เมื่อวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และจังหวัดราชบุรี เปิดงาน All for Education Ratchaburi Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน รวมพลังคนราชบุรีไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อรวมพลังชาวราชบุรี ผลักดันให้จังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่แห่งแรกในประเทศไทยที่จะไม่มีเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาภายในปี 2567 ณ บริเวณริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนา เทศบาลเมืองราชบุรี ถนนวรเดช ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
งาน All for Education Ratchaburi Zero Dropout นับเป็นการปักหมุดแห่งรูปธรรมครั้งสำคัญของโครงการ ราชบุรี Zero Dropout – เด็กทุกคนต้องได้เรียน ซึ่งเริ่มดำเนินงานตามแผนระยะยาว 3 ปี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยจังหวัดราชบุรีได้รับเลือกให้เป็นโมเดลต้นแบบในการสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับประเทศ เพื่อช่วยเด็กหลุดจากการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ ภายในปี 2567 ซึ่งมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสมัชชาการศึกษาราชบุรี เป็นผู้ดำเนินงานหลัก ร่วมด้วย บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ได้สนับสนุนเงินทุนในโครงการจำนวน 100 ล้านบาท เพื่อจุดประกายให้ทุกคนมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเดียวกันคือ ให้เด็กทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม
การออกแบบงาน All for Education Ratchaburi Zero Dropout ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 – 25 พฤษภาคม 2567 จึงมาพร้อมแนวคิดในการเปิดพรมแดนการเรียนรู้ไร้ขอบ สลายกรอบการศึกษาใน-นอกระบบ ภายใต้กิจกรรม 6 โซนสุดสนุก ที่อยากชวนคนทุกเพศ ทุกวัย จากทุกวงการที่มีหัวใจเพื่อเด็กเยาวชนมาพบเจอกัน และสนุกสนานไปกับหลากหลาย ‘สภาพอากาศ’ ที่เหมาะกับทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ทุกคน ผ่านการเล่น การคุย นั่งล้อมวงเล่าเรื่องการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ทุกเงื่อนไขชีวิต พร้อมร่วมกันตั้งคำถาม และหาคำตอบว่าด้วยการเติบโตของเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรี เพื่อจุดหมายปลายทางเดียวกัน นั่นคือ ‘เด็กทุกคนต้องได้เรียน’
นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า “งาน All for Education Ratchaburi Zero Dropout เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ให้ชาวราชบุรีได้รับรู้ว่าทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายทั้งหมดพร้อมร่วมกันผลักดัน และสนับสนุนขับเคลื่อน ราชบุรี Zero Dropout – เด็กทุกคนต้องได้เรียน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดราชบุรีที่ต้องการสร้างสังคมคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และความแตกต่าง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่คนไทยต้องได้รับ ด้วยความหลากหลายของเด็กและเยาวชน รวมถึงสถานศึกษาที่ได้คุณภาพในจังหวัดราชบุรี จึงก่อให้เกิด ‘ราชบุรีโมเดล’ ซึ่งเป็นต้นแบบให้กับหลายพื้นที่ จังหวัดราชบุรีขอประกาศวาระสำคัญของจังหวัด กำหนดเป้าหมายขั้นสูงสุด ลดปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ และจะยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้”
นายสมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ภาคเอกชนมีหน้าที่เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันวาระทางสังคมโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการศึกษา บริษัท แสนสิริ เข้าใจเป็นอย่างดีว่าเยาวชนเป็นกำลังสำคัญของประเทศ และจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ขอขอบคุณ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดราชบุรี และหน่วยงานทุกภาคีที่ให้โอกาสเราเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันครั้งนี้ ถึงแม้ว่าประเด็นด้านการศึกษาจะไม่ใช่เรื่องที่ภาคเอกชนจะถนัดนัก แต่ก็รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมกันสร้างกลไกอันยั่งยืนเพื่อให้เด็กและเยาวชนไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา บริษัท แสนสิริ รู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งที่เห็นหลายภาคส่วนมาร่วมแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่าจะช่วยกันผลักดันจังหวัดราชบุรีให้เป็นจังหวัดที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษาโดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์ และเราอยากเป็นตัวอย่างให้ภาคเอกชนรายอื่นสามารถเข้ามาช่วยผลักดันวาระทางการศึกษาได้ในอนาคตเช่นกัน
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า “ราชบุรีโมเดล ถูกวางให้เป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านการศึกษา โดยเฉพาะการสร้างระบบที่ยืดหยุ่นเพื่อให้โอกาสกับเด็กทุกคนได้เรียน ขอขอบคุณบริษัท แสนสิริ รวมถึงสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรี และสมัชชาการศึกษาจังหวัดราชบุรี ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันโครงการนี้ เรากำลังสร้างนวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ให้เป็นต้นแบบของการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษากับคนทั้งประเทศ การจัดกิจกรรม All for Education Ratchaburi Zero Dropout จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ กสศ. จะร่วมเป็นพลังหนุนของชาวราชบุรีให้พื้นที่แห่งนี้เป็นต้นแบบที่สำคัญของประเทศให้ได้
สำหรับภาพรวมความก้าวหน้าของโครงการ ‘ราชบุรี Zero Dropout’ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยเหลือเด็กตั้งแต่อายุ 6 – 24 ปี ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาจำนวน 8,769 คน ผ่านระบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ (การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย) ครอบคลุมทั่วจังหวัดราชบุรีทั้ง 350 โรงเรียนสังกัด สพฐ. 3 เขตพื้นที่การศึกษา และท้องถิ่นทั้ง 10 อำเภอ พร้อมกลไกสหวิชาชีพทุกหน่วยงานและอาสาสมัครสามพลัง (อสม. อพม. และอาสาสมัครการศึกษา) กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด ซึ่งจะทำงานร่วมกันเพื่อให้ปีการศึกษา 2567 นี้ จะไม่มีเด็กและเยาวชนคนไหนหลุดจากระบบการศึกษา ด้วยนวัตกรรมและกลไกใหม่ของจังหวัดราชบุรีที่พัฒนาขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
ติดตามความคืบหน้าของโครงการ ราชบุรี Zero Dropout ได้ที่เว็บไซต์: https://www.eef.or.th