กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้และสำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ ร่วมกับสมัชชาการศึกษานครลำปาง จัดประชุมเพื่อออกแบบความร่วมมือในการขับเคลื่อนตัวแบบความร่วมมือระดับท้องถิ่นในการสร้างโอกาสทางการศึกษาเรียนรู้แก่เยาวชนนอกระบบการศึกษาในระดับพื้นที่เทศบาลตำบลลำปางหลวง เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ณ ที่ทำการเทศบาลตำบลลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
‘ดร.อิทธิพล มาชื่น’ กรรมการสมาคมมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข กล่าวชี้แจงถึง การจัดการประชุมในครั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างคณะทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดลำปาง ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องจากหลายๆ ภาคส่วน เพื่อที่ว่าในท้ายที่สุด จะเกิดแนวทางการทำงานร่วมกันของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดลำปาง ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กสศ.
‘นางสาววนิดา คุณรอด’ นักวิชาการ กสศ. เสริมว่า กสศ. ทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ซึ่งทำให้เกิดแนวทางการทำงานในหลายๆ รูปแบบ อาทิ งานด้านการศึกษาที่ กสศ. เข้าไปทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษา สกร. และวิทยาลัยชุมชน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็ยังเข้าไปทำงานร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้งานทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน แม้ที่ผ่านมาจะเป็นการทำงานที่ต่างคนต่างทำ แต่เป็นงานที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ “ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย ของ กสศ. คือต้องการช่วยเหลือน้องๆ ที่ขาดโอกาสโดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป
“การจัดงานในวันนี้ กสศ.ชวนภาคีระดับจังหวัดมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสร้างกลไกการทำงานร่วมกันที่นำไปสู่ System ของจังหวัดลำปาง เพื่อใช้เป็นฐานการทำงานในพื้นที่ จึงอยากจะชวนคนลำปางสร้างภาพฝันร่วมกันว่าเราจะทำให้เด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบในจังหวัดลำปางเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพได้อย่างไร เพราะจังหวัดลำปางมีต้นทุนในการทำงานสูง ทั้งงานด้านการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ งานส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่สามารถนำมาเป็นตัวแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้คนทั้งในและนอกพื้นที่ได้มาเรียนรู้ร่วมกันต่อไปในอนาคต”
‘นายสันติพงษ์ ศิลปสมบูรณ์’ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลลำปางหลวง จังหวัดลำปาง กล่าวว่า ผลจากการทำงานทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานร่วมกับ กสศ. กว่าสองปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เทศบาลลำปางหลวงกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงภาครัฐ ภาคเอกชน และมูลนิธิต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือกันสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับคนด้อยโอกาสและผู้คนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ยังเกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชนที่สามารถยกระดับไปสู่การเป็นวิทยากรชุมชนทำหน้าที่ส่งต่อองค์ความรู้ที่เป็นศาสตร์เฉพาะของท้องถิ่นได้ ที่สำคัญคือ ทำให้เทศบาลมีพื้นที่การเรียนรู้และส่งต่อความรู้ มี Food Bank เพื่อดูแลคนในชุมชน โดยวางเป้าหมายของการเป็นตัวแบบในการสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับคนในพื้นที่ พร้อมทั้งกำหนดนโยบายและออกแบบขับเคลื่อนงานด้วยตนเอง เพราะเทศบาลมองว่าโอกาสในการเรียนรู้ คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในพื้นได้ โดยโจทย์สำคัญขณะนี้คือ ทำอย่างไรให้คนทุกช่วงวัยในพื้นที่ได้เรียนรู้อย่างเหมาะสม มีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน ไปจนถึงผู้สูงอายุ สามารถนำความรู้ไปต่อยอดเพื่ออยู่รอดและอยู่ร่วมได้อย่างมีคุณภาพ
โดยเป้าหมายปลายทางคือ การก้าวไปสู่ตำบลแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีชุมชนเป็นฐาน ซึ่งหากมีกลไกหรือคณะทำงานในระดับพื้นที่มาบูรณาการการทำงานร่วมกัน เชื่อว่าจะช่วยยกระดับการทำงานเรื่องตำบลแห่งการเรียนรู้โดยเฉพาะเรื่อง HEET (เห็ด) ซึ่งเป็นโมเดลการทำงานที่เทศบาลตำบลลำปางหลวงสร้างฐานไว้
“ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เทศบาลตำบลลำปางหลวง คือ ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ มีสุขภาพดีเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน”
ทั้งนี้ จังหวัดลำปางยังมีต้นทุนที่เกิดจากการเข้าไปสนับสนุนชมรมเพื่อเพื่อนผู้พิการตำบลแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง พัฒนาเรื่องการสร้างอาชีพให้กับคนพิการในชุมชนผ่าน “โครงการพัฒนาตัวแบบกองทุนเพื่อพัฒนาอาชีพที่เชื่อมโยงกับโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนนและแรงงานนอกระบบ” ภายใต้โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ โดยมีการสร้างกองทุนสวัสดิการให้แก่คนพิการในพื้นที่ โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และที่สำคัญสร้างระบบการดูแลคุณภาพชีวิตคนพิการด้วย “ศูนย์ซ่อมสร้าง” เพื่อเป็นการบริการซ่อมแซม และจัดหากายอุปกรณ์ให้แก่สมาชิกกองทุน ซึ่งรูปแบบการพัฒนาทักษะอาชีพ และคุณภาพชีวิตเกิดจากการออกแบบด้วยตัวคณะกรรมการที่เป็นคนพิการ ทำให้มีความเข้าใจและข้อจำกัดในด้านต่างๆ ของสมาชิกกองทุนที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนพิการในจังหวัดทั้งในเรื่องอาชีพ รายได้ เงินออม รวมทั้งระบบการช่วยเหลือดูแลกลุ่มคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ‘ดร.วิยดา เหล่มตระกูล’ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปางขับเคลื่อนงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (ABE) หรือ Area-based Education ด้วยการเข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความรู้ ความสามารถในการช่วยเหลือดูแลเด็กเยาวชน ทั้งเด็กปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่มีกระบวนการทำงานเหมือนที่เทศบาลตำบลลำปางหลวงดำเนินงานอยู่ เพียงแต่มีกลุ่มเป้าหมายคนละกลุ่ม
ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาคส่วนต่างๆ ทั้งสมัชชาการศึกษานครลำปาง เทศบาลตำบลลำปางหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จะมีการ “บูรณาการ” การทำงานร่วมกันเพื่อให้เด็กเยาวชนและคนทุกช่วงวัยในจังหวัดลำปางได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเกิดแนวทางการทำงานใหม่ๆ ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดลำปางน่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น