ระบบที่สามารถเก็บสะสมหน่วยกิตหรือผลการเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ เช่น การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย ประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรม การทดสอบ และการประเมินผล
ระบบนี้มีประโยชน์ในการรับรองคุณวุฒิการศึกษาระดับสูงขึ้นและช่วยต่อยอดในการทำงานเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต มีงานทำ และมีรายได้ที่สูงขึ้น
- เทียบโอนได้: นำผลการเรียนรู้ เช่น ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ การทำงาน การฝึกอบรม การทดสอบและการประเมินมาเทียบโอนกันได้
- สะสมได้: นำผลการเรียนรู้ ความสามารถ และสมรรถนะมาเทียบหน่วยกิตและสะสมในคลังหน่วยกิตได้ตามหลักเกณฑ์
- พัฒนา/เปลี่ยนได้: บุคคลที่ต้องการพัฒนาความรู้และสมรรถนะเฉพาะทางหรือต้องการเปลี่ยนอาชีพ สามารถเข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยงานหรือหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง
- ไม่มีเงื่อนเวลา: ลงทะเบียนเรียนและสะสมหน่วยกิตได้ตลอดชีวิต โดยไม่มีเงื่อนไขของระยะเวลาในการสะสมและระยะเวลาในการศึกษา
- ลงทะเบียนได้มากกว่า 1 แห่ง: สามารถลงทะเบียนและสะสมหน่วยกิตในสถาบันการศึกษามากกว่า 1 แห่ง และสะสมหน่วยกิตในคลังหน่วยกิตจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และประสบการณ์ส่วนบุคคล
รูปแบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับธนาคารหน่วยกิต
- การศึกษาในระบบ
- การศึกษานอกระบบ
- การศึกษาตามอัธยาศัย
ระดับและประเภทการศึกษาที่เชื่อมโยงกับธนาคารหน่วยกิต
- ระดับก่อนประถมศึกษา
- ระดับประถมศึกษา
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา
- ระดับอุดมศึกษา
ประสบการณ์บุคคลที่เชื่อมโยงกับธนาคารหน่วยกิต
- ความรู้
- ความสามารถ
- ทัศนคติ
- สมรรถนะ
5 หลักการของธนาคารหน่วยกิตในประเทศไทย
- ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ ไม่จำกัดเพศ อายุ วุฒิการศึกษา และอาชีพ
- พัฒนา/เปลี่ยนได้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ
- เรียนตามเวลาที่สะดวก ไม่มีกรอบเวลามากำหนด
- เทียบโอนผลการเรียนได้จากทั้งการศึกษาในระบบ, การศึกษานอกระบบ, และการศึกษาตามอัธยาศัย
- สะสมผลการเรียนได้มากกว่า 1 แห่ง
แนวทางการเทียบโอนหน่วยกิต
ในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการกำหนดหลักการและแนวทางการเทียบโอนผลการเรียน เพื่อให้สถานศึกษาสามารถดำเนินการเทียบโอนผลการเรียนได้อย่างเหมาะสมและเกิดเป็น “แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเทียบโอนผลการเรียนเข้าสู่การศึกษาในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2549”
กระทรวงศึกษาธิการได้ออกระบบแนวทางการเทียบโอนที่หลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อเนื่องได้นำความรู้ ทักษะ หรือประสบการณ์ มาขอเทียบโอนผลการเรียนเพื่อเข้าสู่หลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งโดยไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นใหม่
สถานศึกษาที่รับนักเรียนเข้าเรียนในฐานะผู้ทำหน้าที่เทียบโอนผลการเรียน และสถานศึกษาที่ผู้เรียนนำความรู้หรือผลการเรียนรู้มาขอโอนในฐานะผู้ส่งต่อ ต้องดำเนินการดังนี้
- จัดทำระเบียบหรือแนวปฏิบัติในการเทียบโอนผลการเรียนของสถานศึกษา
- หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้อนุมัติการเทียบโอน หรืออาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีความรู้
- จัดทำเอกสาร/หลักฐานเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการเทียบโอนผลการเรียนและการประเมิน
- ผู้ขอเทียบโอนผลการเรียนต้องสมัครเป็นนักเรียนในสถานศึกษาที่รับเทียบโอนก่อน
- สถานศึกษาต้องมีผู้ประเมินที่มีความเที่ยงตรงและถูกต้องตามหลักวิชา
- ผู้ขอเทียบโอนต้องมีเวลาเรียนในสถานศึกษาที่รับเทียบโอนอย่างน้อย 1 ภาคเรียน
อ้างอิง
- รายงานเรื่อง “ธนาคารหน่วยกิต” โดย ธัญญา เรืองแก้ว