เมื่อพ่อแม่ต้องจัดการเรียนรู้ที่บ้านสำหรับลูกวัยประถมศึกษา แนะนำโดย ครูเม-เมริษา ยอดมณฑป (เพจตามใจนักจิตวิทยา)

คำถาม “เด็กประถมศึกษามีความจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรบ้าง?”

คำตอบ ถ้าอ้างอิงตามระบบการศึกษา เนื้อหาของวิชาหลักได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทยอังกฤษ สังคมศึกษา ศิลปะ งานบ้าน งานประดิษฐ์ พลศึกษา ล้วนเป็นวิชาที่เด็กๆ วัยนี้จะได้เรียนในห้องเรียน 

แต่ในกรณีสถานการณ์โควิด-19 ที่เด็ก ๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ ทำให้จำเป็นต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์หรือเรียนเองที่บ้าน ทางบ้านสามารถจัดการเรียนรู้อย่างไรให้เหมาะสมกับวัยของเด็กได้บ้าง 

ในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวทางการจัดการเรียนรู้ และพิจารณาเลือกงานหรือการบ้านที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ให้กับคุณพ่อคุณแม่

หากอ้างอิงตามพัฒนาการตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม (Psychosocial Development) ของ อีริก อีริกสัน จะเห็นถึงความสำคัญที่เด็กควรทำได้​ และสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรมอบให้ในช่วงวัยประถมศึกษา 6-12 ปี เป็นไปดังนี้

บันไดขั้นที่ 4 พัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนเอง เพื่อสร้างการยอมรับจากตัวเองและผู้อื่น

เด็กวัยนี้สามารถพัฒนาทักษะความสามารถในทุกด้าน และมีความสามารถในการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น จึงทำให้พวกเขามีความต้องการฝึกฝนทักษะใหม่ๆ อย่างหมั่นเพียร (Industry) เช่น การได้ทำงานได้ สำเร็จด้วยตนเอง การทำบางสิ่งที่ทำให้สังคมยอมรับในตัวเขา หรือแม้กระทั่งการทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายด้วยตัวเอง เป็นต้น 

เมื่อเด็ก ๆ ทำได้สำเร็จหรือทำสิ่งดี ๆ แล้วได้รับการยอมรับจากผู้อื่น เช่น พ่อแม่ คุณครู และเพื่อน ๆ เด็ก ๆ จะมีแนวโน้มพัฒนาไปสู่การมองเห็นคุณค่าในตนเอง ในทางตรงกันข้าม​ ถ้าพัฒนาการขั้นนี้ไม่เกิดขึ้น เด็กจะเกิดปมด้อย (Inferiority)  หรือเกิดความรู้สึกว่าตนเองนั้นไม่มีความสามารถ ซึ่งมักเกิดจากสองสาเหตุ ดังนี้

  1. เด็กไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่เขารักได้ หรือไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
  2. เมื่อเด็กทำผิดพลาด มักจะถูกตำหนิ ลงโทษ ทำให้อับอาย หรือซ้ำเติม โดยปราศจากผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือและสอนวิธีที่ถูกให้กับเขา ส่งผลให้เด็ก ๆ รับรู้ว่าตนเองไม่มีความสามารถ

ดังนั้นการเปรียบเทียบและตัดสินเด็กจากมาตรวัดเพียงมาตรเดียว แล้วนำเด็ก ๆ มาจัดอันดับเปรียบเทียบกับผู้อื่น มักบั่นทอนความมั่นใจในตนเองของเด็กที่ได้อันดับท้ายหรือทำไม่ได้ แม้จะเป็นการตัดสินจากวิชาหรือทักษะเดียว แต่สามารถส่งผลให้เด็กที่โดนตัดสินแผ่ขยายการรับรู้ว่าตนเองล้มเหลวไปยังด้านอื่น ๆ ในชีวิตด้วย เช่น เด็กคนหนึ่งได้อันดับสุดท้ายวิชาเลข แต่เขากลับรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เรื่องในทุก ๆ ด้านไปด้วย

