เด็กเยาวชนด้อยโอกาส
เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสจำนวนมาก กำลังเผชิญอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดประเภทของเด็กเยาวชนด้อยโอกาสไว้ 10 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. เด็กยากจน (มากเป็นพิเศษ) เด็กซึ่งเป็นบุตรหลานของคนยากจนที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ หรือครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ครอบครัวอยู่รวมกันหลายคน ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน รวมถึงเด็กในแหล่งชุมชนแออัดหรือเด็กจากครอบครัวที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล ขาดโอกาสที่ได้รับการศึกษาและบริการอื่นๆ
2. เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด ครอบคลุมไปถึงเด็กที่ติดสารระเหยหรือยาเสพติดให้โทษ หรือเด็กกลุ่มเสี่ยงการถูกชักนำให้ประพฤติตนไม่เหมาะสมจากการประกอบอาชีพผิดกฎมาย
3. เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่มารดาคลอดทิ้งไว้ในโรงพยาบาลหรือสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงเด็กที่พ่อแม่ปล่อยทิ้งให้มีชีวิตอยู่ตามลำพังหรืออยู่กับบุคคลอื่น โดยไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาการหย่าร้างหรือครอบครัวแตกแยก มีสภาพชีวิตขาดความรัก ความอบอุ่น ตลอดถึงเด็กที่ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู
4. เด็กที่ถูกทำร้ายอย่างทารุณ เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางร่างกายหรือทางจิตใจ เนื่องจากถูกทำร้ายทารุณ ถูกบีบคั้นกดดันจากผู้ปกครอง ซึ่งมีสภาพจิตใจไม่เป็นปกติ หรือถูกล่วงละเมิดในลักษณะต่างๆ จากบุคคลที่อยู่ใกล้ตัว
5. เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์หรือโรคติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจหรือมีพ่อแม่เจ็บป่วย เป็นเด็กที่มักจะถูกมองจากบุคคลอื่นอย่างรังเกียจ
6. เด็กชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย เด็กที่เป็นบุตรหลานของบุคคลที่มีวัฒนธรรมแตกต่างไปจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ มีปัญหาเกี่ยวกับการถือสัญชาติจนเป็นสาเหตุให้ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาหรือบริการอื่นๆ ส่วนใหญ่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามบริเวณแนวชายแดนของประเทศไทย
7. เด็กเร่ร่อน เด็กที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ขาดปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เสี่ยงต่อการประสบอันตรายและเป็นปัญหาสังคม
8. เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงาน เด็กที่ถูกบังคับให้ใช้แรงงานก่อนถึงวัยอันสมควร ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ไม่มีโอกาสได้รับการพัฒนาให้เป็นไปตามหลักพัฒนาการอันเหมาะสม
9. เด็กที่อยู่ในธุรกิจบริการทางเพศหรือโสเภณีเด็ก เด็กที่มีความสมัครใจหรือถูกบังคับล่อลวงให้ขายบริการทางเพศ หรือถูกชักจูงให้ขายบริการทางเพศ อยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ
10. เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เด็กที่กระทำผิดและถูกควบคุม อยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ตลอดถึงเด็กที่ตั้งครรภ์นอกสมรส ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น การทำแท้ง การฆ่าตัวตาย การทอดทิ้งทารก
เพราะเด็กมีความต้องการต่างกัน
การศึกษาจึงต้องปรับตัวเข้าหาเด็ก
ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ความยากจน การย้ายถิ่นฐานตามความจำเป็นของครอบครัว ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ปัญหาด้านสุขภาพและการดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วย
