5 เทคนิคสะกิดพฤติกรรมให้ลูกลงมือทำและเรียนรู้ แนะนำโดย ภก.ณภัทร สัตยุตม์ นักจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม CBT

พูดถึงเรื่องการเรียนรู้ช่วงเวลานี้ การนั่งเรียนจากจอสี่เหลี่ยม การหยิบหนังสือมาอ่าน หยิบการบ้านมาทำของลูกๆ เวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะแนะนำให้ทำอะไรก็เป็นเรื่องยากไปเสียหมด จะพูดบอกอะไรก็กลายเป็นบ่น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราจะพอทำอะไรได้บ้างให้ลูกๆ ยังสามารถเรียนรู้ และเลือกที่จะลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่นั่งเฉยๆ ปล่อยเวลาให้หมดไปในแต่ละวัน 

วันนี้ขอเสนอเรื่อง  “5 เทคนิคสะกิดพฤติกรรมให้ลูกลงมือทำและเรียนรู้”

การสะกิดพฤติกรรมคืออะไร?

พฤติกรรม คือ การกระทำหรือแสดงออกเมื่อมีอะไรมากระตุ้น โดยสิ่งกระตุ้นนั้นอาจจะเป็นสัญญาณอะไรบางอย่าง หรือเป็นสิ่งแวดล้อมในเวลานั้นๆ โดยการสะกิดพฤติกรรม (nudge) คือ การที่เราออกแบบสิ่งแวดล้อม ออกแบบทางเลือกไว้ โดยมีเจตนาโน้มน้าวให้คนทำพฤติกรรมในแบบที่เราตั้งใจโดยไม่บังคับ 

เทคนิคที่ 0 : การระบุพฤติกรรมให้เจาะจง

จุดเริ่มต้นคือการระบุพฤติกรรมให้ “เจาะจง” แทนที่จะบอกว่า “ตั้งใจเรียนหน่อย” ให้บอกชัดเจนเลยว่าเราต้องการเห็นอะไร เช่น “ทำการบ้านเสร็จ” “ท่องคำศัพท์ได้ครบ” “อ่านหนังสือจบบท” “อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่าวันนี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง” 

การชื่นชมในสิ่งที่เขาทำได้ดีก็เช่นกัน  ชื่นชมโดยหยอดกระปุกให้กับพฤติกรรมที่เจาะจง เช่น แทนที่จะบอกว่า “เก่งมาก” “ฉลาดมาก” “เยี่ยมไปเลย” ก็พูดให้เจาะจงเลยว่า “แม่ดีใจที่วันนี้ลูกทำการบ้านเสร็จ” “ขอบคุณนะที่วันนี้เล่าให้ฟังว่าลูกได้เรียนรู้อะไร” 

การเจาะจงไปที่พฤติกรรม จะช่วยทำให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ทำแล้วเราชื่นชม เขาก็มีแนวโน้มที่จะทำซ้ำอีกในอนาคต

เทคนิคที่ 1 “สร้างทางเลือกให้เขาเลือกเอง”

แทนที่จะแนะนำหรือสั่งในแบบที่ลูกรู้สึกฝืนใจ เหมือนถูกสั่งว่าต้องทำอะไร ให้เราสร้างตัวเลือกเตรียมไว้ให้เขาเป็นคนตัดสินใจ เช่น “จะทำอะไรก่อนดีวันนี้ จะทำการบ้านก่อนแล้วค่อยกินข้าว หรือจะกินข้าวก่อนดี” 

การให้ทางเลือกจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกมากขึ้น ว่าเขาเป็นคนได้ตัดสินใจ และเรายังสามารถออกแบบทางเลือก ที่ไม่ว่าทางไหนก็เป็นประโยชน์และดีกับเขาได้อีกด้วย

เทคนิคที่ 2 “เริ่มให้ก่อน เมื่อเริ่มแล้วก็อยากทำให้จบ”

เคยไหมที่เวลาเราไปซื้อของแล้วมีการสะสมตราปั๊มหรือสะสมแสตมป์ เมื่อเริ่มสะสมแล้วเราก็อยากจะเก็บให้ครบ การเริ่มสะสมไปสักระยะหนึ่งแล้วจะให้ทิ้งหรือเลิกก็จะรู้สึกเสียดาย ทำให้สุดท้ายแล้วเหมือนถูกผูกมัด ให้ทำต่อไปจนจบ 

