วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสมาคมมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบการบูรณาการขับเคลื่อนตัวแบบความร่วมมือระดับท้องถิ่นในการสร้างโอกาสทางการศึกษา-เรียนรู้ของเยาวชนนอกระบบการศึกษา นำโดย ‘ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ’ กรรมการบริหาร และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ., ‘นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์’ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ., ‘นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์’ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาทักษะเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ, ‘ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์’ ที่ปรึกษาอาวุโสองค์กรระดับประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรมชาติ (IUCN-THAILAND) และผู้ทรงวุฒิ กสศ., ‘นายพลวัฒน์ การุญภาสกร’ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกคองท้องถิ่น, ‘ดร.อุบล ยะไวท์ณะวิชัย’ นายกสมาคมมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข และ ‘ดร.อิทธิพล มาชื่น’ ผู้จัดการโครงการพัฒนาตัวแบบความร่วมมือระดับท้องถิ่นในการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ของเยาวชนนอกระบบการศึกษา จากสมาคมมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข
การจัดประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้คณะทำงานจาก 5 พื้นที่ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สวด จ.แม่ฮ่องสอน, เทศบาลตำบลลำปางหลวง จ.ลำปาง, มหาวิทยาลัยมหิดล และเทศบาลนครสวรรค์, สมาคมไทสิกขา และเทศบาลนครขอนแก่น, องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท จ.สุรินทร์ ที่ดำเนินงานในระยะต้นแล้วได้มองย้อนทวนการทำงานของตนเอง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการดำเนินงานร่วมกับเพื่อนๆ จากท้องถิ่นอื่น เพื่อหาแนวทางการทำงานในระยะกลาง และปลาย ร่วมกัน เพื่อถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ในการเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจและขยายผลต่อไปให้กระเพื่อมถึงระดับนโยบายของประเทศ อีกทั้งยังมี 3 พื้นที่ท้องถิ่นใหม่จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ เทศบาลนครศรีธรรมราช เทศบาลเมืองปากพูน และเทศบาลเมืองทุ่งสง ที่จะมาร่วมขับเคลื่อนกลไกการทำงานระดับท้องถิ่นร่วมกันกับ กสศ. ในครั้งนี้ด้วย
‘นายพลวัฒน์ การุญภาสกร’ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกคองท้องถิ่น กล่าวว่า “การขับเคลื่อนงานในระดับท้องถิ่นครั้งนี้มีจุดหมายสำคัญอยู่ที่เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และเด็กเสี่ยงหลุด ที่จะเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งในการทำงาน ไม่ว่าทุกคนจะมาจากต่างที่ ต่างถิ่น ต่างบริบทกัน แต่ทุกคนล้วนมีประสบการณ์ที่มาก มีเทคนิคที่ต่าง ซึ่งจะได้นำมาแลกเปลี่ยนกัน และทำให้ กสศ. ได้เรียนรู้บทเรียนครั้งสำคัญเพื่อเป็นตัวแบบที่จะขับเคลื่อนงานต่อไปในอนาคต”
ด้าน ‘ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย’ นายกสมาคมมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข ได้กล่าวเสริมถึงสาเหตุที่ต้องทำงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ไม่ต้องการให้พวกเขาเสียโอกาสทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นประตูสำคัญที่จะเปิดไปสู่โอกาสต่างๆ มากมายในชีวิต รวมถึงการหลุดพ้นจากวังวนของความยากจนข้ามรุ่น ซึ่งนับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Zero Dropout โดย ‘นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์’ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การทำงานกับท้องถิ่น และการหารือร่วมกันวันนี้จะไปช่วยเสริมให้นโยบายนี้บรรลุเป้าประสงค์ได้ เนื่องจากทั้ง กสศ. และพื้นที่อื่น ๆ ต่างก็ได้แนวคิดและวิธีการที่หลากหลายที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ซึ่งส่วนสำคัญคือ “ข้อมูล” หากทุกพื้นที่มีข้อมูล ทั้งตัวเลข บริบท และความต้องการของเด็กและเยาวชนที่แน่ชัด จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างทันท่วงที
ซึ่งการศึกษาจะต้องเป็นการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตรงใจ และตอบโจทย์ชีวิตของเด็กและเยาวชนด้วย โดย ‘ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ’ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอยู่ที่ประมาณ 1,050,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่จะต้องร่วมหารือกันเพื่อช่วยเหลือเด็กเหล่านี้โดยเน้นไปที่ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น” ที่ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน ที่จะต้องทำให้เด็กมีสิทธิ์เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่เขาต้องการและสามารถอยู่ร่วมและอยู่รอดในสังคมได้ อาทิ โมเดลการศึกษา 1 โรงเรียน 3 ระบบ ที่ กสศ. กำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้ จะเป็นการสร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ ยังได้กล่าวถึงหลักการทำงานที่สำคัญกับเด็กและเยาวชน ว่า “แม้แต่ละพื้นที่จะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน แต่ขอเน้นย้ำว่า อย่าไปทำร้ายเด็ก อย่าตีตราเขา เราต้องเปลี่ยนความคิดและอคติที่มี หันหน้าและเดินไปพูดคุยกับเขา ฟังเสียงของเขาด้วยหัวใจ แล้วจะพบกับความต้องการที่แท้จริงของเขา จากนั้นจัดกิจกรรมคัดสรรให้เขาได้มีส่วนร่วมในการคิด วางแผนสิ่งที่อยากจะทำด้วยตัวเอง โดยเรามีหน้าที่แค่สนับสนุน อย่าไปยัดเยียดสิ่งที่เขาไม่ต้องการให้ เมื่อนั้นเขาจะเกิดการตั้งคำถามและอยากทำสิ่งดีๆ เพื่อท้องถิ่นและชุมชนของตัวเองเอง”
ด้าน ‘ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์’ ที่ปรึกษาอาวุโสองค์กรระดับประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรมชาติ (IUCN-THAILAND) และผู้ทรงวุฒิ กสศ. กล่าวว่า “แม้แต่ละพื้นที่จะทำงานต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ เรากำลังทำงานเพื่อเดินทางไปสู่ความเสมอภาค ซึ่งการทำงานบนฐานของวัฒนธรรม ธรรมชาติ และการเคารพความแตกต่างจะดีที่สุด เพราะวันนี้เราได้เห็นแล้วว่าความแตกต่างล้วนมีคุณค่า และเป็นบทเรียนสำคัญที่แต่ละพื้นที่จะนำความแตกต่างที่ได้จากต่างที่ไปต่อยอดการทำงานของตัวเองให้เกิดประสิทธิภาพและบรรลุเป้าประสงค์ที่สุด และสิ่งที่ไม่ควรลืมของการทำงานระดับท้องถิ่น คือ ต้องร่วมมือจากภายใน ต้องดึงคนในชุมชนมามีส่วนร่วมและเป็นเจ้าภาพร่วมในการทำงานด้วย”
“การทำงานครั้งนี้ เราไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่เราทำเพื่อเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ ดังนั้นท้องถิ่นจึงสำคัญในฐานะที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด ให้มันระเบิดจากภายใน ให้ทุกหน่วยงานมองเห็น เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพที่จะมาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้จริงๆ ฉะนั้นคำตอบจึงอยู่ที่ท้องถิ่น” ‘นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์’ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาทักษะเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวปิดท้าย