หัวใจสำคัญของบันไดพัฒนาการในเด็กวัย 6-12 ปี จึงเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาส ในการให้เด็ก ๆ ลงมือทำ ได้ฝึกฝน ลองผิดลองถูก และได้รับการสอนอย่างเหมาะสม ที่สำคัญควรเป็นช่วงเวลาที่เขาได้รับรู้ความสามารถของตนเองมากกว่าการถูกตัดสินว่าตัวเขานั้นไม่ได้เรื่องอย่างไร

การจัดการเรียนรู้ที่บ้านสำหรับเด็กประถมศึกษา

ในทางจิตวิทยาแล้ว ไม่ว่าเด็ก ๆ จะเรียนรู้วิชาอะไรก็ตาม สำหรับเด็กวัยนี้ที่เพิ่งเริ่มเข้าใจนามธรรมมากขึ้น พวกเขาควรได้เรียนรู้ผ่านการสังเกต ทดลอง ลงมือทำ และสัมผัสของจริง 

ดังนั้นเนื้อหาที่ไกลตัวของเด็ก ๆ เป็นทฤษฎีเชิงท่องจำ​ ไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรนำมาให้เด็กเรียนรู้ในช่วงวัยนี้ และรูปแบบการเรียนรู้ไม่ว่าเขาจะเรียนวิชาอะไร ควรมีแนวทางการเรียนรู้ดังต่อไปนี้

ก่อนจัดการเรียนรู้ที่บ้านให้กับเด็ก ๆ เราควรวางโครงสร้างการเรียนรู้ในแต่ละวันให้ชัดเจนผ่านการระบุว่าเด็ก ๆ ต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ซึ่งตารางเวลาที่ดีประกอบไปด้วย

  1. กิจวัตรประจำวันที่จำเป็น เวลาตื่นนอน กินข้าว พัก และทำงานบ้าน
  2. การเรียนรู้ช่วงเช้า ควรเป็นการเรียนรู้สงบ ๆ อาจจะเริ่มต้นด้วยการอ่านหนังสือกับเรา หรืองานที่ใช้สมาธิบ้าง เช่น การคิด การวาด การสร้างสรรค์ และอื่น ๆ 
  3. การเรียนรู้ช่วงบ่าย ควรเป็นการเรียนรู้ที่เน้นการเคลื่อนไหว เช่น การทดลอง การออกกำลังกาย การประดิษฐ์ เป็นต้น
  4. ในทุกวัน ควรมีการออกกำลังกายและการวิ่งเล่นอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน จะจัดสรร เป็นพักน้อย พักเที่ยง และก่อนกินข้าวเย็น สามารถจัดสรรให้เหมาะสมกับที่บ้านได้เลย
  5. เวลาก่อนนอน คือเวลาที่เรากับลูกจะได้พูดคุยกันถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ๆ

แนวทางการจัดการเรียนรู้

1 การทดลอง และลงมือทำเพื่อพิสูจน์ นำไปสู่การเข้าใจเนื้อหา และจดจำนำไปใช้ได้ดีกว่า

วิชาคณิตศาสตร์ เราควรให้เด็กนับเลขผ่านการนับวัตถุจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่ให้เขานับในกระดาษ
เมื่อนับของได้แล้ว เราค่อยสอนสัญลักษณ์​ ซึ่งก็คือตัวเลขลงไป นับของได้…ชิ้น ของกองนี้แทนด้วยเลขนี้
เมื่อเชื่อมโยงจำนวนกับตัวเลขแล้ว จึงกระเถิบไปสู่การเปรียบเทียบมากกว่า-น้อยกว่า 
สุดท้ายจึงนำไปสู่การเพิ่ม-ลดจำนวน ก่อนจะแทนสัญลักษณ์ คือ เครื่องหมายบวก-ลบลงไป
เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้คณิตศาสตร์ผ่านการเล่นและลงมือทำ เช่น เล่นซื้อของ-ขายของ ทำอาหาร แบ่งขนม แบ่งเค้ก เป็นต้น

วิชาวิทยาศาสตร์ เราสามารถทดลองจากสิ่งรอบตัวของเด็ก ๆ หรือ แม้แต่สิ่งที่เด็ก ๆ อยากรู้ได้
เช่น จม-ลอย วัสดุแบบใดบ้างที่จมน้ำ-ลอยน้ำ ให้เด็ก ๆ ได้วิ่งหาของเหล่านั้นมาทดลอง
ปลูกต้นถั่วในดินแบบใดจะขึ้นได้ดีกว่ากัน เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องดินแต่ละแบบ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ในความเป็นจริงแล้ว ทุกวิชาเด็กวัยนี้สามารถเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวภายในบ้าน และบางครั้งข้างนอกบ้านได้ เช่น 

