“ตั้งแต่รุ่นปู่มาถึงรุ่นเขา เราก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะพ้นจากความยากจนข้ามรุ่นได้อย่างไร หากยังใช้วิธีการเดิม ๆ”
‘ความฝันของปูแป้น’ คือเรื่องราวของนักเรียนหญิงวัย 17 ปี ที่อยู่ในความเสี่ยงเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาซึ่งถูกถ่ายทอดในรูปแบบสารคดีคนจนเมือง Season 3 ออกอากาศทางทีวีสาธารณะไทยพีบีเอส
ปูแป้น อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ซึ่งป่วยด้วยโรคประจำตัวในห้องเช่า เธอกลายเป็นเสาหลักของครอบครัวในการหารายได้พร้อมไปกับการเรียนหนังสือตั้งแต่เด็ก ด้วยเหตุนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ทุกเมื่อ และหากไปถึงจุดนั้นเมื่อไรย่อมหมายถึงสถานการณ์ที่ยากขึ้นในการหลุดพ้นออกจากวงจรความยากจนในรุ่นของเธอ
‘ความฝันของปูแป้น’ ถูกนำมาเป็นต้นเรื่องในวงเสวนาสาธารณะ “เรื่องเล่าคนจนเมือง : สู่ปฏิบัติการแก้ปัญหาจริง หยุดความยากจนข้ามรุ่นได้อย่างไร” ซึ่งจัดโดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส เมื่อไม่นานมานี้
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา วสศ. ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสกัดปัญหาจากชีวิตของปูแป้น ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาและการพัฒนาสังคมหลากหลายองค์กร เพื่อนำเสนอทางเลือกและหาทางรอดในระบบการศึกษาไทยของเด็กที่มีภาระปัญหาแตกต่างกัน โดยมองว่า กรณีศึกษาของปูแป้นมีความน่าสนใจ เพราะสะท้อนปัญหาสังคมหลายเรื่องเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการศึกษา สุขภาพ สาธารณสุข และเศรษฐกิจ ซึ่งการทำงานของ กสศ. ทราบว่าการให้ทุนช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ กสศ. มองเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน เพื่อระดมความร่วมมือไม่ว่าเรื่องชุมชน การช่วยเหลือทางอาชีพหรือสุขภาพต่าง ๆ ไปด้วยกัน
ดร.ภูมิศรัณย์ ยังกล่าวถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดของ กสศ. ว่าคือการทำให้เด็กหลุดพ้นจากวงจรความยากจนข้ามชั่วรุ่น อย่างกรณีของปูแป้นเผชิญวงจรความยากจนตั้งแต่รุ่นปู่ย่า พ่อแม่ มาถึงรุ่นของเขา ในมุมมองนักการศึกษามองว่ามีหลายเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง หนึ่งในนั้นคือหลักสูตรที่เหมาะสมกับเด็กรายคน เช่น ปูแป้นชอบอาหารและทำอาหารขายอยู่ทุกวัน
“เราต้องโฟกัสไปที่การศึกษาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะหลักสูตรแบบปกติที่ต้องนับเวลาเรียนให้ครบ อาจจะไม่เหมาะกับเด็กทุกคน อย่างกรณีปูแป้นที่ต้องพาแม่ไปโรงพยาบาล อีกทั้งต้องคอยดูแลแม่จึงทำให้ขาดเรียนบ่อย ถ้ามองจากมาตรฐานปกติ น้องเรียนไม่จบแน่นอน”
ดร.ภูมิศรัณย์
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า ชีวิตของปูแป้น ไม่แตกต่างมากนักกับชีวิตของเด็กนักเรียนยากจนในกรุงเทพมหานครซึ่งมีครอบครัวผู้มีรายได้น้อยเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 6,000 คน ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ก็มีลักษณะคล้ายกัน โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ที่ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามภาระค่าครองชีพที่ส่งผลกระทบต่อความฝันด้านการศึกษา
“ในระบบการศึกษาที่ไม่มีความยืดหยุ่นพอ สิ่งที่ตามมาคือปูแป้นจะไม่มีทางหลุดพ้นจากวงจรความยากจนหรือไปสู่การศึกษาที่สูงขึ้นเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น ฉะนั้นจึงต้องมีระบบบางอย่างที่ยืดหยุ่น มีระบบการศึกษาที่มีรายได้หรือเข้ากับตัวเขามากกว่าระบบทั่วไป จะเป็นอาชีวะหรือการเรียนด้านอาชีพอื่น ๆ ก็ว่ากันไป แต่ต้องเรียนรู้ได้และสามารถจัดการเวลาของตัวเองในการดูแลพ่อแม่สลับกับการเรียนได้โดยไม่ต้องขึ้นกับชั่วโมงเข้าเรียนแบบปกติ สิ่งที่เห็นจากสารคดีทำให้อยากโฟกัสในเรื่องนี้มากขึ้น”
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อไปว่า หลังสถานการณ์ระบาดหนักของโควิด-19 มีการพูดถึงสถานการณ์ Learning Loss ค่อนข้างมากว่าจะฟื้นฟูทักษะการเรียนรู้อย่างไร สำหรับเด็กชายขอบ เด็กเปราะบาง หรือเด็กที่อยู่ห่างไกล มีต้นแบบจำนวนมากเรื่องการให้ความช่วยเหลือ มีแนวทาง Freeform school ที่สามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แต่สิ่งที่ต้องเน้นหากต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน ผู้เรียนจะต้องมีองค์ความรู้ระดับหนึ่งที่พร้อมในการก้าวสู่การศึกษาระดับสูงขึ้นต่อไป“มีวิธีการหลายอย่างในการทำเรื่องเหล่านี้ หลายคนพูดถึงกลไกชุมชน เช่น กทม. มีแนวคิดทำโรงเรียนวันเสาร์ โดยมีครูพี่เลี้ยงมาช่วยสอนเสริม หรือในหลายประเทศอย่างอินเดีย ก็มีอาสาสมัครไปสอนเด็กในหมู่บ้านเพื่อให้เขาสามารถอ่านเขียนได้ตามพัฒนาการ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากเพราะเด็กยากจนต้องไม่ใช่เรียนแค่ทำอาชีพเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเรียนเพื่อก้าวไปสู่การมีทักษะขั้นสูงต่อไปด้วย” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวทิ้งท้าย