สานพลังพื้นที่…ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา

ใจฟูไปกับพื้นที่ตำบลโนนสมบูรณ์ จังหวัดบึงกาฬ และ เรือนจำกลางอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ที่ได้เปิดประตูโอกาสสร้างการเรียนรู้และความเสมอภาคให้กับผู้ร่วมเรียนรู้ทุกช่วงวัยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อวันที่ 4-5 เมษายน 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่ “สานพลังพื้นที่…ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา” ณ จังหวัดบึงกาฬ และอุดรธานี

“การเรียนรู้ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้เห็นโมเดลต้นแบบการทำงานกับคนทุกประเภทและทุกช่วงวัย ซึ่งตอบโจทย์ภารกิจหลักของ กสศ. ตามนโยบายของจังหวัดบึงกาฬ คือ สร้างเมือง สร้างคน สร้างรายได้ โดยที่ผ่านมา กสศ. ได้ทำงานหลากหลายโครงการฯ ทั้งยังร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดบึงกาฬในการคัดกรองเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและต้องการความช่วยเหลือ โดยพบว่ามีอยู่กว่า 4,700 คน ซึ่งปัจจุบัน กสศ. ก็ได้ดึงความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันแก้ปัญหาในส่วนนี้” นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าว

การเรียนรู้ครั้งนี้มีใจความสำคัญคือ “การพัฒนาคน” เพราะแม้เพียง 1 คน หากได้รับการพัฒนาที่ดีจะเป็นตัวคูณสำคัญให้พื้นที่สามารถเดินต่อไปได้ด้วยตนเอง เฉกเช่นกับกลุ่ม ก.กก บึงกาฬ ที่แม้วันนี้จะไม่รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กสศ. แล้ว แต่รากฐานที่ กสศ. และคณะทำงานในพื้นที่ได้ร่วมกันสร้างอย่าง “รุกถึงที่ ลุยถึงถิ่น” ไว้ตั้งแต่ต้นน้ำ ก่อให้เกิดความงอกงามที่ปลายน้ำ อันจะเห็นได้จากพ่อแม่พี่น้องในชุมชน ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กเล็ก เด็กโต หรือแม้แต่วัยแรงงานต่างหันกลับมาคืนถิ่นฐาน สร้างการเรียนรู้และอาชีพด้วยต้นทุนที่มีอย่าง “กกและผือ” ที่ไม่ได้มีมูลค่ามาก แต่วันนี้พวกเขาพัฒนาให้เกิดทั้งมูลค่าและคุณค่า เหนือสิ่งอื่นใดเกิดเป็นสายใยที่เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของคนในชุมชนและครอบครัวให้กลับมาอยู่พร้อมหน้าและก้าวเดินไปสู่ความยั่งยืนด้วยกัน

รวมถึงสร้างพื้นที่กลางในชุมชนให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้และจัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับพี่น้องในชุมชน ทั้งยังร่วมกันคิดเดินหน้าสร้างทาง สร้างการเรียนรู้ในการลดจำนวนเด็กที่กำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือแม้แต่คนที่หลุดแล้วในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬกว่า 4,700 คน ให้มีโอกาสได้กลับมาเข้าสู่ระบบการศึกษาที่มีทางเลือกและทางรอด สามารถออกแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตได้ด้วยตนเอง

“ก.กก บึงกาฬ เติบโตขึ้นมาด้วยคำสำคัญ คือ การเรียนรู้ และจะไม่จบแค่ในพื้นที่เท่านั้น แต่ในอนาคต กสศ. วางแผนที่จะ MOU ร่วมกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้พื้นที่อื่นได้มาเห็นต้นแบบ และคิดต่อยอดทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์ขึ้น รวมถึงใช้การเรียนรู้เป็นเครื่องมือสร้างคนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความเป็นปึกแผ่นในชุมชน ทั้งยังเกิดการลื่นไหลของการศึกษานอกระบบเข้าไปสู่รั้วโรงเรียนในระบบด้วยการเชื่อมโยงหลักสูตรท้องถิ่นได้อย่างที่ ก.กก บึงกาฬ ทำ ซึ่งหากทำได้ เราจะเห็นอนาคต และการเติบโตอย่างเข้มแข็งของทั้งคนและชุมชน” ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรแรงงานนอกระบบ กสศ. กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในอนาคต

ด้านการเรียนรู้ในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวโคกก่อง จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นการเปิดประตูโอกาสครั้งสำคัญของคนหลังกำแพงทั้งในและนอกรั้ว ที่แม้จะต่างบริบทกัน แต่ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ได้มองเห็นใจกัน และได้ช่วยเหลือกัน

“คนเราเมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ก็เดินทางผิดได้ทุกเมื่อ แต่ที่แห่งนี้กลับชวนเขาปลดล็อคความมืดมนในจิตใจ และเปิดประตูแห่งโอกาส ให้เขาก้าวเข้ามาสู่การจุดประกายความฝันครั้งใหม่ จุดชนวนให้เขาได้มองเห็นคุณค่าและรู้ถึงศักยภาพของตัวเอง นี่คือสิ่งสำคัญ เพราะการที่เขาสามารถเปลี่ยนความคิดตัวเองได้ ชีวิตเขาจะเปลี่ยน” นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. กล่าว

เช่นเดียวกับนางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์’ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ก็ได้มองว่า “การเรียนรู้ครั้งนี้เป็นการเปิดประตูโอกาสครั้งสำคัญที่ให้ กสศ. และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาเห็นกระบวนการทำงานที่มีคุณค่า รวมถึงได้ทำงาน และวางแผนอนาคตร่วมกันถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจ ซึ่งต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ร่วมเรียนรู้ได้มีทักษะชีวิตที่จะสามารถอยู่ร่วมและอยู่รอดในสังคมได้ รวมถึงในอนาคตอยากให้ร่วมกันส่งเสริมทักษะอื่นที่จำเป็นในปัจจุบัน เช่น ใช้ทักษะดิจิทัลในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีองค์ความรู้กว้างมาก หากเราสามารถพัฒนาผู้ร่วมเรียนรู้ให้เป็นนักการเรียนรู้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้ ก็จะทำให้เกิดการขยายโอกาสในชีวิตของเขามากยิ่งขึ้น”

“เรากำลังทำเรื่องเล็กๆ ให้เกิดความยิ่งใหญ่เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ทั้งรุนแรง ทำให้คนต้องจำใจพลัดถิ่น หรือเดินหันหลังให้สังคมแล้วก้าวเข้าสู่หนทางที่มืดมน ซึ่งการทำงานนี้ตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก เพราะเรากำลังสร้างความเสมอภาคให้กับคนทุกคนโดยไม่แบ่งแยกว่าเขาเป็นใคร มีความสามารถแค่ไหน หรือเคยทำผิดพลาดอะไร แต่เรามองว่าทุกคนมีศักยภาพ สามารถที่จะพัฒนาได้ ซึ่งหากในพื้นที่มีคนทำงานจริงจังอย่างในพื้นที่ที่เราได้ร่วมเรียนรู้บวกกับได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ทั้งสร้างนิเวศการเรียนรู้ร่วมและสร้างรากฐานให้คนและชุมชนเกิดความเข้มแข็ง รวมถึงเกิดพลังกลุ่มใหญ่ในการขับเคลื่อนงานนี้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ จนถึงระดับประเทศได้” ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ภายในงานยังได้จัดบูธแสดงสินค้าชุมชนจากหน่วยจัดการเรียนรู้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้แต่ละคนได้มาเรียนรู้ และจับจ่ายใช้สอย เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมถึงบริษัท อัตลักษณ์ จำกัด ยังได้เปิดตัว “วิสาหกิจส่งเสริมคนดีสู่สังคมไม่จำกัด” เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยและพักพิงใจให้กับผู้พ้นโทษได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ได้มีที่พึ่งพิง ได้มีอาชีพ และที่ยืนในสังคม

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่ครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. นางณัฐกฤตา พึ่งสุขผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ กลุ่มเป้าหมายพิเศษ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บงกชรัตน์ ล้ำเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน กสศ. และนายพรเทพ เจริญผลจันทร์ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน กสศ. ร่วมด้วย นางรัศมี อืดผาครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ และที่ปรึกษาศูนย์การเรียนรู้ ก.กก บึงกาฬ คุณปิ่นมนัส โคตรชา ผู้รับผิดชอบโครงการ ฅ.คนกลับใจ วิถีอาชีพเพื่ออนาคต จากบริษัท อัตลักษณ์ จำกัด และ ดร.ศศิณี กันยาบุญผู้รับผิดชอบโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพสำหรับผู้ต้องขัง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สามหัวเรือใหญ่ที่ทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ภายใต้โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ร่วมเรียนรู้ให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียม

ทั้งยังได้รับเกียรติจากศึกษาธิการจังหวัดบึงกาฬ, สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดบึงกาฬ เลย ร้อยเอ็ด และขอนแก่น บางอำเภอ, หน่วยงานภาคีเครือข่ายในจังหวัดบึงกาฬ, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์บึงกาฬ และโรงเรียนโพธิ์ทองวิทยานุสรณ์ เข้าร่วมเรียนรู้ในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ตำบลโนนสมบูรณ์ จังหวัดบึงกาฬ รวมถึงในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวโคกก่อง จังหวัดอุดรธานี ได้รับเกียรติจาก นายจักร ลิ่มบุตร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางขอนแก่น ประธานเขต 4 พันเอกปริวรรตน์ วิมลปรีชาพงษ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เข้าร่วมการเรียนรู้ในครั้งนี้ด้วย