-เรียนรู้การบวก-ลบ-คูณ-หาร  จากการทำอาหาร หรือไปซื้อของกับคุณแม่
-เรียนรู้การสังเคราะห์แสง จากการปลูกต้นไม้ในสวน
-เรียนรู้การแต่งประโยค จากการอ่านหนังสือนิทาน และลองแต่งนิทานของตัวเอง
-เรียนรู้ภาษาอังกฤษ จากของใช้ในบ้านและหนังสือนิทาน เป็นต้น

2 การอ่านหนังสือ สามารถเปิดโลกหลายใบให้กับเด็ก ๆ ได้

เมื่อเราต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน หนังสือสามารถพาเด็ก ๆ ออกไปเรียนรู้โลกใบนี้ได้ ที่สำคัญในหลาย ๆ วิชาเรียนสามารถเรียนได้จากการอ่านหนังสือที่น่าสนใจ ดังนั้นไม่ว่าเด็ก ๆ จะอยู่วัยใด การอ่านหนังสือสามารถเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ที่ดีที่สุด 

ยิ่งเด็ก ๆ อ่าน พวกเขายิ่งได้พัฒนาคลังข้อมูลในสมอง และทุกครั้งที่อ่าน เด็ก ๆ ได้ใช้ความคิดและจินตนาการของพวกเขาอย่างเต็มเปี่ยม ถ้าบ้านใดสามารถจัดเวลาอ่านหนังสือให้เด็ก ๆ ได้ทุกเช้าหรือก่อนนอนเวลาเดิมเป็นประจำทุกวัน เรายังสามารถปลูกฝังวินัยในตัวเด็ก ๆ ได้อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ในวิชาที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม ซึ่งมักจะพบในเนื้อหาของชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เราสามารถให้เด็ก ๆ อ่านเนื้อหาในหนังสือแล้วนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเราได้

3 การทดสอบความรู้ที่ดีที่สุด คือ การเปิดโอกาสให้เด็กนำเสนอความรู้ในแบบที่เขาถนัด

ถ้าหากเราใช้ข้อสอบวัดความรู้เด็ก เราจะได้เห็นความรู้แค่มุมเดียว และที่แย่ไปกว่านั้นเด็กบางคนอาจจะไม่สามารถนำเสนอความรู้ที่เขามีอยู่ในตัวออกมาให้เราห็นได้ ทำให้เราเข้าใจผิดว่าเด็กคนนั้นไม่มีความรู้

ในความเป็นจริง การนำเสนอความรู้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเขียน การพูด การสร้าง การวาด และอื่น ๆ 

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่สอนเรื่อง “สัตว์บก-สัตว์น้ำ”
เด็กคนที่ 1 อาจจะนำเสนอผ่านการเขียนออกมา
เด็กคนที่ 2 อาจจะนำวิดีโอไปถ่ายสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ 
เด็กคนที่ 3 อาจจะวาดรูปสัตว์บก อีกภาพเป็นสัตว์น้ำ

หัวใจสำคัญของการทดสอบความรู้คือ การทำให้ผู้ใหญ่รู้ว่าเด็กคนนั้น ๆ เข้าใจเนื้อหาที่สอนไปหรือไม่ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อตัดสินว่าเด็กคนนั้นอยู่อันดับที่เท่าไหร่ของห้อง 

แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ข้อสอบเพื่อทดสอบเด็ก ๆ จริง ๆ ข้อสอบที่ดี คือ ข้อสอบปลายเปิดที่เด็ก ๆ สามารถแสดงความรู้และความคิดออกมาให้เราเห็นได้ เช่น แทนการตั้งคำถามว่า “เสือเป็นสัตว์บกใช่หรือไม่” อาจจะเปลี่ยนเป็น “สัตว์บกมีอะไรบ้าง” 

หรือแม้กระทั่งคำถามที่สามารถต่อยอดความรู้ไปได้อีก เช่น “ถ้าปลาต้องขึ้นอยู่บนบก เด็ก ๆ ว่า เขาจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ให้เด็ก ๆ วาดภาพตามจินตนาการออกมา” 

