข้าไปเจอผู้ร่วมเรียนรู้ในชุมชน นอกจากนั้นพบว่าผู้ร่วมเรียนรู้ล้วนมีความแตกต่างหลากหลาย บางคนสนใจแต่เขาไม่สะดวกมาเรียนรู้ด้วย เราก็ต้องจัดกลุ่มย่อยพาความรู้ไปหาเขาถึงที่แต่ที่สำคัญต้อง “สร้างแกนนำในพื้นที่” ให้เขาเป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัย ช่วยดูแลผู้ร่วมเรียนรู้ในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะเยาวชนนอกระบบการศึกษา ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ต้องไม่ตายตัว ต้องยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนได้เสมอ ให้กับเข้ากับข้อจำกัด ความต้องการ และสถานการณ์ของผู้ร่วมเรียนรู้แต่ละคน

“เมื่อเรารู้ความต้องการของผู้ร่วมเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือการออกแบบกระบวนการสำหรับผู้ร่วมเรียนรู้แต่ละกลุ่ม ที่แตกต่างกัน ไม่สามารถใช้วิธีเดียวได้กับทุกคน ต้องให้เขาเห็นตัวเลือกอาชีพ เพื่อค้นหาสิ่งที่ตนถนัด ลงมือทำก่อนแล้วค่อยๆ หาอาชีพที่เขามั่นใจว่าตัวเองทำได้ เช่น บางกลุ่มเขาไม่เคยทำอาชีพเหล่านี้มาก่อน เราต้องหาความรู้พาผู้รู้มาสอนเขา จากนั้นเราจึงพาฝึกฝนลงลึกเพื่อให้เขาเกิดความชำนาญ แต่กับบางกลุ่มเขามีความรู้ มีทักษะเป็นทุนเดิมอยู่ เราจะต้องยกระดับเขาให้เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น หรือต่อยอดทุนเดิมไปสู่เรื่องใหม่ๆ ได้ด้วย รวมทั้งยกระดับเป็นวิทยากร ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับเพื่อนกลุ่มอื่นๆ อีกที “เปลี่ยนจากคนเรียน เป็นคนสอน จากคนที่ได้รับโอกาส เป็นคนที่ให้โอกาส” ซึ่งส่งผลให้ผู้ร่วมเรียนรู้เกิดความภูมิใจในตัวเอง และมั่นใจที่จะพัฒนาต่อไป

พื้นที่ปลอดภัยเพื่อทุกคนในชุมชน

นายประพันธ์ แก้วคำ ประธานชมรมฯ อธิบายถึงแนวคิดในการออกแบบกิจกรรมเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตใน 4 ด้าน คือ ด้านกายใจที่สมบูรณ์ อาจเป็นทักษะพื้นฐานที่เขาสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อดูแลตนเองได้ เช่น ปลูกผัก ทำปุ๋ย ฝึกโยคะ เติมเต็มจิตใจให้มั่นคงและเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อม ด้านทักษะอาชีพ ที่สอดคล้องกับบริบท และตรงความต้องการ เช่น สานตะกร้าใส่ทุเรียน ร้อยพวงมาลัย ทำพิมเสนและสบู่ และทักษะพื้นฐานงานเกษตร ด้านเทคโนโลยี เช่น การใช้ Business Model Canvas วางแผนการจำหน่ายสินค้า และออนไลน์ ด้านทักษะการเงิน เช่น บัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อฝึกวินัยในการเก็บออม และการลงทุนอย่างรู้เท่าทัน โดยมีการติดตามแนะนำ เพื่อให้ผู้ร่วมเรียนรู้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประกอบอาชีพที่สร้างรายได้อย่างแท้จริง รู้จักการบริหารการเงิน ต้นทุนกำไร และวางแผนการผลิต แปรรูป และจำหน่ายอย่างรอบคอบ

“เราพยายามเชื่อมโยงผู้ร่วมเรียนรู้แต่ละพื้นที่เข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องการแบ่งปันความรู้ และความสัมพันธ์ เรามีพื้นที่กลางที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ ช่วยเหลือ และแบ่งปันทุกเรื่องราวของชีวิตต่อกันได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของผู้คนในละแวกนี้ อาจไม่ใช่รายได้หรือเงินทองมากมาย หากคือชีวิตชีวา และการกลับมาพึ่งพาอาศัยกันอีกครั้ง”