พฤติกรรมของลูกก็เหมือนกัน การจะให้เขาเริ่มต้นด้วยตัวเองอาจเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราลงมือทำด้วยกันตอนแรกๆ  แล้วจึงค่อยถอยออกมา เขาจะมีแนวโน้มทำต่อไปจนจบได้มากกว่า 

สิ่งสำคัญคือการกำหนดเป้าหมายให้ชัดว่า ทำไปถึงจุดไหนแปลว่าเสร็จ เพราะระหว่างทางเขาจะรู้สึกว่าอีกนิดเดียวก็เสร็จแล้ว ทำต่อไปให้เสร็จเลยดีกว่า

เทคนิคที่ 3 “ทำให้เห็นเด่นชัด”

การใช้ชีวิตบางทีก็มีสิ่งดึงความสนใจเราหลายอย่าง การต้องเลือกว่าจะสนใจอะไรเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลัง  การเตรียมสิ่งแวดล้อมให้โล่ง โปร่ง และมีสิ่งรบกวนน้อยๆ จะช่วยทำให้ไม่มีอะไรมาดึงดูดความสนใจลูก

“การทำให้เด่นชัด” อาจจะเป็นการจัดพื้นที่แยกแยะเลยว่า พื้นที่นี้คือที่สำหรับเรียนรู้และทำการบ้าน พื้นที่นี้เอาไว้สำหรับการเล่น หรือหากในบ้านที่ไม่มีพื้นที่ ก็อาจจะเป็นการเก็บของบางอย่างลง ทำให้โล่ง เหลือแต่อุปกรณ์และสิ่งที่ต้องใช้ในแต่ละกิจกรรม จะทำให้การลงมือทำสิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เมื่อพฤติกรรมการเรียนรู้ทำได้ง่ายและสะดวก โอกาสที่จะลงมือทำก็มากขึ้น

เทคนิคที่ 4 “ออกพฤติกรรมล่วงไว้ให้เป็นแผนรับมือ”

ปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนเราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดีนัก คือ “อารมณ์” เวลาที่อารมณ์เย็นเราก็มักจะจินตนาการไม่ออกว่า เราตอนอารมณ์ร้อนจะเป็นอย่างไร และมักชะล่าใจว่าเราคงไม่ทำแบบนั้นหรอก เราจะบังคับตัวเองได้เมื่อถึงเวลานั้น แต่ร้อยทั้งร้อยเมื่อถึงสถานการณ์นั้นจริงๆ เราก็พลาดท่าเสียทีให้กับตัวเองอยู่เสมอ

วิธีแก้คือการวางแผนรับมือว่า “ถ้าเกิดแบบนั้น…ฉันจะทำแบบนี้” เช่น ถ้าถึงเวลาแล้วขี้เกียจอ่านหนังสือ จะบอกกับตัวเองว่า “ทำตามแผน ไม่ทำตามอารมณ์” หรือ “มันยากตอนเริ่มแค่นั้นแหละ พอเริ่มแล้วก็ทำต่อได้เอง” 

ชวนลูกตั้งเป้าหมายในช่วงที่ลูกมีแรงบันดาลใจหรือตอนที่เขาอารมณ์เย็น โดยวางแผนให้เห็นเป็นภาพชัดเจน ระบุให้ชัดว่าจะทำอะไร เวลาไหน แล้วอาจเตรียมอุปกรณ์ล่วงหน้าวางไว้ ทำให้ตอนจะทำก็ทำได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาหรือพลังในการเตรียมของอีก

อาจใช้วิธีการเตือนด้วยการตั้งนาฬิกาปลุก พอนาฬิกาเตือนปุ๊บให้ทำปั๊บ หรืออาจจะตกลงกับคนในครอบครัวว่าให้สะกิดเตือนกันด้วยวิธีอะไร มีรหัสลับอะไรไหม เช่น ถ้าแม่เอามือแตะบ่าแปลว่าถึงเวลาทำการบ้านแล้ว การมีสิ่งเตือนจะช่วยทำให้เรานึกถึงแผนที่วางไว้และเอาชนะอารมณ์ได้

การ “มัดรวมพฤติกรรม” (temptation bundling) และ “ต่อคิวพฤติกรรม” (behavior stacking) ก็เป็นเทคนิคที่ดี คือการเอาสิ่งที่ต้องทำที่ไม่ค่อยชอบทำไปผูกไว้กับสิ่งที่ชอบ เช่น ระหว่างออกกำลังกายก็เปิดการ์ตูนหรือเพลงที่ชอบไปด้วย 