สำหรับเด็กที่โตกว่าเด็กประถมขึ้นไป การสอบอาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น แต่ในวัยประถมนั้น การสอบไม่ควรทำให้เด็ก ๆ สูญเสียตัวตนและความมั่นใจในตนเองไป แต่การสอบควรช่วยให้พวกเขาอยากรู้อยากเห็นและพัฒนาตนเองต่อไปเรื่อย ๆ ต่างหาก

สำหรับบ้านที่เรียนตามระบบออนไลน์

ผู้ใหญ่สามารถช่วยจัดสรรงานหรือการบ้านให้เหมาะสมกับเด็ก ๆ ได้ตามวัย โดยพิจารณาจาก

  1. งานนั้นเด็กสามารถทำด้วยตัวเองได้หรือไม่ เพราะงานที่เหมาะสมกับวัยเด็กควรทำได้ด้วยตนเองเพื่อทบทวนสิ่งที่เรียนมา
  2. ระยะเวลาที่ทำงานนั้นไม่มากจนเกินกว่าที่วัยของเขาจะรับไหว

แฮร์ริส​ คูเปอร์​ (Harris Cooper, 2015) ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยดุกซ์ แนะนำว่า “เวลาโดยเฉลี่ยที่เหมาะสมกับการให้เด็กวัยเรียน (6 ปี) ได้ฝึกฝนเนื้อหาที่เรียนไปในแต่ละ วันเริ่มต้นที่ 10 นาที ซึ่งในชั้นเรียนถัดไปจะเพิ่มชั้นละ 10 นาที ไปเรื่อยๆ”

-ดังนั้นในเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 10 นาที ต่อวัน
-ประถมศึกษาปีที่ 2 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 20 นาที ต่อวัน
-ประถมศึกษาปีที่ 3 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 30 นาที ต่อวัน
-ประถมศึกษาปีที่ 4 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 40 นาที ต่อวัน
-ประถมศึกษาปีที่ 5 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 50 นาที ต่อวัน
-ประถมศึกษาปีที่ 6 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 60 นาที ต่อวัน
-และพอเด็ก​ ๆ ขึ้นชั้นมัธยม 1 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 1.10 ชั่วโมง ต่อวัน เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ

3. ความพร้อมและข้อจำกัดของตัวเด็กและแต่ละบ้าน ตรงนี้เอาที่ลูกไหว พ่อแม่ไหว

สุดท้าย “เด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน ซึ่งทำให้พวกเขามีวิธีการเรียนรู้ที่อาจจะแตกต่างกันไปด้วย การเรียนออนไลน์อาจจะทำให้เด็กบางคนหล่นหายไประหว่างทาง ตรงนี้ยังไม่ได้หมายรวมถึงความพร้อมของแต่ละบ้าน แต่หมายถึงความพร้อมของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันแล้ว”

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม​ ผู้ใหญ่มีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็ก ๆ ว่า “พวกเขามีศักยภาพและพวกเขาสามารถเรียนรู้ได้” ไม่ใช่การสร้างทัศคติทางลบต่อการเรียนรู้และที่เลวร้ายที่สุดคือ ทัศคติทางลบต่อตัวเอง เช่น “ฉันมันไม่ได้เรื่อง” “ฉันทำมันไม่ได้หรอก” และ “ทำอย่างไรก็ไม่ดีพอ”

ดังนั้นสิ่งที่เราควรตระหนักและให้ความสำคัญ ไม่ใช่ปริมาณชั่วโมงการเรียนหรือการบ้าน แต่คือ “ธรรมชาติของการเรียนรู้ในเด็กแต่ละวัย” และ “ข้อจำกัดที่เด็กแต่ละคนมีไม่เท่ากัน” 

เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้และเติบโตต่อไปได้อย่างที่เขาควรจะเป็น


อ้างอิง :
Cooper, H. The Battle Over Homework: Common Ground for Administrators, Teachers, and Parents. New York, Carrel Books, 2015.

Widick, C., Parker, C. A., & Knefelkamp, L. (1978). Erik Erikson and psychosocial development. New directions for student services, 1978(4), 1-17.