พี่รุณ หรือ นางอุไร คลธา อายุ 47 ปี หนึ่งในผู้ร่วมเรียนรู้ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนกับ กสศ. เล่าว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีที่ไหนให้โอกาสเราได้เรียนรู้มากแบบนี้ เพราะตัวเองเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ทุกวันต้องดูแลพ่อสูงอายุที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ และดูแลลูกที่พิการทางสติปัญญา การได้เข้ามาร่วมเรียนรู้กับชมรมฯ ทำให้มีความสุข จากที่ต้องเครียดอยู่บ้านคนเดียว ก็ได้มีสังคมใหม่ มีพื้นที่ที่เราสามารถมาเจอเพื่อน มาเรียนรู้ และนำความรู้กลับไปประกอบอาชีพที่บ้านได้ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำสบู่ มีความสุขที่ครอบครัวมีส่วนร่วม ลูกทำได้ แม่ทำได้ ช่วยกันทำ และช่วยกันขาย

เช่นเดียวกับ พี่เล็ก หรือ นางสาวจินดารัตน์ เจริญเดชเดชากิจ อายุ 59 ปี บอกว่า ที่ผ่านมาตัวเองไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกจากบ้านเพราะไม่รู้จะไปไหน ทั้งยังต้องดูแลพี่ชายที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ด้วย แต่ดีใจที่วันนี้มีพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้ออกมาเจอเพื่อน มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน เป็นกำลังใจให้กันตอนนี้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับไปทำที่บ้าน ทั้ง สบู่ พิมเสนน้ำ และปลูกต้นอ่อนทานตะวันขาย พอให้มีรายได้เพิ่มมาใช้ในครอบครัว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ตอนนี้มีความสุขและสบายใจมากๆ

ส่วน น้องเบส หรือ นายปรนัย สีเขียวสด อายุ 24 ปี หนึ่งในผู้ร่วมเรียนรู้ที่เป็นเยาวชนนอกระบบการศึกษา เล่าพร้อมแววตาที่สื่อถึงความอิ่มใจว่า ชีวิตที่ผ่านมาอาจจะเกเรมากไปหน่อย แต่ตอนนี้พยายามจะพัฒนาตัวเองในทุกเรื่อง การได้มาร่วมเรียนรู้กับชมรมฯ เป็นแรงบันดาลใจและเติมเต็มชีวิตให้เรามากๆ เพราะทุกคนที่นี่เข้าใจ ไม่เคยมีใครทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ หลายคนพร้อมรับฟังปัญหาที่เราเผชิญ ตอนนี้เรียน สกร. ไปด้วย และวางแผนจะนำความรู้ที่ได้กลับไปเปิดร้านขายต้นไม้เล็กๆ ที่บ้าน พยายามพาตัวเองให้กลับมาเดินในเส้นทางที่ดีเพื่อเดินตามสิ่งที่ฝันอีกครั้ง และพิสูจน์ตัวเองเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากแม่ให้กลับคืนมา“อนาคตผมอยากสมัครเป็น สส. เพราะการช่วยเหลือและทำเพื่อคนอื่นเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ”

นางสาวชูสะอาด กันธรส ที่ปรึกษาสำนักบริหารเงินอุดหนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ. กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้พวกเราทีมงาน กสศ. เห็นความจริงที่งดงามเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยจัดการเรียนรู้ในพื้นที่ที่ใช้ทั้งประสบการณ์ ความรู้และความจริงใจ ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโอกาสไปสู่คนที่กำลังใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากให้ได้พบแสงสว่างในชีวิตอีกครั้ง 

ขณะที่นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า พื้นที่นี้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาทักษะให้ผู้คน พัฒนาความคิด และเยียวยาจิตใจ ด้วยการใช้ชุมชนเป็นฐานที่แท้จริงเพราะขับเคลื่อนด้วยคนที่เคยอยู่ในชุมชนเอง และยังใช้คนในชุมชนที่ประกอบอาชีพด้านนั้น ๆ อยู่แล้วมาร่วมเป็นแกนนำถ่ายทอดความรู้ ทำให้ชุมชนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ และเขามีส่วนร่วม เพราะเขาเป็นคนที่รู้จักพื้นที่ที่เขาอยู่ได้ดีที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่ากิจกรรมต่าง ๆ นั้นคือการสร้างพื้นที่กลางพื้นที่ปลอดภัย ที่จะกลายเป็นสังคมของการเรียนรู้ร่วมกันต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดของผู้คนที่นี่