หรือการเอาสิ่งที่ต้องทำไปต่อท้ายกิจกรรมที่ต้องทำอยู่แล้วเป็นกิจวัตร เช่น จะทำการบ้านทันทีที่อาบน้ำเสร็จ หลังกินข้าวเสร็จจะทวนคำศัพท์ 10 คำ ทุกวันก่อนเข้านอนจะเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าวันนี้ได้เรียนรู้อะไร 

การมีจุดให้อ้างอิงและมีสิ่งที่พอใจเป็นจุดนำ จะช่วยทำให้พฤติกรรมที่เราหวังไว้เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ 

เทคนิคที่ 5 “ทำให้เห็นประโยชน์เด่นชัด นับได้เดี๋ยวนี้”

จากการศึกษาพบว่า วันที่เด็กๆ มีความตั้งใจและเรียนรู้ด้วยตัวเองได้มากที่สุดคือ “วันหลัง” การผัดวันประกันพรุ่งส่วนหนึ่งมีต้นเหตุมาจากทางลัดของสมองที่ชอบ “สุขเดี๋ยวนี้ สุขทันที” (Present bias)  เมื่อมีอะไรที่ทำให้เราสุขได้ทันที เราก็มักจะคว้าสิ่งนั้นไว้ก่อน 

การเรียนรู้หรือฝึกฝนอะไรต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นผลลัพธ์หรือได้ประโยชน์ทันที แต่จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต เราจึงมักพ่ายแพ้ต่อความสุขในปัจจุบัน แล้วผัดผ่อนอะไรที่เป็นความเจ็บปวด เป็นความยากไว้ทำทีหลัง

สิ่งที่จะช่วยได้คือการทำให้ประโยชน์หรือ “รางวัล” นั้นเห็นเด่นชัดได้เดี๋ยวนี้ หรือทันทีหลังทำเสร็จ เช่น เมื่อทำการบ้านเสร็จ ก็ให้ทำสัญลักษณ์ไว้บนปฏิทินว่าทำสำเร็จไปได้อีกหนึ่งวัน

การทำให้เห็นเด่นชัดและเห็นความต่อเนื่อง จะกลายเป็นแรงจูงใจใหม่ ที่ทำให้อยากทำอีกในวันต่อไป เพราะไม่อยากเสียสถิติ ซึ่งเป็นการช่วยให้รางวัลหรือประโยชน์ที่ไม่ชัดเจนและอยู่ไกลๆ ย้ายมาไว้เดี๋ยวนี้ 

มองมุมกลับ ปรับวิธีการ ปรับสิ่งแวดล้อม และออกแบบตัวเลือก

วิธีการส่วนใหญ่จะเน้นไปที่พฤติกรรมของเราที่ปฏิบัติต่อลูก และสะกิดพฤติกรรมของลูกด้วยการจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมหรือทางเลือกเอาไว้ล่วงหน้า หากการให้ความรู้ความเข้าใจใช้ไม่ค่อยได้ผลในเวลานี้ อาจจะลองเปิดใจให้วิธีทางพฤติกรรมเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เมื่อเขาได้ลงมือทำไปสักระยะ เขาอาจจะมีประสบการณ์ใหม่ๆ มาใช้ทำความเข้าใจความหวังดีและเจตนาที่ดีของเราก็ได้

สิ่งที่อยากจะฝากเป็นเรื่องสุดท้ายในมุมมองของพฤติกรรมคือ “การจับถูกมากกว่าจับผิด” เมื่อเขาทำอะไรที่เป็นพฤติกรรมที่ดี ก็ให้เราเสริมแรงให้กับพฤติกรรมนั้น มากกว่าการเอ่ยปากบ่นหรือลงโทษเฉพาะเวลาที่เขาทำอะไรผิด 

การเสริมแรงที่ดีคือการเสริมแรงด้วยความสัมพันธ์ ความรัก เคารพกัน และให้อภัย สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจของการบ่มเพาะพฤติกรรมที่ดี ที่จะติดตัวน้องๆ ไปในอนาคต 

ท้ายนี้อยากจะบอกว่า

“ผมชื่นชมคุณพ่อคุณแม่ที่ค้นคว้าศึกษาหาเทคนิควิธีใหม่ๆ ไปใช้ดูแลน้องๆ มากเลยครับ เป็นกำลังใจให้กับทุกหัวใจที่รักและหวังดีต่อลูกทุกคนครับ”