นักเรียนบางคนต้องขาดเรียนบ่อยจนไม่มีสิทธิ์สอบ เพราะต้องช่วยทํางานแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง จนสุดท้ายต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน กลายเป็นวงจรความยากจนที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
ข้อมูลจากงานวิจัยโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2562-2566 โดยมีโรงเรียนขนาดกลางในสังกัด สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าร่วมการดำเนินงานกว่า 700 แห่ง ใน 41 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค
ผลการสำรวจสภาพปัญหาที่เด็กนักเรียนกำลังประสบอยู่ จำแนกนักเรียนกลุ่มเสี่ยงออกเป็น 9 กลุ่มปัญหา ได้แก่
- ปัญหาความยากจน
- ปัญหาครอบครัวแตกแยก
- ปัญหาถดถอยทางการเรียนรู้
- ความบกพร่องทางการเรียนรู้
- ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
- ออกจากโรงเรียนกลางคัน หรือหลุดออกจากระบบ
- ปัญหาถูกกลั่นแกล้ง
- ความบกพร่องทางสติปัญญา
- ความบกพร่องทางภาษาและการพูด
การทำความเข้าใจสภาพปัญหาของเด็ก นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับความต้องการของเด็ก เป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถพาเด็กกลับเข้าสู่การศึกษาได้
การศึกษายืดหยุ่น
(Flexible Learning)
การศึกษายืดหยุ่น (Flexible Learning) เปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกศักยภาพของเด็กเยาวชนด้อยโอกาส โดยมอบโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เปิดให้เรียนรู้ด้วยวิธีการหลากหลายที่สอดคล้องกับเงื่อนไขชีวิต สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anytime Anywhere) และได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง จนกระทั่งเกิดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางการศึกษาที่สอดคล้องกับการผลักดันขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่มองว่าเป็นวิธีช่วยให้ผู้เรียนสามารถกำหนดการเรียนรู้ของตนเองได้ ซึ่งจะช่วยสร้างการศึกษาที่ครอบคลุม ภายใต้หลักการความยุติธรรม ความเสมอภาค และสิทธิมนุษยชน
สำหรับประเทศไทย นวัตกรรมการศึกษายืดหยุ่นจะช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย
Thailand Zero Dropout และทำให้ประโยค “จากนี้ไปเด็กทุกคนต้องได้เรียน” เกิดขึ้นได้จริง
ยืดหยุ่น
เปิดกว้าง
ไร้ขอบเขต
ตอบโจทย์
ชีวิต
ไม่มีใคร
ถูกทิ้งไว้
ข้างหลัง
- เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ : ผู้เรียนมีสิทธิ์เลือกสถานที่ เวลา และวิธีการเรียนรู้ตามความสะดวก โดยวัดผลอย่างเปิดกว้างและยืดหยุ่น
- ชุดทักษะความรู้ : มีความหลากหลาย เปิดกว้าง ไม่จำกัดแค่ความรู้หลักตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เช่น ความรู้เรื่องการเกษตร กีฬา การแสดง การเงิน ช่างไฟ การทำเว็บไซต์ เป็นต้น
- รูปแบบการเรียน : มีความหลากหลาย เช่น วิดีโอและคอร์สออนไลน์ การทำงานกลุ่ม การลงมือปฏิบัติจริง เช่น การทำเกษตร การทำอาหาร การผลิตช่อง TikTok การเขียนนิยายออนไลน์ เป็นต้น
- ความเร็วในการเรียน : ผู้เรียนสามารถปรับความเร็วและระยะเวลาในการเรียนรู้ประเด็นใดๆ ตามความสามารถของตนเอง
- ตารางการเรียน : ผู้เรียนสามารถเลือกช่วงเวลาการเรียนรู้ได้อย่างยืดหยุ่นตามความเหมาะสม
- สถานที่เรียน: สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียนแบบดั้งเดิม แบบออนไลน์ หรือแบบผสมผสาน (blended learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและออนไลน์
อ้างอิง
- https://sdgs.un.org/topics/education
- https://news.un.org/en/story/2019/11/1051171
- https://news.un.org/en/story/2022/01/1110402
- รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการ “การคาดการณ์อนาคตการศึกษาทางเลือก” โดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์